เมื่อพูดถึงวิดีโอเกมเรามักจะคิดถึงประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ๆ เพราะเกมระดับตำนานมากมายเกิดขึ้นจากที่นี่ จนเรากล้าพูดได้เลยว่าประเทศญี่ปุ่นคือหนึ่งในฟันเฟืองของวงการนี้  โดยในแต่ละปีนั้นเราจะเห็นเกมจากประเทศญี่ปุ่นน้อยใหญ่ออกมาอย่างมากมายทุกเดือน และมีเกมชื่อดังมากมายในตลาดที่ผลักดันตัวเองจนโด่งดังในประเทศญี่ปุ่น จนเรียกได้ว่าทำมาเพื่อขายคนญี่ปุ่นอย่างเดียวก็อยู่ได้ แต่ในเมื่อเกมมันขายดีในญี่ปุ่นแล้วค่ายเกมก็พยายามผลักดันให้เกมตัวเองขายได้ในตลาดโลก แต่จนแล้วจนรอดเกมเหล่านี้ก็ไม่สามารถทำได้ในตลาดโลกเสียที เรามาดูกันดีกว่าว่ามีเกมอะไรบ้างที่โด่งดังในญี่ปุ่นแต่ขายไม่ดีในตลาดโลก มาวิเคราะห์เรื่องราวนี้ไปพร้อมกันเลย

Dragon Quest

Dragon Quest

เริ่มต้นซีรีส์แรกที่นักเล่นเกมหลายคนน่าจะพอทราบกันดี ว่าซีรีส์ ‘Dragon Quest’ นั้นโด่งดังมาก ๆ ในประเทศญี่ปุ่น จนเรียกว่าหันไปทางไหนของร้านเกมเราต้องเจอมุมของเกมนี้วางอยู่เสมอ นี่ยังไม่นับของสะสมของเล่นของใช้อีกมากมาย ขนาดที่ว่าถ้ารวมยอดขายเกมทุกภาคทุกซีรีส์ของ ‘Dragon Quest’ มารวมกันก็มียอดขายมากกว่า 80 ล้านชุดในประเทศญี่ปุ่นประเทศเดียว ซึ่งสวนทางกับยอดขายต่างประเทศที่น้อยถึงน้อยมาก ๆ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับซีรีส์คู่แข่งอย่าง ‘Final Fantasy’ ที่ได้ฉายาว่า ‘FF of the world’ ก็เพิ่งจะมาโด่งดังไปทั่วโลกในภาคที่ 7 เป็นต้นมา ขณะที่ ‘Dragon Quest’ แม้จะเปลี่ยนชื่อจาก ‘Dragon Warrior’ มาเป็น ‘Dragon Quest’ และเปลี่ยนแนวทางให้สากลมากขึ้นแต่ก็ยังเอาใจแฟนเกมต่างประเทศไม่ได้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการแปลที่แข็งไม่เป็นบทพูดที่ต่างประเทศชื่นชอบ รวมถึงการวางจำหน่ายที่ล่าช้าหลังจากว่าจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น แต่ถึงแบบนั้นความพยายามก็เป็นผลเพราะ ‘Dragon Quest’ ภาค 8 และ 9 ก็มียอดขายที่ดีแถวยุโรป ขณะที่ภาค 11 ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีในระดับกลาง ๆ ตลาดโลก คงต้องรอดูแนวทางที่เปลี่ยนไปในภาค 12 ที่จะเปลี่ยนโทนเป็นมืดมนจริงจังมากขึ้นเพื่อให้เข้ากับต่างประเทศว่าจะทำได้แค่ไหน

Dragon Quest

Monster Hunter

Monster Hunter

เมื่อพูดถึง ‘Monster Hunter’ หลายคนอาจจะเถียงว่าไม่จริง เพราะเกม ‘Monster Hunter World’ มียอดขายดีเหมือนแจกฟรีไปทั่วโลก แล้วแบบนี้จะบอกว่าเกมนี้ขายดีในเฉพาะประเทศญี่ปุ่นได้อย่างไร ซึ่งเราต้องบอกว่าเกม ‘Monster Hunter World’ คือเกมภาคเดียวในซีรีส์ที่ขายดีทั่วโลก สวนทางกับประเทศญี่ปุ่นที่ขายได้แค่ 4 ล้านชุดแต่ ต่างประเทศมียอดขายกว่า 17 ล้านชุด แม้แต่เกมภาคล่าสุดอย่าง ‘Monster Hunter Rise’ ก็ยังขายดีแค่ในประเทศญี่ปุ่นไม่ต่างกับภาคก่อน ๆ ที่เป็นแบบนี้เพราะตัวเกม ‘Monster Hunter’ ทุกภาคจะเน้นอยู่บนเครื่องพกพา ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนญี่ปุ่นที่จะมานั่งจับกลุ่มเล่นเกมนี้กัน ต่างกับในต่างประเทศที่ไม่นิยมวัฒนธรรมแบบนี้ และถึงแม้ตัวเครื่องพกพาจะมีระบบออนไลน์นั่งเล่นที่บ้านกับเพื่อนก็ได้ แต่มันก็ไม่ทำให้ยอดคนซื้อในต่างประเทศเพิ่มขึ้น จนเมื่อมาถึงของภาค ‘World’ ที่เปลี่ยนทุกอย่างจากเดิมไป รวมถึงกราฟิกระบบการเล่นที่เข้าถึงง่ายจึงทำให้คนนอกประเทศญี่ปุ่นชื่นชอบ คงต้องรอดูกันว่าทาง ‘Capcom’ จะหันมาทำ ‘Monster Hunter World 2’ เพื่อเอาใจคนทั่วโลกหรือจะยังคงทำบนเครื่องพกพาเพื่อคนญี่ปุ่นต่อไปมารอลุ้นกันในอนาคต

Monster Hunter

Ryu ga Gotoku

Ryu ga Gotoku

ถ้าพูดถึงชื่อเกม ‘Ryu ga Gotoku’ เชื่อว่าหลายคนคงจะไม่ค่อยรู้จัก แต่ถ้าพูดถึงชื่อเกมซีรีส์ ‘YAKUZA’ ทุกคนคงจะพยักหน้ากันทันที เพราะเกมซีรีส์นี้คือหนึ่งในเกมที่ขายวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบ 100% ไม่ว่าจะเป็นฉากที่อ้างอิงของจริง เนื้อเรื่องของนักเลงแบบลูกผู้ชายฆ่าได้หยามไม่ได้ที่สร้างมาเพื่อคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะ จนชาวต่างชาติมองว่าเกมนี้มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับพวกอันธพาลในญี่ปุ่นตีกันเท่านั้น จนชาวต่างชาติที่ไม่ค่อยรู้จักไม่สามารถเข้าถึงเกมนี้ได้ เพราะสิ่งที่ชาวต่างชาติรู้จักประเทศญี่ปุ่นคือความโบราณ การ์ตูนญี่ปุ่น ซามูไร นินจา และอาหารญี่ปุ่น แถมกลิ่นอายเนื้อเรื่องที่ไม่เป็นสากลทั้งการไปเที่ยวที่มีสาว ๆ หน้าตาน่ารักมานั่งดื่มด้วย การไปร้องเพลง เต้น เล่นมินิเกมแบบต่าง ๆ ที่เราชาวเอเชียอาจจะคุ้นเคยแต่ต่างชาติเขาไม่รู้จัก เมื่อเทียบกับซีรีส์ที่คล้ายกันอย่าง ‘Grand Theft Auto’ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นเกมซีรีส์นี้ขายดีแค่ในประเทศญี่ปุ่น

Ryu ga Gotoku

The Legend of Heroes

The Legend of Heroes

อีกหนึ่งซีรีส์เกมระดับตำนานของชาวญี่ปุ่นที่มีประวัติยาวนานตั้งแต่ปี 1989 ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังได้รับความนิยมจนมีภาคต่อออกมาเรื่อย ๆ  อย่าง ‘The Legend of Heroes’ เกมแนว JRPG ในรั้วโรงเรียนที่ผสมการทำสงครามที่มีเนื้อเรื่องเข้มข้นน่าติดตาม แถมสิ่งที่เป็นจุดเด่นของซีรีส์นี้คือระบบการเล่นและภาพการ์ตูนที่สวยงาม แต่นั่นก็ไม่มากพอที่จะขายในตลาดต่างประเทศ เพราะถ้าบริษัทเกมต้องการครองตลาดโลกด้วยเกมญี่ปุ่น สิ่งที่ต้องทำคือการเปลี่ยนกราฟิกและระบบการเล่นในเกมให้ชาวต่างชาติชอบ ที่ไม่ใช่ภาพการ์ตูนกับการเล่นแบบ JRPG อย่างที่ทำอยู่ ยกตัวอย่างซีรีส์ ‘Final Fantasy’ หรือซีรีส์ ‘Tales of’ ที่ภาคล่าสุดก็เปลี่ยนกราฟิกระบบการเล่นให้ชาวต่างชาติเข้าถึง ซึ่งสิ่งที่ชาวต่างชาติต้องการคือภาพยนตร์ที่เล่นได้เหมือนเกมแบบ ‘Until Dawn’ หรือ ‘Detroit Become Human’ มากกว่าจะเล่นเกมจากการ์ตูน ยกเว้นการ์ตูนดังระดับตำนานอย่าง ‘Dragon Ball’ ถ้าเกมซีรีส์ ‘The Legend of Heroes’ ต้องการทำตลาดโลกคงต้องคิดใหม่ทำใหม่อีกเยอะเลยทีเดียว

The Legend of Heroes

Inazuma Eleven

Inazuma Eleven

เมื่อพูดถึงเกมแนวฟุตบอลจากการ์ตูนหลายคนคงจะคิดถึงเกมซีรีส์ ‘Captain Tsubasa’ ที่โด่งดังไปทั่วโลก ขณะที่เกมรุ่นน้องที่เดินตามรุ่นพี่ (รุ่นพ่อ) อย่าง ‘Inazuma Eleven’ กลับทำได้แค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ทั้งที่ระบบการเล่นการควบคุมไปจนถึงตัวละครในเกมนั้นก็เรียกว่าเอาใจตลาดต่างประเทศแบบสุด ๆ แถมยังมีการสร้างการ์ตูนออกมารองรับตัวเกมเพื่อเสริมความโด่งดัง แต่สุดท้ายการ์ตูนกลับได้ไปต่อขณะที่เกมต้องหยุดสร้างภาคต่อออกมา ซึ่งสื่อต่างประเทศบอกว่าสิ่งที่ทำให้ซีรีส์ ‘Inazuma Eleven’ ขายได้เพราะตัวเกมเน้นขายเด็ก ๆ บวกกับกระแสการ์ตูนที่สนับสนุน ขณะที่นักเล่นเกมต่างประเทศที่ชอบความจริงจังจะชอบซีรีส์ ‘Captain Tsubasa’ ที่เน้นขายผู้ใหญ่กับแฟนการ์ตูนรุ่นเก่าที่รู้จักเกมนี้ แถมระบบการเล่นตัวละครก็เอาใจชาวต่างชาติ จึงไม่น่าแปลกใจที่เกม ‘Inazuma Eleven’ จะโด่งดังแค่ในญี่ปุ่น

Inazuma Eleven

Taiko no Tatsujin

Taiko no Tatsujin

เชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่รู้จักเกมซีรีส์ ‘Taiko no Tatsujin’ มันคือเกมกดตามจังหวะดนตรี โดยการใช้ไม้กลองตีให้ตรงตามจังหวะที่วิ่งหน้าจอ โดยการตีกลองนั้นจะเป็นการตีข้างซ้าย ตีข้างขวา ตีขอบกลอง และตีรัว ๆ ที่เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นเล่นกัน แถมตัวเกมยังนิยมมาก ๆ ในกลุ่มนักเรียนมัธยมนักศึกษาและผู้ใหญ่วัยทำงาน จนทำให้เกมซีรีส์นี้ออกมาอย่างมากมายทั้งเกมตู้ไปจนถึงเกมบนเครื่องคอนโซลที่ออกมาหลายภาค พร้อมเพลงจากการ์ตูนเกมมาลงให้เลือกตี และด้วยความโดดเด่นน่าสนใจจึงทำให้ค่ายเกมนำซีรีส์ตีกลองไปขายต่างประเทศในชื่อ ‘Taiko Drum Master’ พร้อมเพลงติดหูชาวต่างชาติแถมยังมีการแปลเป็นภาษาท้องถิ่น ให้เหมาะสมสำหรับแต่ละภูมิภาคและภาษาด้วย แต่ถึงแบบนั้นต่างชาติก็ไม่รู้สึกชื่นชอบอย่างที่หวัง เมื่อเทียบกับเกมดนตรีที่เป็นสากลกว่าอย่างซีรีส์ ‘Guitar Hero’ ที่เข้าถึงคนทั่วโลกได้ง่ายกว่า

Taiko no Tatsujin

Musou

Musou

เมื่อพูดถึงเกมในซีรีส์ข้ามาคนเดียวลุยทั้งกองทัพที่เรียกว่าเกมแนว ‘Musou’ เชื่อว่าหลายคนต้องคิดถึงซีรีส์ ‘Dynasty Warrior’ ที่เอาตัวละครจากนิยายสามก๊กมาเป็นตัวเอก ซึ่งความจริงแล้วตัวเกมโด่งดังแค่ในประเทศญี่ปุ่น และแถวเอเชียที่รู้จักเรื่องราวของสามก๊กเท่านั้น  ในต่างประเทศให้คำนิยามเกมแนว ‘Musou’ ทั้งหมดว่า “เป็นซีรีส์ที่วิวัฒนาการน้อยที่สุด” เพราะไม่ว่าจะเป็นเกมไหนที่ขึ้นชื่อว่า ‘Musou’ ก็มีรูปแบบการเล่นที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเกม ‘Zelda Musou’ หรือ ‘One Piece Musou’ ที่ก็มีการเล่นการควบคุมที่เหมือนกันจะต่างแค่ตัวละครเท่านั้น แถมในซีรีส์ ‘Dynasty Warrior’ ยังเอาตัวละครจากนิยายสามก๊กหรือตัวละครที่มีตัวตนจริง ๆ ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ชาวต่างชาติไม่รู้จักมาเป็นเกมอีก ยิ่งตอกย้ำให้ชาวต่างชาติไม่สนใจเกมแนวนี้ โดยสิ่งที่ตอกย้ำและยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี คือเรายังไม่เห็นต่างชาติทำเกมแนว ‘Musou’ ออกมาเลย จะมีแค่ฝั่งญี่ปุ่นเท่านั้นที่ทำเกมแนวนี้ออกมา นั่นก็เป็นเครื่องยืนยันแล้วว่าเกมแนวนี้นิยมแต่ในประเทศญี่ปุ่นจริง ๆ

Musou

Jikkyo Powerful Professional Baseball

Jikkyo Powerful Professional Baseball

เชื่อว่านักเล่นเกมรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยรู้จักเกมซีรีส์ ‘Jikkyo Powerful Professional Baseball’ แต่สำหรับนักเล่นเกมรุ่นเก่ามันคือเกม Baseball ที่เล่นสนุกเกมหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งถ้าเรานับยอดขายของเกมซีรีส์นี้ทั้งหมดทุกภาคมารวมกัน ก็ได้ถึง 22.6 ล้านชุด แต่ยอดขายเกือบทั้งหมดนั้นมาจากตลาดประเทศญี่ปุ่น โดยตัวเกมได้ทำการตลาดต่างประเทศในชื่อ ‘MLB Power Pros’ ที่ร่วมมือกับแบรนด์เกมกีฬาชื่อดังอย่าง ‘2K Sports’ เพื่อทำการตลาด แถมตัวเกมยังเปลี่ยนสีผิวและสีตารวมถึงสำเนียงการใช้ภาษาให้เหมาะกับต่างประเทศ ที่ในตอนนั้นในต่างประเทศก็มีเกม Baseball ของตัวเองอยู่แล้วอย่าง ‘MLB 2K’ เมื่อเกม ‘MLB Power Pros’ มาจึงถูกเปรียบเทียบในทันที  แถมยังถูกต่อว่าถึงความไม่สมจริงของตัวเกมที่เหมาะสำหรับเด็ก ๆ มากกว่าสายจริงจังที่ชอบเกมแนวนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมเกม ‘Jikkyo Powerful Professional Baseball’ จึงขายได้แค่ในญี่ปุ่น

Jikkyo Powerful Professional Baseball

Idolmaster

Idolmaster

อีกหนึ่งแนวเกมที่โด่งมาก ๆ ในประเทศญี่ปุ่นและแถวเอเชียเรา นั่นคือแนวกดตามจังหวะเพลงกับการพัฒนาสาวน้อยให้เป็นดาราดัง ในเกมซีรีส์ ‘Idolmaster’ เกมที่อ้างอิงจากเหล่าสาวน้อยน่ารักที่เรียกว่า ‘Idol’ ซึ่งพวกเธอนั้นจะมาร้องเพลงเต้นและทำท่าน่ารัก ๆ ให้พวกเราหลงรักในความสดใสของพวกเธอ โดยเราที่เป็นผู้จัดการวงต้องผลักดันให้ตัวละครที่เราเลือกโด่งดัง ซึ่งวัฒนธรรมนี้ชาวต่างชาติเขาไม่เข้าใจเหมือนเรา เพราะในบ้านเขาจะมีแค่นักร้องนักแสดงที่มีชื่อเสียง แต่ ‘Idol นั้นจะเป็นสาวน้อยที่ค่อย ๆ พัฒนาตัวเองจากคนธรรมดาที่เราจะได้เห็นการเติมโต และผลงานของพวกเธออย่างใกล้ชิดต่างกับดารานักร้อง แถมตัวละครระบบการเล่นที่ทั้งหมดนั้นทำมาเพื่อคนเอเชีย จึงไม่น่าแปลกใจที่เกมแนว ‘Idolmaster’ จะไม่นิยมในต่างประเทศ ส่วนใครที่ไม่เคยเล่นบอกเลยว่าถ้าได้ย่างเท้าเข้าไปคุณจะถอนตัวไม่ขึ้น เพราะตัวเกมได้ใส่ความน่ารักสดใสของตัวละครที่มีมากมาย และหนึ่งในตัวละครนั้นต้องมีอย่างน้อยหนึ่งคนที่ตรงใจเรา แถมยังมีเพลงเพราะ ๆ มาตกเหล่าโอตะอย่างเราอีก เล่นแล้วคุณจะติดใจบอกเลย  

Idolmaster

Persona

Persona

ปิดท้ายกับเกมชื่อดังที่โด่งดังแบบสุด ๆ ในประเทศญี่ปุ่น แต่ต่างประเทศกลับไม่ค่อยได้รับความนิยม นั่นคือเกมในซีรีส์ ‘Persona’ ที่ถ้าใครที่ตามข่าวในวงการเกมมาคงจะทราบดีว่าเกม ‘Persona 5’ นั้นเคยได้รับรางวัล Game of the Year ในปี 2016 มาแล้ว ทั้งที่ตัวเกมก็ยังเป็นแนว JRPG ที่ยืนหน้ากระดานผลัดกันจมตีศัตรูแบบเก่า แต่ตัวเกมกลับพัฒนาตัวเองจากจุดเดิมให้น่าสนใจ แต่รางวัลที่ได้กลับสวนทางกับยอดขายในต่างประเทศ เพราะยอดขายส่วนมากมาจากประเทศญี่ปุ่นและแถวเอเชีย ที่เข้าถึงวัฒนธรรมรวมถึงบรรยากาศของญี่ปุ่นมากว่าแถวอเมริกาหรือยุโรป แถมเนื้อเรื่องก็อ้างอิงความเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นที่คนเอเชียเราจะเข้าถึงได้มากกว่าชาวตะวันตก บวกกับรูปแบบเกมที่ยังคงการเล่นแบบเกม RPG แบบเก่าที่ต่างชาติไม่ค่อยชอบ จึงทำให้เกม ‘Persona’ ขายได้ในประเทศญี่ปุ่น แต่นั่นก็คือก้าวที่ดีเพราะการได้รางวัล Game of the Year ก็เป็นเหมือนเครื่องยืนยันในความสนุกของเกม ที่บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเพื่อเอาใจต่างชาติ แต่แค่เปลี่ยนให้มันดูทันสมัยเป็นสากลก็พอ  ซึ่งเราต้องรอดูว่าใน ‘Persona 6’ จะสามารถเอาใจชาวต่างชาติได้ไหม

Persona

ก็จบกันไปแล้วกับ 10 เกมที่ขายดีมาก ๆ ในประเทศญี่ปุ่นแต่ในต่างประเทศกลับขายได้ไม่ดี  ส่วนหนึ่งที่พอจะสรุปได้ก็คือวัฒนธรรมความเป็นญี่ปุ่น ที่ทั้ง 10 เกมนี้มีมากเกินไป จนชาวต่างชาติที่ไม่ค่อยรู้จักสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงหรือชื่นชอบได้ ต่างกับวัฒนธรรมของชาวต่างชาติที่ค่อนข้างจะเป็นสากล เพราะเราซึมซับวัฒนธรรมเหล่านี้มาจากภาพยนตร์มาตั้งแต่อดีต ต่างกับประเทศญี่ปุ่นที่ไม่เป็นสากลเท่า จนเมื่อทำเกมออกมาจึงถูกใจชาวญี่ปุ่นหรือคนเอเชียที่เข้าใจวัฒนธรรมเหล่านี้ ซึ่งสิ่งที่เกมทั้ง 10 เกมนี้ต้องทำคือการพยายามเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับตลาดโลก แทนที่จะยัดเยียดความเป็นชาตินิยมให้ต่างประเทศยอมรับ แบบที่หลายซีรีส์เปลี่ยนตัวเองให้เป็นสากลทั้งตัวละครเนื้อเรื่องระบบการเล่น จนเกมประสบความสำเร็จก็มีไม่น้อย ซึ่งเราในฐานะคนเล่นก็คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่าซีรีส์ทั้ง10 เกมนี้จะทำได้ไหมในอนาคตมาตามเอาใจช่วยในภาคต่อไปกัน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส