คุณเคยคิดกันไหมว่าเครื่องเกมที่คุณเล่นนั้นภายในนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง แน่นอนว่าหลายคนคงอยากรู้ แต่ก็คงไม่มีใครอยากไปแกะเครื่องเกมตัวเองออกมาดู เพราะถ้าแกะออกมามีหวังคงจะประกอบกลับไปไม่ได้ วันนี้เราเลยไปรวบรวมผู้คนที่แกะเครื่องเกมต่าง ๆ ออกมาให้เราได้ชม ว่าข้างในนั้นมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง พร้อมกับระบบการทำงานผ่านแผงวงจร เพื่อให้คุณเห็นภาพการทำงานของระบบเกมเหล่านั้นมากขึ้น จะมีเครื่องเกมอะไรที่น่าสนใจบ้างมาดูไปพร้อมกันเลย
คำเตือน เนื้อหาในบทความเป็นเพียงแค่ให้ดูเครื่องใน ไม่แนะนำให้แกะดูเอง เพราะอาจทำให้เครื่องเกมเสียหายได้
Steam Deck
เริ่มต้นเครื่องเกมแรกที่หลายคนคงจะสนใจ ว่าเจ้าเครื่องพกพาตัวใหม่อย่าง ‘Steam Deck’ นั้นมีเครื่องในเป็นอย่างไร เพราะสิ่งที่หลายคนคงจะคิดถึงเป็นเรื่องแรกคือระบบระบายความร้อนในเครื่อง เพราะการเล่นเกมที่มีกราฟิกแรง ๆ ต้องใช้พลังงานเครื่องค่อนข้างสูง รวมถึงระบบพลังงานที่ใช้ ซึ่งทาง ‘Valve’ ได้เน้นย้ำว่า ‘Steam Deck’ สามารถฆ่าคุณได้หากคุณเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมัน ไม่ว่าจะเกิดจากไฟฟ้าชอร์ต แบตเตอรี่ระเบิด หรือไฟไหม้ที่เกิดจากการไปแกะเครื่องโดยที่ไม่ใช่ช่าง โดยตัวของ ‘Steam Deck’ อัดแน่นไปด้วย ‘Motherboards’ และแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ พร้อมแผงป้องกันความร้อนที่อยู่ในตัวเครื่องที่เป็นท่อระบายความร้อนแบบแบนท่อเดียว ที่วิ่งจาก APU ไปที่ด้านบนสุดของอุปกรณ์ โดยมีพัดลมจะเป่าลมร้อนขึ้นและลง ซึ่งผู้ที่ทำการทดสอบ ‘Steam Deck’ มาแล้วบอกว่าตัวเครื่องค่อนข้างร้อนจากด้านบนของอุปกรณ์ คงต้องรอดูว่าตัวเครื่องออกมาจริง ๆ จะเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ดูตัวเครื่องภายในไปก่อน
PlayStation 5
มาต่อกันที่เครื่องเกมที่หลายคนรอคอยอยากได้มาเป็นเจ้าของ แต่ยังจองมาเล่นไม่ได้กับ ‘PlayStation 5’ ที่คราวนี้ทาง ‘Sony’ ได้ปรับปรุงตัวเครื่องเกมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังแสดงถึงการแกะเครื่องทีละขั้นตอน เพื่อให้เราได้ชมระบบการทำงานต่าง ๆ ในตัวเครื่องว่ามีอะไรบ้าง โดยเริ่มจากการแกะตัวเครื่องที่ไม่ซับซ้อนเพื่อให้เราเปลี่ยน ‘Solid State Drive’ หรือ ‘SSD’ ด้วยตนเอง ซึ่งตัวเครื่อง ‘PlayStation 5’ มีความเร็วในการอ่าน ‘SSD’ ถึง 5.5 GB ต่อวินาที และตัวระบายความร้อนที่คราวนี้จะใช้พัดลมขนาดใหญ่ นอกจากนี้ก็ยังใช้แผ่น ‘Silicon’ เพื่อช่วยระบายความร้อนจากแผงวงจร ยังไม่หมดยังมี ‘Heat Sink’ ซิลิกอนกระจายความร้อนและซิลิโคน เพื่อระบายความร้อนให้ชิป ส่วนหัวใจสำคัญที่สุดของเครื่องอย่าง ‘CPU Ryzen Zen 2’ ของ ‘AMD’ ความเร็วสูงสุด 3.5 GHz 8 คอร์ 16 เธรด และ GPU ที่ติดตั้ง ‘AMD Radeon’ ที่ความเร็วสูงสุด 2.23 GHz กับ 10.3 TFLOPS เพื่อการขับเคลื่อนกราฟิกที่สมบูรณ์แบบที่หลายคนอาจจะไม่ทราบมาก่อน
PlayStation 4 Pro
มาต่อกันอีกหนึ่งเครื่องเกมที่หลายคนคงอาจจะเห็นภายในของ ‘PlayStation 4 Pro’ ว่ามันทำงานอย่างไร โดยเริ่มจากการถอดเปลี่ยนฮาร์ดไดรฟ์ที่ด้านหลังเครื่องได้ด้วยตนเอง โดยตัว ‘PlayStation 4 Pro’ นั้นจะมีตัวเครื่องที่ต่างกับ ‘PlayStation 4’ รุ่นอื่นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นตัวระบายความร้อนที่เป็นท่อขนาดใหญ่ และแผงรังผึ้งรวมถึงพัดลมที่มีขนาดใหญ่กว่าของ ‘PlayStation 4’ รุ่นอื่น พร้อมกับตัวประมวลผลที่มากกว่าตัวเดิมอย่าง 8-core AMD Jaguar X86-64 CPU, โอเวอร์คล็อกที่ 2.1 GHz เพิ่มขึ้นจาก 1.6 GHz ตัวประมวลกราฟิกก็เป็น ‘AMD Radeon 4.2 TFLOPS’ แรม 8GB GDDR5 + 1GB DRAM เรียกว่าเพิ่มเติมจากเดิมจนทำให้เครื่องมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อประสบการณ์ในการเล่นเกมของทุกคน
Nintendo Switch
อีกหนึ่งเครื่องเกมจิ๋วแต่แจ๋วในวงการเกมอย่าง ‘Nintendo Switch’ ที่หลายคนคงจะมีเครื่องเกมตัวนี้ในบ้าน แต่คงไม่ทราบว่าข้างในเครื่องเกมนี้มีอะไรบ้าง เริ่มจากการถอดเครื่องภายนอกที่ทำได้ง่ายด้วยตนเอง ในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนแบตเตอรี่ โดยเราจะเห็นฮีทไปป์สำหรับการระบายความร้อนตรงโปรเซสเซอร์ ‘Tegra’ และพัดลมที่ระบายความร้อนของแผงวงจรชิป ‘NAND THGBMHG8C2LBAIL’ ของบริษัท ‘Toshiba’ ความจุ 32 GB นอกจากนี้ก็มีชิปของ ‘NVNVIDIA ODNX 02-A 2 Tegra X 1’ หน่วยความจำ ‘LPDDR 4’ ของ ‘SamsungIDIA ODNX 02-A 2’ ส่วน ‘Joy – Con’ ทั้งสองข้างจะมีอินฟราเรด LED และเสาอากาศ NFC ในตัว ส่วน ‘Motherboard’ จะเป็น ‘Broadcom BCM 20734’ ที่เป็นระบบ ‘Bluetooth’ เพื่อส่งสัญญาณเป็น ‘NFCBEA 812006 33’ ให้เครื่องอ่าน NFC ผ่าน ‘STMicroelectronics’ เรียกว่าซับซ้อนพอตัวเลยทีเดียวกับเครื่องเกมเล็ก ๆ แบบนี้
Nintendo 3DS
อีกหนึ่งเครื่องเกมที่หลายคนคงจะสงสัยว่าเจ้า ‘Nintendo 3DS’ นั้นมันทำภาพ 3 มิติที่ลึกหรือนูนออกมาจากหน้าจอจนมีมิติได้อย่างไร โดยการแกะเครื่อง ‘Nintendo 3DS’ นั้นจะมีความซับซ้อนไม่มาก และไม่มีตัวระบายความร้อนแบบเครื่องเกมยุคใหม่ โดยตัวเครื่องทาง ‘Nintendo’ ได้ใช้ซีพียู ‘Nintendo 1048 0H ARM’ ตัวประมวลผล ‘Toshiba THGBM2G3P1FBAI8 2 GB NAND Flash’ แรม ‘Fujitsu MB82M8080-07L 128MB FC-RAM’ เมนบอร์ด ‘TI 93045A4 OAAH86W’ ส่วนการแสดงผลของจอบนนั้นจะใช้จอ ‘LCD Parallax’ อุปกรณ์แสดงผลของภาพสามมิติโดยที่ไม่ต้องสวมแว่น ที่เป็นหัวใจสำคัญในการเล่นภาพ 3D ที่เราเห็นนั่นเอง
Playstation 1
ไหน ๆ ก็ย้อนอดีตมาที่เกมเก่ากันแล้ว คราวนี้ก็มาดูเครื่องรุ่นคุณปู่อย่าง ‘Playstation 1’ กันบ้าง โดยตัวเครื่องนั้นจะมีรูปทรงแบน กับตัวระบบแสดงผลที่เรียกว่า AV ซีพียู ‘Sony CXD8530BQ’ GPU ที่ออกแบบโดย ‘Toshiba’ ในชื่อ ‘Sony CXD8514Q’ ส่วน ‘DRAM’ ใช้ของ ‘Samsung KM48V514BJ-6’ ROM ‘Sony M534032C-02’ ที่ไม่ต้องใช้พัดลมระบายความร้อน แต่คนที่เล่นเกมในยุคนั้นต่างรู้ดีว่าตัวเครื่องนั้นค่อนข้างร้อน ตอนเล่นเกมที่แสดงผลกราฟิก 3D สูง ๆ ซึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาในยุคนั้นคือการสึกของหัวอ่าน ที่จะเสื่อมอย่างรวดเร็วจนต้องมีการคว่ำเครื่องเพื่อให้หัวอ่านเข้าร่อง ซึ่งสิ่งนี้ได้ถูกปรับปรุงแก้ไขใน ‘Playstation One’ มาจนถึงตอนนี้
Game & Watch Donkey Kong Multi Screen
อะไรที่ซับซ้อนกันไปแล้วคราวนี้มาดูเครื่องเกมที่มีระบบการเล่นง่าย ๆ อย่างเครื่อง ‘Game & Watch’ กับเกม 2 จออย่าง ‘Donkey Kong Multi Screen’ ที่เราจะได้ควบคุมตัวละครถึงสองจอในการเล่น ซึ่งเป็นอะไรที่แปลกใหม่มาก ๆ ในยุคนั้น โดนตัวเกมจะใช้จอ LCD กับแผนที่มีรูปของเกมอย่าง PCB ที่เป็นตัวกราฟิกและแผ่นสะท้อนแสงซ้อนด้านหลัง เพื่อให้แสดงภาพของตัวเกมที่ถูกจัดเรียกเอาไว้แล้ว แต่จะถูกแทนด้วยสีเข้มตามที่เรากด ส่วนจอทั้งสองก็เชื่อมต่อกันด้วยสายแพร่ที่รับส่งข้อมูลเชื่อมกันระหว่างทั้งสองจอเพื่อเล่นภาพ ตัวเกมแม้จะดูไม่ซับซ้อนแต่ในยุคนั้นถือว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่มาก ๆ
Playstation 3
เชื่อว่านักเล่นเกมหลายคนที่ทันยุค ‘Playstation 3’ มาคงจะอยากรู้ว่าภายในเครื่องเกมเจ้าปัญหาตัวนี้ ที่มาพร้อมกับไฟเหลืองมรณะมันมีเครื่องในเป็นอย่างไร เริ่มจากการเปลี่ยนฮาร์ดไดรฟ์ที่ง่าย ซึ่งเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ ‘Playstation 2’ ที่มีช่องใส่ฮาร์ดไดรฟ์ให้คนที่ต้องการซื้อเพิ่ม โดยตัวเครื่องนั้นค่อนข้างซับซ้อนในการแกะเป็นอย่างมาก สิ่งแรกที่เราจะได้เห็นเมื่อแกะเครื่องออกมาคือพัดลมระบายความร้อนที่ตัวค่อนข้างเล็ก (ไม่แปลกที่เครื่องจะร้อนมาก ๆ) ภายในใช้โปรเซสเซอร์ IBM Cell CPU นี้มี 9 คอร์ 10 เธรด และทำงานที่ @ 3.2GHz ‘GPU Nvidia RSX’ ส่วนตัวปัญหาที่ทำให้เกิดไฟเหลืองนั้นก็มาจากชิป ‘IBM Cell CPU’ และ ‘Nvidia RSX GPU’ ที่ระบายความร้อนไม่ดีพอจนทำให้เกิดปัญหา ซึ่งวิธีแก้ที่ดีที่สุดสำหรับคนมีเครื่อง ‘Playstation 3’ ไฟเหลืองคือซื้อเครื่องใหม่สถานเดียว เพราะมันเป็นปัญหาที่ตัวชิปไม่สามารถแก้ได้
Game Boy
ย้อนอดีตมาดูเครื่องเกมรุ่นเก่าอีกเครื่องอย่าง ‘Game Boy’ กันบ้าง เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเล่นหรือรู้จัก จะได้ทราบว่าในอดีตนั้นเครื่องเกมนั้นวิวัฒนาการมาได้อย่างไร โดยเริ่มจากวันวางจำหน่ายเครื่องเกมนี้นี้คือวันที่ 21 เมษายน 1989 ตัวเครื่องใช้ โปรเซสเซอร์ 4.19 MHz 8 บิต RAM 8 KB ซีพียู Sharp LR35902 4.19 Mhz และ จอ LCD ขนาด 2.6 160×144 ไม่มีไฟในตัวเอง ตอนเล่นต้องหันหลังให้จุดที่มีแสง และเล่นในตอนกลางคืนหรือที่มีแสงน้อยไม่ได้ ตัวเครื่องไม่มีระบบแบตเตอรี่ต้องใช้ถ่านขนาด AA 4 ก้อนหรือใช้ Adapter ไฟ AC และถ้าคุณคิดจะแกะเครื่องเกมตัวนี้คุณต้องไปหาสกรู Y1 แบบสามแฉกมาก่อน ซึ่งมันหาไม่ได้ง่าย ๆ และเห็นเครื่องเกมที่แสดงภาพง่าย ๆ แบบนี้ภายในค่อนข้างซับซ้อนเลยทีเดียว
การ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3070
ปิดท้ายกับการคลายความสงสัยของใครหลายคน ที่คงอยากรู้ว่าการ์ดจอที่ใช้เล่นเกมบนคอมพิวเตอร์นั้นข้างในมันเป็นอย่างไร โดยเราจะขอยกตัวการ์ดจอที่หลายคนรู้จักและอยากได้มาเป็นเจ้าของกันอย่าง ‘NVIDIA GeForce RTX 3070’ ที่ราคาตอนนี้ก็สูงถึง 38,244 บาท ซึ่งสิ่งที่หลายคนต่างสงสัยและอยากรู้เมื่อแกะภายในการ์ดจอออก นั่นคือระบบระบายความร้อนว่าเป็นอย่างไร โดยตัวการ์ดจอนี้จะเป็นแบบ ‘WINDFORCE 3X’ พัดลมใบ 3 ตัวขนาด 3X80 มม. และท่อความร้อนทองแดงผสม 5 ท่อบน GPU แบบสัมผัสที่ช่วยระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพสูง ที่หลายคนต่างก็รู้ดีว่ามันไม่เคยพอ ที่แม้เจ้าของการ์ดจอจะใส่แผ่นระบายความร้อน (สีฟ้า) เพิ่มก็แทบไม่ช่วยเรื่องการระบายความร้อน แต่เมื่อดูจากภายในการ์ดจอแล้วก็ทำให้เรารู้ว่าทางฝ่ายการออกแบบใส่ใจกับเรื่องความร้อนขนาดไหน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส