ถ้าเปรียบเทียบวงการเกมกับสื่อต่าง ๆ อย่างภาพยนตร์เพลงการ์ตูนหรือวงการอื่น ๆ ในตลาด  วิดีโอเกมนั้นก็มีรูปแบบการนำเสนอการขายที่ต้องอาศัยความนิยมเหมือนกันกับสื่อที่กล่าวมา ซึ่งคำว่าความนิยมนี่ละที่เป็นตัวสำคัญให้ค่ายเกมหรือตัวเกมซีรีส์นั้น ๆ อยู่ได้ ดังนั้นการสร้างตัวละครขึ้นมาและมันถูกใจแฟน ๆ จนติดตลาดนั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าตัวละครตัวนั้นเป็นที่รู้จักเราก็สามารถเอาตัวละครนั้นไปใช้ในเกมอื่น ๆ หรือสามารถแตกแยกย่อยให้ตัวละครนั้นไปอยู่ในสื่ออื่น ๆ ที่นอกจากเกมได้ด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงแม้คนที่ไม่ได้เล่นเกมก็รู้จักตัวละครตัวนี้ นับว่าเป็นการออกแบบทีเดียวแล้วใช้ได้คุ้มค่าที่เหมือนดาราชื่อดัง แต่เราไม่ต้องไปเสียเวลาจ้างไปรอคิวถ่าย แต่เราสามารถสร้างขึ้นมาและจะให้เขาทำอะไรก็ได้โดยไม่มีบ่น แต่การที่จะทำแบบนั้นได้มันเป็นเรื่องยากเหมือนถูกหวย ที่เราไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เราออกแบบนั้นจะได้รับความนิยม ดังนั้นเราจึงเห็นตัวละครในเกมถูกสร้างออกมาอย่างมากมาย และพยายามดันจนสุดเพื่อให้ตัวละครเป็นที่นิยมเพื่อผลทางการตลาด และนี่คือเหล่าตัวละครในวิดีโอเกมที่สร้างออกมาแล้วได้รับความนิยมในวงกว้าง ที่ค่ายเกมสามารถหากินกับตัวเหล่านั้นได้แบบยาว ๆ ไปอีกนาน จะมีตัวละครอะไรบ้างนั้นมาดูกันเลย

Pikachu จากซีรีส์ Pokemon

Pokemon

เริ่มต้นตัวละครแรกกับเจ้าหนูสายฟ้า พิคาชู (Pikachu) ผู้ส่งกระไฟฟ้าแห่งความน่ารักพร้อมเสียงอันแหลมเล็กว่า ‘ปิ๊กะจู’ ที่แฟน ๆ คุ้นเคย ที่ไม่ว่าคุณจะหันไปทางไหนก็สามารถเจอเจ้าหนูสีเหลืองตัวนี้ตามสื่อต่าง ๆ ตั้งแต่ในการ์ตูนซีรีส์ ‘Pokemon’ ที่ตัวพิคาชูนั้นเป็นตัวพระรองของเรื่อง ไปจนถึงเกมต่าง ๆ ที่ขึ้นชื่อว่า ‘Pokemon’ ทุกเกม(ย้ำว่าทุกเกม) ต้องมีพิคาชูไปยืนบนปกหรือมีส่วนร่วมในเกมนั้น ๆ เพื่อจูงใจให้คนที่ชื่นชอบพิคาชูซื้อเกมมาเล่น และด้วยความน่ารักดูเป็นมิตรที่เพียงแค่คุณเห็นมันเราก็อยากจะเข้าไปกอด แต่ในเกม ‘Pokemon’ ระบุว่าตัวพิคาชูนั้นอันตรายและสามารถฆ่าคนตายได้(สัตว์ป่าตามธรรมชาติก็ย่อมดุเป็นธรรมดา) โดยการออกแบบพิคาชูนั้นได้ต้นแบบมาจากตัว ไพกา (Pika) ที่เป็นสัตว์สายพันธุ์เดียวกับกระต่าย(ไม่ใช่ทั้งหนูและกระรอก) ส่วนชื่อ ‘Pikachu’ เป็นการรวม 2 คำจากคำว่า ‘Pika’ ที่เป็นชื่อสายพันธุ์ต้นแบบของมัน กับคำว่า ‘Chu’ ที่ในภาษาญี่ปุ่นมันคือเสียงของไฟฟ้าเวลาเอาสายไฟที่มีไฟฟ้ามาชนกัน ที่เราได้ยินเสียงดัง “เปรี้ยะ” แต่บ้านเขาได้ยินเป็นคำว่า ‘Chu’ พอรวมกันเลยได้คำว่า ‘Pikachu’ ที่เป็นการสื่อถึงหนูสายฟ้า(ในเกมคือหนู)  และนับเป็นการเลือกที่ถูกมาก ๆ เพราะในตอนแรกทางทีมพัฒนาไม่ได้เอาเจ้าพิคาชูมาเป็นตัวเอก แต่สุดท้ายก็เลือกเจ้าหนูสายฟ้ามาเป็นตัวโปรโมต เพราะตัวที่อ้วนกลมตัวสีเหลืองที่ดูน่ารักน่ากอด จนกลายเป็นตัวละครยอดนิยมไปทั่วโลก จนแม้แต่คนไม่เล่นเกมยังรู้จักเจ้าหนูสายฟ้าตัวนี้

Pokemon

Rockman จากซีรีส์ Rockman

Rockman

มาต่อกันที่ตัวละครรุ่นพ่อของพิคาชูเพราะเกิดก่อนหลายสิบปี กับเจ้าหนูสีฟ้า ร็อกแมน (RockMan) ตัวละครที่กำเนิดขึ้นมาครั้งแรกในปี 1987 ด้วยการออกแบบ อากิระ คิตามูระ (Akira Kitamura) เป็นผู้ออกแบบตัวเกมสองภาคแรกของซีรีส์ก่อนที่จะลาออกมา ซึ่งความนิยมของร็อกแมนนั้นเมื่อเทียบกับตัวละครคนอื่น ๆ ในบทความนี้อาจจะมีคนนอกวงการเกมรู้จักน้อยที่สุด แต่สิ่งที่ทำให้เจ้าหนูหุ่นยนต์สีฟ้าร็อกแมนมาติดอันดับเพราะความนิยมของตัวละครตัวนี้ ที่นอกจากจะเอามาทำเป็นเกมภาคหลัก ภาคแยก ภาคเสริม ภาคพิเศษภาคพิเศษแบบสุด ๆ ที่ทั้งหมดคือตัวละครตัวเดียวแล้ว ตัวละครร็อกแมนยังสามารถเป็นตัวละครอื่นที่นอกจากเจ้าหนูหุ่นยนต์ตัวฟ้าที่เรารู้จักได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นคุณลุงร็อกแมนลงพุงในเกม ‘Street Fighter X Tekken’ เป็นการ์ตูนที่ฉายทางทีวีซึ่งไม่น่าจดจำ ร็อกแมนที่ไม่สวมหมวกออกไปล่าสมบัติในเกม ‘Rockman DASH’ ไปจนถึงตัวละครในโลกคู่ขนานอื่น ๆ ที่ชื่อร็อกแมนอีกมากมายหลายสิบคนที่ ‘Capcom’ เข็นออกมาขาย นับเป็นการต่อยอดชื่อตัวละครและรูปลักษณ์มาใช้โดยที่ไม่ต้องยึดติดเพียงแค่ตัวละครตัวเดียวแบบตัวละครคนอื่น ซึ่งมีน้อยตัวละครมาก ๆ ที่จะทำแบบนี้ได้

Rockman

Pac-Man จากซีรีส์  Pac-Man

Pac-Man

คราวนี้มาดูตัวละครรุ่นปู่ที่เป็นตัวละครในเกมตัวแรก ๆ ที่ได้รับความนิยมในวงการเกมจนมาถึงตอนนี้ ที่แม้แต่คนที่ไม่ได้เล่นเกมยังรู้จักเจ้าตัวกินจุด แพ็กแมน (Pac-Man) ซึ่งที่มาที่ไปของมันนั้นก็มีหลายที่มาตามแต่ละที่จะเล่า บ้างก็ว่ามาจากพิซซ่าที่ถูกนำออกไปหนึ่งชิ้น บางที่ก็ว่ามาจากอักขระภาษาญี่ปุ่นคำว่าปาก ‘kuchi’ (口) ซึ่งผู้ออกแบบตัวละครตัวนี้มีนามว่า โทรุ อิวาทานิ (Toru Iwatani) และทีมพัฒนาอีก 9 คนมาร่วมกันสร้างเกมนี้ ซึ่งเมื่อตัวเกมปล่อยออกมาในฐานะเกมตู้มันก็โด่งดังในทันทีไปทั่วโลก เพราะความสนุกท้าทายกับการไล่กินจุดและต้องหนีผี ซึ่งผีแต่ละตัวนั้นก็จะมีสมองกลและหน้าที่ต่างกัน โดยมีเพียงผีสีแดงที่ชื่อ บลิงกี้ (Blinky) ตัวเดียวเท่านั้นไล่ตามเรา นอกนั้นก็จะวิ่งเป็นวงกลม วิ่งในทิศทางที่ตรงข้ามกับเรา รวมถึงตัวที่วิ่งไปมั่ว ๆ ไม่มีแบบแผน และเมื่อวันเวลาเปลี่ยนทางค่ายเกมก็ไม่ยอมให้ตัวละครที่เขาสร้างหายไปตามยุคสมัย แต่ทีมพัฒนาได้ออกแบบแพ็กแมนขึ้นมาใหม่ให้มีแขนขาใส่ถุงมือถุงเท้าที่เป็นรูปลักษณ์ใหม่ ซึ่งมันก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากแฟน ๆ จนทำให้เกิดเกมออกมาอีกหลายภาคที่ไม่ใช่แค่เกมกินจุด แต่เป็นเกมแอ็กชันผ่านด่านที่ต่อยอดมาจากการใส่แขนขาให้แพ็กแมน เพื่อไปยังเกมแนวอื่นในตลาดจนสร้างมูลค่าได้อย่างมากมาย ที่จนถึงตอนนี้เราก็ยังคงเห็นเจ้าตัวกินจุดในภาคล่าสุดอย่าง ‘PAC-MAN 99’ บนเครื่อง ‘Nintendo Switch’ ส่วนรูปร่างมีแขนขาก็ได้เป็นแขกรับเชิญในเกม ‘Street Fighter X Tekken’ ด้วย ใครคิดถึงเจ้าตัวกินจุดแบบไหนก็ไปหามาเล่นกันได้

Pac-Man

Bomberman จากซีรีส์ Bomberman

Bomberman

มาสู่ช่วงยุคถัดมาของวงการเกมหลังจากที่แพ็กแมนได้รับความนิยมไปแล้ว ทางค่ายเกมต่าง ๆ ก็พยายามสร้างตัวละครมาเพื่อใช้ขายในเกมบ้าง และหนึ่งในนั้นที่ได้รับความนิยมจากแฟน ๆ นั่นคือเจ้าหนูปาระเบิดอย่าง บอมเบอร์แมน (Bomberman) ที่ในตอนแรกนั้นเจ้าตัวบอมเบอร์แมนไม่ได้มีหน้าตาน่ารักแบบนี้ แต่มันคือหุ่นยนต์หรือคนสวมชุดเกราะในภาคแรก(รูปประกอบด้านล่าง) ก่อนที่ในภาค 2 ตัวละครตัวนี้จะถูกออกแบบใหม่ทั้งหมดลดความความจริงและใส่ความน่ารักสดใสลงไป จนตัวละครตัวนี้ได้รับความนิยมจึงทำให้มีเกมภาคต่อออกมาอย่างมากมาย แต่น่าเสียดายที่เจ้าบอมเบอร์แมนตัวนี้ไม่สามารถแตกแยกย่อยไปซีรีส์อื่นได้นอกจากเกมในซีรีส์ ‘Bomberman’ ของตัวเองเท่านั้น แต่นั่นก็มากพอที่จะทำให้ ‘Hudson Soft’ ในตอนนั้นกอบโกยเงินได้หลายล้านจากตัวละครตัวนี้ และถ้าใครคิดถึงเกมการระเบิดเกมนี้ก็มี ‘Super Bomberman R Online’ ให้เล่นฟรีทุกเครื่องเกม  แล้วคุณจะรู้ว่าการตายด้วยระเบิดตัวเองมันคือเรื่องปกติของซีรีส์นี้

Bomberman

Lara Croft จากซีรีส์ Tomb Raider

Tomb Raider

มาที่ตัวละครทางฝั่งต่างประเทศกันบ้าง กับตัวละครในวิดีโอเกมที่โด่งดังแบบสุด ๆ ในยุคนั้น กับสาวสวยหน้าอกสามเหลี่ยมอย่าง ลาร่า ครอฟต์ (Lara Croft) ในเกมซีรีส์ ‘Tomb Raider’ ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1996 ในฐานะตัวละครสาวแกร่งที่ลุยเดี่ยวในสุสานโบราณที่เต็มไปด้วยกับดักสัตว์ประหลาดไปจนถึงเหล่าร้ายที่มาปล้นสุสาน ที่เป็นการแสดงพลังของผู้หญิงที่หาได้ยากในยุคนั้นที่ตัวละครหญิงจะมีบทเด่น เพราะในยุคก่อนตัวละครชายจะเป็นจุดขาย ขณะที่ตัวละครหญิงจะเป็นเพียงเพศที่อ่อนแอรอการช่วยเหลือจากชายหนุ่มเท่านั้น แต่เมื่อการมาถึงของ ‘Tomb Raider’ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ผู้คนทั้งโลกต่างชื่นชอบในความสวยของเธอ(ในยุคนั้นกราฟิกแบบนี้ถือว่าสวยมาก) ที่เรียกว่าโด่งดังจนออกนอกเกมกันเลยทีเดียว  เพราะในยุคนั้นลาล่าได้ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าต่าง ๆ ทั่วโลก และมีภาพยนตร์เป็นของตัวเองถึง 2 ซีรีส์รวมแล้วถึง 3 ภาค ซึ่งความโด่งดังขนาดที่ว่าเธอนั้นได้เป็นหนึ่งในนางแบบขึ้นปก ‘Playboy’ มาแล้ว และสิ่งที่หลายคนไม่ทราบคือเรื่องหน้าอกของลาล่า ที่ในตอนแรกส่วนนั้นก็ดูปกติทั่วไป จนมีทีมพัฒนามือบอนเอาเพิ่มขนาดหน้าอกเล่นจนมันใหญ่ขึ้น ซึ่งแทนที่ทีมพัฒนาคนนั้นจะโดนด่าแต่มันกลับไปถูกใจทีมพัฒนาทุกคน เราจึงได้เห็นหน้าอกที่ให้คับใจของเธอเรื่อยมาในทุกภาคนั้นเอง

Tomb Raider

Master Chief จากซีรีส์ Halo

Halo

มาถึงตัวละครสุดแปลกที่ไม่ว่าจะดูมุมไหนตัวละคร มาสเตอร์ ชีฟ (Master Chief) จากเกมซีรีส์ ‘Halo’ จะโด่งดังได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวเกมที่เป็นมุมมองบุคคลที่ 1 ที่เราจะได้เห็นแค่ปืนกับมือของมาสเตอร์ชีฟเท่านั้น ซึ่งตลอดทั้งเกมเราจะได้เห็นหน้าเขาเพียงไม่กี่ฉาก แถมเมื่อเห็นหน้าตัวละครก็เห็นเพียงแค่ชายในชุดเกราะสีเขียวเท่านั้น ที่เมื่อเทียบกับตัวละครคนอื่น ๆ ในวงการเกมแล้วมาสเตอร์ชีฟดูจะเป็นตัวละครที่หาได้ทั่วไปไม่มีอะไรโดดเด่นน่าสนใจเลย หรือจะเป็นเนื้อเรื่องของเกมที่ลึกซึ้งซับซ้อนน่าติดตาม ไปจนถึงระบบการเล่นที่สนุกจึงส่งให้ตัวละครตัวนี้โด่งดังก็ไม่น่าจะใช่ เพราะหลายเกมที่มีเนื้อเรื่องดีระบบการเล่นยอดเยี่ยมเหมือนซีรีส์ ‘Halo’ ตัวละครเหล่านั้นก็ไม่ได้โด่งดังเหมือนที่มาสเตอร์ชีฟทำได้ ซึ่งนับว่าเป็นกรณีที่หาได้ยากในวงการเกม เพราะความโด่งดังของมาสเตอร์ชีฟไม่ใช่แค่ในเกม แต่ยังลามถึงของเล่นและไปเป็นแขกรับเชิญในซีรีส์อื่น ซึ่งตัวละครที่สามารถทำแบบเดียวกับมาสเตอร์ชีฟได้ใกล้เคียงที่สุดก็คือ ดูม สเลเยอร์ (Doom Slayer) จากซีรีส์ ‘Doom’ ที่เป็นเกมแนวเดียวกันแถมเป็นตัวละครสวมเกราะไม่เห็นหน้าเหมือนกัน แต่ดูมสเลเยอร์ก็ไม่สามารถทำได้ขนาดที่มาสเตอร์ชีฟทำ นับว่าเป็นอะไรที่แปลกมาก ๆ ในวงการเกม

Halo

Slime จากซีรีส์ Dragon Quest

Dragon Quest

ถ้าการเกิดและโด่งดังของมาสเตอร์ชีฟจากเกมซีรีส์ ‘Halo’ แปลกแล้วมาดูตัวละคร สไลม์ (Slime) จากซีรีส์ ‘Dragon Quest’ ของญี่ปุ่นที่แปลกกว่าหลายเท่า โดยเริ่มจากต้นกำเนิดของเจ้าตัวฟ้านั้น อาจารย์ อากิระ โทริยามะ (Akira Toriyama) ได้ไอเดียการออกแบบมาจากหยดน้ำโดยการเพิ่มลูกตาปากลงไป ซึ่งเจ้าสไลม์ตัวนี้ก็คือตัวละครตัวแรกที่อาจารย์โทริยามะออกแบบในเกม ‘Dragon Quest’ จนเมื่อตัวเกมวางจำหน่ายแฟน ๆ ก็รู้จักและหลงรักเจ้าตัวฟ้านี้ทันที ซึ่งความโด่งดังที่ว่านี้ก็คือความเด่นจนขโมยซีนทุกอย่างในเกม ‘Dragon Quest’ ไปจนหมด จนเมื่อมีเกมภาคต่อออกมาก็ยิ่งเพิ่มความโด่งดังให้เจ้าตัวฟ้ามากขึ้นไปอีก จนทีมพัฒนาต้องสร้างสายพันธุ์ต่าง ๆ ของสไลม์ออกมาอีกมากมาย ไปจนถึงเกมของตัวเองในชื่อ ‘Slime Morimori Dragon Quest’ นี่ยังไม่นับการไปเป็นแขกรับเชิญในเกมต่าง ๆ ด้วย และสิ่งที่ทำให้เจ้าสไลม์แตกต่างกับมาสเตอร์ชีฟ ก็เพราะเจ้าสไลม์นั้นสามารถสร้างมูลค่าทางสินค้าได้มากกว่าตัวเกมที่มันอยู่เสียอีก เพราะถ้าคุณเป็นแฟนซีรีส์ ‘Dragon Quest’ จะรู้ว่ามีสินค้าที่มาจากเจ้าสไลม์นั้นออกมามากมายขนาดไหน จนเรากล้าพูดเลยว่าให้เอาของเล่นของสะสมของทุกตัวละครในบทความนี้มารวมกัน ยังไม่ได้ถึงครึ่งของสินค้าที่เจ้าสไลม์ทำออกมา นับเป็นการออกแบบตัวละครที่มีมูลค่านอกเกมได้อย่างไม่น่าเชื่อ

Dragon Quest

Sonic จากซีรีส์ Sonic the Hedgehog

Sonic the Hedgehog

หลังจากความสำเร็จไปอย่างสวยงามของลุงหนวดในค่าย ‘Nintendo’ ก็ทำให้ค่ายเกมต่างหันมาออกแบบตัวละครที่จะสร้างมูลค่าให้ค่ายบ้าง หนึ่งในนั้นก็คือค่าย ‘Sega’ ที่ออกแบบตัวละครจากเม่นจนกลายมาเป็น โซนิค เดอะ เฮดจ์ฮ็อก (Sonic the Hedgehog) ตัวละครที่มีความเป็นสากลจากการออกแบบอย่างดี ที่ถ้าใครไม่รู้อาจจะคิดว่าตัวละครตัวนี้มาจากทางฝั่งอเมริกา แต่ความจริงแล้วเจ้าเม่นเกิดและเติบโตในสัญญาชาติญี่ปุ่น ที่มาพร้อมกับแนวเกมแบบใหม่ที่ต่างกับเกมอื่น ๆ เพราะเกมในซีรีส์ ‘Sonic the Hedgehog’ นั้นจะเป็นการวิ่งเพื่อทำความเร็วในการผ่านฉาก จนเรียกว่าทาง ‘Sega’ ทำเกมออกมากี่ภาคก็ได้รับความนิยม จนครั้งหนึ่งโซนิคของเราเคยไปยืนเทียบเคียงลุงหนวดช่างประปาได้อย่างสมศักดิ์ศรี ก่อนที่ความเร็วของเจ้าเม่นก็ค่อย ๆ ลดลงเพราะแนวเกมที่ไม่ค่อยพัฒนาแถมย่ำอยู่กับที่กับระบบการเล่นเดิม ๆ ขณะที่ลุงหนวดช่างประปากลับมีการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบการเล่นแนวเกมที่ไม่ซ้ำซากและไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม จนสุดท้ายโซนิคก็กลายเป็นตัวละครรุ่นเก่าที่เคยโด่งดังเท่านั้น จนล่าสุดเมื่อมีภาพยนตร์ ‘Sonic the Hedgehog’ ออกมาก็สร้างกระแสให้ตัวเกมกลับมาพูดถึงอีกครั้ง แต่มันก็ไม่โด่งดังจนเป็นกระแสมากนักคงต้องรอดูว่าอดีตดาราเคยดังตัวนี้จะกลับมาดังอีกครั้งได้ไหมในภาพยนตร์ ‘Sonic the Hedgehog 2’

Sonic the Hedgehog

Chun Li จากซีรีส์ Street Fighter

Street Fighter

อีกหนึ่งตัวละครเพื่อนหญิงพลังหญิงอีกหนึ่งคนในวงการเกม ที่เป็นหนึ่งในการปลุกกระแสพลังของผู้หญิงในวงการเกม ให้พวกเธอเหล่านั้นสามารถต่อสู้และยืนเทียบเคียงผู้ชายได้ โดยตัวละคร ชุนลี (Chun Li) จากซีรีส์ ‘Street Fighter’ นับเป็นตัวละครหญิงคนแรก ๆ ที่แฟน ๆ หลงรัก ที่ตัวของเธอนั้นไม่ใช่สาวที่แข็งแกร่งมีมัดกล้ามที่แต่งตัวเย้ายวนแบบตัวละครหญิงคนอื่น ๆ แต่ตัวของชุนลีมีนั้นคือความน่ารักสดใสของสาววัยรุ่น ที่เมื่อดูจากท่าตอนชนะของเธอที่จะกระโดดยิ้มอย่างดีใจพร้อมกับชูสองนิ้ว ที่บอกถึงความสดใสของเธอได้เป็นอย่างดี กับเรื่องราวของเธอที่มีมิติเมื่อเทียบกับตัวละครคนอื่นในเกม เพราะตัวของชุนลีนั้นมีเป้าหมายในการล้างแค้นให้พ่อ ตอนจบของเกมในภาคแรก ๆ นั้นเราจะเห็นเธอมาเยี่ยมหลุมศพพ่อก่อนจะถอดชุดนักสู้ออกมาเป็นเด็กสาวธรรมดา และด้วยความน่ารักสดใสเป็นสาวหมวยนั่นเองจึงทำให้ทั้งหนุ่ม ๆ ไปจนถึงสาว ๆ หลงรักเธอคนนี้ จนตัวละครชุนลีไปปรากฏในเกมต่าง ๆ มากมาย ขนาดในภาพยนตร์ของ แจ็กกี ชาน (Jackie Chan) หรือ เฉินหลง ในเรื่อง ‘City Hunter’ มาแล้ว(รูปประกอบด้านล่าง) นอกจากนี้ก็มีภาพยนตร์ภาคแยกออกมาในชื่อ ‘Street Fighter The Legend of Chun-Li’ ในปี 2009 อีกด้วย ตัวภาพยนตร์ก็สนุกดีใครสนใจก็ไปหามาดูกันได้ แล้วคุณจะรู้ว่าสาวหมวยคนนี้มีมากกว่าพลังเตะในเกม

Street Fighter

Mario จากซีรีส์ Super Mario

Super Mario

ปิดท้ายกับตัวละครที่จะไม่พูดถึงบทความนี้คงขาดความสมบูรณ์ไปในทันที กับตัวละครลุงหนวดที่เป็นเจ้าพ่อของวงการเกม ที่ไม่ว่าจะหยิบจับทำอะไรเกมไหนก็โด่งดังเป็นที่พูดถึงเป็นกระแสทุกเกม แถมแฟน ๆ ต่างแห่กันไปซื้อแม้เกมนั้นจะเป็นเกมที่แค่มีตัว มาริโอ้ (Mario) ไปเป็นแขกรับเชิญหรือเกมกีฬาที่ขึ้นชื่อว่า ‘Mario’ ก็ขายได้ เพราะความสนุกแปลกใหม่ที่ไม่ย่ำอยู่กับที่ของตัวเกม ที่พยายามทำระบบใหม่ ๆ ให้ต่างจากตัวเกมภาคปกติ โดยการเพิ่มตรงนั้นใส่ตรงนี้เพิ่มตรงนั้น แถมการเปลี่ยนนั้นก็ถูกอกถูกใจแฟน ๆ ทุกเกม ซึ่งทั้งหมดยกความดีความชอบให้กับ มิยาโมโตะ ชิเงรุ (Miyamoto Shigeru) ที่เป็นคนออกแบบเกม ซึ่งตัวมาริโอ้นับเป็นกรณีที่หายากมาก ๆ ในวงการสื่อ ที่ทุกคนต่างก็แปลกใจที่ตัวละครธรรมดา ๆ ตัวหนึ่งจะสามารถโด่งดังมีชื่อเสียง จนมีทั้งเกมซีรีส์ตัวเองไปจนถึงซีรีส์แยกมากมายมายเป็นสิบ ๆ เกมที่แปะชื่อ ‘Mario’ แถมยังมีสินค้าของเล่นสวนสนุกการ์ตูนที่ฉายทางทีวีไปจนถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ถ้าแปะรูปลุงหนวดคนนี้ลงไปก็สามารถขายได้ทันที ซึ่งกรณีนี้มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ มิกกี้ เมาส์ (Mickey Mouse) ที่ทำได้ในวงการการ์ตูน ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีตัวละครคนไหนในวงการเกมที่สามารถเทียบบารมีรัศมีความโด่งดังของลุงแกได้

Super Mario

ก็จบกันไปแล้วกับ  10 ตัวละครที่สร้างออกมาทีเดียวค่ายเกมสามารถหากินได้แบบยาว ๆ โดยเราพยายามคัดตัวละครเด่น ๆ ที่มีรูปแบบความดังหลาย ๆ อย่างมานำเสนอเพื่อให้นักอ่านได้เห็นภาพหลาย ๆ  มุม ซึ่งการที่จะสร้างตัวละครออกมาและปั้นจนโด่งดังได้เทียบเท่าทั้ง 10 ตัวละครนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย มันเหมือนการซื้อหวยที่ถ้าทำออกมาได้ดีถูกที่ถูกเวลาและรักษาคุณภาพงานให้ออกมาดี ก็สามารถขายตัวละครนั้น ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง แต่การที่จะสร้างตัวละครระดับมาริโอ้กับมิกกี้เมาส์ได้นั้นเป็นเรื่องที่ยากถึงยากมาก ๆ ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีตัวละครไหนที่สามารถโค่นตัวละครสองตัวนี้ลงได้ และคิดว่าคงจะไม่มีไปอีกนานเลยทีเดียว และถ้าใครมีตัวละครที่สร้างมาทีเดียวหากินได้อีกนานตัวไหนอีกก็บอกกันมาได้ ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องใดในวงการเกมก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส