Our score
8.4The Last Guardian
จุดเด่น
- รีดประสิทธิภาพด้านกราฟิกของ PS4 ออกมาได้อย่างดีเยี่ยม
- ปริศนาต่างๆ ภายในเกม เรียบง่ายแต่ชาญฉลาด
- การเคลื่อนไหว (Motion Capture) ของ Trico ลื่นไหลราวกับมีชีวิตจริงๆ
- ดนตรีประกอบทรงพลัง
- ช่วงกลางและท้ายของเกมจะทำให้ผู้เล่นแงะคอนโทรลเลอร์ออกจากมือไม่ออก!
จุดสังเกต
- อาจต้องปรับตัวกับการบังคับภายในเกมอยู่พักใหญ่ๆ
- การดำเนินเรื่องช่วงแรกของเกมนิ่งพอสมควร
- เฟรมเรตตกหลายฉาก ทั้งไม่มีผลอะไรกับการเล่นและอาจทำให้เสียอรรถรส
-
กราฟิก
8.0
-
รูปแบบการเล่น
8.0
-
ความแปลกใหม่
9.0
-
ความคุ้มค่า
8.5
-
ภาพรวม
8.5
“10 ปี” เป็นเวลาที่นานเอาเรื่องจริงๆ สำหรับการจะสร้างเกมเกมหนึ่งออกมา ไหนจะต้องคำนึงถึงกราฟิกและระบบการเล่นที่ต้องปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย ไหนจะทั้งความกดดันของเหล่าเกมเมอร์ที่ตั้งตารอชื่นชม (หรือก่นด่า?) เกมที่พวกเขาใฝ่ฝันจะได้สัมผัส The Last Guardian นั้น คือหนึ่งในเกมที่ต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งหลายตามที่เกริ่นไป แต่ที่ดูจะพิเศษกว่าชาวบ้านชาวช่องเขาคงจะเป็นชื่อเสียงของนาย Fumito Ueda (ฟุมิโตะ อุเอดะ) ผู้ที่เคยฝากผลงานขึ้นหึ้งไว้บนเครื่องเล่น PlayStation 2 ถึงสองเกมอย่าง Ico และ Shadow of Colossus ที่ทำให้แฟนๆ ทั้งหลายต่างก็ตั้งความหวังไว้สูงลิ่วในผลงานล่าสุดของเขา มันจะดีสมการรอคอย 3,650 วัน หรือมันจะแย่จนอยากย้อนวันวานที่ตั้งฝัน!? เชิญค้นหาคำตอบได้ในบทความรีวิวนี้เลยครับผม 🙂
STORY
เนื้อเรื่องเป็นส่วนที่ผู้เขียนลำบากใจที่สุดที่จะเปิดเผยให้ผู้อ่านได้รับรู้เพราะมันคือ “ส่วนที่ดีที่สุด” ของเกมนี้ แม้มันจะใช้สูตรสำเร็จที่ผู้เขียนจำกัดความมันขึ้นมาเองอย่าง “2 คนบนโลกกว้าง” (The Last of Us, Bioshock Infinite, Brothers: A Tale of Two Sons ) ก็ตาม แต่ดูเหมือนรูปแบบดังกล่าวยังคงมีศักยภาพมากพอที่จะขับส่งให้ผู้เล่นมีความรู้สึกผูกพันธ์และเกิดอารมณ์ร่วมต่างๆ ไปกับตัวละครภายในเกมได้อย่างดิบดี ซึ่งใน The Last Guardian เอง ก็ได้บิดดัดสูตรสำเร็จดังกล่าวด้วยการเปลี่ยนความสัมพันธ์จาก คน – คน เป็น “คน – สัตว์ (ประหลาด)” ส่งผลให้เกิดเป็นมิตรภาพต่างพันธ์ที่แม้ สรีระ พละกำลัง ความสามารถ จะจัดให้ทั้งสองเป็นสิ่งมีชีวิตคนละประเภท แต่ทั้งคู่กลับสื่อสาร พึ่งพา และเข้าใจซึ่งกันและกันราวกับไม่มีกำแพงสายพันธ์มาขวางกั้น แต่แน่นอนว่า “มิตรภาพไม่ได้เริ่มจากร้อย” และยิ่งเป็นมนุษย์กับสัตว์ (ประหลาด) แล้วนั้น ความสัมพันธ์จึงเริ่มต้น “น้อยกว่าศูนย์”
ผู้เล่นจะได้รับบทเป็นหนูน้อยคนหนึ่งที่ผู้เขียนเองก็ไม่ทราบเชื้อชาติ/สัญชาติ (แต่ให้เดาๆ อาจจะเทือกๆ คนทิเบตหรือเปล่า?) ประวัติ หรือแม้แต่ชื่อ โดยนอกจากพ่อหนูคนนี้แล้วนั้น เรายังจะมีเพื่อนร่วมเดินทางเป็นสัตว์ประหลาดตัวใหญ่ยักษ์ที่ผู้เขียนก็ไม่ทราบรายละเอียดใดๆ เลยอีกเช่นกัน (กริฟฟินล่ะมั้งครับ?) รู้เพียงแต่หนูน้อยของเราตั้งชื่อให้ว่า Trico เอาง่ายๆ ว่า “ตัวเกมไม่ได้บอกอะไรเราที่ชัดเจน และไม่มีเอกสารให้ตามเก็บเพื่อนำเรื่องราวต่างๆ มาร้อยเรียงปะติดปะต่อ” ผู้เล่นจะไม่รู้ว่าทำไมเราถึงตื่นมาเจอกับสัตว์ประหลาดตัวดังกล่าวนอนสลบอยู่บนกองเลือดพร้อมถูกโซ่ล่ามไว้ที่คอ ผู้เล่นจะไม่รู้ว่าซากปรักหักพังแห่งนี้คือที่ไหน รู้เพียงแค่ที่แห่งนี้ไม่ใช่ที่ที่คุ้นเคยของตัวละครเอกเราและเขาพยายามหาทางออกไปจากที่นี่พร้อมกับ Trico สัตว์ประหลาดหน้าตาน่ารักน่าชังที่ติดสอยห้อยตามเราไปด้วย ซึ่งเมื่อการเดินทางเริ่มต้นความจริงต่างๆ จึงค่อยๆ เปิดเผยว่าเหตุใด ทั้งสองจึงมี “ชะตาร่วมกัน”
หากใครที่เคยได้สัมผัสผลงานเก่าสักชิ้นของนาย Fumito Ueda (ฟุมิโตะ อุเอดะ) ก็อาจจะคุ้นชิน (ล่ะมั้ง?) ในการนำเสนอเรื่องราวของเขา อุเอดะจะโยนตัวละครเอกลงไปในสถานที่โบราณสถานแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยปริศนา และไม่ทิ้งประวัติศาสตร์ หรือข้อมูลเชิงเอกสารใดๆ ไว้ อุเอดะมักจะสร้างตัวละครเอกให้ออกมา “ธรรมดาที่สุด” ยืนพื้นที่สุด ไร้ซึ่งพลัง ไร้ซึ่งมนตรา แต่กลับต้องอยู่ในสถานที่ที่ข้องเกี่ยวกับเวทย์มนต์และเต็มไปด้วยศัตรูที่ “แข็งแกร่งกว่า” อีกทั้งต้องแบกรับภาระอันใหญ่หลวงไว้เบื้องหลัง (ใน Ico เราจะได้รับบทเป็นเด็กหนุ่มที่เกิดมาพร้อมกับเขาปริศนาที่ต้องปกป้องหญิงสาวลึกลับจากอสูรแห่งเงามืด และใน Shadow of Colossus ผู้เล่นจะได้รับบทเป็นบุรุษธรรมดาที่ต้องออกปราบเหล่าสัตว์อสูรขนาดใหญ่ยักษ์ทั้ง 16 ตนในดินแดนต้องห้ามตามคำขอของเสียงปริศนาที่ให้คำสัตย์กับเขาว่าจะชุบชีวิตคนรักให้ ) ซึ่งใน The Last Guardian เองก็ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทุกอย่างของอุเอดะ แต่ที่ดูจะแตกต่างจากผลงานชิ้นเก่าๆ คงจะเป็นความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งสองที่ละมุนละไมให้ความรู้สึกราวกับแตะต้องได้ (ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบด้านกราฟิกและ Motion Capture ในเกมนี้) แม้ในช่วงแรกของเกม เจ้า Trico จะตามติดหนูน้อยเพราะความจำเป็น แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงกลาง-ท้ายของเกม ผู้เล่นจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านกิริยา/ท่าทาง/การแสดงออกของเจ้าสัตว์ประหลาดหน้าตาน่ารักตัวนี้ที่มีต่อหนูน้อย จากสิ่งมีชีวิตสองประเภทที่จำใจต้องอยู่ด้วยกัน ค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นมิตรภาพต่างพันธ์ที่ถูกหลอมรวมผ่านอุปสรรคและความจริงที่ค่อยๆ คลี่คลายตลอดการเดินทาง ก่อนจะปิดท้ายด้วยฉากจบที่ผู้เขียนรับรองได้ว่าจะ “ตราตรึงใจผู้เล่นไม่น้อยไปกว่าเกมคุณภาพใดๆ ที่เคยมีมา”
แต่ข้อดีของเกมก็เป็นข้อเสียได้เช่นเดียวกัน เพราะในช่วงแรกของเกมนั้นจะไม่เปิดเผยข้อมูลอะไร ซึ่งกว่าจะรู้เรื่องราวต่างๆ อีกทีก็ตอนเข้าสู่ช่วงกลาง-ท้ายเกม รวมไปถึงไม่มีเอกสารที่บ่งบอกรายละเอียดปลีกย่อยใดๆ ที่จะเติมเต็มมิติจักรวาลของเกม (แม้แต่ชื่อของหนูน้อยตัวละครที่เราบังคับก็ยังไม่เปิดเผย) ทำให้ผู้เล่นต้อง “ตีความ” นัยต่างๆ ที่พบเจอเอาเอง ทำให้ช่วงแรกของเกมอาจทำให้ผู้เล่นเกิดอาการชะงัก แต่ถ้าผ่านช่วงดังกล่าวไปได้ (ใบ้ให้นิดหนึ่งว่าเป็นฉากที่ทั้งสองต้องข้ามสะพาน) “ความสนุกและเรื่องราวจึงเริ่มน่าติดตามขึ้นอย่างก้าวกระโดด”
GAMEPLAY
หากมีระบบแบบการเล่นประเภทใดที่จะลับสมอง สนุกและท้าทายผู้เล่น ผู้เขียนเชื่อเลยครับว่ารูปแบบการแก้ปริศนาหรือ Puzzle คือหนึ่งในระบบที่สนุกไม่แพ้การได้ยิงดะหรือฟาดฟันศัตรูด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งใน The Last Guardian นั้นก็เป็นเกมแนว Action-Adventure ที่ใช้ระบบการแก้ปริศนาในการเคลื่อนที่สู่เนื้อเรื่องต่อไป (ไม่แก้ปริศนาไปต่อไม่ได้) ที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน แต่กลับ “เรียบง่ายและชาญฉลาด”
ผู้เล่นไม่ต้องย้อนกลับไปหาหรือนำไอเทมไปใส่ยังสถานที่เดิม และก็ไม่ต้องแก้ปริศนาแบบกลไก (ประมาณซีรีส์เกม Uncharted) แต่ผู้เล่นจะต้องสำรวจสิ่งแวดล้อมต่างๆ อย่าง “ละเอียดและถี่ถ้วนสักหน่อย” เพราะบางปริศนาก็อยู่ใกล้ตัวผู้เล่นเพียงนิดเดียวเหมือน “เส้นผมบังภูเขา” หรือลองจับจังหวะการเคลื่อนไหวของสิ่งของภายในพื้นที่นั้นๆ ก็จะสามารถแก้ปริศนาต่างๆ ได้อย่าง “เข้าใจ” นอกจากนี้ผู้เล่นต้องใช้ทักษะปีนป่ายของหนูน้อย คอยไต่/เลาะ/เกาะผนังไปยังพื้นที่ที่ปริศนาที่ขวางไม่ให้เราไปต่อ ซึ่งไม่เพียงแต่สภาพแวดล้อมเท่านั้นที่หนูน้อยของเราสามารถยึดจับได้ แต่ยังรวมไปถึงเจ้า Trico ที่เราสามารถเกาะ/ไต่ได้เช่นกัน และเมื่อเกมดำเนินไปเรื่อยๆ Trico จะไม่ได้เป็นเพียงกำแพงเคลื่อนที่ให้เราโหนห้อยเท่านั้น แต่มันยังมีสภาพเป็นพาหนะที่จะพาไปยังจุดที่หนูน้อยของเราไม่สามารถเข้าถึงได้อีกด้วย
แน่นอนว่าการผจญภัยคงจะไม่สนุกหากไม่พบกับอุปสรรค โดยนอกจากความสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่ค่อยๆ เติบโตตามการเดินทางแล้วนั้น การแบ่งน้ำหนักด้านความสามารถของตัวละครทั้งสองก็ทำออกมาได้อย่างลงตัว เกื้อหนุนกัน และสลับหน้าที่กันได้อย่างถูกจังหวะ เช่น เกือบทุกครั้งในเกมที่หนูน้อยตัวละครเอกของเราจะต้องเจอกับศัตรูเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยความที่เป็นเพียงเด็กน้อยธรรมดา ความสามารถด้านการต่อสู้ที่มีจึงเท่ากับศูนย์ จึงต้องหาวิธีเปิดทางให้เจ้า Trico เข้ามาช่วยเราจัดการในส่วนนี้ แต่ในขณะเดียวกันบางเหตุการณ์หนูน้อยคนนี้ก็มีส่วนช่วยให้เจ้า Trico รอดตาย ด้วยความสามารถที่ “เด็กธรรมดาคนหนึ่งจะช่วยสัตว์ประหลาดขนาดยักษ์ได้” ก็เรียกได้ว่าเป็นการแบ่งน้ำหนักความสำคัญด้านหน้าที่ที่ค่อนข้างลงตัว และแม้จะไม่ใช่เกมแอคชั่นทีผู้เล่นต้องกดปุ่มเพื่อฟาดฟันศัตรู แต่ความตื่นเต้นอย่างที่กล่าวมาก็พอจะลำเลียงให้ผู้เล่นได้เพลิดเพลินกับเกมได้เรื่อยๆ ไปจนถึงช่วงท้ายของเกม
แม้จะมีหลายส่วนของรูปแบบการเล่นที่น่าชื่นชม แต่ส่วนที่น่าติติงก็มีเช่นกันครับ นั่นคือการบังคับของเกมที่อาจจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจอยู่สักพักใหญ่ๆ และแม้ตัวเกมจะมีหน้าต่างบอกการบังคับขึ้นมาแจ้งผู้เล่นตลอดเกือบจะทั้งเกม แต่ผู้เขียนก็ยังคงกดผิดกดถูกอยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงบางชุดคำสั่งที่เราสามารถสั่งเจ้า Trico ได้ก็ดูจะไม่ค่อยมีประโยชน์อะไรสักเท่าไหร่ แต่โดยรวมของระบบการเล่นก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและไม่ซับซ้อนเกินเข้าใจนัก แต่ก็ต้องขอย้ำว่าในแต่ละการแก้ไขปริศนานั้น ผู้เล่นควรสังเกตสิ่งรอบตัวอย่างละเอียดถี่ถ้วนสักนิดจึงจะเห็นความลื่นไหลของปริศนาที่ตัวเกมได้วางไว้ครับ
PERFORMANCE
แม้ผู้เขียนจะหลงใหลในการนำเสนอด้านเนื้อเรื่องของเกมและได้ยกให้มันเป็นส่วนที่ดีที่สุดใน The Last Guardian แต่ประสิทธิภาพด้านกราฟิกในเกมนี้นั้นก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าเนื้อเรื่องเลย หรือจะให้เปรียบง่ายๆ ในมุมมองของผู้เขียนคือเป็น “พระรองที่เด่นไม่น้อยกว่าพระเอก” ผู้เขียนต้องขอออกตัวก่อนว่าไม่ได้เชี่ยวชาญด้านกราฟิกมากนัก (ถ้าส่วนนี้ไม่ละเอียดพอก็ต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าครับ) แต่สำหรับเกมนี้ ผู้เขียนแทบจะไม่ต้องจดจ่อเพื่อนำไปเปรียบเทียบกับกราฟิกที่เคยผ่านตาในเกมอื่นๆ เพราะ The Last Guardian มีเอกลักษณ์ด้านงานภาพที่ไม่เหมือนใคร เน้นไปที่การไล่แสงโทนสว่างฟุ้ง และใช้ชุดสีโทนเย็นตาทั้งหมด และเมื่อผสมเข้ากับ Motion Capture (การเคลื่อนไหวและพลิ้วไหวของโมเดลต่างๆ ภายในเกม) ก็ทำให้ในหลายครั้งของการเล่น ผู้เขียนได้หยุดชะงักและเพลิดเพลินไปกับการกวาดสายตามองต้นไม้ใบหญ้าที่พลิ้วไหว และสภาพแวดล้อมที่ราวกับแตะต้องได้จริงๆ
และที่ทำให้ผู้เขียนตะลึงมากที่สุดคือขนบนตัวและการเคลื่อนไหวต่างๆ ของเจ้า Trico ที่ขยับได้ราวกับว่ามันมีชีวิตอยู่จริงๆ ทุกการเคลื่อนไหว ขนบนตัวของมันจะขยับตามแรงลม และยิ่งลมพัดแรงมากก็ยิ่งพลิ้วไหวมาก รวมถึงข้อต่อตามร่างกายของ Trico ที่แทบจะบิดได้ตามองศาของสัตว์ที่มีชีวิตอยู่จริงๆ และอากัปกิริยาที่เหมือนกับสิ่งมีชีวิตทุกประการ ทำให้ผู้เขียนมีคำตอบในหัวแล้วว่า “10 ปี” นี้พวกเขาหายไปไหน พวกเขาไม่ได้หายไปและกลับมาพร้อมเกม แต่พวกเขากลับมาพร้อม “สิ่งมีชีวิต” ที่จะทำให้ผู้เล่นหลงรักนามว่า Trico
ไม่เพียงแต่ด้านกราฟิกที่น่าชื่นชม ดนตรีสกอร์ (ดนตรีบรรเลงพื้นหลัง) ก็ดีเยี่ยมไม่แพ้กัน และแม้จะไม่ได้บรรเลงตลอดทั้งเกม แต่การมาทุกครั้งก็มาได้อย่างถูกที่ถูกเวลา ช่วยขับส่งให้เหตุการณ์นั้นๆ น่าจดจำยิ่งขึ้น โดยเฉพาะใน “ฉากสุดท้ายของเกม” จะทำให้ผู้เล่นอาจมีน้ำตาซึมได้เลยทีเดียว
แต่ถึงแม้จะมีส่วนที่ดีเลิศในด้านงานภาพเพียงใด แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีจุดที่ขัดใจ เพราะในฉากที่เป็นสถานที่ที่ปิดนั้น หากเล่นไปสักพักก็จะพบว่าการออกแบบในแต่ละพื้นที่มีความซ้ำซาก ซึ่งตัวเกมอาจจะไม่ได้จงใจออกแบบมาอย่างนั้น แต่การที่ผู้เขียนต้องเห็นแต่อิฐ/ปูน/รูปปั้น ซ้ำไปมา มันก็ทำให้ผู้เขียนอยากจะรีบเคลียร์ปริศนาในพื้นที่เหล่านี้แล้วไปรับชมความสวยงามของวิวภายนอกให้มากที่สุดก่อนที่จะต้องชะงักและพักการเล่นไป อีกทั้งอาการเฟรมเรตตกที่มีตลอดทั้งเกมที่มีตั้งแต่เล็กน้อย ยันหล่นฮวบ ที่อาจจะทำให้ผู้เล่นหงุดหงิดได้ ซึ่งในจุดนี้คงต้องขอติงไว้ก่อนจนกว่าจะมีแพตช์ออกมาแก้ครับ
แต่หากมองภาพรวมถึงประสิทธิภาพต่างๆ ภายในเกม (ภาพ, เสียง) ก็ยังคงต้องยกมือให้ถึงความสวยงามด้านกราฟิกอยู่ แม้จะไม่ได้ดีเลิศในทุกสัดส่วน แต่ก็มีส่วนที่ดีงามที่เด่นชัดที่สุดอย่างเจ้า Trico ที่สามารถเป็นหลักไมล์และตัวอย่างให้กับผู้พัฒนาเกมค่ายๆ ต่างได้เรียนรู้รูปแบบ Motion Capture ที่พลิ้วไหวและสมบูรณ์แบบได้ (ผู้เขียนเชื่ออย่างนั้นนะ) รวมถึงดนตรีสกอร์ที่ออกมาน้อยแต่ให้ความรู้สึกที่มาก ก็พอที่จะทำให้ผู้เล่นมีความรู้สึกร่วมไปกับการผจญภัยของเพื่อนต่างพันธ์คู่นี้
FINAL VERDICT
โดยสรุปนั้น The Last Guardian ยังคงอยู่ในเกณฑ์ของเกมดีมีคุณภาพ และแม้คะแนนที่ผู้เขียนประเมินให้ จะไม่ได้เท่ากับตัวเลขของระยะเวลาที่เกมนี้ได้ใช้พัฒนา (10 ปี ) แต่กระนั้นตัวเกมก็ยังมีความยอดเยี่ยมอันหลากหลายที่ตีความออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ ทั้งเนื้อเรื่องที่แม้จะเดินทางเป็นเส้นตรงแต่ก็เป็นเส้นตรงที่อิ่มเอมไปด้วยความประทับใจในมิตรภาพต่างสายพันธ์พร้อมบทสรุปของเกมที่ซาบซึ้งและกินใจไม่แพ้เกมคุณภาพอื่นๆ Motion Capture ของตัวละครโดยเฉพาะ Trico ที่เคลื่อนไหวราวกับมีชีวิตจริง ที่จะทำให้ผู้เล่นได้หลงรักเจ้าสัตว์ประหลาดน่ารักตัวนี้ หากใครที่มีเครื่องเล่น PlayStation 4 ไว้ติดตัว ผู้เขียนก็ขอแนะนำให้ลองหามาเล่นกันดูครับ ไม่แน่ว่า The Last Guardian อาจจะเป็นเกมในดวงใจเกมใหม่ของคุณก็เป็นได้นะ