เมื่อพูดถึงบริษัท ‘Apple’ เราคงจะคิดถึงบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เกิดจากชายผู้เป็นตำนานอย่าง สตีฟ จอบส์ (Steven Jobs) ที่ถ้าไม่มีเขาวันนั้นเราคงจะไม่ได้เห็นหลายสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ ‘Mouse’ ที่มี 2 ปุ่มบนคอมพิวเตอร์ ‘Lisa’ หรือจะเป็นเครื่องฟังเพลงอย่าง ‘iPod’ ไปจนถึง ‘iPad’ ที่หลายคนต่างพูดกันในตอนแรกว่า สิ่งเหล่านี้แทบเป็นไปไม่ได้แต่ชายคนนี้ก็สามารถทำให้เกิดขึ้นมาได้ นี่ยังไม่นับบริษัทสร้างภาพยนตร์การ์ตูนยักษ์ใหญ่อย่าง ‘Pixar Studio’ ที่เราเห็นในตอนนี้ก็เกิดมาจากชายคนนี้ จนหลายคนอาจจะสงสัยว่าตอนที่สตีฟ จอบส์ยังมีชีวิตอยู่เขาเคยสนใจวงการเกมบ้างรึเปล่า ซึ่งคำตอบที่ได้รับมาคือไม่ เพราะเท่าที่ทราบมาสตีฟ จอบส์แทบไม่เคยพูดถึงหรือสนใจในตลาดเครื่องเกมเลย แต่ในยุคที่บริษัท ‘Apple’ ไม่มีสตีฟ จอบส์ทาง ‘Apple’ เคยร่วมมือกับบริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง ‘Bandai’ สร้างเครื่องเกมของตนเองขึ้นมาในชื่อ ‘Apple Pippin’
ตัวเครื่อง ‘Apple Pippin’ ตั้งชื่อตามสายพันธุ์แอปเปิ้ล ‘Newtown Pippin’ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เครื่องเกม ‘PlayStation 1’ กำลังโด่งดังและขายดีเหมือนแจกฟรีทาง ‘Apple’ จึงอยากมาร่วมในตลาดนี้ โดยมี ไมเคิล สปินด์เลอร์ (Michael Spindler) เป็นผู้ออกแนวคิดในครั้งนี้ ซึ่งภายในตัวเครื่องนั้นก็เต็มไปด้วยเทคโนโลยีล่าสุดของบริษัทในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์ม ‘Apple Macintosh’ ที่อยู่บนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ รวมถึงสถาปัตยกรรม ‘Mac OS’ ในการสร้างตัวต้นแบบเครื่องเกม ‘Pippin’ ขึ้นมา ที่เรียกว่า ‘Pippin Power Player’ ซึ่งความพิเศษของเครื่องเกมตัวนี้คือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตามความต้องการของคนเล่นเกมในยุคนั้นที่ ‘PlayStation 1’ ของ ‘Sony’ หรือ ‘Nintendo 64’ ของ ‘Nintendo’ ก็ไม่มี
ตัวเครื่องสามารถแสดงผล 3D ผ่านการเล่นแบบ CD-ROM พร้อมเกมที่จะวางจำหน่ายมากมาย โดยมี ‘Bandai’ เป็นผู้จัดจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นในชื่อ ‘Bandai Pippin’ พร้อมตัวเครื่องสีขาว ที่จะวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นพร้อมเกมจากการ์ตูนมากมาย ที่เรียกความสนใจให้แฟน ๆ ในเดือนมีนาคม 1996 ซึ่งในการพัฒนาเกมลงบน ‘Pippin’ นักพัฒนาจะต้องเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ลงทะเบียนกับ ‘Apple’ เพื่อที่พวกเขาจะได้รับชุดเครื่องมือสำหรับนักพัฒนาเกม ตลอดจนได้รับส่วนลดอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ สำหรับเครื่อง ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากเมื่อเทียบกับคู่แข่งอีก 3 ที่ในตลาด ส่วนเกมที่วางจำหน่ายเกือบทั้งหมดก็มาจาก ‘Bandai’ ที่ไม่ค่อยน่าสนใจเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งนั่นก็เป็นเพียงแค่จุดเล็ก ๆ เท่านั้น เพราะสิ่งที่ทำให้เครื่องเกมตัวนี้ตายสนิทอย่างรวดเร็วในเวลาเพียงแค่ 1 ปีนั่นคือเรื่องของราคา
โดยราคาเครื่อง ‘Pippin’ วางจำหน่ายนั้นสูงถึง 600 ดอลลาร์ส่วนที่ญี่ปุ่นก็สูงถึง 650 ดอลลาร์ ขณะที่เครื่องเกม ‘PlayStation 1’ กับ ‘Nintendo 64’ ราคาเพียง 299 ดอลลาร์ที่เรียกว่าถูกกว่าถึง 3 เท่า แม้ตัวเครื่องจะบอกว่าภายในนั้นสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและต่อกับคอมพิวเตอร์ได้ พร้อมกับอุปกรณ์เสริมมากมายมาจูงใจผู้คนซื้อ แต่ด้วยตัวเกมที่มีน้อยไม่น่าสนใจ แถมยังราคาแพงเกินไปจนทำยอดขายไปเพียง 12,000 เครื่องในญี่ปุ่น ขณะที่ต่างประเทศทำได้ไปเพียง 42,000 เครื่อง เมื่อเทียบกับค่าลงทุนพัฒนาบวกกับการขาดทุนอย่างต่อเนื่องของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของ ‘Apple’ ในตอนนั้น จึงต้องใช้การ์ดอัญเชิญสตีฟ จอบส์กลับมาเป็น ‘CEO Apple’ อีกครั้งในปี 1997 ซึ่งหนึ่งในโครงการที่สตีฟ จอบส์ยุบทิ้งไปทันทีเมื่อมาเป็น ‘CEO Apple’ คือการปิดโครงการพัฒนาเครื่องเกม ‘Pippin’ จนมาถึงตอนนี้เราก็ไม่เห็นทาง ‘Apple’ สนใจจะมาลงทุนในตลาดนี้เลย ส่วนใครที่สนใจอยากได้เครื่องเกมตัวนี้มาสะสม ก็พอมีขายอยู่ตามตลาดในราคาที่ไม่แพง เพราะแม้จะถูกผลิตมาน้อยแต่ก็ไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดเลย แม้แต่แฟน ๆ ของ ‘Apple’ ก็ยังสาปส่งเครื่องเกมตัวนี้ ส่วนใครที่มีเครื่องเกมตัวนี้หรือเคยเล่นเครื่องนี้มาแล้วก็เอามาบอกเล่ากันได้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส