ในที่สุดเราก็ได้เห็นการเปิดพิธีการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโอลิมปิก ที่จัดขึ้นทุก ๆ 4 ปีแต่หลังจากที่เลื่อนการจัดงานมาหนึ่งปี เพราะปัญหาโรคระบาดที่สร้างความเดือดร้อนให้คนทั้งโลก มาถึงตอนนี้ประเทศญี่ปุ่นก็พร้อมจะเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขัน ซึ่งจุดเด่นที่ทำให้นักเล่นเกมหลายคนยิ้มจนแก้มแทบแตกตอนดูพิธีเปิด ก็คือบทเพลงที่ทางประเทศญี่ปุ่นเอามาใช้ทั้งหมดนั้นคือบทเพลงจากเกมชื่อดังต่าง ๆ ถึง 14 เกมกับ 19 บทเพลงที่ถูกเล่นอย่างต่อเนื่อง ที่บอกให้คนทั่วโลกรู้ว่าประเทศญี่ปุ่นนั้นมีวิดีโอเกมเป็นอุสาหกรรมส่งออกหลัก ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งทุกบทเพลงที่ถูกเอามานั้นก็ล้วนแล้วแต่ใส่ความหมายต่าง ๆ เอาไว้ที่นักเล่นเกมเท่านั้นจะเข้าใจ วันนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าบทเพลงจากเกมที่ถูกบรรเลงในพิธีเปิดตัวนั้นมีความหมายอะไรซ่อนอยู่ โดยคนที่ไม่ทราบเรื่องเกมก็สามารถเข้าใจได้ด้วย ถ้าพร้อมแล้วเรามาดูพร้อมกันเลย
Dragon Quest
เริ่มต้นเกมแรกกับเพลงเปิดพิธีโอลิมปิกในเพลง ‘Roto’s Theme’ จากเกมซีรีส์ ‘Dragon Quest’ ที่นักเล่นเกมหลายคนคุ้นหู เพราะมันคือเพลงเปิดของทุกภาคในซีรีส์นี้ที่คนเล่นเกมจะทราบดี โดยทำนองเพลงทั้งหมดในซีรีส์นี้แต่งขึ้นมาโดย โคอิจิ ซูงิยามะ (Kōichi Sugiyama) นักแต่งเพลงชื่อดังที่มีผลงานเพลงมากมายนอกจากซีรีส์ ‘Dragon Quest’ ก็มีบทเพลงต่าง ๆ อีกมากมายที่คนญี่ปุ่นรู้จัก ซึ่งสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่วงการเกมคงไม่ทราบว่าซีรีส์เกม ‘Dragon Quest’ นั้นมีความสำคัญกับประเทศญี่ปุ่นมาก ๆ เรียกว่าเป็นเกมประจำชาติของที่นั่นเลยทีเดียว แต่ในต่างประเทศอาจจะไม่ค่อยโด่งดังเมื่อเทียบกับ ‘Final Fantasy’ โดยตัวเกมทั้งภาคหลักภาคแยกภาคย่อยของซีรีส์นี้จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้กล้าที่ถูกเลือก ซึ่งต้องออกเดินทางไปปราบราชาปีศาจ(แกนหลักของทุกภาคจะประมาณนี้) ตัวเกมมีภาคหลักทั้งหมด 11 ภาค ซึ่งในอดีตความโด่งดังของเกมนี้เคยทำให้เด็กญี่ปุ่นทั่วประเทศโดดเรียนเพื่อมารอซื้อเกม ‘Dragon Quest lll’ มาแล้ว จนรัฐบาลในยุคนั้นต้องไปสั่งให้ค่าย ‘ENIX’ ในตอนนั้นวางจำหน่ายเกมในวันอาทิตย์เพื่อแก้ปัญหานี้ และด้วยตัวเพลงที่ดูหนักแน่นจริงจังของเพลง ‘Roto’s Theme’ จึงถูกเอามาใช้เปิดเป็นเพลงแรกนั่นเอง
Final Fantasy
บทเพลงต่อมาที่ถูกถ่ายถอดต่อจาก ‘Roto’s Theme’ ก็คือเพลง ‘Victory Fanfare’ อีกหนึ่งบทเพลงติดหูที่คนเล่นเกมซีรีส์ ‘Final Fantasy’ ทั่วโลกทุกคนคุ้นเคย เพราะเพลงนี้จะมีอยู่ในทุก ๆ ภาคของซีรีส์ที่เราจะได้ยินเพลงนี้เมื่อเราเอาชนะศัตรูได้ ซึ่งแต่ละภาคก็จะมีรูปแบบของเพลงที่ต่างกัน แต่ทวงทำนองและอารมณ์ก็ยังเหมือนเดิมทุกภาค ในส่วนของตัวเกมนั้น ซีรีส์ ‘Final Fantasy’ ก็จัดเป็นเกมประจำชาติอีกหนึ่งเกมที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบ และด้วยความที่ตัวเกมไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม ๆ ในทุกภาคเกมนี้จะเปลี่ยนเนื้อหารวมถึงระบบการเล่นเปลี่ยนใหม่ทุกภาค แต่หลัก ๆ จะมีโครงเรื่องเกี่ยวกับคริสตัลที่เป็นจุดกำเนิดพลัง รวมถึงชื่อเวทมนตร์ไอเทมต่าง ๆ ที่มาจากในซีรีส์นี้มาเป็นหลัก ตัวเกมมีภาคหลักที่ออกมาแล้วถึง 15 ภาคกับภาคแยกอีกหลายสิบเกม โดยภาคที่เป็นจุดเปลี่ยนให้ชาวโลกรวมถึงบ้านเรารู้จักเกมนี้(ความจริงเขาดังมานานแล้ว) คือ ‘Final Fantasy Vll’ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากเกม 2D มาเป็นกราฟิก 3D ที่สวยงาม แถมเนื้อเรื่องก็ซับซ้อนเข้มข้นจริงจังเป็นสากลกว่า ‘Draagon Quest’ แต่ทั้งสองเกมก็คือเกมที่คนญี่ปุ่นรักและหวงแหนเหมือนสมบัติประจำชาติก็ไม่ปาน
Tales of Series
มาถึงบทเพลงที่ 3 ที่ถูกบรรเลงในพิธีเปิดโอลิมปิกในชื่อเพลง ‘Sley’s Theme-Guru’ จากเกมซีรีส์ ‘Tales of’ หนึ่งในเกมสร้างชื่อให้กับประเทศญี่ปุ่น ที่ถือเป็นการเปลี่ยนแนวเกมจากเกม JRPG ที่เราจะต้องยืนหน้ากระดานผลัดกันโจมตีในแบบเกมทั่วไป แต่ซีรีส์ ‘Tales of’ กับเลือกที่จะเปลี่ยนตัวเองมาเป็นเกม RPG ที่ฉากต่อสู้เราสามารถควบคุมตัวละครไปต่อสู้ได้อย่างอิสระแบบเกมแอ็กชัน แถมยังสามารถเปลี่ยนตัวระหว่างสู้ได้ด้วย จนกลายเป็นต้นแบบให้เกม RPG ในยุคนี้ทำตาม โดยซีรีส์ ‘Tales of’ นั้นจะไม่ใช้การระบบตัวเลขแต่จะใช้การเปลี่ยนชื่อท้ายเอา อย่างในภาคแรกใช้ชื่อว่า ‘Tales of Phantasia’ ที่วางจำหน่ายบนเครื่อง ‘Super Famicom’ ในปี 1995 จนมาถึงตอนนี้ตัวเกมออกมาแล้วถึง 17 ภาค ใครที่สนใจอยากเล่นก็รอภาคล่าสุดอย่าง ‘Tales of Arise’ ได้เลย หรือถ้าสนใจก็ไปหาภาคแรก ๆ มาเล่นดูก่อนรับรองว่าต้องชอบ
Monster Hunter
สำหรับคนที่เล่นเกมก็คงไม่ต้องอธิบายอะไรกันมากถึงเกมล่าแย้ในตำนานเกมนี้ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เล่นเกมอาจจะรู้จักเกม ‘Monster Hunter’ จากภาพยนตร์ที่เพิ่งฉายไป ซึ่งตัวภาพยนตร์นั้นก็อ้างอิงมาจากเกมซีรีส์นี้ ส่วนเพลง ‘Proof of Hero’ ที่เราได้ยินนั้นก็คือหนึ่งในเพลงประกอบซีรีส์ ‘Monster Hunter’ ที่ความสำคัญของเกมนี้ที่ถูกยกมาเป็นเพลงเปิดพิธีเปิดโอลิมปิก ก็เพราะเกมซีรีส์ ‘Monster Hunter’ คือหนึ่งในเกมส่งออกสำคัญ ที่ทำให้นักเล่นเกมทั่วโลกรู้ว่าประเทศญี่ปุ่นก็สามารถทำเกมออนไลน์สนุก ๆ ที่นักเล่นเกมทั่วโลกแห่กันมาเล่นได้ ในเกมภาค ‘Monster Hunter World’ ที่เป็นการเปลี่ยนตัวเองจากเกมที่จะเล่นได้เฉพาะเกมบนเครื่องพกพา แต่ในภาค ‘Monster Hunter World’ คือการเปลี่ยนแปลงมาเป็นเกมที่สามารถเล่นบนเครื่องเกมคอนโซลและ ‘PC’ จนทำให้มีผู้เล่นทั่วโลกแห่กันมาล่าแย้(ไดโนเสาร์มังกร) ในเกมนี้ และในภาคล่าสุดอย่าง ‘Monster Hunter Rise’ ทาง ‘Capcom’ ก็ไม่ลืมที่จะใส่ความเป็นญี่ปุ่นลงไปให้คนทั่วโลกรู้จักประเทศตัวเองมากขึ้นผ่านเกม ซึ่งสิ่งนี้คือหนึ่งในความฉลาดของคนทำเกมที่จะไม่ยัดเยียดความเป็นชาตินิยมลงไปในเกม แต่จะค่อย ๆ ใส่ความเป็นญี่ปุ่นลงไปเพื่อให้คนต่างชาติรู้จักประเทศตัวเองผ่านเกมที่วางขาย
Kingdom Hearts
เชื่อว่าหลายคนที่ได้เล่นเกมซีรีส์ ‘Kingdom Hearts’ คงจะเข้าใจได้ทันทีว่าทำไมในพิธีเปิดโอลิมปิก ทางประเทศญี่ปุ่นถึงได้เลือกเพลง ‘Olympus Coliseum’ จากเกม ‘Kingdom Hearts’ มาเล่น นั่นก็เพราะกีฬาโอลิปิกนั้นมีที่มาจากประเทศกรีกโดยการอ้างอิงกีฬาต่าง ๆ มาจากทวยเทพใน ‘Olympus’ ดังนั้นการหยิบเพลง ‘Olympus Coliseum’ มาใช้ก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมมาก ๆ และอีกความหมายหนึ่งที่หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าเกมซีรีส์ ‘Kingdom Hearts’ คือเกมที่เป็นลูกผสมระหว่างความเป็นตะวันตกและตะวันออกในเกมเดียว เพราะตัวเอกในเกมนี้จะต้องเดินทางไปยังดินแดนต่าง ๆ ในโลกของการ์ตูนดิสนีย์ โดยมี โดนัลด์ ดั๊ก (Donald Duck) และ กูฟฟี่ (Goofy) เป็นตัวละครหลักในการเดินทางไปพร้อมกับโซระ (Sora) ที่เป็นดั่งตัวแทนของตัวแทนประเทศญี่ปุ่น ที่เกมนี้เหมือนเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างความเป็นสากลและญี่ปุ่นที่ลงตัว ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในการ์ตูนที่ตัวเอกทั้งสามคนต้องไปก็คือเรื่อง ‘Hercules’ เราจึงได้เห็นเพลงนี้ในการเปิดพิธีโอลิมปิกนั่นเอง
Chrono Trigger
ในพิธีเปิดโอลิมปิกเมื่อเพลง ‘Frog Theme’ และเพลง ‘Robo’s Theme’ จากเกม ‘Chrono Trigger’ ดังขึ้นก็ทำเอานักเล่นเกมรุ่นเก่าหลายคนขนลุก เพราะเกมนี้คือหนึ่งในตำนานเกมที่ชาวญี่ปุ่นยกย่องให้เป็นเกมที่ดีที่สุดตลอดกาลในประเทศเขา ซึ่งความเป็นตำนานของเกมนี้มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทีมงานที่สร้างเกมนี้ที่มาจากหัวเรือใหญ่ในวงการเกมอย่างผู้ให้กำเนิดเกม ‘Final Fantasy’ อย่าง ฮิโรโนบุ ซากางูจิ (Hironobu Sakaguchi) ยูจิ โฮริอิ (Yuji Horii) ผู้ให้กำเนิดซีรีส์ ‘Dragon Quest’ และ อากิระ โทริยามะ (Akira Toriyama) ผู้วาดการ์ตูนในตำนานอย่าง ‘Dragon Ball’ มารวมกันสร้างเกมนี้ในชื่อ ‘Dream Team’ จนออกมาเป็นเกมในตำนานอย่าง ‘Chrono Trigger’ เกมแนว ‘JRPG’ ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลาไปช่วงต่าง ๆ เพื่อแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาดในอดีตจากสิ่งเล็ก ๆ กับการทดลองเครื่องย้ายมวลสารในงานเทศกาล จนบานปลายเป็นเรื่องระดับทำลายล้างโลก ที่ตัวเลือกของเราจะส่งผลกับเนื้อเรื่องที่มีฉากจบหลายสิบแบบ ที่แม้แต่เกมยุคนี้ก็ยังทำเนื้อเรื่องที่ซับซ้อนและเล่นสนุกแบบนี้ได้ ใครที่สนใจแนะนำให้ไปหามาเล่นแล้วคุณจะรู้ว่าทำไมเกมนี้ถึงเป็นตำนาน
Ace Combat
มาถึงเพลงที่ 7 ในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกกับเพลงที่มีความหมายดี ๆ ว่า ‘First Flight’ จากเกมยานยิงที่คนเล่นเกมหลายคนชื่นชอบอย่าง ‘Ace Combat’ เกมที่เราจะได้รับบทเป็นนักบินเพื่อขับเครื่องบินรบในแบบต่าง ๆ ที่สมจริงทั้งการควบคุมเครื่องสภาพอากาศที่ส่งผลกับการบิน ไปจนถึงระบบต่อสู้ที่ทุกอย่างถอดแบบมาจากเครื่องบินจริง ๆ จนแม้แต่ในต่างประเทศยังไม่สามารถจำลองรูปแบบของเกมยานยิงแบบนี้ได้เทียบเท่า และนอกจากชื่อเพลงที่มีความหมายเกี่ยวกับการต่อสู้ครั้งแรก ที่หมายถึงการจัดกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกของประเทศญี่ปุ่น ตัวเกมยังมีความหมายอีกอย่างก็คือการต่อต้านผู้ก่อการร้าย ที่เนื้อเรื่องในเกมทุกภาคจะไม่ใช่การสู้รบในสงครามแบบเกมอื่น แต่ในเกม ‘Ace Combat’ จะเป็นการปกป้องสันติภาพจากเหล่าผู้ก่อการร้ายที่จะทำร้ายผู้คน ที่สื่อความหมายถึงการร่วมมือร่วมใจกันเพื่อกำจัดความชั่วร้ายที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน เพราะเหตุนี้จึงทำให้เกม ‘Ace Combat’ ได้มาเป็นเพลงเปิดในกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้
Sonic the Hedgehog
ถ้าเกม ‘Final Fantasy’ คือเกมที่ทำให้ชาวโลกรู้จักเกมแนว JRPG ที่เป็นเอกลักษณ์ มีเกม ‘Monster Hunter’ ที่ให้ชาวโลกรู้ว่าประเทศญี่ปุ่นก็สร้างเกมออนไลน์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ เกม ‘Sonic the Hedgehog’ ก็ต้องเป็นตัวละครที่ทำให้ชาวโลกรู้ว่าประเทศญี่ปุ่นไม่ได้เป็นแค่ประเทศอนุรักษ์นิยมที่จะทำอะไรก็คิดแต่ตัวเอง หรือขายความเป็นญี่ปุ่นผ่านเกมเพียงอย่างเดียว แต่ประเทศญี่ปุ่นยังสามารถสร้างตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์ ที่มีทั้งความเป็นญี่ปุ่นและความเป็นสากลในตัวละครเดียวกันได้ หนึ่งในนั้นก็คือเจ้าเม่น โซนิค (Sonic) ที่ถ้าเราไม่นับ มาริโอ้ (Mario) ที่ตัวละครถูกระบุว่าเป็นชาวอิตาลี ก็มีเจ้าเม่นโซนิคนี่ละที่เป็นเหมือนทูตสัมพันธไมตรีของญี่ปุ่นที่ส่งไปยังนักเล่นเกมทั่วโลก จนหลายคนที่ไม่รู้คงคิดว่าเจ้าเม่นโซนิคคือตัวละครของอเมริกา แต่ความจริงแล้วเจ้าโซนิคเกิดและเติบโตในประเทศญี่ปุ่น 100% แต่การออกแบบเจ้าเม่นนั้นอ้างอิงความความเป็นสากล จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้ยินเพลง ‘Starlight Zone’ ในพิธีเปิดโอลิมปิกครั้งนี้นั่นเอง
Winning Eleven Pro Evolution Soccer
ในอดีตสมัยที่เครื่อง ‘PlayStation 1’ กำลังโด่งดัง หนึ่งในเกมยอดฮิตในร้านเช่าเกมยุคนั้นที่ไปเมื่อใดต้องเห็นคนนั่งเล่นกันนั่นก็คือเกม ‘Winning Eleven’ จนมีวลีที่คนยุคนั้นพูดเมื่อเจอกันว่า “วินนิ่งไหมสาด” ที่เป็นเหมือนคำท้าดวลที่เมื่อถูกชวนทุกคนก็จะตรงไปที่ร้านเกมและหยิบเกมฟุตบอลเกมนี้มาเล่น พร้อมกับเพลงเปิดที่หลายคนคุ้นหูอย่าง ‘eFootball walk on theme’ เมื่อเปิดเกม ซึ่งนอกจากวิดีโอเกมที่เป็นความภาคภูมิใจของญี่ปุ่นแล้ว กีฬาฟุตบอลก็เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจนั้น เพราะอย่างที่เราทราบว่าประเทศญี่ปุ่นสามารถฝ่าฟันจนเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลก แถมยังเคยเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกด้วย ดังนั้นเกมที่จะยกย่องเชิดชูเหล่านักเตะที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศตัวเองได้ก็ต้องเป็นเกม ‘Winning Eleven Pro Evolution Soccer’ เกมนี้นั่นเอง
Phantasy Star Universe
ย้อนเวลากลับไปในช่วงปี 2006 ที่โลกของการสื่อสารที่โทรศัพท์มือถือเริ่มจะมามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คน แต่วิดีโอเกมก็ยังคงเป็นระบบเล่นอยู่ในบ้านพร้อมกับเพื่อน ๆ การเล่นแบบออนไลน์เชื่อมต่อเพื่อเล่นกับคนอื่น ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเป็นอะไรที่เกินความฝัน แต่ทางประเทศญี่ปุ่นก็เริ่มเดินหน้าสร้างเกมออนไลน์ขึ้นมาโดยเกมแรก ๆ ที่ประสบความสำเร็จด้วยดีนั่นคือเกม ‘Phantasy Star Online’ ที่ทำให้เราเล่นเกมระบบออนไลน์แบบ 100% ครั้งแรก แต่นั่นก็ทำได้แค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น จนการมาถึงของเกม ‘Phantasy Star Universe’ ที่เป็นการเปิดตัวระบบออนไลน์สู่ระดับโลกครั้งแรก ที่เมื่อเกมเปิดตัวออกมาก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดี จนทำให้นักพัฒนาเกมต่างประเทศหลายคนหันมาทำเกมออนไลน์บ้าง ดังนั้นเกม ‘Phantasy Star Universe’ จึงเหมือนเป็นหัวเรือหลักในการชี้นำตลาดในวงการเกมในตอนนั้น ที่เรามักคิดว่าต่างประเทศเป็นคนคิดและริเริ่มระบบออนไลน์ ทั้งที่ความจริงแล้วญี่ปุ่นเป็นคนริเริ่มพัฒนาต่อยอดเป็นที่แรก ๆ (แต่ไม่ใช่เจ้าแรก) ก่อนที่ต่างประเทศจะทำตามมา และด้วยความสำคัญแบบนี้จึงทำให้เพลงในเกมอย่าง ‘Guardians’ มาเป็นหนึ่งในเพลงพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้นั่นเอง
Gladius Nemesis
ดักแก่กันเลยทีเดียวเมื่อเพลง ‘07 ACT 1 – 1’ ของเกม ‘Gladius Nemesis’ ดังขึ้นมาในพิธีเปิดโอลิมปิก เพราะเพลงนี้คือเพลงแรกที่นักเล่นเกมในยุค 80s – 90s ต่างคุ้นเคย เพราะทุกครั้งที่คุณเปิดเกมนี้เล่นจะต้องผ่านด่าน 1 – 1 ทุกครั้ง จนทำให้หลายคนจดจำเพลงนี้ได้ ส่วนความหมายของเกม ‘Gladius Nemesis’ ก็คือหนึ่งในเกมที่ไปเปิดตัวอย่างสวยงามในตลาดโลก ในฐานะเกมยานยิงมุมมองด้านข้าง ที่แตกต่างกับเกมแนวยิงในต่างประเทศที่จะเน้นมุมมองกล้องด้านบน แต่กับเกมซีรีส์ ‘Gladius’ จะเป็นยานยิงมุมมองด้านข้างที่ทำให้เราเห็นมิติในฉากที่มากกว่าเกมยานยิงแนวอื่นในตลาดยุคนั้น แถมระบบการเล่นก็เป็นเอกลักษณ์จนทำให้ชาวต่างชาติชื่นชอบ และทางผู้จัดก็เชื่อว่าเมื่อเพลง ‘07 ACT 1 – 1’ ดังขึ้นมา ชาวต่างชาติที่เคยเล่นเกมนี้(รวมถึงชาวไทย) ต้องดีใจจนยิ้มออกมาอย่างแน่นอน
Nier Series
คิดว่าทางทีมจัดงานโอลิมปิกคงจะกลัวว่าแฟน ๆ นักเล่นเกมรุ่นใหม่อาจจะเบื่อ เพราะมีแต่เกมเก่า ๆ มาใส่ในพิธีเปิดโอลิมปิก ทางทีมงานเลยเลือกเกมใหม่ที่สร้างชื่อให้กับญี่ปุ่น ในฐานะเกมแอ็กชันที่มีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นอยู่ตลอดทั้งเกม แต่ในเกมกลับไม่มีอะไรที่บอกเลยว่าเกมนี้คือเกมญี่ปุ่น ทั้งสิ่งปลูกสร้างตัวละครหรือสิ่งต่าง ๆ ในเกม แต่นักเล่นเกมทั่วโลกกลับสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นที่ออกมาจากเกมนี้ ชนิดที่เรียกว่ากลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นรุนแรงสุด ๆ ในเกมซีรีส์ ‘Nier’ ที่ตัวเกมทุกภาคนั้นจะมีเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกันไปมา ซึ่งแต่ละภาคก็จะมีชื่อตามท้ายคำว่า ‘Nier’ เช่น ‘NieR Replicant’ หรือ ‘NieR Automata’ ชนิดที่เรียกว่าถ้าคุณไม่เคยเล่นอาจจะงงได้เลยทีเดียว แต่ถ้าคุณไม่สนใจเรื่องนี้และเล่นเพื่อเอาความสนุก เกมซีรีส์ ‘Nier’ ก็พร้อมจะจัดให้คุณแบบจัดเต็มในทุกภาค และเกมซีรีส์นี้ก็สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเป็นอย่างมาก(โดยเฉพาะนักพัฒนาเกม) จนเพลง ‘Initiator’ มาอยู่ในพิธีเปิดโอลิมปิกในครั้งนี้
SaGa Series
กลับมาที่เกมเก่าระดับตำนานอีกครั้งในซีรีส์ ‘SaGa’ ที่นักเล่นเกมในยุคนี้อาจจะไม่ค่อยรู้จัก แต่ในอดีตเกมซีรีส์นี้จัดเป็นเกมแนวแนว JRPG ที่มีเนื้อเรื่องและระบบการเล่นที่ต่างกับเกมอื่น ๆ ในตลาด และเกมนี้ก็คือเกมแรก ๆ ที่เป็นแนว ‘Science Fantasy Openworld Role-Playing Video Games’ ที่เราสามารถเลือกที่จะทำอะไรไม่ทำอะไรหรือจะไปตรงไหนก็ได้ตามใจเรา ที่ต่างกับเกมภาษาเกมอื่น ๆ ที่เราต้องเล่นตามขั้น แต่กับซีรีส์ ‘SaGa’ กลับไม่เป็นแบบนั้น ซึ่งนั่นคือความสนุกและดีงามที่ทำให้หลายคนชื่นชอบ และภาคแรกของซีรีส์ที่ทำให้คนต่างชาติรู้จักก็คือเกม ‘The Final Fantasy Legend’ ในชื่อภาษาอังกฤษ แต่ชื่อจริง ๆ ของเกมนี้ในภาษาญี่ปุ่นคือ ‘Makai Toushi SaGa’ ที่วางจำหน่ายบนเครื่อง ‘GameBoy’ ด้วยความสนุกและแตกต่างจึงทำให้นักเล่นเกมต่างชาติรู้จักเกมนี้ จนทำให้ฝ่ายจัดงานนำเพลง ‘Makai Ginyu Poetry-Saga Series Medley 2016’ ที่แฟน ๆ ชื่นชอบมาเล่น ใครอยากรู้ว่าเกมนี้ดีงามขนาดไหนก็ลองไปหามาเล่นดูแล้วคุณจะรู้ว่าเกม RPG ที่แตกต่างไม่ตามสูตรแต่สนุกมันคืออะไร
Soul Caliber
ปิดท้ายกับเพลงปิดในพิธีเปิดโอลิมปิกในชื่อเพลง ‘The Brave New Stage of History’ จากเกมต่อสู้ที่หลายคนน่าจะรู้จักเป็นอย่างดีอย่าง ‘Soul Caliber’ เกมที่เราจะได้เลือกตัวละครเป็นนักดาบในประเทศต่าง ๆ มาต่อสู้กับเพื่อกำจัดดาบปีศาจที่สร้างความวุ่นวายให้ผู้คน ซึ่งความหมายที่ทำให้เกมและเพลงของซีรีส์ ‘Soul Caliber’ มาอยู่ในพิธีนี้ ก็เพราะเนื้อหาของเกมที่เชื่อมต่อกับโลกภายนอกแบบไม่มีปิดกั้น แบบเดียวกับที่เกมซีรีส์ ‘Kingdom Heart’ ทำ เพราะถ้าใครรู้จักหรือเคยเล่นเกมนี้ จะทราบดีว่าตัวเกมนั้นจะมีตัวละครจากชาติต่าง ๆ มากมาย และตัวพระเอกของเกมก็ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่น และสิ่งที่ทำให้เกมนี้เป็นที่พูดถึงในต่างประเทศคือการใส่แขกรับเชิญเป็นตัวละครจากเกมต่าง ๆ มาร่วมสู้ ไม่ว่าจะเป็นตัวละครในซีรีส์ ‘Star Wars’ หรือจะเป็นตัวละครจาก ‘The Witcher’ มาร่วมต่อสู้ แถมท่วงท่าและตัวละครที่เป็นชาวญี่ปุ่นก็อ้างอิงวิชาต่อสู้ของจริงมาใส่ เกมนี้จึงเป็นหนึ่งในเกมที่สร้างชื่อให้คนต่างชาติรู้จักคนญี่ปุ่นผ่านเกม เพราะเหตุนี้เราจึงได้เห็นเพลง ‘The Brave New Stage of History’ ในช่วงปิดท้ายการเปิดตัวโอลิมปิกนั่นเอง
ก็จบกันไปแล้วกับ 14 เกมกับ 19 บทเพลงที่ถูกเอามาบรรเลงในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก กับความหมายเพื่อสื่อให้คนที่เล่นเกมทราบว่า ประเทศญี่ปุ่นนั้นให้ความสำคัญกับเกมที่ตัวเองสร้าง แต่ก็ไม่ลืมที่จะใส่ความเป็นญี่ปุ่นลงไปเพื่อให้คนเล่นรู้จักประเทศตัวเอง แต่อีกนัยหนึ่งญี่ปุ่นก็บอกเราอ้อม ๆ ว่าถึงเราจะใส่ความเป็นชาตินิยมลงไป แต่เราก็ไม่ยัดเยียดสิ่งเหล่านั้นลงไปในเกม และเรา(ประเทศญี่ปุ่น) ก็พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ จากต่างชาติเพื่อความหลากหลายในการทำเกม เพื่อเปิดตลาดให้คนต่างประเทศได้สนุกและชื่นชอบในสิ่งที่ตนทำ ผ่านเกมทั้ง 14 เกมที่คนซึ่งเล่นเกมจะเข้าใจความหมาย แต่คนที่ไม่ได้เล่นเกมอาจจะไม่ทราบ เราจึงหยิบยกเรื่องนี้มาบอกกัน ถ้าขาดตกตรงไหนไปก็ขออภัยมาด้วย ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรในวงการเกมก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส