ก่อนหน้านี้มีดราม่าครั้งใหญ่เมื่อค่าย Sony ได้ขนเอาเกมเทพ ๆ ของค่ายไปออกบน PC หลายเกม และยังประกาศว่าจะมีการย้ายเกมดังตามมาอีกในอนาคต ทำให้มีแฟน ๆ ไม่พอใจอย่างมาก เพราะจุดเด่นหนึ่งของเกมคอนโซลคือการที่มีเกมออกเฉพาะเครื่องของตัวเองเท่านั้น ทำให้มีหลายคนแปลกใจว่าทำไม Sony ถึงได้ทำแบบนี้ แต่ความจริงแล้วหากคุณติดตามประวัติศาสตร์วงการเกมมายาวนานคงจะรู้ว่ามันเป็นเรื่องปรกติที่ทำมานานแล้ว

เพราะแม้แต่ค่าย นินเทนโด ขึ้นชื่อเรื่องหวงตัวละครหรือเกมของค่ายมาก เรียกว่าหากใครจะนำไปใช้ก็ต้องขออนุญาตกันหลายขั้นตอน ทำให้มีคอเกมหลายคนมีความเชื่อว่าหลังจากปู่นินทำเครื่องเกมคอนโซลขายและประสบความสำเร็จ คงจะไม่เคยนำเกมตัวเองไปออกบนเครื่องคอนโซลของค่ายอื่น หรือหรือบน PC เลย แต่ความจริง นินเทนโด ก็เคยนำเกมดังระดับเรือธงของค่ายไปลงบน PC หรือแม้แต่คอนโซลอื่นก็เคยมีการทำมาแล้ว วันนี้ทาง Beartai ได้รวบรวมเอารายชื่อเกมดังที่เคยออกวางขายบนเครื่องเกมอื่นหรือบน PC มาให้ชม ซึ่งบางเกมพัฒนาให้ดีกว่าต้นฉบับเสียด้วย แถมบางเกมก็เป็นภาคใหม่ที่หาเล่นไม่ได้บนเครื่องคอนโซลนินเทนโดด้วยซ้ำ ไปดูกันว่ามีเกมอะไรบ้าง โดยบทความนี้ไม่ได้เป็นการจัดอันดับความยอดเยี่ยม และทุกเกมที่ออกได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากนินเทนโดไม่ใช่ฉบับแฟน ๆ ทำเอง

เกม นินเทนโด บน PC-8801 ของค่าย NEC
ในยุค 80s ที่นินเทนโดกำลังรุ่งกับการผลิตเกมลง แฟมิคอม แต่ก็มีการร่วมมือกับค่าย Hudson ในการผลิตเกมดังของค่ายไปลง PC ที่ออกเฉพาะรุ่นของ NEC PC-8801 เท่านั้น และมีออกวางขาย 4 เกม ที่มีทั้ง Donkey Kong 3 ภาคสุดท้ายของซีรีส์ลิงยักษ์บนแฟมิคอม ที่มาพร้อมไอเดียแปลกเพราะเราจะต้องฉีดยาฆ่าแมลงไล่ Donkey Kong และยังมีเกม Mario Bros. Special ภาคแรกของตำนานลุงหนวดของเราที่มาด้วยรูปแบบการเล่นที่เรียบง่าย แค่กำจัดศัตรูโดยการกระโดดเคาะพื้นให้ศัตรูล้มแล้วไปอัดซ้ำ

และยังมาพร้อมกับภาคพิเศษที่เอาภาคเดิมมาอัปเกรดด้วยเช่นเกม Punch Ball Mario Bros. ที่เพิ่มลูกเล่นจากภาค Mario Bros. โดยจะมีไอเทม Punch Balls ที่ใช้ในการโจมตีศัตรูได้ และฉากในเกมยังมีการสร้างขึ้นมาใหม่ ทำให้มันเหมือนกับเกมใหม่ที่หาเล่นไม่ได้บน แฟมิคอมด้วย และตามมาด้วย Super Mario Bros. Special ภาคพิเศษที่อัปเดตเพิ่มสิ่งใหม่ และมีฉากใหม่เข้าไปเพิ่มทำให้แตกต่างจาก Mario ภาคแรก

และยังมีอีกหลายเกมบนแฟมิคอมที่วางขายบน NEC PC-8801 ด้วยแต่ไม่ได้มาจากค่ายนินเทนโด อย่างไรก็ตามทุกเกมที่กล่าวมามีกราฟิกที่แตกต่างจากแฟมิคอมพอสมควร รวมทั้งมีแฟรมเรตที่ดูแย่กว่าด้วย ส่วนในปัจจุบันนี้หากอยากจะเล่นก็คงจะหาของแท้ลำบากเพราะมันออกมาหลายสิบปีแล้ว แถมออกบน PC รุ่นเก่าด้วยแต่หากต้องการเล่นกันจริง ๆ ก็คงต้องหาอีมูเลเตอร์มาเล่นแทน แต่ด้วยคุณภาพของกราฟิกที่ด้อยลงกว่าแฟมิคอม ถือว่าไม่ได้คุ้มค่าที่จะหามาเล่นหากคุณไม่ได้ชอบเกมนินเทนโดจริง ๆ

เกมนินเทนโดบน atari
ก่อนที่นินเทนโดจะโด่งดังกับแฟมิคอม ปู่นินได้ประสบความสำเร็จกับวงการเกมตู้อาเขตมาก่อน และในช่วงต้นยุค 80s เกมที่ดังที่สุดของนินเทนโดคงหนีไม่พ้น Donkey Kong ฉบับเกมตู้ที่โด่งดังอย่างมาก และนอกจากการย้ายมาลงคอนโซลของค่ายอย่างแฟมิคอมแล้ว ยังมีการทำเวอร์ชันลงของค่ายอื่นอย่างเครื่อง atari 2600 ด้วย และที่ทำให้อาจเป็นเพราะในตอนนั้นแฟมิคอมยังไม่วางขายในอเมริกา ทำให้ปู่นินอยากเจาะตลาดเกมคอนโซลในตะวันตกด้วย

อีกทั้งในตอนที่ปู่นินจะทำตลาดเกมคอนโซลในอเมริกา นินเทนโดได้ทำการติดต่อ atari ยักษ์ใหญ่แห่งวีดีโอเกมในยุคนั้น แต่เนื่องจากตกลงกันไม่ได้ นินเทนโด เลยทำตลาดด้วยตัวเองเลย ส่วนเกมที่เอามาลงมี Donkey Kong ที่ย้ายจากเกมตู้ และ Mario Bros. อย่างไรก็ตามแม้รูปแบบการเล่นจะเหมือนเดิม แต่ด้วยสเปกของ atari 2600 ที่อ่อนด้อยกว่าแฟมิคอมด้วยซ้ำทำให้กราฟิกในเกมดูแย่กว่ามาก ๆ เรียกว่าแทบมองไม่ออกด้วยซ้ำว่าตัวละครในเกมคือใคร แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกของนินเทนโดในตลาดคอนโซลในอเมริกาก่อนที่จะสามารถยึดครองได้ในช่วงกลางยุค 80s

เกมนินเทนโด บน Philips CD-i
หากใครจำได้ในช่วงต้นยุค 90s นินเทนโดเคยร่วมงานกับ Sony พัฒนาคอนโซลที่ใช้แผ่น CD แต่ก็ล้มเหลวไม่ได้ออกมาวางขาย (อ่านเรื่องราวเต็ม ๆ ได้ที่ กดเลย ) โดยหลังจากไม่ได้ร่วมงานกับ Sony นินเทนโดได้ไปจับมือกับ Philips ยักษ์ใหญ่อีกค่ายแทน แต่ก็ไม่สำเร็จเช่นกันและปู่นินก็หันไปใช้ตลับเกมบน Nintendo 64 เหมือนเดิม ส่วนทาง Philips ได้มีการออกคอนโซล Philips CD-i วางขายในปี 1990 และจากการร่วมมือกับนินเทนโดทำให้มีเกมดังของปู่นินได้วางขายบน CDi ด้วย

และที่สุดยอดคือแค่รายชื่อเกมก็เป็นล้วนแต่เป็นระดับตำนาน เพราะมีทั้ง Mario และ Zelda ออกวางขายแถมยังเป็นภาคใหม่ด้วย อย่างไรก็ตามมันไม่ได้ถูกสร้างโดยนินเทนโด เป็นทีมงานอื่นที่ Philips หามาสร้างเอง โดยเกมแรกที่น่าสนใจคือ Hotel Mario ที่มาแนว แอ็กชันผสม puzzle ที่เราจะได้เล่นเป็นมาริโอแล้วไปปิดประตูในโรงแรม ที่ดูแล้วไม่น่าจะสนุก ส่วนอีก 3 เกมคือ Link: The Faces of Evil ที่เป็นเกม Zelda ที่เป็นแอ็กชัน 2D มุมมองด้านข้าง ที่เน้นการต่อสู้ไม่มีการแก้ปริศนา โดยมีความโดดเด่นที่คัตซีนที่เป็นการ์ตูน รวมทั้งฉากที่สีสันสวยงาม แต่เกมเพลย์ไร้ความสนุกและเป็นหนึ่งในเกมห่วยที่สุดในซีรีส์ Zelda

ตามด้วยเกม Zelda: The Wand of Gamelon ที่มาในรูปแบบ 2D มุมมองด้านข้างเหมือนภาค Link: The Faces of Evil แต่ตัวเอกในภาคนี้จะเป็นเจ้าหญิง Zelda ที่ต้องออกไปช่วย Link แทนถือว่าเป็นเรื่องราวที่แปลกใหม่แต่เกมเพลย์ยังเลวร้ายเหมือนเดิม เพราะเป็นแอ็กชันที่ไร้ความสนุก และมีการออกแบบฉากได้แย่มาก บางครั้งผู้เล่นอาจจะตกเหวตายโดยไม่รู้ตัว หรือหาทางไปต่อไม่ได้ต้องเริ่มเกมใหม่ราวกับเกมยังสร้างไม่เสร็จดี

และปิดท้ายกับเกมสุดท้าย Zelda’s Adventure ที่คราวนี้ตัวเอกยังคงเป็น Zelda แต่จะเปลี่ยนมุมกล้องมาเป็น 2D แบบมองด้านบน แนวเดียวกับ Zelda ภาคแรกบนแฟมิคอม และยังคงทุนใช้คัทซีนเป็นนักแสดงจริงด้วย เรียกว่าเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ซีรีส์ Zelda ใช้คนแสดงจริง แต่รูปแบบการเล่นก็ยังคงเลวร้ายเช่นกันเพราะไม่มีความสนุก แถมยังมีระบบเมนูที่ยุ่งยาก โดยรวมทำให้เกมนินเทนโดบน CD-i เป็นสิ่งที่ไม่ควรไปหามาเล่น และเป็นบาดแผลของเกมซีรีส์ Zelda และ Mario กันเลย

เกม Wii บน nvidia shield
ย้อนอดีตไปเสียเยอะ คราวนี้มาดูเกมนินเทนโดที่เพิ่งจะออกบนคอนโซลของค่ายอื่นกันบ้าง โดยคราวนี้ที่เพราะการร่วมมือกับค่าย nvidia ที่เป็นผู้ผลิตชิปให้ Nintendo Switch ทำให้มีการอนุญาตให้นำเกมของปู่นินไปลง nvidia shield คอนโซลต่อทีวีที่ใช้ชิป nvidia tegra x1 เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม นินเทนโดไม่ได้ใจดีขนาดส่งเกมบน Switch ไปลง แต่ได้นำเกมเก่าของค่ายที่อยู่บน Wii รุ่นแรกไปวางขายบน nvidia shield แทน

โดยเกมนินเทนโดบน nvidia shield มีทั้งมาริโอ Super Mario Galaxy และภาค 2 มิติอย่าง New Super Mario Bros. Wii รวมทั้งเกมต่อยมวยในตำนาน Punch-Out!! และตำนาน Zelda: Twilight Princess , Mario Kart Wii และ Donkey Kong Country Returns โดยทุกเกมได้ปรับเปลี่ยนให้ใช้จอยปรกติเล่นได้ เพราะแต่เดิมบางเกมต้องใช้ Wii Mote เล่นเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการปรับภาพให้เข้ากับทีวียุคใหม่ ให้คมชัดขึ้นเล็กน้อยแต่ไม่ได้เป็นการรีมาสเตอร์ ซึ่งใครอยากเล่น nvidia shield ก็พอจะสั่งซื้อมาเล่นได้แต่บอกตรง ๆ ว่าหาเล่นบน Wii น่าจะง่ายกว่า

เกม Super Mario เพื่อการศึกษา
โดยเกมเพื่อการศึกษาของนินเทนโดที่โดดเด่นมีทั้ง Mario Is Missing! ที่ว่าด้วยการหายไปของมาริโอ ทำให้ตัวเอกของเกมคือ ลุยจิ น้องชายฝาแฝด ที่เราต้อออกไปค้นหาลุงหนวดไปพร้อมกับเรียนรู้สถานที่สำคัญทั่วโลก ต่อด้วย Mario’s Time Machine ที่มาริโอจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในอดีตไปพร้อมกับการท่องเวลากับเครื่องย้อนเวลา ที่มีรูปแบบเรียบง่ายเพราะเป็น 2D และปิดท้ายกับ Mario Teaches Typing ก็ตามชื่อที่เป็นเกมสอนให้พิมพ์ดีด แค่มีมาริโอเป็นตัวละครที่คอยสอนให้เราพิมพ์ตัวอักษรตามที่กำหนด ที่มีฉากหลังในเกมเป็นโลกใน Super Mario ด้วยทำให้เราสนุกไปกับการเรียนพิมพ์ดีดไปพร้อมกับโลกของมาริโอ

ซึ่งการสร้างเกมเพื่อการศึกษา เป็นอีกแนวทางการสร้างเกมน้ำดีที่ได้ความรู้ไปพร้อมกับความสนุก ที่ในอดีตนินเทนโด ได้ยอมส่งมาริโอของเราไปเป็นตัวเอก และมีการออกบน PC เพื่อให้เข้าถึงคนได้มากที่สุด แต่บางเกมก็มีการวางขายบน แฟมิคอม , ซูเปอร์แฟมิคอมด้วย แม้ว่าความสนุกอาจจะไม่เท่าภาคหลักเพราะไม่ได้สร้างโดยทีมงานหลัก แต่หากมองว่ามันมีไว้หาความรู้ถือว่าเป็นอีกแนวทางการสร้างเกม ที่มีตัวละครอันเป็นที่รักของเด็ก ๆ มาช่วยให้สนุกไปพร้อมกันที่หาได้ยากในทุกวันนี้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส