เคยมีคำที่กล่าวเอาไว้ว่าพ่อแม่คือต้นแบบของลูกทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะสิ่งที่คนเป็นพ่อแม่พูดหรือกระทำบางอย่างก็ส่งผลกระทบให้ลูกคิดทำตาม หรือเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ จนออกมาเป็นนิสัยของตนเอง ที่เรียกว่าการส่งผ่านทางด้านสังคมในครอบครัว ซึ่งในแง่ของสิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัวที่เราพูดถึงนั้น มันคือสิ่งเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นกับคนไม่กี่คน แต่เมื่อสิ่งที่คนเป็นพ่อแม่ทำเอาไว้บางสิ่งมันคือเรื่องไม่ดีต่อสังคม หรืออาจจะเป็นเรื่องดีงามต่อสังคม คนที่เป็นลูกในฐานะของเชื้อสายที่สืบทอดสิ่งต่าง ๆ มาจากพ่อแม่ย่อมได้รับผลกระทบในทางบวกหรือลบกลับมาแน่นอน และเมื่อเป็นอย่างนั้นเราจึงไปค้นหาลูก ๆ ที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ่งที่ดีและแย่ที่พ่อแม่ทำเอาไว้ในเกมต่าง ๆ มานำเสนอ มาดูไปพร้อมกันว่าลูก ๆ ในเกมเหล่านั้นได้รับผลอะไรกันบ้าง และพวกเขาเธอเหล่านั้นรับมือจากสิ่งที่พ่อแม่ทำเอาไว้ออย่างไร มาดูไปพร้อมกันเลย
พ่อแม่สร้างเชื้อไวรัสล้างโลกลูกจึงต้องมาไถ่บาป จากเกม Resident Evil
เริ่มต้นครอบครัวแรกที่พ่อแม่ได้ทำเรื่องที่เลวร้ายเอาไว้โลกใบนี้ กับครอบครัวนักวิทยาศาสตร์อย่างครอบครัว ‘Birkin’ ในเกมซีรีส์ ‘Resident Evil’ ที่ตัวของผู้เป็นพ่ออย่าง วิลเลียม เบอร์กิน (William Birkin) ที่เป็นผู้คิดค้นเชื้ออย่าง ‘G-Virus’ ที่สามารถเปลี่ยนมนุษย์ธรรมดาให้เป็นสัตว์ประหลาด แถมมันยังสามารถแพร่เชื้อสร้างสัตว์ประหลาดแบบมันได้ และครอบครัวนี้ก็คือต้นเหตุที่ทำให้เชื้อ ‘T-Virus’ รั่วไหล จนสุดท้ายก็ทำให้เชื้อแพร่ระบาดใส่เมืองจนทำให้ทั้งเมืองกลายเป็นซอมบี้ ส่วนภรรยาอย่าง แอนเนตต์ เบอร์กิน (Annette Birkin) แทนที่จะช่วยเหลือผู้คนกลับตามดูสามี โดยไม่สนใจลูกที่กำลังหวาดกลัวอยู่คนเดียวในเมือง จนสุดท้ายเมื่อทุกอย่างจบลงลูกสาวเพียงคนเดียวอย่าง เชอร์รี่ เบอร์กิน (Sherry Birkin) ก็ต้องถูกตราหน้าจากคนที่รู้เรื่องราวนี้ว่า พ่อแม่ของเธอคือผู้สร้างหายนะให้กับเมือง เพราะถ้าพ่อแม่ของเด็กน้อยไม่สร้างเชื้อตัวนี้ขึ้นมาคงไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งตัวของเชอร์รี่ก็ทราบเรื่องนี้ดี ซึ่งเธอก็ยอมรับความผิดที่พ่อแม่ทำเอาไว้ และชดใช้เรื่องนี้โดยการเข้าร่วมเป็นเจ้าหน้าที่ ‘Division of Security Operations’ (DSO) องค์กรต่อต้านการก่อการร้ายทางชีวภาพ เพื่อไถ่บาปที่พ่อแม่เคยทำเอาไว้ในภาคที่ 6 พร้อมกับ เจค มุลเลอร์ (Jake Muller) ลูกชายของ อัลเบิร์ต เวสเกอร์ (Albert Wesker) ที่ก็เจอแบบเดียวกัน ซึ่งเราก็หวังว่าจะได้เห็นบทบาทของทั้งคู่อีกครั้งในภาคต่อไป
ฉันจะแข็งแกร่งกว่าพ่อให้ได้ จากเกม Pokemon Ruby and Sapphire
คราวนี้มาดูเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งดี ๆ ที่พ่อแม่ทำเอาไว้ จนผู้คนต่างยกย่องเชิดชูในความเก่งแกร่งและมีความสามารถ จนคนที่เป็นลูกก็ถูกผู้คนรวมถึงพ่อแม่ต่างตั้งความหวังกับลูกเอาไว้ว่า เขาเธอจะต้องทำได้เท่าตนหรืออาจจะมากกว่าที่พ่อแม่ทำไว้ ซึ่งถ้าลูกไม่สนใจแต่ถูกพ่อแม่กดดันนั่นก็จะเป็นเรื่องที่แย่ แต่ถ้าลูกคนนั้นเห็นด้วยกับสิ่งที่พ่อแม่บอก และพยายามให้ตัวเองเก่งก็ว่าที่พ่อแม่ทำเอาไว้มันก็คือเรื่องดี ซึ่งมันก็เกิดขึ้นแล้วในเกม ‘Pokemon Ruby and Sapphire’ ที่ไม่ว่าเราจะเลือกเพศชายหรือหญิง เราก็จะได้พ่อคนเดียวกันนั่นคือ นอร์แมน (Norman) ผู้นำโรงยิม ‘Petalburg’ ที่เราต้องมาต่อสู้กับเขาเพื่อรับเข็มกลัด ที่เป็นหนึ่งในการเดินทางที่ยากลำบากในเกม เพราะถึงเราจะเป็นลูกแต่คุณพ่อก็เห็นเราเป็นเทรนเนอร์ที่มาท้าชิง ซึ่งสิ่งที่ตัวละครในเกมอยากเป็นนั้นมากกว่าแค่การเป็นหัวหน้ายิมแบบพ่อ แต่เขาอยากเป็นแชมป์ ‘Pokemon’ ที่มากกว่าที่พ่อและทุกคนคาดหวัง ใครที่เคยเล่นถึงตอนนี้น่าจะทราบดีว่าคุณพ่อนั้นโหดขนาดไหน
หนูจะค้นหาความสุขให้คุณแม่เอง จากเกม Little Misfortune
เมื่อพูดถึงเกม ‘Little Misfortune’ เชื่อว่าหลายคนที่เคยเล่นและทราบเรื่องราวทั้งหมดในเกมมาแล้ว คงจะทราบถึงความสัมพันธ์ของ รามิเรซ เอร์นานเดซ (Ramirez Hernandez) หรือที่ในเกมเธอจะเรียกตัวเองว่า ‘Misfortune’ ที่แปลว่าโชคร้ายตามที่แม่ของเธอเรียก เพราะตัวของเด็กน้อยเกิดมาแบบไม่ตั้งใจจากผู้เป็นแม่อย่าง คัลลิสต้า เอร์นานเดซ (Callista Hernandez) ซึ่งตั้งแต่ที่เด็กน้อยเกิดขึ้นมาเธอก็ไม่เคยได้รับความรักจากพ่อขี้เมาและแม่ผู้ไม่ใส่ใจ แต่น่าแปลกตรงที่ตัวของ ‘Misfortune’ กลับไม่คิดจะโกรธพ่อแม่แถมยังสงสารคุณแม่ที่มักจะถูกพ่อทำร้ายจนทำให้แม่ร้องไห้ เด็กน้อยจึงพยายามค้นหาความสุขนิรันดร์มาให้คุณแม่ของเธอ เพื่อแม่จะได้มีความสุขไม่ต้องมาเศร้าเพราะตนเองอีก ซึ่งเรื่องนี้เรียกว่าตรงข้ามกับหัวข้อ เพราะสิ่งที่พ่อแม่ทำไม่ส่งผลต่อลูกเลย เพราะถึงแม้ผู้คนจะต่อว่า ‘Misfortune’ ว่ามีพ่อแม่ไม่ดีแต่นั่นก็ไปทำลายจิตใจที่ดีงามของเด็กน้อยไปได้ และเธอก็ปกป้องตนเองโดยการใส่หน้ากากให้ผู้คน (รวมถึงแม่เธอด้วย) ส่วนพ่อให้เป็นแค่ไม้กวาดที่ไม่มีคุณค่า ซึ่งในตอนจบนั้น ‘Misfortune’ ก็สามารถเอาหัวใจความสุขนิรันดร์มาให้แม่ของเธอได้ ใครที่ไม่เคยเล่นบอกเลยว่ามีน้ำตาซึม กับความน่ารักไร้เดียงสาของเด็กน้อยคนนี้ได้เลยทีเดียว
ความหวังของผู้คนที่พ่อเคยทำไว้ตกทอดมาสู่ลูก ๆ จากเกม Final Fantasy X
เมื่อพูดถึงเกม ‘Final Fantasy X’ และพูดถึงพ่อในเกมนี้มันจะถูกแยกไปสองทาง เริ่มจากทางแรกที่เป็นเรื่องราวของพ่อ ยูน่า (Yuna) นางเอกของเรื่อง ที่พ่อของเธอ บราสก้า (Braska) เป็นนักอัญเชิญอสูรในตำนาน ที่สามารถเดินทางไปรับพลังอันยิ่งใหญ่ในปราบสัตว์ประหลาดอย่าง ‘Sin’ ลงได้ จนโลกกลับมามีความสงบสุขอยู่หลายปี ก่อนที่สัตว์ประหลาดจะฟื้นกลับมา คราวนี้ก็ถึงคราวของลูกสาวนักอัญเชิญในตำนานที่ต้องแบกความหวังของคนทั้งโลก เพื่อทำแบบเดียวกับที่พ่อของเธอทำไว้ ซึ่งสิ่งนี้มีทั้งคนที่รักเคารพในตัวยูน่า ขณะที่บางคนก็อิจฉาที่ยูน่าได้รับการยอมรับจากผู้คนเพราะสิ่งที่พ่อของเธอทำไว้ จนหญิงสาวที่แบกความหวังทุกคนต้องกดดันเป็นอย่างมาก แต่ด้วยมิตรภาพจากเพื่อน ๆ จึงทำให้ยูน่าสู้ต่อไป ขณะที่ฝั่ง ทีดัส (Tidus) กลับรู้สึกตรงข้ามเพราะเขาเกลียดพ่อของตน ที่แม้พ่อจะมีชื่อเสียงแต่พ่อก็ทิ้งแม่และตนก่อนจะหายตัวไป ซึ่งชื่อเสียงทั้งทางดีทางร้ายที่ทีดัสได้รับมันก็เป็นแรกผลักดันให้เขาไปยืนในจุดสูงสุดในกีฬา Blitzball เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าฉันคนนี้เก่งกว่าพ่อตนเอง เรียกว่าทั้งคู่เจอความกดดันที่พ่อของตนทำเอาไว้ทั้งคู่ ทั้งสองจึงเข้าใจความรู้สึกของกันและกันได้อย่างดี
สิ่งที่พ่อแม่ทำส่งผลถึงจิตใจ จากเกม Among The Sleep
ถ้าเกม ‘Little Misfortune’ คือด้านสว่างในจิตใจของเด็กน้อยที่มีต่อแม่ของตน เกม ‘Among The Sleep’ ก็คือสิ่งตรงข้ามกับเกมนั้นอย่างชัดเจน เพราะสิ่งที่ทั้งสองคนนี้เจอนั้นคือสิ่งเดียวกัน แต่มุมมองความคิดของทั้งคู่นั้นกลับต่างกัน เพราะเรื่องราวในเกมนี้เราจะได้รับบทเป็นเด็กชายวัย 2 ขวบที่ต้องออกเดินทางในโลกแห่งความฝัน เพื่อช่วยเพื่อน ๆ ที่ถูกปีศาจจับไป โดยมีพี่หมีเป็นคนช่วยชี้แนะเรื่องต่าง ๆ ตัวเกมจะเป็นแนวมุมมองบุคคลที่ 1 ที่เราต้องทำภารกิจต่าง ๆ ที่เกมกำหนดเพื่อไปด้านต่อไป ซึ่งในเกมนี้เราจะต้องหนีผีร้ายที่น่ากลัว ซึ่งความจริงแล้วผีร้ายตัวนี้ก็คือแม่ของเด็กน้อย ที่มักจะโมโหทำเสียงน่ากลัวใส่เด็กน้อยตลอด จนทำให้จิตใจของเด็กน้อยแตกสลาย ทำให้เขาต้องมาอยู่ในโลกแห่งความฝันเพื่อหนีความจริงอันโหดร้าย ผ่านพี่หมีที่เป็นเหมือนจิตใจในส่วนดีของแม่ที่เด็กน้อยได้รับ แต่ด้วยความไร้เดียงสาเด็กน้อยจึงไม่รู้ว่าสิ่งที่แม่ต้องเจอคืออะไร ที่ทำให้แม่ผู้น่ารักกลายเป็นแม่ที่ดุจนเป็นปีศาจ ซึ่งเรื่องนี้ก็บอกผู้ใหญ่ได้ว่าสิ่งที่เราทำกับเด็ก มันจะถูกฝังอยู่ในจิตใจเขาไปตลอด จนแม้เขาจะโตแล้วความรู้สึกและสิ่งไม่ดีเหล่านั้นก็จะอยู่ในจิตใจของคน ๆ นั้นตลอดไป
สิ่งดีงามของแม่ด้านที่โหดร้ายของพ่อ จากเกม Takken
เมื่อพูดถึงครอบครัว ‘Mishima’ ในเกมซีรีส์ ‘Takken’ หลายคนที่เคยเล่นหรือรู้เรื่องราวของคนในครอบครัวตระกูลนี้ จะทราบดีว่าพ่อลูกปู่หลานที่นี่เขาฆ่ากันเองแบบจริงจังขนาดไหน ซึ่งถ้าเรามองลึกลงไปในครอบครัวตระกูลนี้ เราจะมองเห็นสิ่งหนึ่งที่คล้ายกันนั่นคือผู้เป็นแม่ของทั้งฝั่ง จิน คาซามะ (Jin Kazama) และ คาซึยะ มิชิมา (Kazuya Mishima) ทั้งคู่นั้นได้รับความรักจากผู้เป็นแม่ที่มีจิตใจอ่อนโยน จนทำให้ทั้งคู่มีจิตใจที่ดีงามแอบแฝงอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ ขณะที่ฝั่งพ่อของทั้งคู่นั้นกลับมีแต่ความโหดเหี้ยม ซึ่งสิ่งที่คาซึยะได้รับมาจากพ่อคือความน่าเกรงขามความหวาดกลัวของผู้คน ที่ต่างก็ก้มหัวให้เขาในฐานะผู้มีอำนาจซึ่งปกครองผู้คนด้วยความหวาดกลัว จนทำให้ความดีงามที่แม่เคยมีให้หายไปจนหมด ขณะที่จินนั้นกลับเติบโตมาด้วยความรักของแม่ แต่เมื่อเติบโตเขาก็ได้รับการยกย่องและก้มหัวให้เพราะสิ่งที่พ่อและปู่ของเขาทำเอาไว้ จนทำให้เขาเจริญรอยตามพ่อไปในบางครั้ง แต่ด้วยจิตใจที่ดีงามของแม่ที่ยังหลงเหลือเราจึงได้เห็นจินกลับมาจากด้านมืดได้ ขณะที่ทางด้านคาซึยะนั้นคือกู่ไม่กลับ ซึ่งทั้งจินและคาซึยะต่างก็ได้รับสิ่งที่พ่อแม่ทำเอาไว้ทั้งคู่ แค่คนหนึ่งเดินในทางที่พ่อปูไว้ กับอีกคนที่เกิดหลงทางก่อนจะกลับมาได้ เรียกว่าคู่นี้ตรงกับเนื้อหาบทความที่สุดคู่หนึ่งเลยทีเดียว
พ่อแม่รังแกฉัน (ข้า) จากเกม God of War
เมื่อถึงเกมซีรีส์ ‘God of War’ เชื่อว่าหลายคนคงจะคิดถึงคู่พ่อลูก เครโทส (Kratos) กับ เอเทรียส (Atreus) แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะเรื่องราวของพ่อลูกคู่นี้ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นซึ่งมันยังไม่มีแง่มุมอะไรที่น่าสนใจ แต่กับคู่แม่ลูกอย่าง บาลเดอร์ (Baldur) และ เฟรยา (Freya) กลับมีมุมมองที่น่าสนใจ เพราะถ้าใครที่เคยเล่นเกมนี้มาแล้วจะทราบดีว่าตัวของบาลเดอร์นั้นถูกผู้เป็นพ่ออย่าง โอดีน (Odin) ส่งมาฆ่าพ่อลูกเครโทสเพื่อไม่ให้เกิดสงคราม Ragnarok ตามคำทำนาย ซึ่งเจ้าตัวก็พร้อมจะรับหน้าที่นี้อย่างเต็มใจ แต่หัวอกของคนเป็นแม่ที่ห่วงลูกจึงร่ายมนตร์ให้บาลเดอร์ไร้ความเจ็บปวดเป็นอมตะฆ่าไม่ตาย แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยความรู้สึกต่าง ๆ จะหายไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการรับรส ความรู้สึกร้อนหนาว หวาดกลัว รัก รวมถึงการยินดี แม้แต่ความสุขเขาก็ไม่สามารถรับรู้ได้เลย นั่นจึงทำให้บาลเดอร์เกลียดแม่ของตนมาก ๆ ซึ่งตัวของเฟรยาที่รู้เรื่องนั้นก็ยินดีให้ลูกที่ตนรักเกลียดดีกว่าจะสูญเสียลูกไป จนกลายเป็นพ่อแม่รังแกฉันไปเสียอย่างนั้น เพราะแทนที่เขาจะได้นับถือในฐานะนักรบเทพเจ้าให้ท่านพ่อภูมิใจ แต่เขากลับทำไม่ได้แม้แต่เศษเสี้ยวที่พ่อและน้องชายต่างพ่ออย่าง ธอร์ (Thor) ทำไว้เลย นั่นยิ่งทำให้บาลเดอร์เกลียดแม่ ลองไปคิดดูเองว่าสิ่งที่เฟรยาทำถูก หรือสิ่งที่บาลเดอร์ทำผิดแล้วแต่คุณจะคิด
พี่น้องผู้มีมุมมองของพ่อที่ต่างกัน จากเกม Metal Gear Solid
ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาต้องขออธิบายถึงเนื้อเรื่องสำคัญในเกมซีรีส์ ‘Metal Gear Solid’ ว่า ตัวละคร ‘Solid Snake’ พระเอกในเกมนี้นั้นคือร่างโคลนของ ‘Big Boss’ ที่ถ้านับกันตามหลักแล้ว ร่างโคลนก็ถือเป็นลูกของคนที่ให้กำเนิด และในเนื้อเรื่องของเกมก็นับว่า ‘Solid Snake’ คือลูกของ ‘Big Boss’ ดังนั้นเราจึงขอนับว่าทั้งคู่คือพ่อลูกกัน โดยทางรัฐบาลต้องการการสร้างทหารที่แข็งแกร่งผ่านนายทหารระดับตำนานอย่าง ‘Big Boss’ เอาไว้ใช้งาน จึงแอบโคลนร่างเขาเอาไว้จนเมื่อเด็กชายอย่าง ‘Solid Snake’ เติบโต เขาก็ได้รับการฝึกสอนจาก ‘Big Boss’ โดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือพ่อของตน จนวันหนึ่ง ‘BigBoss’ เข้าสู่ด้านฝ่ายตัวร้ายที่จะใช้กำลังทหารปกครองโลกเพื่อให้ทั้งโลกรวมเป็นหนึ่ง ลูกชายอย่าง ‘Solid Snake’ จึงเหมาะที่สุดที่จะไปปราบผู้เป็นพ่อ ตามที่ตัวละครในเกม ‘Metal Gear Solid Portable Ops’ ตัวละคร เอลิซ่า (Elisa) ทำนายอนาคตเอาไว้ว่า “ตัวของ ‘Big Boss’ จะเป็นคนทำลาย ‘Metal Gear’ และจะสร้าง ‘Metal Gear’ ตัวใหม่ขึ้นมาในอนาคต ลูกของ ‘Big Boss’ คนหนึ่งจะทำโลกนี้ล่มสลายแต่ลูกของเขาอีกคนจะช่วยโลกนี้เอาไว้” ซึ่งนั่นก็ถูกต้องเลยทีเดียว เพราะตัวพี่น้องฝาแฝดอย่าง ‘Liquid Snake’ ที่ทราบความจริงเรื่อง ‘Big Boss’ เป็นพ่อ เขาก็คิดจะใช้กองกำลังสิ่งที่ตกทอดจากพ่อทำไว้เพื่อสร้างโลกในแบบที่พ่อเคยทำและจะทำให้ดีกว่า ขณะที่ ‘Solid Snake’ ไม่เห็นด้วยและปกป้องทุกคน นับเป็นการสานต่อและได้รับผลกระทบจากสิ่งที่พ่อทำไว้ในมุมที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
พลังอันยิ่งใหญ่มาพร้อมภาระอันใหญ่ยิ่ง จากเกม Dragon Quest V Hand of the Heavenly Brid
เปลี่ยนบรรยากาศมาที่เกมในซีรีส์ ‘Dragon Quest’ ที่ถูกสร้างเป็นการ์ตูนในชื่อ ‘Dragon Quest Your Story’ ที่ตัวการ์ตูนอ้างอิงเรื่องราวมาจากเกม ‘Dragon Quest V Hand of the Heavenly Brid’ ที่เราจะได้รับบทเป็นลูกชายของพระราชา ที่ออกเดินทางไปพร้อมกับพ่อเพื่อหาทางช่วยแม่ที่ถูกราชาปีศาจจับไป (เกมนี้พระเอกจะไม่มีชื่อเราต้องตั้งเอง) จนเรื่องราวก็ดำเนินมาถึงช่วงที่เราจะต้องเลือกภรรยาเพื่อให้กำเนิดผู้กล้า แต่แทนที่เราจะได้อยู่กับลูก ๆ ตัวเราและภรรยากลับถูกสาปเป็นหินเพื่อรอเวลาให้ลูกฝาแฝดเรามาแก้คำสาป ซึ่งเนื้อหาระหว่างที่ผู้กล้าน้อยลูกของเราเติบโต ก็ถูกเล่าในฉบับหนังสือการ์ตูน ที่ตัวของผู้กล้าน้อยต้องแบกความคาดหวังในการช่วยพ่อแม่ และในฐานะผู้กล้าที่ต้องปกป้องผู้คน ซึ่งสิ่งที่ปู่และพ่อที่ทำเอาไว้ไม่ได้เป็นการปูทางให้ผู้กล้าน้อยสบายเลย แต่มันกลับเป็นภาระที่ผู้กล้าต้องแบก ทั้งความหวังของผู้คนไปจนถึงการช่วยพ่อแม่ เรียกว่าพลังอันยิ่งใหญ่มาพร้อมกับภาระอันใหญ่ยิ่ง ซึ่งเป็นในชีวิตจริงถ้าคน ๆ นั้นไม่ยอมรับและทำตรงข้ามก็มีมากมาย เพราะมันคือความกดดันที่ใครก็ไม่อยากเจอ เหมือนกำแพงที่ใหญ่และหนักที่พ่อแม่ทำไว้ให้เราแบกและสร้างให้ดีกว่าที่พ่อแม่ทำไว้ ถ้าใครที่เป็นแบบนี้น่าจะเข้าใจ
จะสร้างความยิ่งใหญ่โดยไม่พึ่งบารมีพ่อ จากเกม Super Mario Sunshine
ปิดท้ายกับลูกที่ได้รับสิ่งที่ตกทอดมาจากพ่ออีกหนึ่งคู่ นั่นคือ บาวเซอร์ จูเนียร์ (Bowser Jr.) ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของราชาปีศาจ บาวเซอร์ (Bowser) ที่ปรากฏตัวครั้งแรกในเกม ‘Super Mario Sunshine’ ในฐานะศัตรูปริศนาที่มาสร้างความวุ่นวาย ซึ่งเมื่อตัวตนที่ปิดบังถูกเปิดเผย เด็กน้อยก็ประกาศตัวเองเลยว่า ตนนั้นจะสานต่อสิ่งที่พ่อได้ทำเอาไว้ นั่นคือการจับตัวเจ้าหญิงมาให้พ่อของตน เพราะตั้งแต่ที่จำความได้บาวเซอร์ จูเนียร์ก็เห็นสิ่งที่พ่อของเขาทำมาตลอด นั่นคือการจับตัวเจ้าหญิงที่เด็กน้อยก็ทราบว่านั่นไม่ใช่แม่ของตน แต่ถ้าสิ่งนั้นคือสิ่งที่พ่อต้องการ ลูกชายคนนี้ก็พร้อมจะทำตามสิ่งที่พ่อทำอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าตัวของบาวเซอร์ จูเนียร์ต้องเติบโตในกองทัพปีศาจที่เชื่อฟังตน แต่เด็กน้อยก็เลือกที่จะทำด้วยตัวคนเดียวมากกว่าจะใช้พวกในการจับเจ้าหญิง (ดูในหลาย ๆ ตอนที่บาวเซอร์ จูเนียร์จะวางแผนลงมือคนเดียว) เป็นการบอกให้เราคนเล่นให้รู้อ้อม ๆ ว่า แม้จะเชื่อฟังและทำตามที่พ่อหวัง แต่วิธีการสร้างความยิ่งใหญ่เขาจะเป็นคนสร้างมันขึ้นมาด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งบารมีพ่อ นับเป็นการยอมรับความคาดหวังของพ่อและผู้คน แต่จะขอเลือกเดินในแบบและเส้นทางของตนเองนั่นเอง
ก็จบกันไปแล้วกับครอบครัวในเกมที่พ่อแม่ทำ และมันส่งผลกระทบมาถึงลูกหวังว่าจะถูกใจกัน โดยเราพยายามคัดครอบครัวที่มีปัญหาหลาย ๆ แบบมาพูดถึง เพื่อให้คนอ่านได้รับรู้เรื่องราวหลาย ๆ มุมที่น่าสนใจ เพราะเรื่องราวในวิดีโอเกมเหล่านี้ส่วนมากก็อ้างอิงไม่ก็เอามาจากเรื่องราวที่มีอยู่จริงในสังคม ยังไงก็ขอฝากเอาไว้ให้คุณพ่อคุณแม่ที่ได้อ่านบทความนี้ไปคิดกัน ส่วนใครที่ยังไม่มีลูกแต่ก็เป็นลูกของพ่อแม่ ก็คิดดูเองว่าเราจะเดินตามทางที่ท่านสั่งหรือเลือกจะเดินในทางที่ตนเองเลือกเอง เพราะมันขึ้นอยู่กับตัวคุณแล้ว และหวังว่าบทความนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการชี้ทางให้คุณไม่มากก็น้อย ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส