เมื่อพูดถึงความตายเชื่อว่าหลายคนคงไม่มีใครชอบสิ่งนี้ เพราะมันคือการลาจากแบบไม่มีวันกลับของคนที่เรารักและเคารพ หรือบางคนอาจจะมองว่าความตายเป็นเรื่องดี เพราะคนที่เราเกลียดหรือคนที่ทำเรื่องไม่ดีจากไปเสียที แต่ไม่ว่าจะมองมุมไหนการตายมันก็ไม่ใช่เรื่องดีเลย แต่ในโลกของวิดีโอเกมนั้นเรื่องราวของความตายกลับเป็นอีกแบบ เพราะความตายในโลกของเกมนั้นมันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรหลาย ๆ อย่าง และเป็นความตายที่เป็นจุดเริ่มต้นเรื่องราวที่ดีหรือเรื่องราวที่ร้ายก็ได้เช่นกัน ซึ่งหลายเกมก็เอาคำว่าความตายหรือ “Dead” มาใช้เป็นชื่อเกมเพื่อสื่อถึงอะไรหลาย ๆ อย่าง วันนี้เราจะมาหาความหมายของความตายในเกมเหล่านั้นกัน จะมีเกมอะไรที่น่าสนใจและเกี่ยวกับความตายแบบไหนบ้างนั้นมาดูกันเลย
Dead or Alive Xtreme ความตายที่ไม่ได้ตายแต่คนเล่นกลับได้ขึ้นสวรรค์
ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาที่เคร่งเครียดเกี่ยวกับเนื้อหาของความตายในชื่อเกม เรามาเริ่มต้นด้วยอะไรที่มันสบายตากันก่อน กับเกมที่มีคำว่าตายหรือ ‘Dead’ อยู่บนชื่อเกมอย่าง ‘Dead or Alive Xtreme’ ที่ถ้าแปลแบบตรง ๆ เกมนี้ก็หมายถึง “ตายหรือมีชีวิตอยู่” ที่ถ้าใครเคยเล่นหรือรู้จักเกมนี้จะทราบดีว่าตัวเกมนั้นจะกล่าวถึงการต่อสู้ที่เดิมพันด้วยชีวิตของคู่ต่อสู้ เพราะในภาคแรกของเกม ‘Dead or Alive’ จะมีกับดักมากมายในฉากทั้งพื้นระเบิดไปจนถึงกำแพงไฟฟ้าที่สามารถฆ่าเราได้เมื่อล้มหรือชนกำแพง ที่สื่อถึงชื่อเกมและอารมณ์การเล่นอย่างชัดเจน ก่อนที่ในภาคต่อมาตัวเกมจะถูกเปลี่ยนความรุนแรงตรงนี้ไป และเน้นที่ตัวละครแทน จนภาคล่าสุดที่หลายคนชื่นชอบอย่าง ‘Dead or Alive Xtreme’ ที่ตัวเกมก็ไม่ได้สื่ออะไรที่เกี่ยวกับความตายเลย แถมตัวเกมยังสื่อไปในแบบที่ตรงข้ามกับชื่อเกม ที่ถ้ามองในแง่ของการตลาดการแปะชื่อ ‘Dead or Alive’ ก็เพื่อให้คนเล่นเกมทราบว่าเกมนี้จะใช้ตัวละครจากซีรีส์ ‘Dead or Alive’ มาอยู่ในนี้ แต่ถ้ามองในแง่ของจิตวิญญาณในเกมกับชื่อมันคือการหักหลังตัวเกมชนิดที่ให้อภัยไม่ได้เลยทีเดียว เพราะแทนที่เราจะได้เจอความตายเรากลับเจอสาว ๆ เล่นกีฬาชายหาดที่ทำให้เราคนเล่นขึ้นสวรรค์แทน แต่ถ้าถามว่าโกรธหรือไม่ที่เกมเป็นแบบนี้ก็บอกเลยว่าไม่ แถมชอบมาก ๆ ด้วยซ้ำ
Deathloop เกิดตายโดนไล่ล่าวนเวียนไม่รู้จบจนกว่าจะทำสำเร็จ
คราวนี้มาดูเรื่องราวเครียด ๆ กันต่อกับความตายที่ไม่ตาย แต่มันคือการกลับมาเรื่องต้นใหม่ทุกครั้งที่ตาย ที่ภาษากาลเวลาเรียกว่าการวนลูปของเวลาที่เราต้องทำอะไรซ้ำ ๆ แบบเดิม ๆ ไปตลอดไม่มีที่สิ้นสุด หรืออาจจะทำจนสำเร็จจึงจะผ่านไปได้เหมือนในเกม ‘Deathloop’ ที่เราจะได้เล่นเป็นนักฆ่าซึ่งหลงวนเวียนอยู่ในห้วงเวลาบนเกาะปริศนา กับภารกิจในการฆ่าเป้าหมายทั้ง 8 คนให้ได้ในเวลาที่กำหนด ซึ่งถ้าเราทำพลาดหรือตายเกมก็จะเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ ซึ่งความสนุกของเกมนี้คือการแก้ไขสิ่งที่เราเคยทำพลาดในคราวก่อน เพื่อให้เรากำจัดเป้าหมายได้อย่างแน่นอน แต่เกมก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเพราะเราจะถูกตามล่าโดยนักล่าสาวที่จะตามขัดขวางเราไม่ให้ฆ่าเป้าหมายได้ โดยตัวนักล่าสาวนั้นจะเป็นได้ทั้งระบบ AI ที่เกมมีมาให้ไปจนถึงผู้เล่นคนอื่นที่เข้ามาขัดขวางเราก็ได้ ซึ่งเมื่อเราตายทุกอย่างที่ทำมาก็จะเริ่มต้นใหม่ เป็นการตายเกิดวนเวียนที่น่าสนใจมาก ๆ ใครที่สนใจก็ไปหาเครื่อง ‘PlayStation 5’ ให้ได้เพราะเกมนี้จะลงให้เพียงเครื่องเดียว ส่วนใครที่มีเครื่องแล้ววันที่ 14 กันยายนไปตามล่าฆ่ากันได้ แล้วคุณจะรู้ว่าความตายที่ไม่ได้ตายมันน่ากลัวขนาดไหน
Deadpool ฮีโร่ผู้ที่อยากตายแต่ก็ตายไม่ได้
ถ้าไม่ได้เขียนบทความนี้ก็คงจะไม่มีทางทราบเลยว่าชื่อของตัวละครซูเปอร์ฮีโรอย่าง ‘Deadpool’ นั้นถ้าสลับตัวอักษรตัว P กับตัว L กันเราก็จะได้คำว่า “Loop” ที่หมายถึงการวนเวียนซ้ำ ๆ เหมือนอย่างในเกม ‘Deathloop’ ที่เราอธิบายไปข้างต้น ซึ่งถ้าใครที่รู้จักซูเปอร์ฮีโรสุดเกรียนคนนี้อย่าง ‘DeadPool’ คงจะทราบดีว่าตัวของเขานั้นเป็นอมตะที่เรียกว่าตายไม่ได้ ที่ในการ์ตูนนั้น ‘Deadpool’ ได้ถูกคู่แข่งหัวใจคำสาปให้เป็นอมตะเพื่อไม่ให้เขาไปเจอกับเทพีแห่งความตาย (ทั้งคู่ชอบพอกัน) ที่ต่างกับในภาพยนตร์ที่เขาได้รับการทดลองจนได้พลังอมตะมา เรียกว่าความตายไม่สามารถเกิดขึ้นได้กับคน ๆ นี้ ที่ไม่ว่าจะระเบิดเขาจนเละหรือแยกเป็นชิ้น ๆ นายชุดแดงก็ยังคงกลับมามีชีวิตเสมอสมฉายา ‘Deadpool’ ซึ่งถ้าเราจะไปค้นหาประวัติของเขาว่าคือใครมาจากไหนและเป็นอะไรมาก่อนที่จะมาถึงตรงนี้เราก็คงจะไม่ได้คำตอบที่แท้จริง เพราะตัวของ ‘Deadpool’ ไม่เคยเล่าอดีตของตัวเองซ้ำกันเลยแม้แต่ในภาพยนตร์ก็ยังทำแบบนั้น ซึ่งในเมื่อมันเป็นแบบนั้นเราจึงขอข้ามประวัติของเขาไปและมาดูที่ตัวเกม ‘Deadpool’ ที่วางจำหน่ายในปี 2013 ที่เป็นเกมแอ็กชันฟันแหลกตามแบบที่ฮีโรคนนี้ถนัด แถมความพิเศษของเกมนี้คือตัวพี่แกยังหันมาพูดกับเราคนเล่น เพราะพี่แกรู้ว่าตัวเองคือตัวละครในเกม แต่เห็นว่าแกบ้า ๆ บอ ๆ แบบนี้ ‘Deadpool’ ต้องทนทุกข์กับความตายที่ตายไม่ได้ของตัวเอง เพราะเขารู้สึกเหนื่อยเบื่อหน่ายและอยากไปเจอคนที่รักแต่กลับต้องมามีชีวิตต่อไป ขณะที่หลายคนพยายามหาความเป็นอมตะ แต่คนที่มีสิ่งนั้นกลับโหยหาความตาย เรียกว่าความทนทุกข์ของคนที่ตายไม่ได้ก็พูดได้เต็มปากเลยทีเดียว
Dead Island เกาะแห่งความตายที่สื่อได้ตรงกับเนื้อหา
แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงความตายที่ไม่ได้ตายเราต้องคิดถึงเกมซอมบี้ ที่สื่อความหมายที่สะท้อนและเสียดสีเรื่องราวของความตายได้ดีที่สุด เพราะเมื่อความตายที่ควรจะเป็นจุดสิ้นสุดของชีวิตกลับกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะ เหมือนอย่างที่เกม ‘Dead Island’ สื่อกับเรา ด้วยภาพปกและเนื้อหาที่เล่าถึงเกาะแห่งความตาย ที่เราซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตเพียงไม่กี่คนต้องพยายามเอาชีวิตรอดบนเกาะนี้ พร้อมกับหาต้นตอของสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากอะไร เรียกว่าสื่อความหมายได้อย่างลงตัวที่เรียกว่าลงตัวเกินไปด้วยซ้ำ เพราะในชื่อเกม ‘Dead Island’ ตัวอักษรตัว I กลับเป็นต้นมะพร้าวที่มีคนแขวนคอตาย จนกลายเป็นประเด็นมาแล้วเมื่อเกมวางจำหน่ายที่มันสื่อถึงความรุนแรงเกินไปเมื่อเด็ก ๆ เดินผ่านมาเห็นแผ่นเกมที่วางขายในร้าน(ต่างประเทศจำกัดช่วงอายุคนซื้อเกมมาเล่น) แต่ถ้ามองในแง่ของการสื่อความหมาย ต้นมะพร้าวกับคนที่แขวนคอตาย ก็สื่อถึงเกาะและความตายที่ไม่ได้ตายได้อย่างถูกต้องที่สุดในบทความนี้เลยทีเดียว ใครที่ไม่เคยเล่นขอแนะนำเลยตัวเกมมีทั้งความสนุกของการต่อสู้และเอาชีวิตรอดเนื้อเรื่องก็ดีเล่นแล้วไม่ผิดหวังแน่นอน
Dead by Daylight ความสิ้นหวังกับการตายที่ไม่ตาย
ยังคงอยู่กับเกมแนวสยองขวัญกับความตายในเกมนี้ที่ไม่ใช่ความตายที่แท้จริงเหมือนเกม ‘Deathloop’ แต่เกม ‘Dead by Daylight’ จะต่างกันตรงที่เกมนี้เราจะไม่สามารถต่อสู้หรือต่อต้านนักล่าที่ไล่ฆ่าเราได้ สิ่งที่เราทำได้คือหนีแอบซ่อนและหาทางออกไปจากที่แห่งนี้ก่อนจะถูกฆ่าตาย แต่ไม่ต้องเป็นห่วงถึงแม้คุณจะตายไปแล้วเมื่อถึงเวลากำหนดพวกคุณก็จะมาอยู่ที่เดิมเพื่อถูกไล่ล่าในเกมต่อไปแบบนี้เรื่อย ๆ เพราะผู้ที่อยู่เบื้องหลังของเกมนรกที่เกิดตายวนเวียนนี้คือปีศาจ ที่มันจะคอยกัดกินความกลัวและความสิ้นหวังของมนุษย์ ที่ยิ่งตัวละครกลัวหรือสิ้นหวังมากรสชาติของความกลัวก็จะยิ่งอร่อย ดังนั้นปีศาจจึงคอยจับผู้คนที่มีความหวังความฝันให้มาหนีตายที่นี่ และส่งนักฆ่าที่ชีวิตนั้นไม่เคยได้รับแสงแห่งความหวังจนวินาทีสุดท้ายของชีวิตให้มาไล่ล่าคนที่มีความหวัง ที่เหมือนเป็นการประชดโชคชะตากับการเล่นตลกของปีศาจ ที่ถ้าใครที่ได้เล่นเกมนี้มาแล้วจะรู้เลยว่าตัวละครในเกมนี้ไม่ทางหนีออกไปจากนรกนี้ได้ จนกว่าความหวังในตัวคน ๆ นั้นจะหมดและกลายเป็นนักล่าคนต่อไปแบบนี้เรื่อย ๆ ไม่รู้จบ เรียกว่าสิ้นหวังท้อแท้แต่เล่นสนุกมาก ๆ ใครสนใจก็ไปหาเกมลูปนรกแห่งความสิ้นหวังได้เลย
Sekiro Shadows Die Twice เกมแห่งความหวังกับชีวิตครั้งที่สองที่ทำลายความหวังคนเล่น
หลังจากที่ต้องสิ้นหวังกันมาแล้วคราวนี้มาดูแสงแห่งความหวังกันบ้าง กับโอกาสที่ 2 ของใครบางคนที่สามารถเกิดใหม่มามีชีวิตอีกครั้งเพื่อแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด ที่เหมือนกับในเกม ‘Sekiro Shadows Die Twice’ เกมที่เราจะได้รับบทเป็น โอคามิ (Okami) นินจาไร้นายที่ต้องทำหน้าที่ปกป้อง คุโระ (Kuro) ทายาทมังกรคนสุดท้ายเพื่อหวังใช้เลือดในการสร้างกองทัพที่เป็นอมตะ โดยก่อนที่โอคามิจะถูกฆ่าเขาได้เลือดของทายาทมังกรจนทำให้เรามีโอกาสที่สองในการแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดเพื่อช่วยเหลือนายเหนือหัวคนสุดท้าย ซึ่งถ้ามองในแง่ของเนื้อเรื่องแล้วเกม ‘’Sekiro Shadows Die Twice’ ดูจะให้ความหวังกับคนเล่นมาก ๆ กับการตายแล้วฟื้นขึ้นมาได้หนึ่งครึ่งจากตรงจุดที่ตาย แต่เมื่อเราได้ลองเล่นจริง ๆ ตัวเกมกลับทำลายความหวังของคนเล่นแบบสุด ๆ เพราะตลอดทั้งเกมนั้นคุณต้องตายแล้วตายอีกตายซ้ำตายซากตายจนกว่าจะเก่ง(ถ้าไม่เก่งก็ตายซ้ำไปอีก) เพราะเกมนี้จะไม่อ่อนข้อให้คนที่อ่อนหัดหรือเพิ่งเล่นเกมเลย ใครที่คิดจะซื้อมาเล่นสนุก ๆ เพลิน ๆ แบบเกมอื่นก็เลิกคิดไปได้เลย ส่วนใครที่อยากลองของโหดกับการทำลายความหวังกับชีวิตครั้งที่ 2 ก็ลองหามาเล่นกันได้
Dead Rising การฝ่าฝูงความตายที่สนุก
ถ้าพูดถึงชื่อเกมที่มีคำว่าความตายหรือ ‘Dead’ อยู่บนชื่อจะขาดเกมซีรีส์ ‘Dead Rising’ ไปได้อย่างไร เพราะเกมนี้ก็คือหนึ่งในซีรีส์เกมที่ก็หยิบยกความตายมาบอกเล่าในแง่ของเกมซอมบี้ได้อย่างลงตัว กับเรื่องราวของการพยายามเอาชีวิตรอดของลูกผู้ชายตัวจริงที่เรียกว่าคนดีที่ไม่ใช่ใช่แค่การอวดอ้างบอกใคร ๆ แต่เขาได้ทำมันจริง ๆ กับการฝ่าฝูงคนตายเพื่อช่วยเหลือผู้คนในเวลาที่จำกัด แถมตัวเกมยังเสียดสีเหล่ากลุ่มคนที่ควรจะมาปกป้องประชาชนแต่กลับมาฆ่าประชาชนเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง(คนที่เล่นเกมนี้จะรู้ว่าเราหมายถึงคนกลุ่มไหน) ซึ่งความตายที่เกมนี้พูดถึงก็สมกับชื่อเกม เพราะเราจะได้ต่อสู้กับฝูงความตายที่มีนับพันตนในฉากขนาดใหญ่ ที่เราต้องผสมสร้างอาวุธเพื่อกำจัดพวกผีดิบเพื่อเอาชีวิตรอดและช่วยเหลือผู้คน ใครที่ไม่เคยเล่นก็แนะนำให้เล่นภาคที่ 3 ของซีรีส์เลย เพราะเกมใส่ส่วนผสมระหว่างความยากและความสนุกที่ลงตัวกว่าสองภาคแรก ที่เรียกว่ายากถึงยากมากสำหรับมือใหม่ ส่วนภาค 4 มันเหมือนเกมที่ทำไม่สมบูรณ์แต่ต้องออกขาย ซึ่งความสนุกก็ใช้ได้แต่ก็ไม่ดีเท่าภาค 3 ที่ลงบน ‘PC’ ใครสนใจไปหามาเล่นดูแล้วคุณจะรู้ว่าการฝ่าฝูงความตายมันจะสนุกขนาดนี้
Death Stranding ความตายที่ส่งผลกระทบกับเกมที่เล่น
ถ้าจะมีเกมที่สื่อความหมายของคำว่าความตายได้ดีที่สุดคงต้องยกให้เกมของมหาเทพ ฮิเดโอะ โคจิมะ (Hideo Kojima) ชายผู้สร้างเกมที่เป็นเอกลักษณ์ ที่ทุกเกมของเขาค่อนข้างจะอิงและไม่เห็นด้วยกับความตายหรือการฆ่าตัวละคร ‘NPC’ ในเกมของเขา ซึ่งสิ่งที่เห็นชัดที่สุดก็คือเกมอย่าง ‘Death Stranding’ ที่หยิบเรื่องของความตายที่เรียกว่าตายจริง ๆ แถมตายแบบไม่ตายธรรมดาแต่ตายแล้วศพยังกลายเป็นระเบิดได้ด้วย ซึ่งคนที่ตายนั่นก็จะไปอยู่ที่ชายหาดที่เราก็ไม่รู้ว่าชายหาดนี้คือนรกหรือสวรรค์ แต่ที่แน่ ๆ คือทุกคนก็จะมีชายหาดเป็นของตัวเอง(ชายหาดจริง ๆ ไม่ใช่แค่การเปรียบเปรย) แต่เมื่อคนตายไม่อยู่ที่ชายหาดของตนเองแต่มาบนโลกจึงเกิดหายนะขึ้น แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่ความตายไม่ใช่ใช่จุดสิ้นสุด ที่เมื่อเขาตายเราจะได้กลับมาเกิดใหม่ในสถานที่เดิมเพราะพลังพิเศษที่จะมี แต่แค่ไม่กี่คนเท่านั้นที่จะได้รับโอกาสของพลังนี้ แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งดีเพราะเราต้องทนทุกข์กับการเห็นคนที่รักตายแต่เรากลับมีชีวิต รวมถึงการตายในเกมนี้ที่ถ้าเราไปฆ่าตัวละครในเกมแล้วไปกำจัดศพโดยการเผา ศพเหล่านั้นจะเกิดการระเบิดอย่างที่บอกไป เพราะคนที่ตายไปแล้วจะกลับมาเข้าร่างตัวเอง ซึ่งแรงระเบิดเพียงแค่ศพเดียวก็สามารถทำลายเมืองทั้งเมืองได้ แต่ถ้าเราไม่ฆ่า(ทำให้สลบ) ไม่นานคนเหล่านั้นก็จะมาฆ่าเรา มันจึงเป็นคำถามที่ว่าเราควรฆ่าหรือไม่ฆ่า เพราะถ้าฆ่าแล้วทิ้งศพ(หรือเราตาย) ก็จะเกิดหลุมขนาดใหญ่จนทำให้เราไปต่อไม่ได้จนต้องเริ่มเริ้มตั้งแต่ต้นก็มีมาแล้ว ดังนั้นความตายของเกมนี้จึงเป็นสิ่งที่คุณต้องคิดว่าจะยอมตายหรือฆ่าใคร เพราะการตายของเราไม่ใช่แค่ตายแล้วฟื้นธรรมดา แต่มันคือความตายที่ส่งผลถึงเกมที่เราจะได้เล่น ซึ่งใครที่เล่นเกมนี้มาแล้วจะเข้าใจ ส่วนใครที่ไม่เคยเล่นรอเล่นฉบับสมบูรณ์ใน ‘Death Standing Director’s Cut’ วันที่ 24 กันยายนนี้บน ‘PlayStation 5’ บอกเลยว่าของดีเกมนี้
Dead Space ความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดแต่คือจุดเริ่มต้นของอีกสิ่ง
ถ้าใครที่ได้ติดตามข่าวสารวงการเกมมาตลอด จะทราบดีว่าเกมสยองขวัญอย่าง ‘Dead Space’ กำลังจะมีฉบับ ‘Remake’ ให้เราได้เล่นกันอีกในไม่ช้านี้ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นเรามาดูความหมายของความตายในเกมนี้กันก่อนว่ามันหมายถึงอะไร กับเกมซีรีส์ ‘Dead Space’ เกมที่เราจะได้รับบทเป็นชายผู้ดวงซวยที่สุดคนหนึ่งในวงการเกม กับการเจอเรื่องเลวร้ายซ้ำไปซ้ำมากับการหนีความตายที่ตามล่าเขาไม่ว่าจะหนีไปที่ไหน เพราะในทุกที่ที่ ไอแซก คลาร์ก (Isaac Clarke) ไปเขาจะต้องถูกสิ่งที่เรียกว่าความตายมาหลอกหลอน เพราะปีศาจที่ไอแซกต้องเจอนั้นมันจะเกิดขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ตาย เมื่อนั้นความหลอนก็จะเกิดขึ้น เพราะเราจะได้เห็นปีศาจที่เกิดจากศพของมนุษย์มาไล่ล่าคนเป็นให้ตายมาก ๆ เพื่อสร้างและแพร่พันธุ์จนเป็นกองทัพปีศาจจากซากศพคนตาย ที่ความตายไม่ใช่ความตายแต่ความตายคือจุดเริ่มต้นของความหายนะที่ไร้ที่สิ้นสุด ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากเล่นก็รอฉบับ ‘Remake’ ที่อีกไม่นานเกินรอ แล้วคุณจะรู้ว่าความตายมันน่ากลัวกว่าที่คุณคิด
The Walking Dead คุณค่าของการมีชีวิตมันถูกต้องแล้วหรือ
ถ้าพูดถึงความตายซอมบี้แล้วไม่พูดถึง ‘The Walking Dead’ บทความนี้คงขาดความสมบูรณ์ไปในทันที เพราะทั้งเกมซีรีส์ภาพยนตร์ไปจนถึงการ์ตูนที่สื่อความหมายถึงความตายได้ทั้งชื่อและตัวเรื่องราวได้อย่างลงตัว แถมยังเสียดสีให้คนที่รับสื่อถามตัวเองว่า ระหว่างอยู่เป็นคนเป็นที่ต้องฆ่ากันเองเพื่อความอยู่รอด กับการอยู่เป็นคนตายที่ลุกขึ้นเดินแบบไหนนจะดีกว่ากัน ซึ่งถ้าใครที่เคยอ่านฉบับหนังสือการ์ตูนที่จบบริบูรณ์ไปแล้วกับตัวซีรีส์ที่กำลังฉาย ‘Season’ สุดท้าย ก็เป็นตัวยืนยันความสำเร็จของการนำคนตายให้ลุกขึ้นมาเดินได้เป็นอย่างดี ซึ่งถ้าเราหันมามองในซีรีส์เกม ‘The Walking Dead’ ก็บอกได้เลยว่ายอดเยี่ยมทุกภาค ไม่ว่าจะเป็น ‘The Walking Dead’ ภาคปกติที่ที่เราจะได้เล่นเป็นสาวน้อย คลีเมนไทน (Clementine) ที่เล่าคู่ขนานไปกับซีรีส์หลักที่ฉายก็ทำเอาหลายคนเสียน้ำตามาแล้ว นี่ยังไม่นับ ‘The Walking Dead Michonne’ ที่เล่าเรื่องราวของ มิโชน (Michonne) สาวซามูไรสุดแกร่งก่อนในการ์ตูนและซีรีส์ว่าเธอต้องเจอกับอะไรมา ที่ไม่ว่าจะเป็นภาคไหนก็มีเนื้อเรื่องสนุกน่าติดตามทุกเกม แล้วคุณจะเข้าใจว่าเกมที่เราจะได้เห็นคนตายลุกขึ้นมาเดินจะให้เราเห็นคุณค่าของความตายและการสูญเสียได้ดีขนาดนี้
Left 4 Dead ความตายที่ไม่ได้ตาย
เพิ่งจะออกภาค 3 ของซีรีส์ไปเมื่อไม่นานมานี้ในเกม ‘Back 4 Blood’ กับอีกหนึ่งเกมซอมบี้ระดับตำนานที่หลายคนยังชื่นชอบและเล่นอยู่กับเกม ‘Left 4 Dead 2’ เกมที่เราจะได้รับบทเป็นกลุ่มคนที่พยายามเอาชีวิตรอดจากฝูงซอมบี้ที่ในหนึ่งทีมจะมี 4 คนที่ต้องช่วยกัน ตัวเกมแม้จะไม่ค่อยมีเรื่องราวอะไร ที่นอกจากการโยนภารกิจในการเอาชีวิตรอดในฉากต่าง ๆ แต่ตัวเกมก็แอบใส่มุมมองของความตายเอาไว้มากมายในตัวซอมบี้ ซึ่งซอมบี้หลายตัวที่เราได้ต่อสู้หรือเจอในเกมนั้นมันยังมีสติความเป็นมนุษย์หรือสามารถพูดสื่อสารได้ ที่เป็นการบอกเราว่าในห้วงแห่งความตายจิตสุดท้ายของคนเหล่านั้นก็ยังคงหลงเหลืออยู่ และคนเหล่านั้นก็กำลังทุกข์ทรมานกับความตายที่ไม่ตายแบบซอมบี้เกมอื่น ซึ่งสิ่งที่ซอมบี้ในเกมนี้ต้องการจริง ๆ อาจจะไม่ใช่การเข้ามาทำร้ายเรา แต่อาจจะเป็นการขอให้เราปลิดชีวิตของเขาให้ได้ตายจริง ๆ เสียทีก็ได้ใครจะรู้
Red Dead Redemption ส่งผ่านจิตวิญญาณแห่งตัวตนผ่านความตาย
ปิดท้ายกับเกมที่หยิบเรื่องของความตายมาสื่อในความหมายของการสืบทอดความหวังจิตวิญญาณของคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นกับเกม ‘Red Dead Redemption’ เกมแนวคาวบอยตะวันตกที่ถ้าใครไม่รู้จักเกมนี้ก็คือเกม ‘GTA’ ในแบบดินแดนตะวันตก ที่เราจะได้รับบทเป็นโจรที่เดินทางไปทั่วอเมริกาเพื่อทำภารกิจทั้งดีและแย่ที่เราสามารถเลือกได้ ตัวเกมมีทั้งหมด 2 ภาคที่น่าเสียดายว่าภาคแรกนั้นวางจำหน่ายบนเครื่อง ‘Playstation 3’ เท่านั้น จึงทำให้หลายคนไม่ได้รับทราบเรื่องราวแบบคนที่เคยเล่นมาทั้งสองภาค ที่เป็นการหยิบยกความตายที่น่าจะเป็นความเศร้าเสียใจให้เปลี่ยนมาเป็นการสืบทอดปณิธานจากคนหนึ่งไปสู่อีกคน โดยในภาคแรกนั้นจะเป็นการสืบทอดปณิธานการแก้แค้นจากพ่อที่ปกป้องครอบครัวจนวินาทีสุดท้าย ซึ่งตัวลูกชายเลือกจะทิ้งสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังเพื่อมาแก้แค้น ที่เหมือนกับภาคที่ 2 ที่ตัวเอกก็ส่งต่อปณิธานการใช้ชีวิตที่แสนสงบที่ตนเองไม่สามารถทำหรือมีได้ให้กับคนที่ตนเองรักเหมือนน้องชาย ซึ่งกว่าที่น้องชายจะเข้าใจในปณิธานนั้นก็ต้องแลกมาด้วยชีวิตของตนเอง ขณะที่ลูกชายต้องเสียเวลาไปหลายสิบปีกว่าจะเพื่อแก้แค้น แต่สุดท้ายเขาก็ทำตามปณิธานที่พ่อแม่คาดหวังเมื่อแก้แค้นสำเร็จ เป็นการปิดตำนานเรื่องราวคาวบอยตะวันตกได้อย่างลงตัว จนคนที่ได้เล่นทั้งสองภาคมาต่างเข้าใจในความหมายของการสืบทอดปณิธานผ่านความตายจากเกมนี้
ก็จบกันไปแล้วกับ 12 เกมที่มีคำว่าตายบนชื่อเกม กับความหมายที่ชื่อเกมพยายามสื่อให้เห็นเกี่ยวกับความตายออกมาผ่านตัวเกมหวังว่าจะถูกใจกัน เพราะเอาจริง ๆ ชื่อเกมที่ขึ้นชื่อหรือมีคำว่า ‘Dead’ นั้นมีเยอะมากโดยเฉพาะเกมซอมบี้ เราจึงต้องคัดเกมหลาย ๆ แนวหรือเกมที่สื่อความหมายได้น่าสนใจมานำเสนอ โดยเราหวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณเห็นคุณค่าของความตายการสูญเสียมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะมองมุมไหนการตายความสูญเสียก็ไม่ใช่เรื่องดี แม้แต่ในวิดีโอเกมที่เราเล่น ขอบคุณที่ติดตาม ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับวงการเกมก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส