แม้ว่าเราจะเคยเห็นนักวิจัยที่สามารถฝึกให้สัตว์ต่าง ๆ สามารถเล่นวิดีโอเกมได้ อย่างเช่นล่าสุดที่สามารถฝึกลิงให้เล่นวิดีโอเกมรุ่นบรรพบุรุษอย่าง ‘PONG’ ได้สำเร็จผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์กับสมองของบริษัทนิวรัลลิงก์ (Neuralink) ของ ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) ล่าสุด นักประสาทวิทยาชาวฮังการีสามารถทำการทดลองฝึกหนู 3 ตัวให้สามารถวิ่งเคลื่อนที่และบังคับเกม FPS (First-person shooter) อย่างเกม ‘DOOM 2’ ได้สำเร็จ
เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ‘วิกเตอร์ ธอต’ (Viktor Tóth) นักประสาทวิทยาชาวฮังการี อดีตผู้ร่วมงานแห่งสถาบันวิจัยทางการแพทย์เฟนสไตน์ (The Feinstein Institutes for Medical Research) กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่บทความการทดลองของเขาเอง อันเนื่องจากการที่เขารู้สึกสนใจการทดลองของ Neuralink ที่ใช้อุปกรณ์ควบคุมให้ลิงสามารถเล่นเกม PONG ได้ด้วยความคิดของมันเอง เขาก็เลยอยากจะทดลองฝึกสัตว์ให้เล่นเกม ‘DOOM 2’ เกมแนว FPS สุดคลาสสิกจากยุค 90’s ได้บ้างโดยที่ไม่จำเป็นต้องแทรกแซง เช่นการผ่าตัด เสริมแต่งดัดแปลงอวัยวะใด ๆ ของสัตว์เลยแม้แต่น้อย
ด้วยความที่เขาไม่เคยทดลองกับสัตว์ทดลองใด ๆ มาก่อน เขาจึงเลือกใช้หนูทดลองพันธุ์ลอง อีแวนส์ (Long Evans) อายุ 8 สัปดาห์จำนวน 3 ตัว โดยที่วิกเตอร์ได้ตั้งชื่อให้กับพวกมันว่า ‘จอห์น โรเมโร’ (John Romero) ‘จอห์น คาร์แมค’ (John Carmack) และ ‘ทอม ฮอลล์’ (Tom Hall) ตามชื่อของเหล่าทีมผู้พัฒนาเกม DOOM โดยสาเหตุที่เขาเลือกใช้หนู เพราะว่าเป็นสัตว์มีสัญชาตญานในการเคลื่อนที่ในพื้นที่ขนาดเล็ก และเรียนรู้การกระทำเฉพาะอย่างได้ และเป็นสัตว์ที่หาได้สะดวกที่สุด เพราะตัวเล็กกว่าหมู และเข้าถึงได้ง่ายกว่าลิง โดยก่อนที่เขาจะเริ่มการฝึก เขาได้พาเจ้าหนูทั้ง 3 มาอยู่บ้านนานหลายสัปดาห์ เพื่อให้พวกมันคุ้นชินต่อสภาพแวดล้อม
หลังจากนั้น วิกเตอร์จึงได้เริ่มต้นคิดค้นเครื่องเล่นที่จะช่วยฝึกให้เหล่าน้อง ๆ หนูทดลองของเขาสามารถเล่นเกมได้ด้วยตัวเอง โดยนำเอาการวิจัยที่คิดค้นเรื่องของการฝึกให้หนูสามารถนำทางในสภาพแวดล้อมเสมือนจริงผ่านเครื่อง VR (Virtual Reality) มาประยุกต์ใช้ เขาได้นำเอาเครื่อง VR มาดัดแปลงให้สามารถเคลื่อนที่ได้แบบสามมิติด้วยการติดลูกบอลพลาสติกขนาดใหญ่ที่มีลูกปืนอยู่ด้านล่าง มีเซนเซอร์ติดอยู่บนโครงสร้างที่พิมพ์ขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ พร้อมจอแสดงภาพแบบโค้งเพื่อทำให้หนูสามารถสัมผัสประสบการณ์เล่นเกมได้แบบสมจริง ในขณะที่เล่น ซึ่งทั้งหมดนี้ วิกเตอร์ใช้งบประมาณในการสร้างไปทั้งหมด 2,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 65,000 บาท
ส่วนตัวซอฟต์แวร์เกม DOOM 2 ที่นำมาให้เหล่าน้องหนูเล่นนั้นจะใช้แผนที่แบบสร้างขึ้นเอง เป็นแผนที่ที่มีความซับซ้อนน้อยลง เพื่อให้หนูสามารถเรียนรู้ทางเดินได้อย่างไม่ยากนัก และสุ่มวางปีศาจไว้ตามจุดต่าง ๆ ให้มันฝึกยิง โดยในการทดลอง วิกเตอร์จะนำเอาหนูทั้ง 3 ตัวติดตั้งไว้กับสายรัดเพื่อให้สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ และค่อย ๆ ใช้มอเตอร์หมุนลูกบอลเพื่อฝึกให้พวกมันค่อย ๆ เดิน หากมันเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง พวกมันจะได้รับน้ำเชื่อมผสมน้ำผ่านวาล์วที่ควบคุมปริมาณไว้เป็นรางวัล ซึ่งปริมาณการให้ก็ต้องไม่มากหรือน้อยเกินไปด้วย เพราะถ้าให้มากเกินไป อาจทำให้มันเบื่อจนไม่อยากเล่น รวมทั้งมีเครื่องเป่าลมที่จะเป่าไปที่หนวดของพวกมัน เพื่อให้รู้สึกว่าพวกมันกำลังเดินชนกำแพงในเกมด้วย
หลังจากที่ฝึกให้พวกมันวิ่งได้เองแล้ว ความยากต่อไปก็คือการฝึกให้พวกมันยิงปีศาจที่เป็นศัตรูในเกมให้ได้ด้วย หลังจากการฝึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป พบว่า ‘โรเมโร’ เจ้าหนูนิสัยซุกซนที่เคยวิ่งหนีวิกเตอร์ไปซ่อนหลังถังขยะมาแล้ว สามารถเรียนรู้การวิ่งและยิงศัตรูได้รวดเร็ว ทำคะแนนได้มากที่สุดถึง 15 ครั้งติดต่อกัน ในขณะที่เจ้าหนูอีก 2 ตัวที่นิสัยดูนิ่ง ๆ กว่าอย่าง ‘คาร์แมก’ สามารถทำได้ 5 ครั้ง และ ‘ทอม’ ทำได้เพียง 3 ครั้ง แต่ก็ยังไม่มีหนูตัวไหนที่สามารถผ่านด่านที่เขาสร้างขึ้นได้ในระหว่างการฝึกเลยแม้แต่ตัวเดียว
แม้ว่าการทดลองครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ แต่วิกเตอร์ก็ยังต้องการที่จะดำเนินการวิจัยต่อไป โดยเขากำลังจะร่วมมือกับวิศวกรไฟฟ้าเพื่อพัฒนาเครื่อง VR นี้ให้ดียิ่งขึ้น เช่นการเพิ่มน้ำผลไม้หลากหลายชนิดนอกจากน้ำเชื่อม เพื่อเสริมแรงกระตุ้นให้แก่เหล่าหนู เพิ่มฟังก์ชันการใช้จมูกจิ้มเพื่อยิงศัตรู และเขาต้องการที่จะฝึกให้พวกมันเล่นเกม ‘3D Pacman’ ด้วย แต่เขาเองคิดว่าอาจจะไม่ได้ผลก็ได้ เพราะหนูไม่สามารถเดินหันหลังในระหว่างเล่นเกมได้ รวมทั้งเขาเองวางแผนที่จะเปิดสตรีมผ่านแพลตฟอร์ม Twitch ให้คนดูสามารถเข้ามาดูพวกมันเล่นเกมได้ด้วย แต่ก็อาจจะต้องรอให้เขาฝึกเจ้าหนูทั้ง 3 ตัวนี้ให้สามารถวิ่งและเล่นเกมติดต่อกันได้นานมากพอที่จะสตรีมได้แบบจริงจังกว่านี้ก่อน
แต่ประโยชน์ของการฝึกหนูให้เล่นเกมได้อาจจะไม่ใช่แค่ให้หนูสตรีมเล่นเกมให้คนดูได้เท่านั้น เพราะวิกเตอร์เผยว่า การตรวจจับการเคลื่อนไหวของหนูนั้นอาจเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการเคลื่อนไหวแบบเสมือนจริง เพื่อใช้สร้างหุ่นยนต์ที่เคลื่อนไหวได้เหมือนคนมากขึ้น หรือพัฒนาเทคโนโลยีการเคลื่อนไหวสำหรับผู้พิการในอนาคตก็อาจเป็นไปได้
อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส