Our score
8.1Paper Mario: The Thousand-Year Door
จุดเด่น
- เกมเพลย์สนุก มีอะไรให้ทำมากกว่าแค่ใส่คำสั่ง
- กราฟิกน่ารัก ปรับเป็น HD แล้ว
จุดสังเกต
- สิ่งที่เพิ่มมาน้อยไป
- ราคาเกมแพงไปหน่อย
-
ภาพรวม
8.5
-
กราฟิก
7.8
-
เกมเพลย์
8.0
-
ความคุ้มค่า
8.0
ในช่วงต้นยุค 2000S สำหรับวงการเกมคอนโซลแทบจะโดนผูกขาดโดย PlayStation 2 ที่ขายดีถล่มทลาย และยังมีเกมดังออกวางขายมากมาย คอนโซลของปู่นินในยุคนั้นอย่าง Game Cube ทำยอดขายได้น้อยมาก และส่งผลให้เกมดังมากมายถูกลืมไปด้วย
และหนึ่งในนั้นคือ ‘Paper Mario: The Thousand-Year Door’ เกมแนว RPG ที่วางขายครั้งแรกบน Game Cube ในปี 2004 ที่เป็นการสานต่อจาก ‘Paper Mario’ ภาคแรกบน Nintendo 64 และเป็นหนึ่งในซีรีส์เกมสวมบทบาทของลุงหนวดที่เริ่มต้นตั้งแต่ ‘Super Mario RPG’ บน Super Famicom และการกลับมาอีกครั้งบน Nintendo Switch เป็นการรีเมกกราฟิกใหม่ยกระดับให้ดูดีกว่าเดิม
โดยเรื่องราวใน ‘Paper Mario: The Thousand-Year Door’ จะเริ่มจากเจ้าหญิง Peach ได้โดนลักพาตัวไป (อีกแล้ว) แต่ไม่ใช่จากคุปป้า แต่เป็นตัวร้ายใหม่ของภาคนี้อย่าง “Sir Grodu” แน่นอนว่าลุงหนวด Mario ต้องออกไปช่วยอีกครั้ง และการเดินทางไปตามดินแดนต่าง ๆ ในเกมจะมีการเชื่อมต่อกับประตูพันปีที่เป็นชื่อของเกมด้วย และในเกมเราจะได้เล่นเป็นหลายตัวละครไม่ใช่แค่ Mario อย่างเดียวด้วย
กราฟิกเหมือนไม่เปลี่ยน แต่ความจริงดูดีกว่าเดิมมาก
สัมผัสแรกในการเล่นเกมลุงหนวด RPG อาจจะไม่ได้ประทับใจมากมายอะไรนัก เพราะว่าในมุมมองของคนที่ไม่เคยเล่นต้นฉบับมาก่อน กราฟิกระดับนี้ดูธรรมดาไปหน่อยในยุคนี้ ส่วนมุมมองของคนที่เคยเล่นต้นฉบับจะรู้สึกว่ามันเปลี่ยนไปมากก็จริง แต่ไม่มากพอ เพราะมันไม่เหมือนกับการรีเมก Super Mario RPG ที่ต้นฉบับเป็นพิกเซลแล้วอัปเกรดใหญ่
เพราะต้นฉบับของ ‘Paper Mario: The Thousand-Year Door’ ออกบนคอนโซลยุค 2000S ที่มีกราฟิกดีในระดับหนึ่งอยู่แล้ว การนำมาสร้างใหม่หากดูผ่าน ๆ ก็เหมือนการเปลี่ยนความคมชัด แต่หากลงลึกในรายละเอียดถือว่าดูดีกว่าเดิมมาก เพราะพื้นผิวและแสงเงามีการใส่เพิ่มเข้าไปใหม่ทั้งหมด รวมทั้งความลื่นไหลของเกมก็จัดเต็มกว่าเดิม เรียกว่าเล่นในยุคนี้ได้แบบไม่ดูเชย
ส่วนเพลงประกอบมาแนว ‘Mario RPG’ ที่มาแนวธีมสนุกสนาน เหมือนได้ชมการ์ตูน แม้จะไม่ได้มีความโดดเด่นหรือมีเพลงธีมติดหูเท่ากับซีรีส์ Mario ทั่วไปก็ตาม แต่ก็ทำออกมาได้ดี แน่นอนว่ามันจะไม่มีเสียงพากย์แบบเต็ม ๆ มีแค่เสียงของตัวละครตามแนวทางของเกมลุงหนวดภาค RPG แต่โดยรวมมันก็ไม่ได้แย่ แต่ก็ไม่ได้ยกระดับอะไรเพิ่มเติมนักในส่วนของเพลงและเสียงประกอบ
เกมเพลย์ RPG ที่สนุกเข้าใจง่าย แต่เกมไม่ง่าย
รูปแบบการเล่น หากคุณไม่เคยเล่นซีรีส์ ‘Paper Mario’ มาก่อนก็อธิบายง่าย ๆ คือ มันเป็นเกมแนว RPG เทิร์นเบสใส่คำสั่งแบบเดิม ๆ เพราะเราจะบังคับตัวละครเดินในฉากแล้วจะเห็นศัตรูเป็นตัว และมีการตัดเข้าฉากต่อสู้ด้วย ฟังดูเชยแต่มันก็มีการใส่ความโดดเด่นของซีรีส์ ‘Mario RPG’ เข้ามาด้วย เพราะในเกมมีความเป็นแอ็กชันผสมเข้าไปอย่างลงตัว
เพราะตั้งแต่ในฉากดันเจี้ยนหรือแผนที่เราก็จะบังคับตัวละครให้กระโดดไปตามพื้นผิวแบบเกม Mario และยังสามารถกระโดดเหยียบหรือใช้ค้อนตีศัตรูบนฉาก ซึ่งหากทำแล้วจะตัดเข้าสู่ฉากต่อสู้ และเราจะได้โจมตีก่อน แต่หากเราพลาดโดนศัตรูเดินชนในฉากก่อน เวลาตัดเข้าฉากต่อสู้จะโดนโจมตีก่อน ทำให้เพิ่มความสนุกในการเล่น
ฉากต่อสู้คือจุดเด่น
นอกจากนี้จุดที่เป็นไฮไลต์คือฉากต่อสู้ที่เราจะเลือกคำสั่งผ่านรูปภาพที่เข้าใจง่าย เช่น กระโดดเหยียบศัตรู หรือใช้ค้อน ซึ่งมันจำเป็นต้องวางแผนการต่อสู้ให้ดี เพราะนอกจากจะมีการแพ้ทางกันแล้ว หากเลือกโจมตีผิดประเภทนอกจากจะโจมตีศัตรูไม่เข้าแล้ว Mario ของเราจะเจ็บตัวแทน เช่น การเลือกกระโดดเหยีบบศัตรูที่มีหนามบนตัว เราจะเสียพลังชีวิตแทน ซึ่งผู้เล่นต้องใช้ค้อนตีมันถึงจะโจมตีเข้า
นอกจากนี้ยังมีการกดปุ่มตามจังหวะเพื่อเพิ่มความรุนแรง หรือทำคอมโบ รวมท้้งกดปุ่มเพื่อป้องกันการโจมตีของศัตรูได้ ซึ่งเป็นจุดเด่นของซีรีส์นี้มาตลอด ทำให้ผู้เล่นจะนั่งกดปุ่มรัว ๆ ไม่ได้ ต้องคอยมองการโจมตีของศัตรูที่มาหลากหลายรูปแบบ และถือว่ามีความยากท้าทายพอสมควร โดยเฉพาะบอสที่แม้หน้าตาอาจจะไม่ได้น่ากลัว เพราะมันทำจากกระดาษตามชื่อเกม แต่ก็โจมตีเราได้รุนแรงมากทำให้ต้องวางแผนการเล่นให้ดี
ฉากแก้ปริศนาผสมเข้าไปอย่างลงตัว
อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกมน่าเล่นและแตกต่าง คือการแก้ปริศนา ซึ่งอาจจะไม่ได้ดูแปลกสำหรับแนว RPG ก็จริง แต่ในซีรีส์ ‘Paper Mario’ มีการใส่ปริศนาที่เกี่ยวกับกระดาษเข้าไปด้วย เช่น การที่ตัวละครแปลงร่างเป็นเครื่องบินพับที่ทำจากกระดาษเพื่อบินร่อนตัวไปยังที่สูง หรือการใช้ความบางของตัวละครที่เป็นกระดาษเพื่อแทรกตัวไปในที่แคบ หรือใช้พลังลมเป่าแผ่นกระดาษเพื่อเปิดทางไปต่อ ทำให้ผู้เล่นต้องคิดหาทางไปต่อในดันเจี้ยนที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยกับดักมากมาย ทำให้ความสนุกของเกมไม่ได้มีแค่ฉากต่อสู้เท่านั้น
โดยรวมการกลับมาของ ‘Paper Mario: The Thousand-Year Door’ จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงในส่วนเกมเพลย์เพราะมันยังไม่เชย และมีการยกระดับกราฟิกให้ดูดีขึ้นกว่าเดิมมากพอตัว ใครอยากหาเกมแนว RPG ที่มีความท้าทายและมีอะไรให้ทำมากกว่าแค่กดปุ่มคำสั่ง เกมนี้มีความสนุกครบถ้วน แม้ว่าเกมจะมีราคาแพงไปหน่อยหากเทียบว่ามันเป็นเกมรีเมกก็ตาม