เมื่อพูดถึงตัวละครตัวพ่อของวงการเกมอย่างลุงหนวด มาริโอ้ (Mario) ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในวงการเกมมากว่า 40 ปี จนถึงตอนนี้เราก็ได้เห็นลุงหนวดในแง่มุมต่าง ๆ มากมายจากเกมที่เราได้เล่น ที่ทาง ‘Nintendo’ ขยันเอาตัวละครตัวนี้มาใส่ในเกมต่าง ๆ เพื่อสร้างกระแสให้คนที่ชื่นชอบลุงหนวดได้หามาซื้อมาเล่นกัน ซึ่งอาชีพดั่งเดิมของลุงแกตอนแรกสุดนั้นคือช่างไม้ในเกม ‘Donkey Kong’ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นช่างประปาในเกม ‘Mario Bros’ จนเราได้เห็นลุงหนวดที่ไปเป็นนักกอล์ฟในเกม ‘Mario Golf Super Rush’ เป็นนักกีฬาโอลิมปิกในเกม ‘Mario & Sonic at the Olympic Games’ และอีกหลากหลายอาชีพที่เราได้รู้จักผ่านเกมต่าง ๆ แต่ก็ยังมีอีกหลายอาชีพที่เรายังไม่รู้มาก่อนว่าลุงหนวดเคยทำ ว่าแล้วเราก็มาเปิดแฟ้มประวัติดูอาชีพต่าง ๆ ที่ลุงหนวดมาริโอ้เคยเป็นดีกว่า ว่ามีอาชีพอะไรแปลก ๆ ที่น่าสนใจผ่านเกมต่าง ๆ ที่เรายังไม่รู้อีกบ้าง มาดูไปพร้อมกันเลย
ช่างตัดเสื้อ จากเกม I Am a Teacher Super Mario Sweater
เริ่มต้นอาชีพแรกที่หลายคนอาจจะไม่ทราบมาก่อน ว่าลุงหนวดมาริโอ้ของเรานั้นเคยครูสอนเย็บเสื้อกันหนาวด้วย ในเกม ‘I Am a Teacher Super Mario Sweater’ ที่เป็นเกมกึ่งคู่มือสอนทำเสื้อกันหนาว ตั้งแต่วัดขนาดเสื้อ การตัดดเย็บ ไปจนถึงการสอนทำลวดลายต่าง ๆ จากเกม ‘Super Mario Bros Mario’ ที่เกมกำหนดมาให้ถึง 15 แบบ หรือเราจะสร้างลวดลายขึ้นมาเองก็ได้ จากโปรแกรมสร้างแบบที่เกมมีมาให้ โดยตัวเกมจะสอนเราทุกขั้นตอนอย่างละเอียด โดยมีลุงหนวดให้คำแนะนำเราในเกมเหมือนดังคุณครูมืออาชีพ ตัวเกมวางจำหน่ายบนเครื่อง ‘Famicom Disk System’ (รูปด้านล่าง) ส่วนใครที่อยากได้เสื้อแต่ทำไม่เป็นก็สามารถเอาลวดลายในเกมใส่ ‘Floppy Disks’ แล้วไปให้ทางร้าน ‘Royal Industries’ ในยุคนั้นเย็บออกมาได้ แค่เสียค่าบริการกับค่าจัดส่งเพิ่มนิดหน่อย เรียกว่าเป็นอะไรที่ล้ำสมัยมาก ๆ ในยุคนั้น
ทหารผ่านศึกสงครามเวียดนาม จากเกม Mario’s Bombs Away
เชื่อว่าหลายคนคงจะไม่เคยทราบมาก่อน ว่าสมัยก่อนที่เขาจะมาอยู่ในอาณาจักรเห็ดในฐานะฮีโรผู้ช่วยเจ้าหญิง ลุงหนวดกับน้องชายเคยเป็นทหารผ่านศึกในสงครามเวียดนามมาก่อน ในเกม ‘Mario’s Bombs Away’ บนเครื่องเกมพกพาในอดีตอย่าง ‘Game & Watch’ ที่เราจะได้รับบทเป็นนายทหารมาริโอ้ ที่ต้องพาระเบิดหลบกลุ่มทหารที่จะจุดระเบิดใส่เราทั้งข้างบนข้างล่าง หน้าที่ของเราคือการนำระเบิดมาให้นายทหาร ลุยจิ (Luigi) น้องชายที่รออยู่อีกฝั่ง เพื่อจะได้โยนระเบิดใส่ศัตรูให้ครบ 5 ครั้งก็จะได้ 1 แต้ม แต่ถ้าพราดเราจะถูกระเบิดตาย โดยเนื้อเรื่องในเกมนี้เกิดขึ้นในสมัยสงครามเวียดนาม ที่ทาง ‘Nintendo’ ใช้กระแสในตอนนั้นสร้างเกมนี้ออกมาเพื่อขาย นับว่าเป็นอีกหนึ่งเกมที่มืดมนโหดร้ายมาก ๆ แต่มันก็ทำให้เรารู้ว่าลุงมาริโอ้และน้องชายเคยเป็นทหารรับใช้ชาติมาก่อน
พนักงานคาสิโน จากเกม Mario’s Game Gallery
หลังจากผ่านสงครามเวียดนามมาได้ อีกอาชีพที่ลุงหนวดเราเคยทำก็คือการเป็นพนักงานคาสิโน ในเกม ‘Mario’s Game Gallery’ ที่วางจำหน่ายบนเครื่อง ‘PC’ ในยุคนั้น ที่เป็นการรวมเกมกีฬาในร่มต่าง ๆ มาอยู่ในเกมอย่าง หมากฮอส, Backgammon, Go Fish และเกมทายแต้มเกมลูกเต๋าที่เรียกว่า “Yacht” ที่เราจะได้เห็นลุงหนวดมาเป็นคนแจกไพ่ทอยเต๋าหรือร่วมเล่นกับเราด้วย ซึ่งเห็นแบบนี้ตัวเกมไม่ได้รับเสียงชื่นชมแต่ตรงข้ามกลับถูกนักเล่นเกมในยุคนั้นต่อต้าน ถึงความไม่เหมาะสมที่เอาตัวละครมาริโอ้มาใช้ในเกมพนัน และเกมนี้ถือเป็นจุดด่างพร้อยของซีรีส์ ‘Mario’ เลยทีเดียว แต่เชื่อไหมว่านักสะสมเกมต่างตามหาจนตอนนี้มันกลายเป็นของหายากที่นักสะสมต้องการ
คนดูแลรถแข่งในสนาม จากเกม Famicom Grand Prix F-1 Race
คราวนี้มาดูบรรพบุรุษของเกม ‘Mario Kart’ กันบ้างกับเกม ‘Famicom Grand Prix F-1 Race’ เกมแข่งรถ ‘Formula One’ ที่สมจริงที่สุดในยุคนั้น โดยในตอนแรกเกมนี้ยังไม่ได้ปล่อยว่างจำหน่ายทั่วไป แต่มันคือเกมที่ทาง ‘Nintendo’ ทำมาเพื่อจัดแข่งในงานเกมของตนเองตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคมถึง 15 ธันวาคม 1987 ซึ่งผู้ชนะจะได้เกม ‘Super Mario Bros. Game & Watch’ ที่ปิดผนึกในกล่องแบบพิเศษ ก่อนที่ตัวเกมจะปล่อยวางจำหน่ายบนเครื่อง ‘Family Computer Disk System’ ที่ตัวเกมนั้นจะเป็นเกมขับรถในสนามแข่งเหมือนเกมทั่วไป แต่ความพิเศษของเกมนี้คือเราต้องขับรถมาจอดในจุดพักเพื่อเติมน้ำมันเปลี่ยนยาง ไปจนถึงซ่อมแซมรถที่ชนตอนแข่งให้เรียบร้อยเหมือนการแข่งรถจริง ๆ ซึ่งคนที่มาดูแลรถของเรานั้นก็คือลุงหนวดมาริโอ้นั่นเอง จนเราต้องยกให้ลุงหนวดเป็นบิดาแห่งการไม่เลือกงานไม่ยากจนของจริง
เป็นจิตรกรจากเกม Mario Artist
ทำงานใช้แรงมาเยอะแล้วคราวนี้มาดูอาชีพที่ต้องใช้ฝีมือกันบ้าง อย่างอาชีพจิตรกรนักวาดรูปในเกม ‘Mario Artist’ ที่วางจำหน่ายบนเครื่อง ‘Nintendo 64’ ที่ตัวเกมต้องต่อพ่วงกับตัวเสริมอย่าง ‘64DD’ เพื่อเปลี่ยนคอนโซลเกมให้เป็นเวิร์กสเตชันมัลติมีเดียทางอินเทอร์เน็ตเพื่อเล่นเกมนี้ ที่เราจะได้รับบทเป็นมาริโอ้ที่ต้องเรียนรู้การวาดรูป ลงสี การวาดรูปด้วยปากกาพู่กัน ไปจนถึงการทำภาพเคลื่อนไหวด้วยกราฟิกจาก ‘Nintendo’ ในการออกแบบสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง แต่ก่อนที่คุณจะทำแบบนั้นได้ คุณต้องมี ‘Nintendo 64 mouse’ มาต่อเพิ่ม ที่ในยุคนั้นการที่จะทำอะไรแบบนี้ได้มันค่อนข้างยากและแปลกใหม่แบบสุด ๆ ซึ่งเราที่เป็นมาริโอ้ก็ต้องเรียนรู้ขั้นตอนที่เกมสอนอย่างละเอียด จนเมื่อเรียนจบเราก็สามารถทำภาพสวย ๆ ออกมาได้ด้วยตนเอง แต่ข้อเสียคือตัวอุปกรณ์ที่หาซื้อยากราคาแพง ตอนนี้ใครมีเอาปล่อยขายรับรองว่าราคาดีมากแน่ ๆ
ผู้ฝึกสัตว์ในละครสัตว์ จากเกม Donkey Kong Circus
ย้อนกลับไปในอดีตสมัยที่ลุงหนวดมาริโอ้เพิ่งเข้าวงการในชื่อ จัมป์แมน (Jumpman) เกมแรกที่ลุงหนวดได้เป็นตัวเอกก็คือเกม ‘Donkey Kong’ ที่บอกเล่าเรื่องราวของช่างไม้ที่ไปช่วยแฟนสาวซึ่งถูกลิงยักษ์จับไป โดยในตอนจบของเกมนั้นจัมป์แมนก็ช่วยแฟนสาวได้ ขณะที่ลิงยักษ์ก็ถูกจับกลับละครสัตว์ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ในตอนนั้นก็ทำให้มาริโอ้รู้สึกโกรธลิงยักษ์ จนไปของสมัครเป็นผู้ฝึกสัตว์ในคณะละครสัตว์ เพื่อฝึกเจ้าลิงให้เชื่องในเกม ‘Donkey Kong Circus’ ที่วางจำหน่ายบน ‘Game & Watch’ ที่เราต้องฝึกเจ้าลิงยักษ์วิ่งไปมาบนถังพร้อมกับรับผลไม้ที่ลงมาให้ได้ ซึ่งถ้าเจ้าลิงทำพลาดเราก็จะเห็นลุงหนวดหัวเราะออกมาด้วยความสะใจ นับว่าน่าสงสารมาก ๆ ทั้งที่สาเหตุที่ลิงยักษ์จับแฟนสาวของลุงไปก็เพราะลุงไปแกล้งมันในกรงจนลิงโกรธแท้ ๆ น่าสงสารเจ้าลิง
กรรมการเน็ตการแข่งขันเทนนีส ในเกม Nintendo’s Tennis
ในยุคแรก ๆ ที่ลุงหนวดมาริโอ้กำลังสร้างชื่อให้ตัวเองในวงการเกม เขาก็พยายามรับงานหลาย ๆ แบบตรงกับคติที่ว่า “ไม่เลือกงานไม่ยากจน” เพราะแม้แต่การเป็นกรรมการเนตของกีฬาเทนนีสในเกม ‘Nintendo’s Tennis’ ในปี 1983 ที่เราจะได้เห็นลุงหนวดมาริโอ้มาเป็นกรรมการตัดสินตอนเล่น ที่หลายคนคงพยายามจะไปตีลุงหนวดที่ตัดสินเข้าข้างอีกฝ่าย ซึ่งใครหลายคนคงจะเคยเล่นเกมนี้ในตลับรวมอย่าง ’66 in 1’ มาแล้ว ก่อนที่ลุงแกคงจะรู้สึกสนุกอยากลงมาเล่นเองบ้าง เราจึงได้เห็นซีรีส์ ‘Mario Tennis’ ออกมาในภายหลัง
กรรมการผู้ชี้ขาดบนเวที ในเกม PunchOut
อีกหนึ่งอาชีพกรรมการที่ลุงหนวดของเราไปทำงาน ในฐานะกรรมการผู้ชี้ขาดบนเวทีมวย ที่นักเล่นเกมรุ่นเก่าหลายคนน่าจะเคยเล่น กับเกม ‘PunchOut’ ที่เราจะได้รับบทเป็นนักชกผู้ผอมแห้งที่ต้องไปท้าชกกับนักมวยข้ามรุ่นสุดโหด ซึ่งนักชกคนสุดท้ายที่เราต้องเจอนั้น เขาสามารถต่อยควายตายได้ด้วยกำปั้นอย่าง ไมก์ ไทสัน (Mike Tyson) ที่เรียกว่าเป็นจุดเด่นขโมยซีนไปหมด จนหลายคนลืมไปเลยว่าเกมนี้เราจะได้เห็นลุงหนวดเป็นกรรมการบนเวทีด้วย ซึ่งก็น่าแปลกใจที่ลุงหนวดเรายอมเป็นแค่กรรมการ แต่ไม่ยอมมาลงมาเล่นด้วยแบบกีฬาอื่น ๆ ไม่อย่างนั้นเราคงได้เห็นเกมซีรีส์ ‘Mario Boxing’ ไปแล้ว
ครูสอนประวัติศาสตร์ จากเกม Mario’s Time Machine
อีกหนึ่งอาชีพที่หลายคนคงคิดไม่ถึง ว่าลุงหนวดของเราจะเคยเป็นครูสอนประวัติศาสตร์ด้วย ในเกม ‘Mario’s Time Machine’ ที่วางจำหน่ายบนเครื่อง ‘Super Famicom’ ที่เป็นหนึ่งในวิดีโอเกมมาริโอเพื่อการศึกษา ที่ในเกมนี้จะเป็นการสอนประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในยุคต่าง ๆ ผ่านอาจารย์มาริโอ้ที่ต้องเดินทางข้ามเวลาที่เรียกว่า ‘Timulator’ ไปในยุคอดีตในประเทศต่าง ๆ เพื่อส่งคืนวัตถุโบราณที่ บาวเซอร์ (Bowser) ขโมยมาเพื่อนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ในปราสาทของเขา โดยมาริโอ้ที่ไปบุกปราสาทจนชนะก็ต้องเอาสิ่งเหล่านั้นไปคืนยังยุคสมัยที่ถูกต้อง พร้อมกับเรียนรู้ประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ในยุคนั้น ๆ อย่างละเอียดที่เหมือนในตำราประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นการเรียนผ่านเกมก็ทำออกมาได้ถูกใจผู้ปกครองและเด็ก ๆ ยุคนั้นมาก ๆ
นักเต้นเท้าไฟ จากเกม Dance Dance Revolution Mario Mix
นอกจากอาชีพต่าง ๆ ที่ลุงแกได้ทำมาแล้ว ลุงหนวดมาริโอ้เรายังตามกระแสในช่วงเวลานั้น ๆ ด้วย เรียกว่าอะไรที่เป็นกระแสเราก็จะเห็นลุงแกไปมีส่วนร่วมด้วย หนึ่งในนั้นก็คือการเต้นเท้าไฟในเกม ‘Dance Dance Revolution Mario Mix’ ที่เราจะได้เห็นลุงหนวดมาริโอ้และเพื่อน ๆ มาเต้นเท้าไฟในเพลงต่าง ๆ บนเครื่อง ‘GameCube’ ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างเกมซีรีซ์ ‘Mario’ และ ‘Dance Dance Revolution’ กับเรื่องราวของ วาลุยจิ (Waluigi) ด้านมืดของลุยจิ(รูปด้านล่าง) ได้ขโมย ‘Music Keys’ ทั้ง 4 จาก ‘Truffle Towers’ ที่สามารถให้คำอธิษฐานได้ และหนึ่งในกุญแจได้ตกมายังอาณาจักรเห็ด พวกมาริโอ้จึงต้องมาเต้นเพื่อเอากุญแจกลับไป โดยเพลงที่เต้นนั้นก็จะมาจากเกมซีรีส์ ‘Super Mario’ ภาคต่าง ๆ ที่มาพร้อมแผ่นเต้นแบบพิเศษสำหรับเกมนี้ ใครที่อยากได้ต้องใช้กำลังภายในหน่อยเพราะของมีน้อยและหายาก
ครูสอนใช้แป้นพิมพ์ของคอมพิวเตอร์ จากเกม Mario Teaches Typing
ถ้าการเป็นครูสอนถักเสื้ออาจารย์สอนประวัติศาสตร์ยังดูไม่แปลกพอ เราก็มีอาชีพอีกแบบที่หลายคนไม่รู้ นั่นคือการเป็นครูสอนใช้แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ในเกม ‘Mario Teaches Typing’ ที่วางจำหน่ายบน ‘MS-DOS’ ในปี 1992 ที่เป้าหมายของเกมนี้เพื่อพัฒนาทักษะการพิมพ์ของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในยุคนั้น ที่ต้องทำการฝึกเพื่อให้ใช้งานคอมพิวเตอร์เป็น ที่ต่างกับยุคนี้ที่เด็ก ๆ สามารถใช้งานแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ได้เองโดยที่ไม่ต้องเรียน โดยในเกมนี้จะมีระดับการฝึกหลายแบบ ตั้งแต่คนที่เพิ่งเริ่มฝึกไปจนถึงคนที่ใช้งานได้เก่งแล้วเพื่อเพิ่มทักษะความสามารถในการพิมพ์ ผ่านตัวเกม ‘Mario’ ที่ใช้แป้นพิมพ์ควบคุมแทนการใช้จอยบังคับ ที่แต่ละด่านก็จะมีการควบคุมการใช้แป้นพิมพ์ที่ต่างกัน ซึ่งความพิเศษของเกมนี้คือคุณครูมิริโอ้ที่จะมาสอนเราตลอดทั้งเกม ที่คุณครูมาริโอ้นั้นจะมาแค่หัวที่ดูแล้วหลอนแบบแปลก ๆ (รูปปกระกอบด้านล่าง) ใครที่เพิ่มเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ยุคนั้นน่าจะเคยผ่านมือมาบ้างแน่นอน
เป็นหมอรักษาคนไข้ จากเกม Dr. Mario
เรียกว่ามาถึงจุดสูงสุดในอาชีพของลุงหนวดเลยก็ว่าได้ กับการทำอาชีพเป็นคุณหมอในเกม ‘Dr. Mario’ ที่เป็นเกมเก่าตั้งแต่สมัยเครื่อง ‘Famicom’ ที่หลายคนคงจะเคยเล่นเกมนี้ในตลับ ‘1000000 iN 1’ ที่ตัวเกมก็มีภาคต่อออกมาหลายต่อหลายภาค ซึ่งทั้งหมดจะเป็นแนวตัวต่อเรียงเม็ดสีที่เรียกว่าแนว ‘Action Puzzle’ ที่เราจะได้ควบคุมคุณหมอมาริโอ้ในการทำลายเชื้อโรคที่จะสร้างความวุ่นวาย ตัวเกมเรียบง่ายเล่นสนุกเพลินแถมยังเป็นหนึ่งในรายชื่อเกมของ ‘Nintendo’ ที่ขายดีที่สุดตลอดกาลอีกด้วย ใครที่สนใจอยากเล่นก็ลองไปหาภาคล่าสุดบนมือถือมาเล่นได้แล้วคุณจะรักคุณหมอมาริโอ้คนนี้
นักแสดง จากภาพยนตร์ Super Mario Bros The Movie
ปิดท้ายกับการรับบทเป็นนักแสดงของลุงหนวดที่ไปได้ไม่ค่อยสวยบนถนนสายนี้ เพราะเพียงแค่เริ่มแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกในชื่อ ‘Super Mario Bros The Movie’ ก็ล้มไม่เป็นท่า เพราะถูกแฟน ๆ เกมและนักวิจารณ์ด่าเละ ทั้งที่ตัวหนังคือภาพยนตร์ที่สร้างจากเกมเรื่องแรกของโลกที่ออกสู่สายตาประชาชน แต่ตัวเรื่องราวกลับไม่มีความเป็นเกม ‘Super Mario Bros’ เลย ไม่ว่าจะเป็นฉากเนื้อเรื่องตัวละครที่ไม่ตรงในเกมเลย จนคนในยุคนั้นพูดกันว่า “ถ้าไม่บอกว่าเรื่องนี้สร้างมาจากเกม ‘Super Mario Bros’ ก็คงเป็นภาพยนตร์ที่ดีเรื่องหนึ่ง” โดยในภาพยนตร์จะเล่าเรื่องของลุงหัวล้านมาริโอ้กับน้องชาย ที่ต้องข้ามไปยังมิติคู่ขนานที่เหล่าไดโนเสาร์ครองโลกแทนมนุษย์ เพื่อไปช่วยเจ้าหญิง เดซี่ (Daisy) ที่ถูกประธานาธิบดีคูปา (President Koopa) จับไป(รูปด้านล่าง) ตัวเรื่องที่อ่านแล้วอาจจะเหมือนในเกม แต่ถ้าคุณได้ดูหรือทนดูจนจบคุณจะรู้ว่ามันไม่ใช่เลย และนี่ก็เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ลุงหนวดมาเป็นนักแสดง ก่อนจะหันไปเอาดีทางการ์ตูนทางทีวีที่ก็ไม่รุ่งพอกัน เราจึงไม่เห็นลุงแกในสองสื่อนี้อีกในยุคนี้
เป็นอย่างไรกันบ้างกับการไม่เลือกงานไม่ยากจนของลุงหนวดมาริโอ้ ที่เราหยิบมานำเสนอหวังว่าจะถูกใจกัน ซึ่งทั้งหมดที่เราเอามานำเสนอในบทความนี้เป็นเพียงแค่ส่วนเล็ก ๆ จากทั้งหมด เพราะลุงหนวดมาริโอ้ยังไปเป็นอะไรอีกหลายอย่าง ทั้งการนักกีฬาในเกมต่าง ๆ ไปจนถึงอาชีพอื่น ๆ อีกมากมาย ที่เอาไว้มีโอกาสเราจะหยิบยกเกมเหล่านั้นมานำเสนอ ถ้าใครสนใจก็บอกกันมาได้ ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวอะไรในวงการเกมก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส