Our score
7.3MAFIA III (3)
จุดเด่น
- Soundtrack ชั้นเลิศ
- เนื้อเรื่องในรูปแบบ Cutscene ทำออกมาได้น่าติดตาม
- Motion การขยับปากของตัวละครโคตรล้ำ!
- ถ่ายทอดประเด็นเหยียดสีผิวได้อย่างเจ็บลึก
- ระบบ GPS ที่มีประโยชน์ที่สุดเท่าที่เกมแนว Open World เคยมีมา
จุดสังเกต
- บัคบานตะไท (ทั้งขำๆ และทำให้เล่นต่อไม่ได้)
- การดำเนินเนื้อเรื่องที่ไม่ปะติดปะต่อ
- Gameplay ซ้ำซาก
-
กราฟิก
8.0
-
เกมเพลย์
6.0
-
เนื้อเรื่อง
9.0
-
ความแปลกใหม่
6.0
-
ภาพรวม
7.5
***บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาภายในเกม***
ท่ามกลางเสียงก่นด่า MAFIA III เวอร์ชั่น PC บนแพลตฟอร์ม Steam ด้วยเหตุเพราะ FPS ที่ล็อคเพียง 30 และการพอร์ตแบบลวกๆ (ที่ไม่รู้ว่าปัจจุบันได้รับการแก้ไขแล้วหรือยัง) แต่ข้อครหาดังกล่าว กลับไม่เป็นปัญหาบนเวอร์ชั่น PS4 ถึงกระนั้นจากการที่ผู้เขียนได้ “พยายาม” เล่นจนจบเกม ก็พบว่า MAFIA III อาจ “หักอก” แฟนๆ และผู้ที่คาดหวังว่าตัวเกมจะต้องออกมา “ยอดเยี่ยม” ในทุกๆ ด้าน แต่สำหรับใครที่รักและชื่นชอบในเนื้อเรื่องและองค์ประกอบยิบย่อยต่างๆ ที่เมื่อดู/ฟัง/อ่านก็จะรู้ได้ทันทีว่าผู้พัฒนา “ใส่ใจ” เช่น บทสนทนา และข้อความแฝง ที่สอดแทรกประเด็นการเหยียดสีผิวในทุกๆ จุดภายในเกมที่ผู้เล่นอาจจะมองข้ามไป ก็จะรู้สึกได้ทันทีว่า MAFIA III เป็นอีกหนึ่งเกมที่ถูกสร้างมาอย่างละเมียดละมัย เพียงแต่พวกเขาอาจหลงลืมไปว่าสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ของเกม คือ “ระบบเกมเพลย์ที่มัดผู้เล่นไม่ให้ลุกจากเก้าอี้” มากกว่า “ความพิธีพิธันใส่ใจด้านอื่นๆ“
STORY
“มันคือถนนเส้นเดียวนะลินคอล์น และถ้าลูกเลือกไปเมื่อไหร่ มันไม่มีจุดให้ย้อนกลับหรอกนะ” – หลวงพ่อเจมส์ –
แม้ภาค 2 จะเป็นภาคเดียวที่ผู้เขียนเคยเล่น แต่ประสบการณ์ที่ได้จากในเกมภาคดังกล่าวก็ทำให้ผู้เขียนกล้ายืนยันได้ว่ามันคือ “ซีรีส์เกมที่มีเนื้อเรื่องน่าสนใจมากซีรีส์หนึ่ง” ด้วยเรื่องราวอันน่าติดตาม การหักเหลี่ยมเฉีอนคมที่ราวกับภาพยนตร์แนวอาชญกรรม-ดราม่า (The Godfather 1 – 3, Goodfellas) บทสนทนาอันคมคาย ตัวละครเอกมีเสน่ห์และมีมิติ เป็นต้น ซึ่งมาในภาค 3 นี้เอง เนื้อเรื่องก็ยังคงเป็นจุดที่ดีและเด่นของเกมอยู่เช่นเคย เพียงแต่ในคราวนี้ผู้พัฒนาได้ทำให้มันจับต้องได้มากกว่าเดิม ด้วยการนำเสนอเรื่องราวภายในเกมผ่านการดัดแปลงหน้าประวัติศาสตร์จริงที่ย้อนกลับไปในปีค.ศ. 1968 ช่วงเวลาที่กลุ่มคนผิวสียังคงถูก “เหยียดหยาม” อยู่ แม้จะผ่านช่วงเวลาการเลิกทาสมานานมากแล้วก็ตาม (ตั้งแต่ค.ศ. 1865)
แม้จะอยู่ในยุคสมัยที่ความเป็นธรรมเรียงลำดับความสำคัญตามสีผิว แต่การล้างแค้น “ไม่แบ่งแยกชนชั้น”
Lincoln Clay อดีตทหารผ่านศึก ผู้เคยผ่านสมรภูมิรบอันโหดร้ายในเวียดนาม คือตัวละครที่ผู้เล่นจะได้สวมบทบาทภายในเกมเพื่อตามล้างแค้น Sal Marcano หัวหน้าแก๊งมาเฟียรายใหญ่ที่ปกครอง New Bordeaux และพร้อมที่จะเชือดคอแก๊งเบี้ยล่างทุกเมื่อหากเห็นว่าไร้ซึ่งผลประโยชน์ และแก๊ง Black Mob ที่มี Sammy Robinson เป็นหัวหน้าและพ่วงสถานะพ่อบุญธรรมที่ Lincoln เคารพรัก คือไม้ตายซากที่ Sal Marcano ต้องการเขี่ยทิ้ง
Lincoln ได้ร่วมออกปล้นปล้นเงินในธนาคารกลางกับ Giorgi Marcano ลูกชายของ Sal ผลลัพธ์นั้นสำเร็จไปได้ด้วยดี เงินส่วนแบ่งที่ Lincoln ได้ในเหตุการณ์ปล้นครั้งนี้ เขาคิดจะมาชดใช้ความเสียหายที่แก๊ง Black Mob ได้ทำไว้กับ Sal Marcano และซื้อความเชื่อใจกลับคืนมา “แต่มันก็สายเกินไป” เพราะ Sal ต้องการจะฮุบเงินไว้เป็นของตัวเองเพียงคนเดียว โดย Sal และลูกของเขาได้สังหารเพื่อนและครอบครัวของ Lincoln ทุกคนในบาร์เหล้าของ Sam ในขณะที่พวกเขากำลังเฉลิมฉลองการปล้นสำเร็จ ในเหตุการณ์ดังกล่าว Lincoln เป็นคนเดียวที่รอดจากการสังหารหมู่และได้รับการช่วยเหลือจากหลวงพ่อ James อีกหนึ่งคนสำคัญที่ชุบเลี้ยง Lincoln ให้เติบโตด้วยหลักคำสอนของพระเจ้า
Lincoln ฟื้นตัวจากอาการโคม่าภายใต้การดูแลรักษาของหลวงพ่อ James เขาลืมตาขึ้นพร้อมความเคียดแค้นที่ต้องการให้ Sal สูญเสียทุกอย่างเหมือนที่เขาได้รับ Lincoln จึงได้ติดต่อ John Donovan อดีตเจ้าหน้าที่ CIA เพื่อนสนิทของเขาสมัยร่วมรบในสงครามเวียดนาม ให้ช่วยเหลือและแทรกแซงองค์กรภายในของ Sal เพื่อค่อยๆ บ่อนทำลายจากจุดล่างสุดไปจนถึงยอดของบรรลังก์ (Sal Marcano) พร้อมทั้งการช่วยเหลือจาก 3 หัวหน้าแก๊งใหญ่ที่ต้องการจะโค่นอำนาจของ Sal Marcano เช่นเดียวกันอย่าง Cassandra, Thomas Burke และ Vito Scaletta ตัวเอกจาก MAFIA II
งานเลี้ยงรื่นเริง (ครั้งสุดท้าย) ต้อนรับการกลับมาของ Lincoln Clay
หลวงพ่อ James ตัวละครที่คอยเตือนสติ Lincoln (และผู้เล่น) ไม่ให้จมลงสู่วังวงแห่งความเคียดแค้น
การดัดแปลงเรื่องราวจากประวัติศาสตร์จริงในยุคที่คนผิวสียังคง “ทุกข์ทน” กับการถูกเหยียดผิว (ชนชั้น) และเส้นเรื่องที่ถูกแต่งสร้างอันว่าด้วยเรื่องของการ “ชำระแค้น” เป็น 2 องค์ประกอบที่ขับส่งกันได้อย่างดีเยี่ยมทั้งในขณะที่ผู้เล่นกำลังดำเนินเนื้อเรื่องหลัก ซึ่งมีหลายครั้งที่ผู้เล่นจะพบเจอข้อความแฝงต่างๆ ที่เห็นได้ว่าคนผิวสีนั้นยังมีสภาพเป็น “ทาส” อยู่ เช่นในภารกิจต้นๆ ของเกม ผู้เล่นจะต้องไปช่วยปลดปล่อยผู้หญิงขายบริการที่ล้วนเป็นสาว “ผิวสี” หรือแม้แต่รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ที่อยู่ภายในเกม เช่น บางช่วงของวิทยุจะมีบทสนทนาที่บอกว่ากลุ่มคนผิวสีนำพามาซึ่งโรดเอดส์ หรือ เป็นตัวการในการแพร่เชื้อโรคร้ายต่างๆ ข้อความบนกระดาษที่ทิ้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ ที่บรรยายถึงความทรมานที่ต้องมาทำงานในเมืองแห่งนี้ หรือแม้แต่การโกหกครอบครัวว่ามาทำงานสุจริตแต่โน๊ตที่ผู้เล่นได้อ่านเจอดังกล่าวนั้นกลับอยู่ที่ซ่อง ซึ่งหากดูจากสภาพแวดล้อมและบรรยากาศภายในเกม ก็อาจจะพอเดาๆ ได้ว่าบรรดาโน๊ตดังกล่าวที่ผู้เขียนเจอเป็นของชาวผิวสีทั้งหมด
จากการรวมองค์ประกอบของเนื้อเรื่องทั้ง 2 นั้น อาจเป็นไปได้ว่าผู้พัฒนาเกมต้องการให้ Lincoln Clay คือตัวแทนในการ “ระบายความเจ็บปวดที่อยู่ในส่วนลึกของจิตใจที่อัดอั้นมาอย่างนาวนานของคนผิวสี” ผ่านเส้นเรื่องที่ถูกแต่งสร้างออกมาเพื่อให้ตัวละครเอกของเราเป็นเพียงทหารผ่านศึกผิวสีธรรมดาแต่สามารถตาม “ชำระแค้น” เจ้าพ่อผิวขาวผู้มีอำนาจปกครอง New Bordeaux ได้ ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้น ผู้เขียนต้องบอกเลยว่าทำออกมาได้อย่างดีเยี่ยมและลงตัว และถึงแม้การดำเนินเนื้อเรื่องจะไม่ปะติดปะต่อ (จะเสริมอีกทีในหัวข้อ Gameplay) แต่กระนั้นบทสนทนาที่ฝังข้อคิด (ที่เท่และคมคายโดยเฉพาะหลายๆ บทพูดของหลวงพ่อ James) และรายละเอียดปลีกย่อยทั้งในรูปแบบการอ่าน/ฟัง/เห็น ก็ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างตั้งใจ ไม่สิ “ใส่ใจ” มากกว่า ทำให้เนื้อเรื่องยังคงเป็นสิ่งที่ MAFIA III ยังคงทำได้ดี แม้จะไม่หักเหลี่ยมเฉือนคมมีเล่ห์เหลี่ยมแวววับเหมือนในภาค 2 แต่กลับใช้การเล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมาที่ถูกเสริมส่งด้วยรายละเอียดปลีกย่อยที่ค่อยๆ ให้ผู้เล่นได้ซึบซับความเจ็บปวดที่กลุ่มคนผิวสีถูกกระทำจากอดีตถึงปัจจุบัน และระบายออกผ่านการตามโค่นล้มราชาแห่ง New Bordeaux ด้วยตัวละครที่มีผิวกายสีดำอันเป็นชนชั้นจำเลยของสังคม (ก่อนที่ปัญหาด้านมนุษยธรรมดังกล่าวจะเบาบางลงไปในปัจจุบัน)
GAMEPLAY
แม้ผู้เขียนจะชมเนื้อเรื่องของเกมออกหน้าออกตาราวกับถูกว่าจ้างให้มาเขียน แต่ถ้าให้พูดถึงระบบการเล่นแล้วนั้น ต้องบอกเลยครับว่า “น่าผิดหวังพอสมควร” เพราะผู้เล่นจะได้ทำภารกิจในรูปแบบเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำอีกที ซ้ำอย่างนั้น ซ้ำจนแทบจะอ้อนวอนขอให้เกมเปลี่ยนให้ไปทำอย่างอื่นบ้าง
ในช่วงแรกๆ ตัวเกมจะมีภารกิจที่ขยับเข้าหาเนื้อเรื่องโดยตรง แต่เมื่อได้เข้าสู่ช่วงกลางเกม การดำเนินเนื้อเรื่องจะ “ชะงักและไม่ปะติดปะต่อ” เพราะตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ในแต่ละก้าวที่ขยับเข้าหาเนื้อเรื่อง ผู้เล่นจะต้องยึดเขตแดนจากศัตรูเสียก่อนเรื่องถึงจะเดินต่อ โดยในแต่ละเขตแดนเราจะต้องทำลายเป้าหมายที่ “ซ้ำซาก” เช่น การฆ่าองครักษ์ของหัวหน้าแต่ละอาณาเขต ทำลายกล่องไม้และ/หรือ รถขนส่งของผิดกฎหมาย การจับลูกไล่ของหัวหน้าเขตมาสอบสวน ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ “ต้อง” ทำเพื่อที่จะได้เข้าไปสังหารหัวหน้าใหญ่ในแต่ละเขตแดน และจากนั้นตัวเกมก็จะตัดเข้า Cutscene เนื้อเรื่อง ที่ต้องออกปากชมว่าทำออกมาได้มีคุณภาพมาก ทั้งโมชั่นท่าทาง โดยเฉพาะ “การขยับปาก” ที่ทำไมมันช่างเหมือนของจริงเช่นนี้ แต่เมื่อสิ่งดีงามได้จบลง ผู้เล่นก็จะต้องกลับไปวนซ้ำทำใหม่อีกรอบ ฆ่าองครักษ์ ทำลายของ สอบสวน เจอ Cutscene ที่โคตรดีงาม, ฆ่าองครักษ์ ทำลายของ สอบสวน เจอ Cutscene ที่โคตรดีงาม “จนกว่าจะครบทุกอาณาเขต” และมุ่งหน้าไปภารกิจสุดท้ายของเกม
เนื้อเรื่องใน Cutscene น่าสนใจและน่าติดตาม แต่ต้องแลกมาด้วยความน่าเบื่อของวิธีการดำเนินเนื้อเรื่อง
AI ศัตรูเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือหากถามว่าทำออกมาดีไหม… ก็ไม่เชิงว่าแย่ไปทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้ดีไปซะทุกอย่าง เพียงแต่พฤติกรรม AI ของศัตรูมันแปลกๆ ซึ่งในส่วนที่ดีก็มี เช่น ศัตรูทุกตัวจะไม่หลบอยู่หลังกำบังเพียงอย่างเดียว แต่จะส่งเพื่อนของมันที่ถืออาวุธประเภทจู่โจมเต็มรูปแบบ (ลูกซอง, ปืนกล) มายิงต้อนและโอบล้อมเรา บังคับให้ออกจากที่กำบัง (บางทีที่กำบังก็ถูกทำลาย) หรือเปลี่ยนเป้าหมายไปจัดการมันอย่างเร็วที่สุดแทน และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองศัตรูที่หลบอยู่ในที่กำบังตัวอื่น ก็จะโผล่กระบอกปืนมายิงสวนผู้เล่น ตรงนี้นั้นผู้เขียนจึงมองว่าผู้พัฒนาเขียนคำสั่งของ AI ศัตรูในตอนต่อสู้ออกมาได้ดีพอสมควร
“แต่” ในรูปแบบลอบสังหาร (Stealth) ผู้เล่นจะพบว่า AI ศัตรูภายในเกมนั้น มีวิธีรับมือการรอบเร้นของผู้เล่นได้ “ติงต๊องเหลือหลาย” เพราะตราบใดที่ผู้เล่นยังอยู่ในโหมดดังกล่าวและยังไม่ได้เผยตัว คุณจะกลายเป็น “นักฆ่าไร้เงา” เห็นนิยามคำเท่ๆ ออกมาแบบนี้มันไม่ได้ดีอย่างที่คิดหรอกนะครับ คือ AI ศัตรูในช่วงที่ยังไม่ Alert มันเหมือนคนไม่แคร์สิ่งใดบนโลก ถึงแคร์ก็แคร์แบบชั่ววูบ เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่งผู้เขียนฆ่าศัตรูตัวหนึ่งตายที่หน้าประตูทางเข้าของด่าน แต่ศัตรูตัวอื่นก็เดินเข้ามาดูแล้วทำหน้าตื่นตกใจ และจะค้นหาตัวผู้เล่นแบบ “ขอไปที” ผู้เขียนเลยลองออกไปจากจุดเกิดเหตุเพียงไม่กี่วินาทีแล้วกลับมาดู ก็พบว่าเหตุการณ์ทุกอย่างก็จะกลับคืนสู่ปกติ … ศัตรูตัวดังกล่าวก็จะเดินกลับไปยังที่ของตัวเองราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น!? เรียกได้ว่าระยะในการมองของศัตรูภายในเกมนั้นช่าง “สั้นมาก” และจากความติงต๊องของ AI นี้เองก็ชวนให้ผู้เขียนฉงนนักว่าตัวเกมจะใส่ความสามารถให้ผู้เล่น “แบกศพ” ได้มาทำไม?
การนำศพของศัตรูที่เราสังหารแล้วมากองกันเป็นภูเขา คงจะเป็นเหตุผลที่ตัวเกมใส่ความสามารถ “แบกศพ” เข้ามาให้ล่ะมั้ง?
แต่ภายใต้ความเงอะงะของ AI ก็ยังคงมีระบบที่ยังพอหนุนหลังให้ผู้เล่นมีแรงจูงใจในการยึดแต่ละอาณาเขตอันแสนน่าเบื่อและซ้ำซากอยู่บ้าง คือ การปลดล็อคทักษะของตัวเอกด้วยการ “แบ่งเขตแดนให้กับ 3 หัวหน้าแก๊ง” ผู้ร่วมกันโค่นเจ้าถิ่นใน New Bordeaux แห่งนี้ ซึ่งแต่ละคนจะค่อยๆ อัพเกรดการสนับสนุนผู้เล่นด้วยวิธีการที่ต่างกันออกไปเมื่อพวกเขาได้ผลประโยชน์ตามที่ต้องการในแต่ละระดับ เช่น Cassandra (แก๊งสีม่วง) จะเน้นไปในทางการสนับสนุนผู้เล่นโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น รถขายอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เรียกมาได้ทุกเมื่อ การตัดสัญญาณโทรศัพท์ในกรณีที่ไม่ต้องการให้ NPC ประชาชน โทรหาตำรวจ หรือศัตรูประเภท Sentry ที่จะรีบแจ้นไปหาโทรศัพท์คอยตามกำลังเสริมทุกครั้งหากพบเจอผู้เล่น, Vito Scaletta (แก๊งสีม่วง) จะเน้นในด้านกองกำลังสนับสนุน ทั้งบริการรถด่วนรับฝากเงินเข้าเซฟ (เกมนี้หากผู้เล่นตาย เงินในกระเป๋าจะเหลือครึ่งหนึ่งที่มีอยู่) หรือการโทรหากำลังหนุน (ที่มาไวตายเร็วซะเหลือเกิน) มาช่วยเคลียศัตรูในกรณีที่ผู้เล่นรับมือไม่ไหว, Thomas Burke (แก๊งสีเขียว) จะเน้นการเดินทางและยานพาหนะ ทั้ง บริการขนส่งรถแรงหรือหุ้มเกราะ มาให้ผู้เล่นได้ใช้แบบฟรีๆ การติดสินบนให้ตำรวจไม่ให้ไล่ล่าผู้เล่น ซึ่งนอกจากการสนับสนุนแล้วนั้น พวกเขาทั้ง 3 ยังจะให้อาวุธคุณภาพเยี่ยมไว้ใช้ล้างบางเหล่าศัตรูได้อีกต่างหาก ทำให้การดำเนินเนื้อเรื่องด้วยการยึดอาณาเขตมีความสนุกอยู่บ้าง เพราะยิ่งกวาดล้างมากเท่าไหร่ ตัวเอกของเราจะยิ่งเก่งขึ้นมากเท่านั้น
หัวหน้าแต่ละแก๊งจะปลดล็อคทักษะให้กับตัวเอกได้ไม่เหมือนกัน
กระสุนหมด อยากเปลี่ยนปืน ก็แค่โทรตาม คลังอาวุธ Delivery!
ช่วยหน่อยนะสามหน่อ ขอพักตรงนี้แป๊บ (อย่ารีบตายล่ะ)
รถแรงระเบิดท่อ ไล่เม็ด!
แต่ใช่ว่าหัวหน้าแก๊งทั้ง 3 จะปรองดองกัน เพราะคำว่า “ผลประโยชน์” มันไม่เข้าใครออกใครโดยเฉพาะ “กลุ่มอันธพาล” โดยอาณาเขตภายในเกมจะถูกแบ่งชัดเจนไว้อยู่แล้ว 9 เขต แต่การที่ผู้เล่นจะได้การอัพเกรดทักษะตัวละครเต็มครบทุกระดับจากพวกเขาทั้ง 3 นั้น “เป็นไปไม่ได้” เพราะถึงแม้ตัวเกมจะมีเควสย่อยของพวกเขาทั้ง 3 (ที่ซ้ำซากเหมือนวิธีการดำเนินเนื้อเรื่อง) มาให้ แต่มันก็เป็นแค่เพียงการได้รับ “แต้มใช้การสนับสนุนฟรี” จากบางการสนับสนุนของพวกเขาที่ต้องเสียเงิน (การขอกองกำลังเสริม, ตัดสายโทรศัพท์, ติดสินบนให้ตำรวจเลือกตามล่า) หรือการรู้เรื่องราวของพวกเขามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในจุดนี้ ผู้เล่นคงต้องจัดแบ่งพื้นที่ให้ดีๆ ว่าจะแจกจ่ายให้เท่าๆ กันเพื่อให้ผู้นำทั้ง 3 ไม่ขัดแข้งขัดขาซึ่งกันและกัน หรือจะอยากให้ใครมากกว่าเพื่อที่เขาเหล่านั้นจะให้การอัพเกรดทักษะที่เต็มครบสมบูรณ์แบบกับเรา ก็คงจะแล้วแต่การตัดสินใจของผู้เล่น แต่สิ่งผู้เขียนได้เรียนรู้จากหัวหน้าแก๊งทั้ง 3 คือ “พวกเขาคืออันธพาล ที่ไม่อยากน้อยหน้าไปกว่ากัน”
หัวหน้าแก๊งทั้ง 3 ที่รอการตัดสินใจจากเราเพียงหนึ่งเดียว
Vito คือหัวหน้าแก๊งที่ผู้เขียนให้ความสำคัญมากที่สุด ฮ่าๆ (พอดีซี้กันใน MAFIA II)
นอกเหนือจากระบบการเล่นหลักที่ไม่โอเคเท่าที่ควรแล้วนั้น MAFIA III ยังมีระบบย่อยอื่นๆ ที่ “ดีและแย่ในคราวเดียวกัน” เช่น การขับยานพาหนะภายในเกมที่บังคับได้ยากเอามากๆ ทั้งการเข้าโค้ง หักเลี้ยว และการควบคุมเรือ แต่ในการบังคับที่ยากเย็นก็มีลูกเล่นที่เท่เอาเรื่องอยู่เหมือนกัน เพราะมุมกล้องเวลาเข้าโค้งในเกมนี้จะเคลื่อนที่ตามรถ ซึ่งภาพที่ออกมามันช่างได้อารมณ์ Fast & Furious ฉบับยุค 60 เสียจริงๆ
วินก็วินเถอะ เจอพี่ลินคอล์นสายดริฟหน่อยเป็นไง
และระบบ GPS ที่จะมีป้ายบอกรูปแบบที่ควรขับของเส้นทางข้างหน้า โผล่มาในหัวมุมของซอกซอยหรือจุดที่ผู้เล่นสังเกตได้ชัดเจนภายในเกม ซึ่งผู้เขียนมองว่ามันเจ๋งและดูล้ำยุคดี (ชอบเป็นการส่วนตัว) แถมทำให้เกมเมอร์ที่ชอบขับรถชมวิวในเกมแนว Open World ที่อยากจะขับต่อได้อย่างยาวๆ โดยไร้ซึ่งการกระแทกสิ่งกีดขวาง ไม่เสียฟอร์มแหกโค้งหรือชนอาคารบ้านเรือนในทางข้างหน้าอีกต่างหาก “แต่” ระบบ GPS เกมไหนๆ ก็ยังคงเจอปัญหาเดียวกัน คือหลายครั้ง เส้นทางที่ระบบ GPS แนะนำก็อ้อมโลกกว่าเส้นทางที่ผู้เล่นค้นพบได้เอง หรือความเชื่องช้าในการแนะนำเส้นทางใหม่ในกรณีที่ผู้เล่นเลือกเปลี่ยนเส้นทางอย่างกระทันหัน เป็นต้น
ไม่แน่ใจว่าผู้เขียนขับเร็วเกินไปหรือ GPS ตามไม่ทัน …
ภาพรวมในระบบการเล่น (Gameplay) ของ MAFIA III นั้น หลายๆ อย่างยังทำออกไม่ดีเท่าที่ควรหากนำไปเทียบกับแม่พิมพ์ของบรรดาเกม Open World อย่าง Grand Theft Auto โดยเฉพาะการยึดอาณาเขตเพื่อให้เนื้อเรื่องสามารถดำเนินต่อได้เป็นอะไรที่ “บังคับ”ผู้เล่นจนเกินไป และมันขัดแย้งด้านอารมณ์ที่ปะติดปะต่อกับเนื้อเรื่องอันแสนจะน่าติดตามผ่าน Cutscene คุณภาพสูง และ AI ศัตรูที่ดูติงต๊อง โหมด Combat ดันโหด แต่โหมด Stealth กลับซื่อบื้อซะอย่างนั้น ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าในส่วนของระบบการเล่นนั้น ผู้พัฒนาอาจไม่ได้ใส่ใจเท่ากับเนื้อเรื่อง เพราะหากนำมาเทียบกันในเชิงรายละเอียดก็จะเห็นได้ว่า ในส่วนของเนื้อเรื่องถูกเขียนออกมาได้รัดกุมในระดับหนึ่ง ขณะที่ระบบการเล่นเปรียบเสมือนเค้กที่แต่ละชั้นถูกเติมครีมไม่เท่ากัน บางชั้นบริเวณขอบมีครีมเยอะแต่ตรงกลางน้อย บางชั้นซีกซ้ายพูนๆ แต่ซีกขวาลมตีเข้าสบาย แต่กระนั้นก็พูดได้ไม่เต็มปากว่าระบบการเล่น “ห่วย” เพราะหลายอย่างๆ ของระบบการเล่นก็ทำออกมาได้สนุกดี ทั้งการสังหารศัตรูในทีเดียว (Takedown) ที่ทำออกมาดิบเถื่อนสะใจ หรือระบบ GPS แบบใหม่ที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ ทำให้ระบบการเล่นใน MAFIA III จึงอยู่เกณฑ์ที่ “ดีพอประมาณ” เพราะมีข้อดีและข้อเสียอย่างละครึ่งๆ
Performance
คงเป็นส่วนที่ผู้เขียนมีความรู้น้อยที่สุดและหาข้อเปรียบเทียบได้ยาก เพราะผู้เขียนเองไม่ได้เล่นเกมที่เน้นกราฟฟิกแต่อย่างใด แต่โชคดีที่ MAFIA III มีจุดที่ “เห็นชัด” เป็นอย่างมาก
อย่างที่ผู้เขียนได้ออกปากชมไปก่อนหน้านี้ในระบบการเล่น ฉาก Cutscene คือสิ่งที่ดีงามเป็นอย่างมากของเกมนี้ และผู้เขียนไม่แน่ใจว่าทาง 2K ได้พัฒนาเอนจินกราฟฟิกใหม่หรือเปล่า แต่จากที่ตาเห็นนั้น เสื้อผ้า และโมชั่นการขยับปาก “เหมือนจริงมาก” ผู้เขียนเคยลองจำผิดการขยับปากในฉาก Cutscene ดู และพบว่า “ไม่พลาดแม้แต่จุดเดียว” หนำซ้ำรูปปากในตอนที่เปล่งคำก็ช่างออกมา “ตรงเป๊ะ” กับคำที่พูด ในส่วนนี้ผู้เขียนประทับใจเป็นอย่างมากและใจจดใจจ่อรอที่จะได้ดู Cutscene คุณภาพสูงแบบนี้ แต่ก็ต้องถูกเบรกด้วยวิธีการดำเนินเนื้อเรื่องของเกมตามที่กล่าวไปในส่วนของระบบการเล่น และกรณีที่แย่ที่สุดคือบางครั้งผู้เขียนก็ลืมไปแล้วว่าเรื่องดำเนินไปถึงไหน ต้องเปิดอ่านรื้อความจำในหน้า Journey ของเกม…
ไม่แน่ใจว่าเป็นแค่ในเวอร์ชั่น PS4 หรือเปล่า แต่หลายๆ ครั้งภาพในเกมก็รัน Texture ไม่ทันหรือมีบัคตลกๆ โผล่มาเช่นรถลอย คนลอย เก้าอี้ลอย หรือบัคที่ทำให้ไปต่อไม่ได้เช่น ค้างอยู่ที่หน้าตู้ปฐมพยาบาล (ไอเทมรักษาพลังชีวิตภายในเกม) ยิงศัตรูไม่ตาย เป็นต้น
ดูท่าจะต้อนรับการมาของเรื่อง Dr. Strange…
ทางด้านกราฟิกที่เกมนำเสนอในตอนเล่นนั้นก็ถือว่าทำออกมาได้สวยงามพอสมควร และยิ่งผสมเข้ากับบรรยากาศ สภาพแวดล้อมของปี 1968 ที่ทำออกมาได้ละเมียดละมัยดีและในรายละเอียดด้านนี้เอง ก็ได้ขับส่งให้ข้อความที่แฝงอยู่ในเนื้อเรื่องเข้าถึงได้ง่ายมากกว่าเดิม
ทางด้านเสียงพากษ์ และเพลงประกอบต้องออกปากชมด้วยศัพท์สุภาพว่า “คุณภาพเหลือล้น” หลายครั้งที่ผู้เขียนขับรถเลยป้าย เหตุเพราะฟังบรรดาเพลงที่เต็มไปด้วยมนต์ขลังเหล่านี้จนเพลิน และเสียงพากษ์ที่ฟังแล้วระรื่นหูอีกทั้งยังแบ่งน้ำหนักการพูดได้ดีเยี่ยม ในส่วนนี้คงต้องชมทีมกำกับเสียง เพราะหากขาดส่วนนี้ไปหรือทำไม่ถึง ผู้เขียนจะยิ่งบั่นทอนความรู้สึกที่มีต่อ MAFIA III ลงไปอีก
ภาพรวมของประสิทธิภาพการแสดงต้องบอกออกปากชมว่ามี “จุดที่ดีเยอะกว่าจุดที่แย่” โดยเฉพาะบรรดาเพลงที่คัดสรรมาให้ผู้เล่นได้ฟังตอนขับยานพาหนะหรือแม้แต่ในฉาก Cutscene ที่ส่งให้เนื้อเรื่องดียิ่งขึ้นและอินเข้าไปอีก ทำให้ผู้เล่นยังสามารถนำประสาทรับฟังและรับภาพจากในส่วนนี้ไปหักล้างกับ “ระบบการเล่น” ได้อยู่บ้าง
โดยสรุป MAFIA III มีองค์ประกอบดีๆ หลายอย่างที่เหมาะจะถูกนำไปใช้ในผลงานรูปแบบวรรณกรรม หรือสื่อแขนงภาพยนตร์ มากเสียกว่าจะทำมาในรูปแบบของเกม “ศิลปะรูปแบบหนึ่งที่เน้นให้ผู้เสพ สัมผัสงานได้อย่างใกล้ชิดและลงลึกได้เทียบเท่าหรือมากกว่าศิลปะรูปแบบอื่น” เพราะหากพิจารณาจากภาพรวมทั้งหมดของเกมจะพบว่าสิ่งที่ด้อยคุณภาพที่สุดใน MAFIA III คือ “ระบบการเล่น” อันเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่หนึ่งเกมคุณภาพพึงให้ความสำคัญ แต่กระนั้นก็ใช่ว่าตัวเกมจะไม่สามารถมอบความสนุกให้กับผู้เล่นในส่วนนี้ได้ ความดิบเถื่อน การถูกกดดันจากกระสุนที่ AI ศัตรูประเคนเข้ามา การลอบสังหารศัตรูทำให้ผู้เล่นรู้สึกเป็น “นักฆ่าไร้เงา” การถล่มรังศัตรูที่ราวกับหนังแอคชั่นพระเอกไร้พ่าย สิ่งเหล่านี้ยังคงตอบโจทย์ให้ผู้เล่นได้อยู่
แต่หากมองในอีกแง่หนึ่ง การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะสักชิ้นขึ้นมา เราคงไม่สามารถให้ความสมบูรณ์แบบกับทุกองค์ประกอบในงานได้ เพราะเมื่อมีส่วนใดที่เด่นชัดมากกว่าส่วนอื่น ส่วนที่เหลือก็จะกลายเป็นเพียงจุดรอง และยิ่งเมื่อส่วนที่เด่นอยู่นั้นมีคุณภาพคับแน่น จุดรองที่อยู่ในงานชิ้นเดียวกันจะกลายเป็น “จุดด้อย” ไปในทันที