Our score
6.5[รีวิวเกม] Total War: PHARAOH เหล้าเก่าในขวดใหม่ ยังสนุกแบบ “ได้อยู่”
จุดเด่น
- ระบบเกมใหม่ช่วยทำให้การเล่นแคมเปญลุ่มลึกและสนุกขึ้น
- การออกแบบกราฟิกมีความสวยงาม ผสมผสานศิลปะแบบอียิปต์ได้ลงตัว
- กราฟิกในฉากคัตซีนต่าง ๆ สวยงาม มีรายละเอียดที่ดี
จุดสังเกต
- การออกแบบยูนิตทหารไม่ค่อยหลากหลาย ทำให้ความสนุกในส่วนของการต่อสู้ลดลง
- เสียงเพลงประกอบไม่น่าประทับใจเท่าไร
- หน้าต่าง UI และ Interface ต่าง ๆ ดูยาก
Total War: PHARAOH เป็นเกมล่าสุดจากแฟรนไชส์ Total War ที่ครั้งนี้เราจะได้ย้อนเวลากลับไปช่วงยุคสำริด (Bronz Age) สวมบทบาทผู้นำของชนชาติต่าง ๆ แห่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยยิ่งใหญ่และเป็นถึงแหล่งกำเนิดอารยธรรมของโลก! สำหรับใครที่อยากรู้รีวิวเกม Total War: PHARAOH ว่ามีระบบอะไรใหม่ที่น่าสนใจ ตัวเกมสนุก น่าเล่น คุ้มเงินหรือไม่ เรามีข้อมูลมาฝากเป็นตัวช่วยตัดสินใจแล้ว
Total War: PHARAOH ผลิตโดยผู้พัฒนาอย่าง Creative Assembly และจัดจำหน่ายโดย Sega วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2023 บนแพลตฟอร์ม Steam เรื่องราวของภาคนี้จะมีฉากหลังอยู่ในช่วง 1200 ปีก่อนคริสตกาล รัชสมัยของฟาโรห์ Merneptah ผู้เป็นบุตรของ Ramesses II (รามเสสที่ 2) ซึ่งเป็นช่วงปลายยุคทองของอียิปต์และชนชาติลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟติสกำลังเข้าสู่ช่วงล่มสลาย โดยเราจะได้รับบทบาทเป็นผู้นำของ 3 ชนชาติ และวางกลยุทธ์เพื่อพาอาณาจักรไปสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง หรืออาจจะเป็นทางสู่การล่มสลาย ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับตัวเรา
ระบบพื้นฐานภายในเกม
Total War: PHARAOH ยังคงมาพร้อมระบบเกมที่สามารถเลือกเล่นได้ทั้งแบบ Single player และ Multiplayer โดยรองรับผู้เล่นได้ตั้งแต่ 1 – 8 คน นอกจากนี้ยังสามารถปรับแต่งแคมเปญก่อนเริ่มเล่นได้ค่อนข้างอิสระ ทำให้การเล่นเกมหลากหลายขึ้น สามารถปรับให้ตรงกับความต้องการและสไตล์การเล่นของแต่ละคนได้
แฟกชัน (Faction) หรือเผ่า/ชนชาติที่เราสามารถเลือกเล่นได้สำหรับตัวเกมภาคหลักนี้จะมีมาให้เลือกเล่น 3 แฟกชัน คือ อียิปต์ (Egypt) ประกอบไปด้วย Ramesses III, Seti, Taurset และ Amenmesse คานาอันไนต์ (Canaanites) ประกอบไปด้วย Irsu และ Bay ส่วนแฟกชันสุดท้ายคือ ฮิตไทต์ (Hittite) ประกอบไปด้วย Suppiluliuma และ Kurunta
แต่ละแฟกชันจะมีสิ่งก่อสร้างพิเศษต่างกันออกไปแต่ไม่ค่อยส่งผลต่อระบบเกมเท่าไร สิ่งที่แตกต่างกันชัดเจนจะเป็นส่วนของยูนิตทหารต่าง ๆ ที่มีทั้งทหารตามพื้นที่และทหารประจำตัว
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
Legitimacy
ระบบค่า Legitimacy หรือความชอบธรรมเป็นแต้มที่สามารถนำไปใช้ในระบบ Power of the Crown ได้ หากค่านี้ของเราเพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่กำหนดไว้ก็จะสามารถก่อสงครามกลางเมืองเพื่อชิงบัลลังก์ได้ด้วย
Royal Court
ระบบ Royal Court เป็นระบบการเมืองที่เข้ามาเพิ่มความสนุกและหลากหลายในการเล่นแคมเปญมากขึ้น โดยจะแสดงตำแหน่งต่าง ๆ ของฟาโรห์และผู้ปกครองในเวลานั้น เราสามารถเลือกทำแอ็กชันต่าง ๆ เพื่อเพิ่มค่าความชอบธรรมของตัวเองได้
Ancient Legacy
เป็นอีกระบบที่ช่วยเพิ่มมิติให้กับการเล่น Total War: PHARAOH โดยจะเป็นเควสต์พิเศษให้เลือก 4 สายด้วยกัน คือ สาย Conqueror (สงคราม), สาย Heretic (ศาสนา), สาย Merchant (การค้า) และสาย Builder (สร้างสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์) ถือว่าช่วยเพิ่มความสนุกระหว่างแคมเปญได้เป็นอย่างดี
Dieties
ระบบศาสนาและวัฒนธรรม เมื่อเล่นแคมเปญไประยะหนึ่งเราจะปลดล็อกเทพองค์ใหม่ ๆ ของแต่ละแฟกชัน ทำให้สามารถเลือกบูชาเทพที่เราต้องการได้ ซึ่งเทพแต่ละองค์ก็จะช่วยเพิ่มค่าสถานะแตกต่างกันออกไป
Outpost
เมืองหน้าด่าน (Outpost) เป็นระบบเมืองแบบพิเศษที่เพิ่มเข้ามาใน Total War: PHARAOH โดยแต่ละเมืองหลักจะมีเมืองหน้าด่านประมาณ 2 – 4 จุด เราสามารถเลือกสร้างป้อม จุดพัก วิหารเทพเจ้า หรือสิ่งก่อสร้างอื่นเพื่อรับบัฟ (Buff) พิเศษจากสถานที่ก่อสร้างในเมืองนั้นได้ ถือว่าเป็นอีกระบบที่น่าสนใจเพราะช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับการเล่นมากขึ้น
Royal Decree
ระบบ Royal Decree ก็คือแผนผังการวิจัยเทคโนโลยีต่าง ๆ นั่นเอง โดยในภาคนี้จะเปลี่ยน UI ให้เป็นแนวอียิปต์ที่สวยงาม มีแยกเป็น 3 สายหลักคล้ายกับภาคเดิม ๆ โดยเราสามารถเลือกวิจัยเพื่อรับบัฟพิเศษได้
ฟีเจอร์อื่น ๆ
นอกจากฟีเจอร์ใหม่ที่น่าสนใจของเกม Total War: PHARAOH แล้ว ตัวเกมยังมีฟีเจอร์อื่น ๆ เข้ามาเพิ่มความลุ่มลึกให้กับการเล่นแคมเปญ อย่างเช่น ระบบการแลกเปลี่ยนทรัพยากร 5 แบบ ไม่ได้มีแค่เงินหรือทองเท่านั้น แต่มีทั้งอาหาร หิน สำริด ไม้ และทอง ทำให้ได้กลิ่นอายแบบยุคสำริดมากขึ้น ตรงจุดนี้ทำให้เวลาเราแลกเปลี่ยนสินค้ากับพันธมิตรหรือผู้นำคนอื่น ต้องดูด้วยว่าแต่ละคน แต่ละเมือง มีความต้องการทรัพยากรอะไรและไม่ต้องการอะไร
นอกจากนี้ยังมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ในระหว่างการต่อสู้ ส่งผลต่อการวางแผนกลยุทธ์และส่งผลกระทบต่อความสามารถของยูนิตทหารบางยูนิต ซึ่งอาจทำให้มีความสามารถพิเศษเพิ่มขึ้นหรืออาจเป็นอุปสรรคในการต่อสู้ก็ได้
ส่วนระบบการทูตยังคงเหมือนเดิม ไม่แตกต่างจาก Total War ภาคอื่น ๆ มากนักเพราะถือเป็นระบบพื้นฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาก็คือความหลากหลายของการทำสัญญาแลกเปลี่ยนทรัพยากรตามที่เราได้กล่าวไปข้างต้น
จุดสังเกตที่ควรรู้ก่อนเล่น Total War: PHARAOH
สำหรับคุณภาพด้านกราฟิกนั้นไม่ว่าจะเป็นฉากคัตซีนหรือกราฟิกในเกมต้องถือว่าสวยงามตามท้องเรื่องและลงรายละเอียดต่าง ๆ ได้ดี นอกจากนี้ภาพอาร์ตต่าง ๆ ภายในเกมที่ทำออกมาสไตล์อียิปต์ยังมีความสวยงามแปลกตาอยู่ไม่น้อย
แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของของหน้าต่าง UI และ Interface ถือว่าทำให้รู้สึกหงุดหงิดพอสมควรเพราะดูยากมาก ไม่ว่าจะเป็นไอคอนสิ่งก่อสร้างที่แม้จะแยกสีตามประเภทมาให้ แต่ตัวไอคอนออกแบบมาคล้ายกันแถมสีก็ไม่ต่างกันจนบางทีก็ทำให้การเล่นไม่ราบรื่นเท่าที่ควร
นอกจากนี้ในส่วนของยูนิตการ์ดหรือหน้าต่างแสดงรายละเอียดของทหารประเภทต่าง ๆ แม้จะดูค่าสถานะได้ง่าย แต่รายละเอียดอื่นกลับอ่านยาก แถมการออกแบบมาให้เราเลือกเปลี่ยนยูนิตการ์ดเป็นแบบ 3D หรือ 2D สไตล์อียิปต์ได้ก็ไม่ช่วยอะไรด้วย (มีผลแค่ในเรื่องความสวยงาม ซึ่งเราสามารถเลือกปรับได้ตามชอบว่าอยากให้ยูนิตการ์ดแสดงผลแบบไหน)
จุดอ่อนอีกหนึ่งจุดที่รู้สึกว่าแอบผิดหวังเล็กน้อยสำหรับ Total War: PHARAOH ก็คือระบบการต่อสู้ เนื่องจากภาคนี้ไม่มีทั้งทหารม้า เครื่องยิง และการรบทางน้ำ ทำให้การเข้าสู่สนามรบที่มีแค่ทหารราบเดินเท้านั้นจืดชืดไปหน่อย ถึงจะมียูนิตรถศึกมาแต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกตื่นเต้นขึ้น ส่วนระบบใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในภาคนี้อย่างระบบ Stance (สั่งถอยโดยหันหน้าเข้าหาศัตรู) ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีประโยชน์ขนาดนั้น
ที่สำคัญการออกแบบทหารทั้งในสนามรบและการแสดงผลในยูนิตการ์ดนั้นต้องบอกว่าน่าเสียดายเพราะไม่ค่อยมีความหลากหลายเท่าไร ทหารท้องถิ่นและทหารพิเศษประจำตัวของผู้นำแต่ละคนแทบจะไม่แตกต่างกัน ใครชื่นชอบรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ตรงนี้อาจผิดหวังได้
สรุป
Total War: PHARAOH ถือเป็นเกมตระกูล Total War อีกภาคที่ความสนุกอยู่ในระดับกลาง ๆ ระบบการต่อสู้และการออกแบบทหารไม่มีความหลากหลายจนทำให้สนามรบค่อนข้างจืดไปเล็กน้อยทั้งที่การต่อสู้และวางแผนกลยุทธ์แบบเรียลไทม์คือเสน่ห์ของ Total War แต่ด้วยความที่ยูนิตทหารถูกจำกัดด้วยกรอบอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ในยุคสำริด จึงลดเสน่ห์ตรงส่วนนี้ไปพอสมควร แถมการออกแบบทหารแต่ละกลุ่มยังคล้ายกัน ไม่ว่าจะฝ่ายเราหรือศัตรูยูนิตก็ดูเหมือนกันไปหมดอีกต่างหาก
แต่เกมถูกทดแทนด้วยระบบแคมเปญที่ลุ่มลึก เพราะฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในภาคนี้ทำให้การเล่นแคมเปญมีมิติมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการเมือง การแลกเปลี่ยน การทูต ไปจนถึงการสร้างอารยธรรมของเราเอง นอกจากนี้ตัวละครยังสามารถพัฒนาทั้งในด้านของความสามารถ อุปกรณ์สวมใส่ และเมื่อเราพิชิตเมืองหรือสร้างอารยธรรมให้ยิ่งใหญ่ขึ้นได้ก็จะปลดล็อก Title หรือสมญานามให้กับตัวละครพร้อมรับบัฟพิเศษจากสมญานามนั้นได้ด้วย
โดยสรุปใครที่กำลังตัดสินใจว่า Total War: PHARAOH น่าเล่นหรือไม่ ต้องบอกว่าตัวเกมมีความลึกในระดับหนึ่ง ฟีเจอร์ใหม่ที่เข้ามาช่วยเพิ่มความสนุกให้กับการเล่นแคมเปญได้ดี สามารถเล่นได้เพลิน ๆ ถือเป็นเกมดูดเวลาได้เหมือนกัน แต่หากซื้อราคาเต็มอาจแพงไปสักหน่อยเพราะตัวเกมไม่ได้มีความหลากหลายหรือแปลกใหม่ชวนว้าวขนาดนั้น แถมความสนุกในการต่อสู้ยังน้อยกว่าภาคอื่นพอสมควร
Total War: PHARAOH วางจำหน่ายแล้วบนแพลตฟอร์ม Steam ราคา 1,390 บาท
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส