เข้าสู่เดือนแรกของปี 2022 กับการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ ของใครหลายคน ขณะที่หลายอย่างที่ค้างคาจากปีที่แล้วก็ยังคงมีอยู่ เราก็หวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นในปีนี้ และเมื่อพูดถึงวงการเกมเรามักจะคิดถึงเกมที่เล่นสนุก เกมที่ให้เรารู้สึกหัวร้อนหรือเครียดเมื่อเล่นไม่ผ่าน แต่โดยรวมแล้ววิดีโอเกมก็คือความบันเทิงที่หลายคนขาดไม่ได้ ซึ่งที่ใดมีด้านสว่างก็ต้องมีด้านมืด ที่บางครั้งในวิดีโอเกมก็มีด้านมืดชนิดที่ว่ามืดจนมิด หรือไม่เหมาะกับเด็ก ๆ ไปจนถึงคนทั่วไปเลยก็มี ซึ่งในต่างประเทศนั้นมีการจำกัดอายุคนซื้อเกม แต่ในบางประเทศโดยเฉพาะในบ้านเราที่ไม่มีสิ่งนี้ การที่เด็กจะซื้อเกมที่รุนแรงมาก ๆ จึงเกิดขึ้นบ่อยซึ่งแน่นอนว่าการเล่นเกมโหด ๆ ไม่ได้ทำให้เราไปหยิบมีดมาฟันคนตามในเกม แต่ก็อย่าลืมว่าบางอย่างก็ควรมีขอบเขต อะไรที่มันรุนแรงไปก็ไม่ควรเอามาใส่อยู่ดี และบางครั้งเราที่ซื้อเกมมาก็ไม่รู้ว่าจะมีฉากเหล่านี้อยู่ในเกม แถมบางทีระบบเกมมันก็บังคับให้เราคนเล่นทำความรุนแรง หรือเรื่องเพศใส่ตัวละครในเกมทั้งที่ไม่เต็มใจก็มีอยู่ในหลายเกม และนี่คือ 10 เกมที่มีความรุนแรงไม่เหมาะสมเกินไปและบังคับผู้เล่นให้ทำโดยไม่เต็มใจ จะมีอะไรบ้างนั้นมาดูไปพร้อมกันเลย
คำเตือน เนื้อหาในบทความมีเรื่องเพศความรุนแรงโปรดใช้วิจารณญาณในการตัดสิน
การฆ่าหมา จากเกม The Last of Us Part II
เริ่มต้นเรื่องแรกที่ทำเอาใครหลายคนรู้สึกแย่ตอนเล่นเกม ‘The Last of Us Part II’ ที่ถ้าไม่นับเนื้อเรื่องที่เราต้องทนเห็นตัวละครหลักที่เรารักตายแล้ว การเล่นเกมนี้ยังบีบหัวใจคนเล่นเกมที่รักสัตว์อีกด้วย กับการที่เราต้องฆ่าน้องหมาในเกมนี้ ซึ่งเอาจริง ๆ การฆ่าหมาในเกมมันคือเรื่องปกติ เพราะถ้าไม่ฆ่ามันก็จะวิ่งมามาทำร้ายเราซึ่งมันก็ไม่ได้รู้สึกแย่อะไร แต่ในเกมนี้เนื้อหาหลายส่วนมันพยายามผูกปมให้เรารักน้องหมาเหล่านั้น ยกตัวอย่าง อลิซ (Alice) หมาเพศเมียที่ แอ๊บบี้ (Abby) ได้เจอในเนื้อเรื่องของเธอ ที่เราจะได้เห็นความน่ารักและเล่นกับอลิซในหลาย ๆ ฉาก แถมมันยังช่วยเราในภารกิจต่าง ๆ ก่อนที่ทางผู้พัฒนาเกมจะใจร้ายให้เราควบคุมเป็น เอลลี่ (Ellie) เพื่อฆ่ามันกับมือตามเนื้อเรื่อง นี่ยังไม่นับการฆ่าน้องหมา NPC ตัวอื่น ๆ ด้วย ที่พอหมาตายเจ้าของหมาจะมานั่งร้องไห้และเรียกชื่อหมาของตนด้วยความเศร้า เรียกว่าทำร้ายจิตใจคนรักหมาแบบสุด ๆ ถ้าจะมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเกลียดเกมนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องนี้
ทรมานคน จากเกม Grand Theft Auto V
มาต่อกันที่เกมซึ่งมักเป็นประเด็นของสังคมทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ กับเกมในซีรีส์ ‘Grand Theft Auto’ ที่เรียกว่าไม่มีภาคไหนที่ไม่มีประเด็นให้พูดถึง เพราะตัวเนื้อหาของเกมนี้คือการขายความรุนแรงทางเพศ การใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสำหรับเด็กอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่เกมนี้จะถูกยกมาพูดถึงเป็นเกมแรก ๆ แต่ก็มีฉากหนึ่งที่มันดูจะล้ำเส้นที่คนเล่นเกมจะรับได้มากเกินไป กับฉากการทรมานตัวละครในภารกิจ ‘By the Book’ ที่เราจะได้ควบคุม เทรเวอร์ (Trevor) เพื่อทรมานตัวละครด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ที่เราสามารถเลือกได้ด้วยตัวเองว่าจะให้ตัวละคร NPC เจ็บปวดขนาดไหน ซึ่งแต่ละอย่างที่ทำนั้นเรียกว่าโหดมาก ๆ จนคนเล่นเกมต่างประเทศยังทนกับการล้ำเส้นตรงนี้ไม่ไหว จนเป็นข่าวอยู่ช่วงหนึ่งเลยทีเดียว
ทำไปได้นะเกมแบบนี้ จากเกม Custer’s Revenge
ถ้าคุณคิดว่าเรื่องความรุนแรงเพศการใช้ภาษา มันเพิ่งจะมีในเกมยุคนี้เพราะกราฟิกเกมที่สมจริงกว่าสมัยก่อนคุณคิดผิด เพราะในอดีตสมัยที่เกมยังเป็นแค่เม็ดสีจุด ๆ มาเรียงกันอย่างบนเครื่อง ‘Atari 2600’ ก็มีเกมที่เกี่ยวกับเรื่องเพศและการเหยียดเชื้อชาติเกิดขึ้นแล้ว กับเกม ‘Custer’s Revenge’ ที่เราจะได้เล่นเป็น นายพล อาร์มสตรอง คัสเตอร์ (General Armstrong Custer) ที่เปลือยกายเพื่อไปหาหญิงอเมริกันพื้นเมืองเปลือยที่ผูกติดอยู่กับเสา ซึ่งระหว่างทางเราต้องหลบสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ที่ตัวเกมแม้จะดูไม่ค่อยออกว่ามันเป็นยังไง แต่โดยรวมมันก็คือการเหยียดเชื้อชาติและเรื่องเพศอย่างชัดเจน เพราะนายพลอาร์มสตรอง คัสเตอร์ก็มีตัวตนจริง ๆ ในประวัติศาสตร์ ที่เขายกพลมาทำลายชาวพื้นเมืองในปี 1876 แค่รู้ว่ามีและมันเคยเกิดขึ้นก็พอไม่ต้องไปหามาเล่นให้เสียเวลา เพราะต่างประเทศก็ไม่พอใจกับเกมนี้
ตัดแขนตัดขา จากเกม Ninja Gaiden II
อีกหนึ่งสิ่งที่คนเล่นเกมส่วนมากต้องการ นั่นคือความสมจริงที่เหมือนในโลกปกติเป็น โดยเฉพาะฉากการฆ่าการตายของ NPC ซึ่งส่วนมากนักพัฒนาเกมจะพยายามหลีกเลี่ยง หรือจงใจไม่ใส่ลงไปอย่างบาดแผลหรือเครื่องในอวัยวะที่ไหลออกมาหลังการโจมตี ที่มันดูสมจริงและน่ากลัวเกินไป จนอาจจะทำให้เกมถูกจัดในหมวดหมู่ความรุนแรงที่มันจะทำให้ยอดขายตก แต่บางเกมที่นักพัฒนาเขาตั้งใจจงใจทำเพื่อให้มันมาอยู่ในจุดนี้ก็มี อย่างเช่นเกม ‘Ninja Gaiden II’ ที่ตัวเกมนั้นจะให้เรารับบทเป็นนินจาที่ใช้อาวุธมีคมฟาดฟันศัตรู ที่แน่นอนว่าด้วยความคมและแรงตัดของพระเอก ร่างกายของศัตรูจึงขาดกระเด็นกระจัดกระจายเต็มฉาก ที่แรก ๆ เล่นมันก็สนุกดีแต่พอเล่นไปมาก ๆ เข้าเห็นเยอะ ๆ เข้ามันก็รู้สึกแปลก ๆ แถมกว่าตัว NPC จะตายก็จะดิ้นรนต่อสู้ต่อบ้าง บางตัวก็หนีทั้งที่แขนขาขาดไปแล้ว เรียกว่าเล่นไปเอียนไปเลยทีเดียว จนเราต้องตั้งคำถามว่าความรุนแรงที่สมจริงและมากไปมันก็ใช่ว่าจะดี
มาเป็นฆาตกรโรคจิตกับวิธีฆ่าสุดโหด จากเกม Manhunt
อย่างที่คนเล่นเกมเคยบอกคนที่ไม่ได้เล่นเกมมาตลอดว่า “การเล่นเกมไม่ได้สร้างความก้าวร้าวให้เราอยากเอาปืนเอามีดไปไล่ฆ่าคน” แต่ความรุนแรงที่บางทีมันก็มากเกินโหดดิบไปมันก็ดูไม่ดีเหมือนกัน นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในเกม ‘Manhunt’ เกมที่เราจะได้รับบทเป็นชายที่พยายามเอาชีวิตรอดจากคนที่จะมาฆ่าตน ซึ่งความโหดโรคจิตของเกมนี้คือวิธีฆ่าคนแบบโหดดิบ ชนิดที่เรียกว่าการจับคนปาดคอตัดชิ้นส่วนตัวละคร หรือแทงกันไส้ไหลเป็นเรื่องปกติไปเลยเมื่อเล่นเกมนี้ เพราะวิธีการฆ่าของตัวละครในเกมนี้เรียกว่าเข้าขั้นโรคจิต ที่กว่าเราจะสังหารเหยื่อให้ตาย ตัวละคร NPC ต้องโดนทรมานแบบสาหัสด้วยความเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นการเอาถุงพลาสติกมาคลุมหัวให้ขาดอากาศ แล้วกระทืบซ้ำก่อนจะเอาขวดแตกมาแทกควักลูกตาออกมาอะไรแบบนั้น เรียกว่าเข้าขั้นโรคจิตชนิดที่ว่าถ้าเกมนี้มีภาคต่อและเอาความโรคจิตนี้มาสานต่อ ตัวเกมคงได้รับการจัดอันดับให้อยู่จุดสูงสุดอย่าง ‘AO’ หรือ ‘Adults Only’ และห้ามวางจำหน่ายในหลายประเทศอย่างแน่นอน ซึ่งเกมซีรีส์ ‘Manhunt’ ทุกภาคก็อยู่ในการจัดหมวดหมู่นี้ แบบเล่นแล้วชวนจิตตกแบบแปลก ๆ เลยทีเดียว
ฉากมีอะไรกับหญิงสาว จากเกม God of War
ย้อนเวลากลับไปสมัยที่เฮียโล้นซ่าฆ่าทวยเทพอย่างเกม ‘God of War’ ภาคแรกวางจำหน่าย สมัยนั้นระบบอินเทอร์เน็ตยังไม่ทันสมัยเท่าตอนนี้ และการรับรู้ข่าวสารก็มาจากนิตยสารเกมเป็นหลัก เมื่อพ่อแม่ที่ซื้อเครื่อง ‘PlayStation 2’ มาให้ลูกเล่นก็คงไม่รู้เรื่องนี้ บวกกับคำชมจากร้านขายเกมที่บอกว่าเกมนี้สนุกมาก ๆ (ขายพร้อมเกม) พอซื้อมาเล่นไปไม่นาน เราก็จะได้เจอฉากสาวสวยเปลือยอกนอนรอเฮียโล้นอยู่ พร้อมฉากที่ถูกตัดออกไปเป็นมุมมองอื่นกับการกดปุ่ม ‘Quick Time Events’ ที่มาพร้อมเสียงร้องของสาว ๆ ที่บังคับให้เราต้องเล่น (จะข้ามก็ได้แต่หลายคนที่ไม่รู้ก็คงต้องกดไปดูแน่นอน) ซึ่งนั่นคือการยัดเยียดเรื่องเพศและความไม่เหมาะสมในเกม ซึ่งในหลายประเทศที่ไม่จำกัดอายุคนซื้อคนเล่นเกมแบบไทยมันดูไม่ค่อยเหมาะสมเอาเสียเลย
การสังหารหมู่ที่สนามบิน จากเกม Call of Duty Modern Warfare 2
เมื่อพูดถึงการเล่นเกมเรามักจะคิดถึงความสนุกตื่นเต้น มีหัวร้อนมีความกลัวมีความรู้สึกกดดันระหว่างเล่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ความบันเทิงทั้งหลายควรมี แต่การยัดเยียดความรู้สึกสะเทือนใจตอนเล่นมันคือสิ่งที่นักพัฒนาเกมไม่ควรใส่ลงไปเกม ซึ่งแน่นอนว่าตอนซื้อเกมเราก็ไม่รู้ว่าจะต้องเจอฉากเหล่านี้ หนึ่งในนั้นคือการควบคุมเป็นตัวละครในเกม ‘Call of Duty Modern Warfare 2’ ที่เราต้องรับบทเป็นสายลับ CIA เพื่อแทรกซึมเข้าไปในกลุ่มผู้ก่อการร้ายรัสเซียในภารกิจ ‘No Russian’ ซึ่งสิ่งที่เกมบังคับให้เราทำนั้นคือการกราดยิงผู้คนในสนามบิน ที่แม้เราจะรู้ว่ามันคือเกมการยิงคนในเกมมันคือเรื่องปกติ แต่เมื่อสิ่งนี้มันไปเหมือนกับสิ่งที่ผู้ก่อการร้ายในชีวิตจริงเคยทำ มันจึงเป็นการยัดเยียดความรู้สึกแย่ให้คนที่รับรู้ข่าวสาร หรือเคยได้รับผลกระทบกับการก่อการร้ายมา ได้รับรู้ความรู้สึกสะเทือนใจแบบนั้นอีกครั้งโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเหยื่อหรือญาติที่ผ่านเหตุการณ์ทหารกราดยิงคนในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินัล 21 มาเล่นฉากนี้จะรู้สึกอย่างไร ซ้ำร้ายตัวเกมยังบังคับให้เราต้องยิงคน (ไม่ยิงไม่ได้ด้วย) ใครที่เคยเล่นมาแล้วน่าจะเข้าใจความรู้สึกกดดันนี้
มาเป็นผู้คุมทรมานคนกันเถอะ จากเกม Chiller
ถ้าคุณคิดว่าเกม ‘Custer’s Revenge’ คือเกมเก่าที่มีปัญหาเรื่องเพศความรุนแรงและเหยียดเชื้อชาติแล้ว มาดูอีกหนึ่งเกมเก่าที่มีความรุนแรงเต็มที่ไม่ต่างกัน ซึ่งถ้าเป็นยุคนี้คงได้การจัดความรุนแรงให้หมวด ‘AO’ ไปแบบไม่ยากเย็น กับเกม ‘Chiller’ บนเครื่อง ‘Nintendo Entertainment System’ หรือ ‘NES’ กับเกมตู้ในปี 1990 ที่เราจะได้รับบทเป็นผู้คุมที่ต้องทรมานนักโทษ ให้มีความเจ็บปวดทรมานที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ยิ่งตัวละครเจ็บปวดทรมานตายช้าเรายิ่งได้คะแนนเยอะ ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ที่ในแต่ละด่านก็จะเป็นฉากและเครื่องมือที่ใช้ทรมานคน ที่อ้างอิงมาจากเครื่องมือทรมานจริง ๆ ในอดีตมาให้เล่น นอกจากนี้ตัวเกมยังมีโหมดการเอาชีวิตรอด ที่เราต้องไปตามจับผู้โชคร้ายมาทรมาน ตัวเกมค่อนข้างรุนแรงแม้จะเป็นกราฟิกแบบเม็ดสีเรียง ๆ กันก็ตาม บอกเลยรูปที่เราเอามาให้ดูเป็นแค่ส่วนเดียวจากทั้งหมด และไม่ต้องไปหาซื้อหาเล่นเพราะไม่มีใครเอามาให้เล่นกันหรอกเกมโหดดิบแบบนี้ ขนาดในต่างประเทศยังรับไม่ได้กับเกมรุนแรงแบบนี้ แค่รู้ว่าเคยมีเกมแบบนี้อยู่ก็พอ
จะเหมาะหรือ จากเกม Mario Teaches Typing
ในยุคอดีตการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ให้เก่งและเป็น ด่านแรกที่เราต้องเจอเลยคือการฝึกใช้แป้นพิมพ์ให้เป็น ที่ขนาดมีการเรียนการสอนแบบจริงจังกันเลยทีเดียว ซึ่งถ้าใครไม่มีเวลาไปเรียนก็มีเกมที่ออกมาสอนใช้แป้นพิมพ์ออกมามากมาย หนึ่งในนั้นคือเกม ‘Mario Teaches Typing’ ที่จะมาในรูปแบบของเกมเพื่อฝึกเราให้กดแป้นพิมพ์ให้เป็น ซึ่งประเด็นไม่ได้อยู่ที่ตัวเกม แต่อยู่ที่ตัวละครอย่างลุงหนวด มาริโอ้ ( Mario) ที่ต่างชาติมองว่ามันดูไม่เหมาะสม และไม่ควรทำที่เอาตัวละครในเกมที่พูดได้แค่เพียงไม่กี่ประโยคอย่าง “It’s-a me Mario!” มาเป็นคนสอนเด็ก ๆ แถมในเกมยังมีรูปถุงมือที่เหมือนเป็นการบอกเด็ก ๆ ให้สวมถุงมือเพื่อพิมพ์ ซึ่งความเป็นจริงมันเกะกะมาก ๆ และไม่เหมาะสม ซึ่งในบ้านเราอาจจะดูไม่เป็นประเด็น แต่ต่างประเทศตอนนั้นจริงจังมาก ๆ และมองว่าสิ่งนี้คือการยัดเยียดให้เด็ก ๆ ที่กำลังเรียนฝึกใช้คอมพิวเตอร์ทำตาม
Mod Hot Coffee จากเกม Grand Theft Auto San Andreas
ปิดท้ายกับเกมซีรีส์ ‘Grand Theft Auto’ อีกครั้ง กับเกม ‘Grand Theft Auto San Andreas’ ที่ในอดีตเกมนี้เคยถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่ม ‘AO’ มาก่อน เมื่อมีคนไปค้นพบภารกิจที่ชื่อว่า ‘Hot Coffee mod’ ซ่อนอยู่ในตัวเกม ซึ่งสำหรับคนที่ยังไม่เคยเล่นเกมภาคนี้เราจะได้รับบทเป็น ซีเจ (CJ) ตัวละครผิวสีที่ให้ความอิสระกับเราไม่ต่างกับเกม ‘GTA’ ภาคอื่น ๆ แต่ที่เกมภาคนี้เป็นประเด็นในยุคนั้น ก็เพราะมีคนดันไปเจอตัวเกมที่ถูกนำออกไปจากเกมหลักที่เรียกว่า ‘Hot Coffee mod’ ซึ่งเป็นภารกิจที่เราสามารถจีบสาว และพาตัวละครสาว NPC ตัวนั้นไปมีอะไรกันได้ ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกมนี้เป็นประเด็นเพราะมันดันมีฉากมีอะไรกันของตัวละครอย่างชัดเจน ซึ่งแม้ตัวเกมจริง ๆ จะถูกตัดภารกิจนี้ไปแล้ว แต่ในเกมก็ยังหลงเหลืออยู่ และมีคนเอามันออกมาให้เล่นได้ผ่านการแก้ไขตัวเกม ร้อนถึงทาง ‘Rockstar’ ต้องขอเรียกคือแผ่นพร้อมแถมเงินให้คนที่ยอมคืนแผ่นเกมนี้ และเอาแผ่นเกมชุดใหม่ที่ลบส่วนนี้ออกไปแล้วมาขายใหม่อีกครั้ง ซึ่งกว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติก็เล่นเอาเสียหายไปมากมาย เพราะหลายประเทศได้ห้ามเกมนี้วางขาย จนเมื่อทุกอย่างแก้ไขจึงเอามาขายได้ตามปกติ เรียกว่าล้ำเส้นเกินไปจริง ๆ คราวนี้
ก็จบกันไปแล้วกับ 10 เกมที่ไม่เหมาะสมและยัดเยียดคนเล่นให้ทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศความรุนแรงที่มันดูมากเกินไป จนแม้แต่คนเล่นเกมด้วยกันเองได้เล่นหรือมาเห็นก็มองว่ามันไม่ดีและไม่ควรมีอยู่ในเกม หรือถ้ามีก็ควรตัดเบี่ยงฉากหรือลดลงไปจะดีที่สุด ซึ่งแม้ในต่างประเทศจะมีการจำกัดอายุคนซื้อก็ยังมีประเด็นขนาดนี้ แต่ในหลายประเทศที่ไม่จำกัดอายุคนซื้อแบบในบ้านเรา ถ้าเด็ก ๆ มาเล่นจะเป็นอย่างไร เพราะขนาดผู้ใหญ่ที่เล่นเกมยังรับไม่ไหวกับความรุนแรงขนาดนี้เลย ซึ่งนั่นคือเป้าหมายของบทความนี้ ที่ต้องการบอกคนที่เล่นเกมหรือไม่ได้เล่นให้ทราบว่า แม้เกมจะไม่ทำให้เกิดความรุนแรง แต่บางอย่างมันก็มากเกินไปจนรับไหวก็มีอยู่ ซึ่งถ้าลูกหลานคุณกำลังเล่นหรือมีเกมเหล่านี้อยู่ก็ให้คำแนะนำและดูแลดี ๆ เพราะเด็กสมัยนี้ฉลาด การสอนบอกอะไรพวกเขาจะรับฟัง มากกว่าการดุด่าห้ามนั่นนี่จะยิ่งยุเด็กให้สนใจสิ่งนั้นมากขึ้น ในฐานะผู้ใหญ่ที่เล่นเกมต้องเข้าใจเด็ก ๆ กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ยังไงก็ฝากให้ทุกคนเอาไปคิด เพราะเด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ที่เล่นเกมในวันหน้านั่นเอง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส