คุณเคยได้ยินเพลง ‘ที่หนึ่งไม่ไหว’ ของ “วงไอน้ำ” ไหม เนื้อหาของเพลงนี้บอกเราถึงความพยายามของผู้ชายคนหนึ่ง ที่ทำทุกอย่างให้ผู้หญิงที่ตัวเองชอบมาหลงรักหรือมองตัวเองบ้างแม้เล็กน้อยก็ยังดี แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำได้เป็นเพียงแค่ที่ 2 ในสายตาเธอคนนั้น ที่เมื่อเอาเรื่องราวแบบนี้มาใช้กับวิดีโอเกมแต่ตัดเรื่องราวความรักออกไป และมองในแง่ของความพยายามของตัวละครในเกม รวมถึงเหล่านักพัฒนาเกมกับค่ายเกมที่พยายามดันตัวละครบางตัวให้ขายได้ แต่สุดท้ายก็ดันไม่ขึ้นเพราะตัวละครหลักที่มีอยู่เดิมนั้นแข็งแกร่งและเป็นที่รู้จักมากกว่า จนสุดท้ายก็เป็นได้แค่ที่ 2 ต่อไป และนี่ก็คือเหล่าตัวละครที่ 1 ไม่ไหวจนเป็นได้แค่ที่ 2 จะมีตัวละครอะไรจากเกมไหนบ้างนั้นมาดูกันเลย
Luigi จากเกม Super Mario
เริ่มต้นตัวละครแรกที่เมื่อเห็นหลายคนก็น่าจะเข้าใจในทันที ว่าตัวละครเบอร์ 2 นั้นหมายถึงอะไร เพราะตั้งแต่ที่มีตัวละคร มาริโอ้ (Mario) ปรากฏขึ้นมาในเกม ‘Donkey Kong’ เป็นต้นมาก็สร้างความโด่งดังให้กับตัวละครนี้ จนมาถึงเกมภาคแรกอย่างเป็นทางการของลุงหนวดในเกม ‘Mario Bros’ ในปี 1983 ในเครื่อง ‘Game & Watch’ ทาง ชิเงรุ มิยาโมโตะ (Shigeru Miyamoto) ได้มีแนวคิดในการทำให้ตัวเกมสามารถเล่นได้ 2 คนเพื่อแข่งกัน แต่ด้วยข้อจำกัดในการสร้างกราฟิกในเกมจึงทำให้ทางทีมพัฒนาเอาตัวมาริโอ้มาเปลี่ยนเป็นสีเขียว ก่อนจะให้ชื่อและฐานะน้องชายกับตัวละครนี้ว่า ลุยจิ (Luigi) นับตั้งแต่นั้นตัวละครชายชุดเขียวร่างสูงก็เกิดขึ้นมาในวิดีโอเกม แต่ด้วยรัศมีความโด่งดังของพี่ชายที่มาก่อนจึงกลายเป็นว่าตัวละครลุยจิจึงเป็นได้แค่ตัวประกอบตัวเสริมให้ผู้เล่นอีกคนเท่านั้น และในบางภาคก็เป็นแค่คนที่ถูกจับที่รอให้มาริโอ้มาช่วย ซึ่งแม้ทาง ‘Nintendo’ พยายามจะเข็นลุยจิให้เป็นตัวเอกในเกมของตัวเองชื่อ ‘Luigi’s Mansion’ ก็ยังไม่วายต้องเอามาริโอ้มาเป็นตัวละครในเกมเพื่อช่วยดึงกระแส เรียกว่าเป็นตัวละครที่ต้องอยู่ใต้เงาของพี่ชายไปอีกนานแสนนาน
Ken Masters จากเกม Street Fighter
ต้องเรียกว่ามีชะตากรรมเดียวกันกับลุยจิ กับตัวละครเบอร์ 2 ของวงการเกมอีกหนึ่งคน ที่ต้นกำเนิดของตัวละคร เคน มาสเตอร์ (Ken Masters) จากเกม ‘Street Fighter’ นั้นก็เหมือนกับลุยจิ ที่เริ่มต้นจากตัวละครผู้เล่นคนที่ 2 ที่มีรูปร่างท่วงท่าและพลังที่เหมือนกับ ริว (Ryu) ในเกม ‘Street Fighter’ ภาคแรก ที่ทั้งเกมนั้นเราจะได้เล่นเป็นริวแค่คนเดียวไม่สามารถเลือกเป็นตัวละครอื่นได้ แต่ด้วยตัวเกมที่เป็นเกมตู้จึงทำให้ผู้เล่นอีกคนสามารถมาท้าทายผู้เล่นก่อนหน้าได้ ตัวเกมจึงสร้างตัวละครชุดสีแดงที่ชื่อเคนขึ้นมาเพื่อให้ผู้เล่นมาต่อสู้กัน ภายหลังที่เกม ‘Street Fighter’ สร้างภาคต่อออกมาก็ได้มีการใส่ตัวละครเคนลงไป และสร้างเรื่องราวให้ตัวละครคนนี้เป็นศิษย์ร่วมสำนักกับริว ก่อนที่ทางทีพัฒนาจะพยายามฉีกเคนให้ต่างกับริว ที่ในตอนแรกจะต่างกันแค่เล็กน้อยที่ถ้าทั้งคู่ไม่ใส่เสื้อต่างสีก็แทบดูไม่ออก แต่ถ้าใครที่ได้เล่นเกมนี้จริง ๆ จะทราบว่าจังหวะการเล่นของริวกับเคนนั้นต่างกันมาก แม้ตัวละครจะเป็นตัวละครที่ใช้ท่าเดียวกันก็ตาม ซึ่งในภาคล่าสุดอย่าง ‘Street Fighter V’ เคนก็สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ทั้งท่วงท่าและพลังที่ต่างกับริวแบบ 100% แต่ถึงแบบนั้นผู้คนก็ยังจดจำริวมากกว่าอยู่ดี แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าลุยจิที่ไม่มีวันเทียบเคียงหรือแยกตัวจากพี่ชายได้
เหล่าพระเอกในเกมซีรีส์ Far Cry
ต้องเรียกว่าเป็นความจงใจของทีมพัฒนาก็ได้ ที่ตัวเกมในซีรีส์ไกลตะโกนอย่าง ‘Far Cay’ ตั้งแต่ภาคที่ 3 ของซีรีส์เรื่อยมานั้น ตัวเกมจะเอาตัวผู้ร้ายมาขึ้นปกเด่นเป็นสง่าจนคนเล่นเกมก็ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะตลอดทั้งเกมจะมีแค่ช่วงแรกของเกมเท่านั้นที่ทำให้เราได้เห็นหน้าตัวละครพระเอกว่าหน้าตาเป็นอย่างไร หลังจากนั้นเราก็จะไม่ได้เห็นหน้าเขาเหล่านั้นอีกเลยจนจบเกม ซึ่งการกระทำแบบนี้ทางทีมพัฒนาต้องการให้ผู้เล่นรู้สึกว่าตัวเองคือตัวละครในเกม และการเอาตัวร้ายขึ้นปกก็เพื่อต้องการสร้างความรู้สึกให้ผู้เล่นเกมเกลียดตัวละครตัวนี้ จนกลายเป็นเป้าหมายที่เราต้องฝ่าฟันเพื่อไปกำจัดมันให้ได้ ซึ่งตัวเกมก็ทำได้ผลจริง ๆ เพราะผู้คนที่เล่นเกมนี้ต่างเกลียดตัวร้ายพวกนี้จนอยากฆ่าทิ้งทุกคน แถมระหว่างทางตัวร้ายเหล่านั้นก็ทำเรื่องชั่วช้ามากมายจนเรารู้สึกว่าการฆ่าหมอนี่คือจุดสูงสุดในเกม จนกระทั่งมาถึงช่วงท้ายเกมทางทีมพัฒนาก็ตบหน้าผู้เล่นด้วยคำถามที่ว่าสิ่งที่ตัวร้ายเหล่านี้ทำมันผิดหรือถูก ยกตัวอย่าง พุกาม มิน (Pagan Min) ตัวร้ายที่ชั่วช้าเป็นผู้นำเผด็จการที่บ้าอำนาจ แต่เขากลับดีกับ อาเจย์ เกล (Ajay Ghale) พระเอกของเกมมาก ๆ ที่ถ้าเราทนรอเขาอยู่ในช่วงต้นเกมพุกาม มินจะพาเราไปวางโถกระดูกแม่แบบง่าย ๆ และเป็นมิตร แถมตอนจบต่อให้เราฆ่าพุกาม มินก็จะมีเผด็จการคนใหม่เกิดขึ้นมาอยู่ดี ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อตัวร้ายมีมิติขนาดนี้ตัวพระเอกของทุกภาคกับแบนราบจนกลายเป็นสิ่งที่ 2 ที่คนเล่นจดจำไปในที่สุดนั่นเอง
Ethan Winter จากเกม Resident Evil Village
ต่อเนื่องมาจากซีรีส์ ‘Far Cay’ ที่ทางทีมพัฒนาเกม ‘Resident Evil’ ของ ‘Capcom’ ได้หยิบยกการพัฒนาเกมแบบชูตัวร้ายให้เด่นกว่าตัวเองขึ้นมาบ้าง โดยตัวเอกผู้โชคร้ายของเกมนี้ที่ถูกเอามาใช้กับการทดลองนี้คือ อีธาน วินเทอร์ส (Ethan Winters) ชายหนุ่มธรรมดาที่พยายามมาตามหาภรรยาที่หายตัวไป ก่อนที่เรื่องราวจะบานปลายมาเป็นการทำลายต้นตอของเชื้อไวรัสที่ควบคุมและเปลี่ยนจิตใจของคนได้ โดยที่ตลอดทั้งเกมนั้นเราจะไม่ได้เห็นหน้าของอีธานเลยว่าเขาหน้าตาเป็นอย่างไร จนกระทั่งมีคนไปค้นหาข้อมูลของตัวเกมจึงได้เห็นหน้าตาของเขา จนมาถึงภาคที่ 2 ของอีธานที่ครั้งนี้เขาก็ยังคงเป็นตัวละครเบอร์ 2 เพราะทาง ‘Capcom’ ได้ชูตัวละคร อัลซินา ดิมิเทรสคู (Alcina Dimitrescu) กับพี่ คริส เรดฟิลด์ (Chris Redfield) มาเป็นตัวหลักในการโปรโมต ขณะที่ในภาค 7 ก็เอาครอบครัวเบเกอร์มาเป็นจุดขาย จนมาถึงท้ายเกมด้วยบทที่ส่งขนาดไหนก็ตาม แต่มันก็ไม่ทำให้คนเล่นรู้สึกอินได้เพราะเราไม่เห็นหน้าตาของอีธานว่าเขาเศร้าเสียใจขนาดไหน แถมตอนจบเกมยังถูก โรสแมรี่ วินเทอร์ส (Rosemary Winters) ลูกสาวมาขโมยความเด่นซ้ำไปอีก แบบนี้ไม่เรียกตัวละครเบอร์ 2 เบอร์ 3 ก็ไม่รู้จะเรียกยังไงแล้ว
Big Boss จากเกม Metal Gear
เมื่อพูดถึงเกมในซีรีส์ ‘Metal Gear’ หรือ ‘Metal Gear Solid’ เชื่อว่าคนที่เล่นเกมนี้เกินครึ่งต้องคิดถึงตัวละครที่ชื่อว่า โซลิด สเนค (Solid Snake) มากกว่าจะคิดถึง ‘Big Boss’ แถมบางคนยังคิดด้วยซ้ำว่าทั้งคู่คือคนเดียวกัน เพราะหน้าตาทั้งคู่นั้นเหมือนกันมาก ๆ นั่นก็เพราะโซลิดสเนคก็คือร่างโคลนของ ‘Big Boss’ และตัวของโซลิดสเนคก็ถูกเปิดตัวมาก่อนในฐานะพระเอกคนแรกของซีรีส์ ที่มีภาคแยกภาคต่อออกมาอย่างมากมายก่อนที่ ‘Big Boss’ จะปรากฏตัวอย่างเป็นทางการในฐานะพระเอกก็ปาเข้าไปในภาคที่ 3 ของซีรีส์ (ก่อนหน้านี้ออกมาตอนแก่ในฐานะตัวร้ายของเกม) ด้วยจำนวนเกมที่ออกมาก่อนและยาวนานแถมหน้าตาก็เหมือนกัน จึงไม่แปลกที่หลายคนจะจดจำโซลิดสเนคมากกว่า ‘Big Boss’ เพราะขนาดเกมชื่อดังอย่าง ‘Super Smash Bros’ ยังเอาโซลิดสเนคมาเป็นตัวละครในการต่อสู้ และที่โหดร้ายไปกว่านั้นแม้แต่ ไรเดน (Raiden) พระรองในซีรีส์ ‘Metal Gear Solid’ ยังมีคนรู้จักและจดจำได้มากกว่า ‘Big Boss’ เสียอีก ทั้งที่ตัวเองคือตัวละครสำคัญและน่าจะเป็นตัวเด่น แต่สุดท้ายก็แพ้ตัวละครที่หมดบทบาทไปแล้วอย่างโซลิดสเนคไปเสียอย่างนั้น
Vegeta จากเกม Dragon Ball Z Kakarot
อ่านมาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนก็คงจะยังไม่เห็นภาพเกี่ยวกับตัวละครเบอร์ 2 ในเกมว่าหมายถึงอะไร ถ้าอย่างนั้นเราจะขอยกตัวละครเบอร์ 2 ที่แท้จริงทั้งในวงการเกมและการ์ตูนอย่างเจ้าชายแห่งดาวไซย่าอย่าง เบจิต้า (Vegeta) จากเกม ‘Dragon Ball Z Kakarot’ หรือเกมต่าง ๆ ในซีรีส์ ‘Dragon Ball’ ที่ถ้าคุณเคยอ่านหรือดูการ์ตูนเรื่องนี้มาก่อนจะทราบดีว่าตัวของเบจิต้านั้นจะตามหลัง ซุน โกคู (Son Goku) อยู่หนึ่งก้าวเสมอในทุก ๆ การต่อสู้ แถมเขาก็มักจะกลายเป็นกระสอบทรายให้เหล่าตัวร้ายที่ถูกเพิ่มพลังมากระทืบทุกครั้ง ก่อนที่สุดท้ายคนที่มากำจัดศัตรูก็คือโกคู นี่ยังไม่นับความนิยมในกลุ่มคนเล่นเกมหรือการ์ตูน เบจิต้าก็เป็นตัวละครอันดับที่ 2 ของเรื่องที่ได้รับความนิยม เรียกว่าพยายามแค่ไหนก็ไม่มีทางเหนือกว่าโกคูทั้งในเนื้อเรื่องและความนิยมในมุมตัวละครจากการ์ตูน แถมลึก ๆ เจ้าตัวยังยอมรับและเข้าใจในตัวเองว่าโกคูเก่งกว่าตนในทุกด้านอีกด้วย แต่ถึงจะเป็นแค่ตัวละครเบอร์ 2 แต่เบจิต้าก็เป็นตัวละครที่ยืนเคียงข้างโกคูในทุกครั้ง แถมเขายังเป็นหนึ่งในตัวละครที่เปลี่ยนจากตัวร้ายมาเป็นพระรองเบอร์ 2 ได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับตัวละครทุกคนที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ เรียกว่าเป็นเบอร์ 2 ที่โดดเด่นไม่แพ้เบอร์ 1 ก็ว่าได้
Tifa Lockhart จากเกม Final Fantasy VII Remake
มาที่ตัวละครหญิงหนึ่งเดียวในบทความนี้กันบ้าง กับสาวสวยแห่งวงการเกมแต่กลับเป็นได้แค่ที่ 2 ในสายตานักเล่นเกม กับ ทีฟา ล็อกฮาร์ต (Tifa Lockhart) จากเกม ‘Final Fantasy VII Remake’ ที่ในตอนแรกตัวละครทิฟานั้นเป็นที่พูดถึงในกลุ่มคนเล่นเกมเป็นอย่างมาก เพราะชุดที่เธอต้องสวมเมื่อเทียบกับต้นฉบับนั้นมันช่างดูเย้ายวนจนหลายคนอยากเห็น รวมถึงข่าวการลดขนาดหน้าอกของเธอเพื่อให้ดูสมจริงเมื่อเทียบกับต้นฉบับ ซึ่งก็มีเท่านั้นจริง ๆ ที่ตัวละครคนนี้เป็นที่สนใจ เพราะเมื่อตัวละคร แอริธ เกนส์เบอรู (Aerith Gainsborough) ปรากฏตัวขึ้นมาทุกสายตาก็มุงไปที่เธอกันหมด จนทิฟากลายเป็นตัวละครสาวสวยที่ถูกลืม และยิ่งซ้ำร้ายหนักขึ้นไปอีกเมื่อเกมเอาภาพพี่เมฆ คลาวด์ สไตรฟ์ (Cloud Strife) ตอนแต่งหญิงมาโปรโมต ยิ่งดึงความสนใจออกไปจากทิฟามากขึ้นไปอีก จนเมื่อเกมออกมาบทบาทของทิฟาก็เป็นแค่ตัวละครเสริมที่ถูก เจสซี่ ราสเบอรี่ (Jessie Rasberry) มาขโมยความความเด่นไปอีก เรียกว่าโดนกลบความเด่นไปหมดจนทิฟากลายเป็นตัวละครสาวสวยสุดแกร่งที่เป็นแค่ไม้ประดับในเกมเท่านั้น ที่ใครซึ่งได้เล่นเกมนี้จะทราบดี และเราก็หวังว่าทิฟาจะกลับมามีบทเด่นในตอนต่อ ๆ ไป
Zero จากเกม Rock Man X
ย้อนกลับไปสมัยที่เกม ‘RockMan X’ ภาคแรกปล่อยออกมาให้ได้เล่น เราก็ได้รู้จักตัวละครพระรองของซีรีส์ที่ออกมาช่วย เอ็กซ์ (X) ตอนที่เขาเสียท่าซึ่งเป็นซีนสุดเด่นที่หลายคนจดจำ แต่หลังจากนั้นเราก็ไม่เห็นเขาอีกเลยจนมาถึงท้ายเกมที่ซีโร่สละชีวิตช่วยเอ็กซ์เอาไว้จนตัวตาย ก่อนที่ภาค 2 ซีโร่จะกลับมาในฐานะตัวร้ายที่กว่าเราจะได้เล่นเป็นซีโร่แบบจริง ๆ จัง ๆ ในฐานะพระรองก็ปาเข้าไปในภาคที่ 4 ของซีรีส์ไปแล้ว ซึ่งหลังจากภาค 4 เป็นต้นมาบทบาทของซีโร่ก็ค่อย ๆ เด่นขึ้นจนแทบกลบกระแสของเอ็กซ์ แต่ด้วยรูปแบบการเล่นของซีโร่ที่เน้นการฟันดาบที่ต่างกับเอ็กซ์ที่แม้จะเป็นปืน แต่คนเล่นเกมก็เคยชินกับรูปแบบการเล่นของเอ็กซ์มากกว่า แถมตัวละครตัวนี้ยังมีชุดเกราะที่เราได้เห็นการพัฒนาเรื่อย ๆ ต่างกับซีโร่ที่มีแค่พลัง จึงทำให้เขาเป็นแค่ตัวละครผู้ชายพระรองต่อไป แต่ทาง ‘Capcom’ ก็ไม่ยอมแพ้ยังเอาซีโร่มาทำซีรีส์แยกใน ‘Rockman Zero’ ที่สุดท้ายแล้วตัวเกมก็ต้องหยุดการพัฒนาลงในภาคที่ 4 และหันไปสร้างเกมที่มีตัวละคร รอคแมน (Rock Man) และใส่ซีโร่ลงไปในซีรีส์แทน นั่นแสดงให้เห็นถึงความนิยมในตัวร็อกแมนที่สูงกว่าซีโร่ที่แม้จะโดนเด่นแต่ก็สู้ของเดิมที่คนเล่นคุ้นเคยไม่ได้
Pokemon Trainer จากเกม Pokémon
ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหามีคำถามอยากถามผู้อ่านว่า ในบรรดาตัวละคร ‘Pokemon Trainer’ จากเกมซีรีส์ ‘Pokémon’ คุณรู้จักใครบ้าง ซึ่งเกือบทั้งหมดคงบอกว่า ซาโตชิ (Satohi) หรือถ้าเป็นในเกมก็คงจะต้องรู้จัก เรด (Red) กับ ชิเงรุ (Shigeru) ในเกม ‘Pokémon’ ภาคแรก นอกจากนั้นเราก็ไม่รู้จักใครอีกเลย แต่ตรงข้ามเรากลับรู้จักเหล่า ‘Pokémon’ เกือบทุกตัวในเกมเสียอย่างนั้น แต่คนเล่นกลับไม่รู้จักชื่ออย่างเป็นทางการของเหล่า ‘Trainer’ พวกนี้เลย ทั้งที่ทุกคนนั้นก็มีชื่อเป็นของตัวเอง(รูปด้านบน) หรืออาจจะเป็นเพราะในเกมมีระบบตั้งชื่อเองเราเลยไม่รู้สึกสนใจ และบางภาคชื่อตัวละครที่เป็นคู่แข่งก็ไม่ได้มีความสำคัญอะไรที่ต้องจดจำ หลายคนเลยไม่ได้สนใจชื่อตัวละคร ‘Trainer’ ในเกม และแบบนี้จะไม่เรียกตัวละครเบอร์สองได้อย่างไร เพราะแม้แต่ชื่อเราก็ยังจำไม่ได้เลยแถมไม่ใช่ภาคเดียวด้วย
Nero จากเกม Devil May Cry
ยังต้องไปฝึกและพัฒนาตัวเองอีกเยอะ นั่นคือคำจำกัดความของตัวละครหนุ่มแขนปีศาจอย่าง เนโร (Nero) จากเกมซีรีส์ ‘Devil May Cry’ ที่เปิดตัวอย่างโดดเด่นในฐานะพระเอกในเกม ‘Devil May Cry 4’ กับระบบการเล่นที่เป็นแขนปีศาจแบบต่าง ๆ ที่ทำให้คนเล่นสนุกกับการคำคอมโบที่หลากหลาย แต่เมื่อตัวเกมตัดกลับมาที่พ่อหงอก ดันเต้ (Dante) ตัวเกมก็เปลี่ยนอารมณ์คนเล่นไปในทันที เพราะตัวของเนโรนั้นจะเป็นเนื้อเรื่องที่จริงจังเก็บกดแอบเครียด แต่พอในเนื้อเรื่องของดันเต้อารมณ์การเล่นที่ตลกเป็นธรรมชาติกับความยียวนที่แฟน ๆ คิดถึงก็กลับมาครบ จนเมื่อจบเกมผู้คนต่างก็ลืมตัวเนโรไปเสียอย่างนั้น จนมาถึงภาคที่ห้าของเกมที่ตัวของเนโรก็กลับมาอีกครั้งพร้อมกับพลังใหม่พร้อมความยียวนแบบดันเต้ แต่แฟน ๆ กลับไม่รู้สึกอินในความยียวนของเขา มันเหมือนการยัดเยียดเปลี่ยนนิสัยตัวละครเพื่อให้เป็นที่สนใจของแฟน ๆ ขณะที่พี่ดันเต้ของเราที่ยังคงเส้นคงวากับความยียวนที่ออกมากี่ครั้งก็ชนะใจแฟน ๆ ทั้งที่ตัวละครนี้แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยตั้งแต่ภาคแรก แต่สุดท้ายแฟน ๆ กลับชื่นชอบพี่หงอกเรามากกว่า และยิ่งตอนท้ายคุณพ่อหงอก เวอร์จิล (Vergil) มาดึงกระแสเพิ่งยิ่งกดให้เนโรเรากลายเป็นอันดับ 3-4 ลงไปอีก ถ้า ‘Capcom’ ต้องการเข็นเนโรให้เด่นคงต้องลดบทดันเต้ให้น้อยลงแต่ห้ามเอาออก เพราะถ้าเอาออกรับรองเกมไปไม่รอดแน่นอน
Marcus Holloway จากเกม Watch Dogs 2
ต้องพูดว่าไร้ความโดดเด่นจนเราต้องพูดด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “คุณไม่ได้ไปต่อ” กับตัวละครหนุ่มแว่น มาร์คัส ฮอลโลเวย์ (Marcus Holloway) จากเกม ‘Watch Dogs 2’ ที่ตัวของเขานั้นเรียกว่าไร้ซึ่งความโดดเด่นเตะตาอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทความคิดหรือสิ่งที่ทำในเกม เมื่อเทียบกับ ไอเดน เพียร์ซ (Aiden Pearce) พระเอกจากภาคแรกที่ดูภายนอกไอเดนก็ไร้ซึ่งความโดดเด่น แต่เพราะเนื้อเรื่องของเกมภาคแรกที่จริงจังและเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายจึงทำให้เขาโดดเด่น เมื่อเทียบกับภาคสองที่ดูเหมือนกลุ่มวัยรุ่นที่เล่นสนุกกันมากกว่าจะเป็นการช่วยเหลือเมือง บวกกับตัวละครมาร์คัสที่ไร้มิติในตัวเองก็ยิ่งทำให้ตัวละครตัวนี้ถูกลืม ขณะที่เพื่อน ๆ ของเขาอย่างหนุ่มปริศนาสวมหน้ากากอย่าง แวนช์ (Wrench) กับคุณลุงแฮกเกอร์ เรย์มอนด์ เคนนี่ (Raymond Kenney) ยังโดดเด่นและเป็นที่จดจำกว่า ซึ่งไอเดนกับแวนช์ก็ได้ไปต่อใน ‘Watch Dogs Legion’ (ไอเดนออกมาในภาค 2 ด้วย) ขณะที่มาร์คัสของเรากลับถูกลืมเอาไว้ในภาคนี้ และดูเหมือนเขาจะหายไปจากวงการเกมอย่างแน่นอน
Luke Skywalker จากเกมซีรีส์ Star Wars
ปิดท้ายกับตัวละครที่ถูกลืมในวิดีโอเกม ที่ตำแหน่งนี้ก็ขอยกให้พ่อหนุ่มเจไดผู้ใช้ดาบสีเขียวอย่าง ลุค สกายวอล์คเกอร์ (Luke Skywalker) พระรองตลอดกลางทั้งในซีรีส์เกมหรือภาพยนตร์ ‘Star Wars’ เพราะไม่ว่าเขาจะไปอยู่ในเกมหรือภาพยนตร์เรื่องใด ก็มักจะถูกความเด่นของตัวละครรองกลบจนหมด โดยเฉพาะซีรีส์หลักของตัวเองกับไตรภาคแรกของซีรีส์ภาพยนตร์และเกมที่ออกมา ตัวลุคก็ถูกความเด่นของ ฮาน โซโล (Han Solo) และความเท่ขโมยซีนของ ดาร์ธ เวเดอร์ (Darth Vader) ขโมยซีนไปหมดทั้งตัวภาพยนตร์ไปจนถึงเกม ที่แม้เราจะได้เล่นลุคเป็นตัวหลักแต่พอฮานออกมาหรือต้องสู้กับดาร์ธ เวเดอร์ทุกคนต่างก็ลืมลุคไปในทันที จนมาถึงซีรีส์เกม ‘Star Wars Battlefront II’ ตัวเกมก็มีโหมดเนื้อเรื่องให้เล่นและมีบทบาทของของลุคแต่มันก็ไม่มากพอที่จะทำให้แฟน ๆ ตื่นเต้นจนเอาเขามาใช้ในเกมออนไลน์ ซึ่งถ้าเลือกได้ทุกคนก็คงเลือกฮานไม่ก็ดาร์ธ เวเดอร์ออกมาอย่างแน่นอน นับว่าเป็นตัวพระเอกที่น่าสงสารตัวหนึ่งทั้งในวงการเกมและภาพยนตร์เลยทีเดียว
ก็จบกันไปแล้วกับ 12 ตัวละครเบอร์ 2 เบอร์ 3 ในวงการเกม กับเหตุผลหรือกลไกที่ทำให้ตัวละครเหล่านี้ที่น่าจะเป็นตัวเด่นให้ผู้คนจดจำแต่กลับไม่สามารถทำได้ ซึ่งบางตัวละครก็มีทีมพัฒนามาช่วยดันไปจนถึงค่ายเกมช่วยเข็น ด้วยการออกเกมภาคแยกไปจนถึงการใส่บทเด่นลงไปเพื่อปูทางไปยังเกมภาคใหม่แต่ก็ดันไม่ขึ้น หรือบางทีก็ดันขึ้นแต่ก็ไม่แรงพอที่จะสู้ตัวหลักที่ออกมาก่อนได้ จนสุดท้ายภาคต่อภาคแยกเหล่านั้นก็ถูกตัดจบในวงการเกม หวังว่าเนื้อหาจะถูกใจกันซึ่งถ้าข้อมูลขาดตกหรือขาดตัวละครใดไปก็ขออภัยมาด้วย ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวอะไรในวงการเกมก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส