ชื่อนั้นสำคัญไฉนนั่นคือคำถามที่หลายคนคงจะสงสัย เพราะการตั้งชื่อนั้นเป็นการบอกถึงการมีตัวตนของคน ๆ นั้น แต่ในวิดีโอเกมการตั้งชื่อตัวละครส่วนมากจะอ้างอิงถึงลักษณะนิสัยท่าทางรูปลักษณ์ หรือจะเป็นสิ่งที่ตัวละครคนนั้นทำที่ตัวเกมต้องการสื่อออกมา อย่างเช่นคนที่นิสัยใจร้อนขี้โวยวาย เราก็มักจะเห็นตัวละครมีชื่อเกี่ยวกับไฟเปลวเพลิงหรือความร้อนแรง แต่ก็มีการตั้งชื่ออีกแบบที่ตั้งตามความเหมาะสมและเชื้อชาติของตัวละคร แต่ด้วยการอ่านออกเสียงที่สระการอ่านของแต่ละชาตินั้นต่างกัน จึงกลายเป็นการเรียกชื่อตัวละครนั้น ๆ ผิดไป วันนี้เรามาดูกันดีกว่าว่ามีตัวละครในเกมคนไหนบ้างที่มักเราเรียกชื่อหรือเข้าใจผิดมาตลอด โดยจะอ้างอิงชื่อจากผู้พัฒนาเกมเป็นตัวตัดสิน เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันเลยว่ามีตัวละครไหนบ้างที่เราเรียกชื่อผิดกัน
Alcina Dimitrescu จากเกม Resident Evil Village
เริ่มต้นตัวละครแรกที่หลายคนน่าจะรู้จักคุณแม่ร่างยักษ์คนนี้เป็นอย่างดี กับ อัลซิน่า ดิมิเทรสคู (Alcina Dimitrescu) จากเกม ‘Resident Evil Village’ ตัวละครขโมยซีนที่ตั้งแต่เปิดตัวมาทุกคนต่างก็พูดถึงเธอเกี่ยวกับขนาดร่างกายที่ใหญ่ผิดมนุษย์ แถมยังมีหน้าตาที่สวยตรงข้ามกับความโหดของเธอที่เจอในเกม ซึ่งประเด็นที่หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวของอัลซิน่าไม่ใช่ชื่อ แต่เป็นนามสกุล ‘Dimitrescu’ ที่เราจะอ่านออกเสียงว่า ดิมิเทรสคู (dimi-TRES-koo) ที่ตามเนื้อเรื่องตัวของอัลซิน่าเป็นชาวโรมาเนียการอ่านออกเสียงแบบนี้จึงถูกต้อง แต่ความจริงแล้วทาง ‘Caapcom’ ออกมาบอกว่าเป็นการออกเสียงที่ผิด ความจริงต้องออกเสียงว่า ดิมิทรีส ‘dimi-TREECE’ ส่วนคำว่า “cu” ไม่ต้องออกเสียง สรุปคือเธอชื่อ อัลซิน่า ดิมิทรีส (Alcina Dimitrescu) เข้าใจตรงกันนะ
Pikachu จากเกม Pokemon
มาต่อที่คำถามคำถามชิงเงินล้าน คุณว่าเจ้าหนูสายฟ้า (ไม่ใช่หนูอีกต่างหากแต่สายพันธุ์เดียวกับกระต่าย) จากเกม ‘Pokemon’ ตัวนี้มีชื่อว่าอะไร ปิ๊กาจู, ปีกาจู๋, พิคาชู, ปีกาจู เพราะเมื่อเราดูชื่อของภาษาอังกฤษจะเขียนว่า ‘Pikachu’ ที่ถ้าอ่านตามการออกเสียงก็จะได้คำว่า “พิคาชู” หรือ “ปิกาจู” ก็ได้ จนหลายคนรู้สึกสับสนว่าจริง ๆ แล้วเราต้องเรียกว่าอะไรกันแน่ จนเราต้องไปหาต้นทางในภาษาญี่ปุ่นที่เขียนว่า ‘ピカチュウ’ ที่เมื่อเอามาแปลก็จะได้คำว่า ‘Pi kā cū’ หรือ ปิกาจู นั่นเอง ซึ่งที่หลายคนมักจะเรียกผิด เพราะในเกมกับในการ์ตูนเราจะได้ยินเสียงปิกาจูร้องหลายเสียงทั้ง ปีกาปิก๊า ตอนดีใจ หรือบางก็ร้อง ปีก๊าจู แบบลากเสียงยาว ๆ ที่เป็นตอนใช้พลัง จนทำให้หลายคงสับสนว่าจริง ๆ แล้วต้องเรียกว่าอะไรกันแน่ คราวนี้จะได้รู้เสียทีว่าน้องชื่อ ปิกาจู นั่นเอง
Rinoa Heartilly จากเกม Final Fantasy 8
ย้อนกลับไปสมัยเครื่อง ‘Playstation 1’ ตอนที่เกม ‘Final Fantasy 8’ วางจำหน่าย หลายคนที่ได้รู้จักความสนุกดีงามของเกม ‘Final Fantasy 7’ มาแล้วก็ไม่พลาดที่จะสานต่อความสนุกของเกมภาค 8 ต่อทันที ซึ่งด้วยปัญหาของกำแพงภาษาที่แม้จะมีฉบับภาษาอังกฤษวางจำหน่ายก็ตาม หลายคนก็ยังคงพึ่งพาหนังสือบทสรุปเกม ที่ภายในนั้นจะบอกเล่าวิธีผ่านเกมไปจนถึงชื่อตัวละครในเกม ที่ในยุคนั้นจะเรียกตัวละครนางเอกอย่าง ริโนอา ฮาร์ทิลลี่ (Rinoa Heartilly) ว่า “รีนัวร์” ทั้งที่ความจริงชื่อของเธอนั้นเรียกแบบตรงตัวเลยว่า ริโนอา แม้แต่ในภาษาญี่ปุ่นเองที่เขียนว่า ‘リノア’ ยังอ่านออกเสียงว่า ริโนอา ใครที่เรียกตัวละครตัวนี้ว่า รีนัวร์ แปลว่าคุณไม่เด็กแล้ว และควรเรียกใหม่จะได้ไม่อายเด็ก ๆ
Geralt จากเกม The Witcher
คราวนี้มาดูชื่อที่ชาวต่างชาติเรียกผิดแต่บ้านเราเรียกถูกกันบ้าง กับนักล่าปีศาจผมขาวสุดแกร่งในเกมและซีรีส์ ‘The Witcher’ กับ เกรัลต์ ออฟ ริเวีย (Geralt of Rivia) ที่ใครซึ่งดูซีรีส์กับเล่นเกมมาแล้วคงจะรู้จักเขาเป็นอย่างดี ซึ่งต้องบอกก่อนว่าเรื่องราวในซีรีส์ที่เราได้ดูนั้นคือเรื่องราวก่อนในเกมภาคแรก และมีการนำเรื่องราวในหนังสือมาดัดแปลง ที่ต่างกับซีรีส์ที่เนื้อหาจะตรงกับหนังสือกว่า ดังนั้นจึงเอาเรื่องราวในเกมมาอ้างอิงเทียบซีรีส์ไม่ได้แบบ 100% แต่นั่นก็พอจะให้เรารู้ว่าเรื่องราวต่อไปจะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนปัญหาที่ชาวต่างชาติเข้าใจผิดกันนั่นคือการอ่านชื่อ เกรัลต์ ผิดเป็น เจอรัลด์ (JERR-alt) เพราะอ่านออกเสียงตัว ‘G’ เป็นตัว ‘J’ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเรื่องของการใช้ภาษาที่อ่านและใช้เสียงต่างกัน แต่มันก็ไม่ใช่ปัญหาในบ้านเราเมื่อเทียบกับตัวละครอื่น ๆ ที่เราหยิบมานำเสนอ
Raiden จากเกม Metal Gear Solid 2 Sons of Liberty
อีกหนึ่งตัวละครที่ชื่อชวนงงว่าจริง ๆ แล้วต้องเรียกเขาว่าอะไร กับชื่อรหัสสายลับที่ชื่อว่า‘Raiden’ ตัวละครหลักในเกม ‘Metal Gear Solid 2 Sons of Liberty’ หนึ่งในตัวละครคุณหลอกดาว ที่ในยุคนั้นตัวอย่างเกม ‘Metal Gear Solid 2’ ไม่มีการฉายภาพของพ่อหนุ่มรูปงามคนนี้เลย แม้แต่ฉากต่อสู้ที่ในเกมจริง ๆ ต้องเป็นพี่สายฟ้าคนนี้ แต่ทางทีมงานกลับใช้รูปลุงงู ‘Snake’ มาแทนเพื่อหลอกคนเล่นเกม จนเมื่อเกมออกมาเรากลับได้เล่นเป็นลุงงูแค่ช่วงต้นเกมแค่ 20 นาที ที่เหลือเราจะได้เล่นเป็น ‘Raiden’ จนจบ ซึ่งประเด็นที่เราจะพูดถึงไม่ใช่เรื่องนี้ แต่เป็นชื่อรหัสของเขาที่ถ้าเราอ่านออกเสียง ‘Raiden’ ก็จะเป็นคำว่า “ไรเดน” แต่ความจริงแล้วถ้าเรียกตามภาษาญี่ปุ่นจริง ๆ เราต้องเรียกว่า “ไร่เดน” ที่แปลว่าเทพเจ้าสายฟ้า เหมือน ไรเดน (Raiden) เทพแห่งสายฟ้าในเกม ‘Mortal Kombat’ ที่ต้องเรียกเขาว่า ไร่เดน แต่ทางทีมพัฒนาเกม ‘Mortal Kombat’ ออกมาบอกว่าเรียก ไรเดน คือสิ่งที่ถูก ก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วกันว่าจะเรียกแบบไหน
Saga จากเกม Street Fighter
เถียงเรื่องชื่อของตัวละครชาติอื่นมาเยอะคราวนี้มาดูตัวละครคนไทยกันบ้าง กับนักมวยไทยตาเดียวในตำนานของเกม ‘Street Fighter’ กับ สกัด (Saga) ที่เมื่อเราย้อนเวลากลับไปในอดีตตอนที่เกม ‘Street Fighter 2’ โด่งดัง ซึ่งไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะเจอแต่คนเล่นไม่ก็พูดถึงแต่เกมนี้ และหนึ่งสิ่งที่คนยุคนั้นเรียกต่างกับคนยุคนี้นั่นชื่อตัวละคร สกัด (Saga) ว่า “สงัด” ที่แปลว่า สงบเงียบปราศจากเสียงใด ๆ แต่ในภาษาอังกฤษกับในยุคนี้เราจะเรียกเขาว่า “สกัด” ที่แปลว่า กั้นขวางหรือการกะเทาะของแข็งอย่างเหล็ก ที่ไม่ว่าจะใช้ชื่อไหนก็มีความหมายที่ตรงกับตัวละครตัวนี้ทั้งสิ้น ซึ่งถ้าจะให้คนไทยเราตัดสินว่าสมควรใช้ชื่อไหนคนไทยเราคงจะเลือกชื่อ สกัด เพราะตรงกับความหมายท่าทางของเขาที่ใช้เข่าศอกแบบมวยไทยที่ดูดุดันมากกว่าคำว่า สงัด ที่ดูตรงข้ามกับตัวละครคนนี้ แต่ถ้าเราไปอ่านชื่อนี้ไปอ่านในภาษาญี่ปุ่นจะได้คำว่า ‘サガット’ ที่อ่านออกเสียงว่า “สงัด” สรุปตัวละครคนนี้ชื่อว่า สงัด ที่แปลว่าสงบเงียบไม่ใช่ สกัด เข้าใจตรงกันนะ
Mei-Ling Zhou จากเกม Overwatch
จากตัวละครคนไทยไปแล้วคราวนี้มาดูชื่อตัวละครคนจีนกันบ้าง กับสาวหมวยจากเกม ‘Overwatch’ อย่าง Mei-Ling Zhou (เหม่ย หลิงโจว) ที่ถ้าใครซึ่งได้เล่นเกม ‘Overwatch’ มาคงจะสับสนแน่ ๆ ว่าความจริงแล้วตัวละครคนนี้ชื่ออะไรกันแน่ เพราะในเกมนี้จะเรียกเธอว่า “เหม่ย” (Mei) แต่ชาวเอเชียอย่างเราจะเรียกเธอว่า “เหมย” ไม่มีไม้เอกในการออกเสียงที่ไม่เหมือนกับต่างประเทศ จนหลายคนสงสัยว่าสรุปแล้วเราต้องเรียกเธอว่าอะไร จะ เหม่ย หรือ เหมย กันแน่ ซึ่งเมื่อเราไปดูการอ่านออกเสียงของภาษาจีนจะได้คำว่า ‘美’ ที่อ่านออกเสียว่า “เหมย” ที่แปลว่าความงดงาม หรือถ้าจะอ่านว่า เหม่ย (Mei) ในภาษาจีนก็จะแปลว่าบ๊วยหรือดอกบ๊วยก็ได้ ที่ไม่ว่าจะเรียกแบบไหนก็ไม่ถูกไม่ผิดเพราะคนจีนเองก็เรียกเธอทั้ง เหมย และ เหม่ย (อ้างอิงจาก จาง หยู่ (Zhang Yu) ชาวจีนที่ให้เสียงตัวละครนี้) เหมือนบ้านเราที่เรียก สกัด กับ สงัด ที่ทั้งสองชื่อมีความหมายจะเรียกแบบไหนก็ไม่ถูกไม่ผิดนั่นเอง แต่ที่แน่ ๆ เธอไม่ได้ชื่อ เมย์ แบบที่เราได้ยินในเกมอย่างเรียกผิดก็พอ
Tidus จากเกม Final Fantasy 10
กลับมาที่ฝั่ง ‘Final Fantasy’ อีกครั้งแต่คราวนี้จะเป็นภาคที่ 10 ของซีรีส์กันบ้าง กับตัวละครที่ต่างชาติสงสัยว่าต้องเรียกชื่อเขาอย่างไรกันแน่ ระหว่าง ทีดัส (Tidus) ที่เราเรียกกันกับที่ต่างประเทศจะอ่านออกเสียงตรงข้ามกับเราเป็น ทีดูส (TEE-dus) ซึ่งภายในเกม ‘Kingdom Hearts’ ที่ตัวละครคนนี้ไปปรากฏตัวก็มีการพูดชื่อออกมาว่า ทีดูส จนกลายเป็นการถกถียงกันว่าสรุปแล้วพี่เขาชื่อ ทีดัส หรือ ทีดูส กันแน่ ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นจะเขียนว่า ‘ティーダ’ ที่อ่านว่า ทีดะ (Tida) ที่หนักกว่าเดิมอีก จนสุดท้ายทาง ‘Square Enix’ ได้ออกมายืนยันตัดสินชัด ๆ ไปเลยว่าตัวละครนี้อ่านว่า “ทีดูส” คือชื่อที่ถูกต้อง โอเคจบแยกย้ายไปทำงานต่อ
Uvuvwevwevwe Onyetenyevwe Ugwemubwem Osas อ่านว่าอะไรกันแน่
ปิดท้ายแถมให้กับชื่อของพ่อหนุ่มชื่อยาวที่เคยเป็นกระแสให้เราพูดถึง กับชื่อของเขาที่ต่อให้เราพูดตามเขายังไงก็พูดไม่ถูกกับชื่อ ‘Uvuvwevwevwe Onyetenyevwe Ugwemubwem Osas’ ที่ถ้าอ่านแบบสะกดทีละคำเป็นภาษาไทยจะได้คำอ่านว่า “อุฟุฟวยฟวยฟวย อันเยนทวยววยฟวย อุกเวมุเวม โอซาส” ซึ่งความจริงแล้วชื่อที่เราเห็นนั้นเป็นเพียงการเล่นคำสนุก ๆ เท่านั้นไม่ใช่ชื่อจริงแต่อย่างใด โดยชื่อจริงของอุฟุฟวยฟวยฟวย อันเยนทวยววยฟวย อุกเวมุเวม โอซาสคนนี้มีชื่อจริงว่า เดวิด อิกเว (David Igwe) หรือไม่แน่ชื่อยาว ๆ นี้อาจจะเป็นชื่อจริงก่อนจะเปลี่ยนตอนเข้าวงการก็ได้ใครจะรู้
ก็จบกันไปแล้วกับชื่อตัวละครที่เราเข้าใจผิดมาตลอด หวังว่าบทความนี้จะเป็นตัวช่วยให้เราเข้าใจชื่อของตัวละครเหล่านี้มากขึ้น เพราะด้วยเรื่องของภาษาตัวสะกดคำที่ต่างกัน เมื่อเกมถูกวางขายและเขียนชื่อตัวละครในเกมเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่าง ๆ ในประเทศตัวเอง ก็เลยมีการอ่านตามการออกเสียงตามความเคยชินในประเทศตนเอง จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด และเราก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยไขข้อสงสัยที่เข้าใจผิดกัน และถ้าใครมีตัวละครที่เรียกชื่อผิดคนไหนอีกก็มาบอกกันได้ ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส