อะไรก็เกิดขึ้นได้ในวงการเกม นั่นคือสิ่งที่นักเล่นเกมหลายคนรู้สึกคุ้นเคย เมื่อมีสิ่งแปลก ๆ เกิดขึ้นจนกลายเป็นข่าว ที่คนภายนอกนั้นมองว่ามันคือเรื่องแปลก เช่นการทำเงินมากมายจากการเล่นเกมให้คนอื่นดู คนสะสมถ้วยรางวัลในเกมแบบอดหลับอดนอน หรือคนที่โมโหจนทุบเกมทิ้ง แต่สำหรับคนที่เล่นเกมแล้วหลายสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันคือเรื่องปกติ ที่พบเห็นได้ทั่วไปในวงการเกม แต่บางอย่างที่คนไม่ได้เล่นเกมมองว่ามันก็คือเรื่องปกติ แต่สำหรับนักเล่นเกมแล้วมันคือเรื่องแปลกใหม่ก็มีเยอะ หนึ่งในนั้นคือแนวเกมที่ไม่น่าจะเอามารวมกันได้แต่ทีมพัฒนาก็สามารถเอามาใส่ได้อย่างลงตัว(บางเกมก็ไม่ลงตัว) จนคนที่เล่นเกมแบบเรา ๆ ต่างรู้สึกแปลกใจกับสิ่งเหล่านี้ แต่สำหรับคนนอกแล้วกลับมองว่ามันคือเกม ๆ หนึ่งทั่วไปไม่เห็นมีอะไรต้องแปลกใจ เรามาดูกันดีกว่าว่ามีเกมอะไรที่ไม่น่าจะเอามาอยู่ด้วยกันได้ แต่ทีมพัฒนาก็เอามาใส่ได้อย่างลงตัว มาดูไปพร้อมกันในบทความนี้เลย

ความสยองขวัญกับเกมภาษา ในเกม Parasite Eve

Parasite Eve

เริ่มต้นด้วยเกมเก่าเมื่อราว ๆ 1998 กับเกมที่มีการประกาศออกสื่อครั้งแรกในยุคนั้นว่า นี่คือเกมสยองขวัญที่อ้างอิงจากนิยายในชื่อเดียว กับตัวเกมที่ชื่อว่า ‘Parasite Eve’ พร้อมรูปที่ปล่อยออกมาคือรูปของหญิงสาวผมทองต่อสู้กับสัตว์ประหลาด ที่ในยุคนั้นที่การสื่อสารยังใช้จดหมายจีบสาว การประกาศผ่านหนังสือพร้อมรูปแค่นี้ก็สร้างจินตนาการให้คนเล่นเกมยุคนั้นต่างคิดกันไปไกลว่า เกม ‘Parasite Eve’ จะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งทุกคนต่างก็คิดว่ามันต้องเป็นแบบ ‘Resident Evil’ ที่กำลังโด่งดัง โดยที่ทุกคนลืมคิดว่าไปค่ายเกม ‘Square’ ในยุคนั้นคือเจ้าพ่อแห่งเกมภาษา พอทางค่ายมาจับเกมแนวนี้ทุกคนเลยแปลกใจ  แต่เมื่อเกมออกมาทุกคนต่างก็แปลกใจมาขึ้นไปอีกเมื่อเกม ‘Parasite Eve’ นั้นคือเกมสยองขวัญที่ผสมกับเกมภาษา ที่ไม่ว่าจะมองมุมไหนมันก็ไม่สามารถมารวมกันได้ เพราะอย่างที่เราก็ทราบกันดีว่าเกมภาษานั้นคือการเลือกคำสั่งในการเล่น ที่ต้องเน้นความสนุกแฟนตาซี  แต่พอมารวมกับแนวสยองขวัญที่ไม่ว่าจะดูมุมไหนมันก็ไม่สามารถทำได้ แต่พอเกมออกมาทาง ‘Square’ กลับทำได้ดีแม้จะครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไปหน่อย เพราะเกมก็มีกลิ่นอายความสยองขวัญอยู่ตลอดทั้งบรรยากาศในเกมที่ชวนวังเวง ฉากการเปลี่ยนร่างของสัตว์ประหลาดที่ดูหลอน แต่พอเกมตัดมาที่ฉากต่อสู้เราก็จะลืมความสยองขวัญนั้นไปทันที จนในภาค 2 ตัวเกมจึงต้องเปลี่ยนให้เป็นแบบ ‘Resident Evil’ แต่ก็ทำได้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ เหมือนเคย ที่บอกให้รู้ว่าทางทีมพัฒนาไม่ถนัดแนวสยองขวัญนี้ก็ได้ แต่ก็นับว่าเป็นการลองที่ดีเพราะหลายคนก็ชอบความแปลกใหม่นี้ จนอยากให้ทางค่ายเอา ‘Parasite Eve’ มารีเมกอีกครั้ง

Parasite Eve

เกมภาษากับ Puzzles ในเกม Undertale

Undertale

มาที่เกมใหม่ ๆ กันบ้างกับเกม ‘Undertale’ เกม indie เล็ก ๆ แต่มีเนื้อเรื่องระบบการเล่นที่สนุกน่าสนใจ แถมยังเป็นการผสมรวมกันระหว่างเกมภาษาที่เราต้องเดินหาเนื้อเรื่อง แต่พอตัดมาฉากต่อสู้ตัวเกมจะเปลี่ยนมาเป็นแนว ‘Puzzles’ รวมกับระบบเลือกคำตอบเพื่อเปลี่ยนเส้นทางในเกม ที่เราเรียกแนวนี้ว่า ‘Interactive storytelling’ ที่การเลือกของเราจะส่งผลกับเนื้อเรื่องในเกมในภายหลัง ซึ่งทั้งหมดนี้มันถูกเอามารวมกันได้อย่างลงตัว โดยในเนื้อเรื่องปกติเราจะต้องควบคุมตัวละครเพื่อทำภารกิจที่เกมกำหนด โดยการเดินถามคนนั้นคนนี้เพื่อหาทางไปยังเนื้อเรื่องต่อไปแบบเกมภาษา แต่พอตัดฉากต่อสู้ตัวเกมจะให้เราเลือกว่าจะพูดคุยกับตัวละครหรือจะสู้กัน ซึ่งสิ่งที่เราเลือกก็จะส่งผลต่อไปในเนื้อเรื่องต่อไป แต่ถ้าสู้เกมก็จะตัดมาเป็นเกม ‘Puzzles’ หลาย ๆ แบบ ทั้งการกดให้ตรงช่องที่เลื่อนไปมา การหลบลูกกระสุน การเรียกตัวต่อที่ถ้าใครเล่นเกมแนว ‘Puzzles’ มาบ่อย ๆ จะคุ้นเคยกับระบบเหล่านี้ แต่จุดขายของเกมนี้คือเนื้อเรื่องที่เล่นจนจบคุณจะรู้สึกขนลุกในเนื้อหาที่เกมมีมาให้คุณ เพราะทุกอย่างในเกมนี้ขึ้นอยู่กับตัวคุณเป็นผู้เลือกชะตากรรมให้ตัวละคร ใครชอบเกมแนวเนื้อเรื่องเข้มข้นเหมือนกาแฟไม่ใส่น้ำตาลก็ลองไปหามาเล่นดู

Undertale

เกมขับรถกับความสยองขวัญ ในเกม Beware

Beware

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณกำลังขับรถกลับบ้านในตอนกลางคืนบนถนนที่คุ้นเคย แต่วันนี้มันกลับมีบางอย่างที่แปลกไป นั่นคือความสยองขวัญที่คนดูภาพยนตร์กับฟังเรื่องเล่าสยองขวัญคุ้นเคยกันดี แต่สำหรับวงการเกมแล้วมันคือเรื่องใหม่ที่ไม่ค่อยมีคนทำ กับการเอาเกมแนวขับรถแข่งรถมารวมกับความสยองขวัญในเกมที่ชื่อว่า ‘Beware’ เกมที่จะให้เรารับบทเป็นชายผู้ขับรถบนถนนที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งระหว่างทางนั้นเขาต้องพบกับเรื่องราวสยองขวัญมากมายที่พยายามเอาชีวิตเขา โดยตลอดทั้งเกมนั้นเราจะนั่งอยู่แต่ในรถไม่ได้ออกไปไหน และจากข้อมูลบอกว่าตัวเกมจะมาในรูปแบบ ‘Open World’ ที่ให้อิสระกับเราในการขับรถไปในโลกต่างมิติที่เราไม่รู้จักเพื่อทำภารกิจต่าง ๆ เพื่อหาทางออกไปจากที่นี่ ตัวเกมจัดความหลอนสยองขวัญแบบเต็มขั้น ทั้งการเจอสิ่งลี้ลับที่กระจกมองหลัง สิ่งแปลก ๆ ข้างทาง ไปจนถึงการถูกไล่ล่าโดยรถปริศนา เรียกว่าจัดความกลัวในเรื่องเล่าสยองขวัญที่เราเคยฟังมาแบบครบชุด ตัวเกมมีกำหนดวางจำหน่ายในปีนี้ใครมีเครื่องไหนก็เตรียมตัวหามาหลอนกันได้

Beware

เกมภาษากับเกมฟุตบอล ในเกม Captain Tsubasa

Captain Tsubasa

คราวนี้มาดูเกมแนวกีฬาที่ทีมพัฒนาสามารถเอาความเป็นเกมภาษามาผสมกับเกมฟุตบอลได้อย่างลงตัวแบบไม่น่าเชื่อ ที่หลายคนอาจจะงงว่าเกมฟุตบอลกับเกมภาษามันจะเล่นยังไง กับเกมที่ชื่อว่า ‘Captain Tsubasa’ เกมที่สร้างจากการ์ตูนชื่อดังในยุคนั้น ที่หลายคนเมื่อเห็นชื่อเกมเห็นหน้าปกต่างก็รีบซื้อในทันที เพราะเราคงคิดว่ามันต้องเป็นเกมเตะฟุตบอลที่เราจะได้ควบคุมตัวละครในการ์ตูนวิ่งไปมาในสนาม และเตะด้วยท่าไม้ตายอันทรงพลังตามในการ์ตูน แต่เมื่อเปิดเกมมามันกลับเป็นเกมภาษาที่ใช้การเลือกคำสั่งมีฉากต่อสู้เสียอย่างนั้น แถมในยุคนั้นตลับเกมค่อนข้างแพงเมื่อซื้อมาแล้วจะทิ้งขว้างก็ใช่ที่เลยต้องทนเล่นไป ซึ่งเมื่อเล่นหลายคนก็ค้นพบความสนุกที่ไม่เคยรู้มาก่อน โดยตัวเกมจะเริ่มต้นเรื่องราวตามในการ์ตูนที่เราจะได้เล่นเป็นทีมพระเอกที่ไปแข่งกับทีมต่าง ๆ ตามเนื้อเรื่อง แต่สิ่งที่ทำให้เกมนี้สนุกคือระบบการเล่นที่เมื่อเปิดการแข่งเราจะได้เห็นตัวละครวิ่งไปแบบเรื่อย ๆ พร้อมจุดที่บอกเราว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหนของสนาม(รูปประกอบด้านล่าง) จนเมื่อเจอศัตรูมาขวางก็จะมีคำสั่งให้เลือกว่าจะส่งให้เพื่อน วิ่งฝ่าไป หลบซ้าย หลบขวา ที่ถ้าเลือกถูกก็จะผ่านไปได้แต่ถ้าเลือกผิดก็จะถูกแย่งบอล ซึ่งเมื่อเราเป็นฝ่ายไปแย่งบอลก็ต้องเลือกแบบนี้ ที่เป็นการเดาทาง AI ให้ถูก และเมื่อถึงเขตประตูก็จะมีคำสั่งใช้ท่าไม้ตายขึ้นมายิ่งเพิ่มความสนุกมากขึ้น ที่เห็นแบบนี้ยิ่งเล่นยิ่งเพลินบอกเลย

Captain Tsubasa

เกมภาษากับเกมจีบสาว ในเกม Persona

Persona

กลับมาที่เกมภาษาหรือเกมแนว RPG อีกครั้ง แต่คราวนี้จะเป็นเกมแนว JRPG ของแท้ที่หาได้ยากในยุคนนี้ เพราะเกมภาษาส่วนมากเริ่มจะกลายพันธุ์มาเป็นเกมแนวแอ็กชันไปแล้ว แต่เกมในซีรีส์ ‘Persona’ ยังคงยึดกับระบบการเล่นที่เป็นการยืนหน้ากระดานผลัดกันเลือกคำสั่งให้ตัวละครไปโจมตี แต่ตัวเกมก็ไม่ได้ย่ำอยู่กับที่เพราะถึงแม้ตัวเกมจะยังคงยึดรูปแบบเก่า แต่ก็เปลี่ยนตัวเนื้อหาและการเลือกคำสั่งในเกมให้ดูร่วมสมัย ไปพร้อมกับระบบการเล่นที่เป็นการรวมระบบเพิ่มความสัมพันธ์ให้ตัวละคร หรือการจีบสาว(หนุ่ม) ที่เราสามารถเลือกตัวละครเพื่อนร่วมทีมที่จะไปตีสนิท ทั้งการโทรหาชวนไปเที่ยวหรือตามจีบเพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ให้มากขึ้น รวมถึงตัวละครคนอื่น ๆ ในเกมที่ยิ่งค่าความสัมพันธ์เพิ่มเราก็จะได้พลังใหม่ ๆ หรือถ้าเป็นเพื่อนร่วมทีมเมื่อค่าความสัมพันธ์ถึงกำหนด พลังของเพื่อนก็จะเพิ่มขึ้นเป็นการเปลี่ยนร่างพัฒนาตัวละครให้สูงขึ้น ซึ่งเราต้องบริหารเวลาให้ดีถ้าอยากจะให้เพื่อนทุกคนมีพลังมาก ๆ นอกจากระบบความสัมพันธ์แล้วยังมีอีกระบบที่น่าสนใจนั่นคือการชักชวนมอนสเตอร์มาเป็นพวก ที่ถ้าจะให้อธิบายแบบเห็นภาพง่าย ๆ ก็คือระบบชวนมอนสเตอร์ในเกมซีรีส์ ‘Dragon Quest Monsters’ หรือจับมอนสเตอร์ในเกม ‘Pokemon’ ที่เราสามารถเอามาผสมกันเพื่อเป็นมอนสเตอร์ตัวใหม่ ๆ ได้ นับเป็นการรวมระบบต่าง ๆ จากหลาย ๆ เกมมาประยุกต์จนเป็นเกมตัวเองได้อย่างลงตัวที่ไม่ว่าจะออกมากี่ภาคคนก็ยังชื่นชอบ

Persona

เกมจีบสาวกับแนวสยองขวัญ ในเกม Doki Doki Literature Club

Doki Doki Literature Club

เรียกว่ามาแบบเรียบ ๆ แต่กินเรียบทุกงาน กับเกมที่เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างเกมจีบสาวน่ารัก ๆ กับเกมแนวสยองขวัญชวนจิตตกในเกม ‘Doki Doki Literature Club’ เกมที่เริ่มต้นมาแบบเรียบ ๆ ในฐานะเกมจีบสาวง่าย ๆ ที่เราจะได้รับบทเป็นหนุ่มน้อยผู้โชคดี(รึเปล่า) ที่ได้ไปอยู่ในวรรณกรรมที่มีสาว ๆ น่ารัก ๆ ให้เราสร้างความสัมพันธ์เพื่อจีบพวกเธอให้ติด ที่ก็เหมือนเกมจีบสาวทั่ว ๆ ไปที่เห็นในตลาด แต่ความสยองขวัญมันจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อเราเริ่มเล่นในรอบที่ 2 ของเกม ที่เมื่อเราไปจีบใครก็ตามไม่นานสาว ๆ เหล่านั้นจะฆ่าตัวตายทั้งการแขวนคอตายเอามีดมาแทงคอตัวเองต่อหน้าเรา ซึ่งเราที่เป็นคนเล่นก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งนั่นคือความหลอนของเกมนี้ ที่เมื่อเล่นไปจนจบคุณจะรู้ว่าความหลอนสยองขวัญที่บางทีก็ไม่จำเป็นต้องมีผีมาหลอกหรือมีบรรยากาศมืด ๆ เสมอไป ส่วนใครที่เคยเล่นหรือรู้เนื้อหามาแล้วคงจะทราบดีว่าเกม ‘Doki Doki Literature Club’ คือความลงตัวของเกมจีบสาวและสยองขวัญที่ไม่น่าไปด้วยกันได้ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างพอดีไม่ขาดไม่เกิน ส่วนใครที่สนใจก็ไปเล่นภาคใหม่เลยกับ ‘Doki Doki Literature Club Plus!’ หรือไปอ่านรีวิวในแบไต๋ก่อนได้เพื่อการเข้าใจระบบ แล้วคุณจะรู้ว่าเกมสยองขวัญกับการจีบสาวมันไปด้วยกันได้

Doki Doki Literature Club

เกมภาษากับแนวแข่งรถในเกม Racing Lagoon

Racing Lagoon

กลับมาที่เกมเก่ากันอีกครั้งกับค่ายเกมเจ้าเดิมอย่าง ‘Square’ ที่ในยุคนั้นพี่เขากำลังไฟแรงและเป็นตัวพ่อของวงการเกม ในการผลิตเกมภาษาออกมาอย่างมากมาย และทุกเกมภาษาที่ทำออกมาก็ได้รับความนิยมจนมีหลายค่ายเริ่มเอาเกมภาษาตัวเองมาปัดฝุ่นสร้างภาคต่อหรือผลิตเกมแนวนี้ออกมาบ้าง จนทาง ‘Square’ ต้องฉีกตัวเองออกไปให้แตกต่างกว่าคนอื่น เราจึงได้เห็นเกมที่ผสมระหว่างการแข่งรถกับเกมภาษาขึ้นมาในชื่อเกม ‘Racing Lagoon’ เกมที่เราจะได้รับบทเป็นเหล่านักแข่งรถตามท้องถนน ที่ต้องดำเนินเรื่องแบบเกมภาษาที่เราต้องขับรถเพื่อไปยังสถานที่ต่าง ๆ ตามเนื้อเรื่องเพื่อดำเนินเรื่องราวแบบเกมภาษาทั่วไป แต่เมื่อถึงฉากต่อสู้ตัวเกมก็จะเปลี่ยนมาเป็นการแข่งรถ ที่เมื่อเราเอาชนะการแข่งไปได้ก็จะได้เงินหรือชิ้นส่วนมาแต่งรถ ซึ่งนั่นคือความสนุกของเกมนี้เพราะเรื่องราวของเกมที่ไม่มุ่งเน้นการแข่งรถอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องราวของความสัมพันธ์ตัวละครทั้งมิตรภาพความรักเพื่อนการหักหลังที่ไม่น่าจะเอามาใส่ในเกมแข่งรถได้ ซึ่งแม้ตัวเกมจะลงตัวขนาดไหนแต่ด้วยความแปลกใหม่ที่แฟน ๆ ไม่คุ้นเคยจึงทำให้เกมนี้มียอดขายที่ไม่ดี จนสุดท้ายมันก็กลายเป็นหนึ่งเกมที่ถูกลืมในที่สุด

Racing Lagoon

เกมวางแผนการรบกับเกมจีบสาว ในเกม Sakura Taisen

Sakura Taisen

อีกหนึ่งความลงตัวที่เรียกว่าแปลกใหม่มาก ๆ ในยุคอดีต เมื่อจู่ ๆ ทางค่ายเกม ‘Sega’ ก็ประกาศเกมแนววางแผนการรบในชื่อ ‘Sakura Taisen’ ที่ข้อมูลในยุคนั้นบอกว่าเกมนี้คือเกมแนววางแผนการรบที่เราต้องเดินตัวละครในตารางเพื่อต่อสู้กันในฉาก ซึ่งเป็นที่นิยมพอควรในตอนนั้น แต่แล้วทางค่ายเกมก็ประกาศข้อมูลเพิ่มมาว่าเกมนี้จะมีระบบการจีบสาวเข้ามาด้วย เพียงเท่านั้นหลายคนที่ไม่มีเครื่อง ‘Sega Saturn’ ต่างก็ได้แต่มองด้วยความยากเล่น เพราะหลายคนที่ได้เล่นในยุคนั้นต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เกมนี้ได้รวมระบบการจีบสาวเพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้ตัวละครเพื่อเพิ่มค่าพลังและพัฒนาหุ่น(ชุดเกราะ) ในเกมให้แข็งแกร่งขึ้น  ผ่านเนื้อหาเรื่องราวที่มาในแบบการ์ตูนที่ทำออกมาได้สนุกน่าติดตาม จนเวลาผ่านไปเมื่อทาง ‘Sega’ เลิกผลิตเครื่องเกมและหันมาเป็นค่ายที่พัฒนาเกมอย่างเดียว เกมในซีรีส์ ‘Sakura Taisen’ ก็ลงบนเครื่องอื่น ๆ ตามมา และมีภาคต่อออกมาที่แม้ตัวเกมจะถูกเปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง แต่ระบบการเพิ่มความสัมพันธ์ก็เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับซีรีส์นี้มาทุกภาค ใครที่สนใจอยากเล่นก็มีภาคใหม่อย่าง ‘Sakura Wars’ ให้ลองกัน แต่ถ้าอยากได้อารมณ์เกมจีบสาวผสมวางแผนการรบจริง ๆ ต้องไปหาภาคเก่า ๆ มาเล่นจะดีที่สุด

Sakura Taisen

แนวสยองขวัญกับเกมแอ็คชัน ในเกม Resident Evil 4

Resident Evil 4

คงจะไม่มีใครเถียงเมื่อพูดถึงเกมที่รวมความสยองขวัญเอาชีวิตรอด กับเกมแอ็กชันที่เอามาใส่ได้อย่างลงตัวในเกม ‘Resident Evil 4’ ซึ่งต้องย้อนเวลากลับไปที่เกมภาคนี้เริ่มพัฒนา ตัวเกมก็ยังคงยึดรูปแบบของความสยองขวัญแบบเดิมที่เรารู้จัก แต่สุดท้ายทีมพัฒนาก็ทิ้งทุกอย่างที่เคยมีและเริ่มต้นพัฒนาแนวทางใหม่ให้กับเกม ‘Resident Evil’ ด้วยความใส่ความเป็นแอ็กชัน ที่เราสามารถเตะต่อยจับทุ่มปาระเบิดใส่ศัตรูได้แบบเกมแอ็กชัน แต่ตัวเกมยังคงความหลอนขนหัวลุกแบบที่ ‘Resident Evil’ ภาคเก่ามีแบบครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นครั้งแรกที่เราได้ยินเสียงเลื่อยยนต์กับชาวบ้านที่ถืออาวุธไล่ล่าเรา ก็เล่นเอาหลายคนรนรานจนทำอะไรไม่ถูก ก่อนที่ตัวเกมจะค่อย ๆ เปลี่ยนความกลัวเป็นความสนุกจนหลายคนลืมความกลัวไป ซึ่งจุดนี้ทีมพัฒนาก็น่าจะรู้เรื่องดีจึงพาเรากลับมาสู่ความหลอนอีกครั้ง เมื่อเกมมาถึงสถานวิจัยที่เต็มไปด้วยสัตว์ทดลองที่ถ้าใครที่เคยเล่นมาแล้วจะรู้ดีว่ามันหลอนขนาดไหน และด้วยความดีงามบวกกับความสดใหม่ที่ลงตัวในยุคนั้นมันก็กลายเป็นข้อเสียไปในตัว เพราะจนถึงตอนนี้ทาง ‘Capcom’ รวมถึงคนที่สร้างเกมนี้เองอย่าง ชินจิ มิคามิ (Shinji Mikami) ก็ไม่สามารถสร้างภาคต่อของ ‘Resident Evil’ หรือเกมใหม่ที่ลงตัวได้เท่าภาคนี้อีกเลย

Resident Evil 4

เกมภาษากับแนวแอ็กชัน ในเกม Tales of Phantasia

Tales of Phantasia

จากในหัวข้อก่อนที่เราได้กล่าวถึงเกมภาษาในยุคนี้ ที่เริ่มเปลี่ยนตัวเองมาเป็นเกมแอ็กชันมากขึ้น แต่ตัวเกมก็ยังเรียกตัวเองว่าเกมภาษา ส่วนเกมภาษาที่เป็นแนวดั่งเดิมจะถูกเรียกรวม ๆ ว่าเกมแนว JRPG แทน ซึ่งถ้าเราย้อนกลับไปเพื่อดูว่าต้นแบบเกมภาษาที่ผสมเกมแอ็กชันลงไปนั้นเริ่มที่เกมไหน ซึ่งเท่าที่หาข้อมูลมาก็ทราบว่าเกมแรก ๆ ที่ใส่ระบบต่อสู้แบบเกมแอ็กชันลงไปในเกมภาษาก็คือเกม ‘Tales of Phantasia’ ที่วางจำหน่ายบนเครื่อง ‘Super Famicom’ ในปี 1995 ที่เป็นการรวมเกม 2 แนวที่ไม่น่าจะเข้ากันได้มาใส่ลงไปได้อย่างลงตัว ที่ในยุคนี้อาจจะดูเป็นเรื่องปกติที่เห็นได้ทั่วไป แต่ในยุคนั้นมันคือความแปลกใหม่ที่ลงตัว  เพราะแทนที่เราจะได้เล่นเป็นตัวละครที่ยืนหน้ากระดานผลัดกันโจมตีแบบเกมอื่น ๆ ในยุคนั้น  แต่เกม ‘Tales of Phantasia’ กลับให้เราสามารถควบคุมตัวละครให้วิ่งไปมาในฉากแบบ 2D เพื่อกระโดดฟันใช้เวทมนตร์ต่าง ๆ ได้เหมือนที่เกมแอ็กชันยุคนี้ทำได้ แถมเรายังสามารถเปลี่ยนตัวละครระหว่างสู้ได้ด้วย(ที่เหลือจะเป็น AI ความคุม) ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นเอกลักษณ์จนมาถึงทุกวันนี้ ใครที่สนใจอยากเล่นเกมภาษายุคเก่าที่มีกราฟิกแบบการ์ตูนเล่นสนุกไม่ควรพลาด หรือจะเล่นภาคล่าสุดอย่าง ‘Tales of ARISE’ ไปเลยก็ได้ เพราะตัวเกมยังคงระบบการเล่นที่เหมือนภาคแรกอยู่ จะเปลี่ยนแค่กราฟิกไปตามยุคสมัยเท่านั้น แต่ความสนุกยังคงเดิมไม่เปลี่ยนจนถึงตอนนี้

Tales of Phantasia

เกมการ์ดกับเกมแอ็กชัน ในเกม Kingdom Hearts Chain of Memories

Kingdom Hearts Chain of Memories

ปิดท้ายกับเกมที่หยิบยกระบบของการ์ดเกมกับเกมแอ็กชันมารวมกันได้อย่างลงตัวและสนุก ในเกม ‘Kingdom Hearts Chain of Memories’ เกมภาคต่อของซีรีส์ ‘Kingdom Hearts’ ภาคแรก ที่ตอนจบของเกมภาคแรกพวก โซระ (Sora) ได้เจอปราสาทปริศนาหลังหนึ่ง เมื่อเข้าไปตัวเกมก็ถูกเปลี่ยนจากเกมแอ็กชันที่เราเคยควบคุมโซระไปต่อสู้แบบในเกมภาคก่อน มาคราวนี้ทุกการกระทำของเราจะถูกกำหนดด้วยการ์ดเกม ที่เราต้องกำหนดว่าจะใช้การ์ดอะไรก่อนหลังในการต่อสู้ ทั้งการใช้การ์ดโจมตี การ์ดเวทมนตร์ การ์ดความสามารถพิเศษ ไปจนถึงการ์ดตัวละคร ที่สามารถเรียกมาช่วยสู้ได้ โดยเราต้องเลือกเอาไว้ล่วงหน้าและไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร ซึ่งนั่นคือความสนุกของเกมภาคนี้ ที่ยิ่งเล่นเราจะยิ่งได้การ์ดใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามาจนสามารถสร้างคอมโบที่หลากหลาย ตัวเกมมีทั้งบนเครื่อง ‘Game Boy Advance’ และฉบับ Remake บน ‘PlayStation 2’ ใครที่สนใจอยากเล่นก็แนะนำให้เล่นภาคแรกมาก่อนแล้วตามด้วยภาคนี้ เพราะไม่อย่างนั้นจะมีงงเนื้อเรื่องแน่นอน แต่ถ้าไม่สนใจเนื้อเรื่องและเล่นเอาสนุกเกมนี้ก็จัดเต็มให้คุณได้พบความสนุกแปลกใหม่แน่นอน

Kingdom Hearts Chain of Memories

เป็นอย่างไรกันบ้างกับ 11 เกมที่มีระบบการเล่นที่ไม่น่าจะเอามารวมกันได้ แต่ทีมพัฒนาก็สามารถเอามาใส่ในเกมจนเกิดเป็นเกมแนวใหม่ขึ้นมา ซึ่งด้วยความแปลกใหม่ที่ว่ามานั้นจึงเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ที่ถ้าถูกที่ถูกทางคนเล่นชอบก็สามารถไปต่อได้ แต่ถ้าทำออกมาแล้วมันดูขาด ๆ  เกิน ๆ ไม่ถูกใจคนเล่นก็จะทำให้เกมเหล่านั้นไม่ได้ไปต่อ(ซึ่งส่วนมากก็เป็นแบบนั้น) แต่ถึงแบบนั้นทีมพัฒนาก็ไม่ยอมแพ้ยังคงมีการสร้างเกมแนวใหม่ ๆ ขึ้นมาเรื่อย ๆ เพื่อเปิดตลาดให้ผู้เล่นอย่างเราได้เล่นเกมสนุก ๆ มากขึ้น ซึ่งนั่นก็คือเรื่องดีกว่าการได้เล่นเกมแบบเดิมแนวเดินซ้ำ ๆ ที่เรียกว่าหากินกับของเก่าจนไม่เดินไปข้างหน้า และถ้าบทความนี้ขาดเกมไหนหรือข้อมูลตกหล่นอย่างไรก็บอกกันมาได้ ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวอะไรในวงการเกมก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส