[Review] Assassin Creed’s Odyssey มหากาพย์ขนาดยักษ์ที่ใหญ่จนต้องอึ้ง ทึ่ง มึน!
Our score
8.4

Assassin’s Creed Odyssey

จุดเด่น

  1. แผนที่ใหญ่มหากาฬมาก ๆ แถมยังเต็มไปด้วยกิจกรรมให้ทำจนล้น
  2. โลกกรีกโบราณที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี ดูมีชีวิตชีวา
  3. การกระทำของผู้เล่นที่ส่งผลกระทบต่อเนื้อเรื่องและโลกของเกม
  4. ระบบภารกิจที่ค่อนข้างเปิดกว้างให้เล่นยังไงก็ได้
  5. ฟีเจอร์เกม RPG ที่ทำให้เกมเต็มไปด้วยรายละเอียดและมีความลุ่มลึก

จุดสังเกต

  1. ความใหญ่และเยอะของเกมทำให้เล่นแล้วทั้งเหนื่อยทั้งมึน
  2. จะเล่นแต่ละทีต้องเตรียมเวลาชีวิตไว้หลายชั่วโมง
  3. เกมโหลดบ่อย โหลดนาน และมีบั๊กให้เห็นประปราย
  4. ระบบการต่อสู้แอบเก้ ๆ กัง ๆ เวลาสู้กับศัตรูหลายตัว
  • GAMEPLAY

    8.5

  • GRAPHIC

    8.0

  • STORY

    7.5

  • PERFORMANCE

    8.0

  • VALUE

    10.0

หลังจากที่ Ubisoft พยายามปรับภาพลักษณ์ซีรี่ส์ Assassin’s Creed ให้เป็นเกมแอ็คชั่นสวมบทบาทจากภาค Origins ทั้งแฟนหน้าเก่าและหน้าใหม่ของซีรี่ส์ก็เริ่มกลับมานิยมชมชอบมือสังหารในลุคใหม่นี้มากขึ้น ในปีนี้ทางทีมพัฒนาจึงตัดสินใจใช้ปรัชญา “เมื่อของเดิมมันดีอยู่แล้วจะไปเปลี่ยนมันหาพระแสงอะไร” แล้วเน้นต่อยอดของเดิมให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น ลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น และที่สำคัญคือขยายขนาดของมันให้ใหญ่โตมโหฬารมากกว่าเดิม โดยเปลี่ยนฉากหลังเป็นโลกยุคกรีกโบราณ โลกที่เต็มไปด้วยนักรบสปาร์ตันซิกแพ็คแน่น นักปรัชญาเคราเฟิ้มในผ้าคลุม และสัญลักษณ์แห่งทวยเทพกรีกกับปีศาจในตำนาน

ซึ่งเราพูดได้เต็มปากตอนนี้เลยว่า Odyssey คือเกม Assassin’s Creed ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพียงแต่ความใหญ่มากของมันก็เป็นดั่งดาบสองคมเล่มมหึมา คือใหญ่จนต้องอึ้งแต่ก็ทำให้ผู้ถือดาบเมื่อยแล้วทำหลุดมือมาฟาดกบาลตัวเองอยู่บ่อย ๆ ว่าแล้วก็มาถกกันแบบลงรายละเอียดกันเถิด เหล่าเกมเมอร์นักสู้และเกมเมอร์นักปราชญ์ทั้งหลาย

ขอต้อนรับสู่ปกรณัมกรีกสุดอลังการ

ใหญ่แค่ไหน… ถามใจเธอดู

จุดแรกที่เด่นกระแทกตาเกมเมอร์ทุกคนตั้งแต่วินาทีแรกที่เปิดเกมนี้ขึ้นมาก็คือขนาดอันใหญ่โตมโหฬารของมันนี่แหละ เรียกได้ว่าสมน้ำสมเนื้อกับการใช้ฉากหลังเป็นมหากาพย์กรีกโบราณเสียจริง โดยเกมจะเล่าเรื่องราวการเดินทางสร้างชื่อเสียงของทหารรับจ้างสาว Kassandra หรือนักรบหนุ่มไร้นาย Alexios ผู้ออกตามหาสมาชิกในครอบครัวที่ต้องพลัดพรากกันแต่กาลก่อน และถึงแม้เนื้อเรื่องจะดำเนินเหมือนกันไม่ว่าคุณจะเลือกเล่นตัวเอกหญิงหรือตัวเอกชาย แต่ทั้งเสียงพากย์และบุคลิกของ Kassandra นั้นน่าสนใจกว่าพระเอกกล้ามบึ้ก ๆ ดาษ ๆ อย่าง Alexios เยอะ จนอดแปลกใจไม่ได้ว่าทำไมทีมพัฒนาถึงไม่ใช้เธอเป็นตัวเอกขึ้นปกบนกล่องเกมแทนซะเลย

ครอบครัวสปาร์ตันก็มีโมเม้นท์ดราม่าเหมือนกันนะ

สำหรับเส้นเรื่องหลักก็ถือว่าสนุกน่าติดตามในระดับที่โอเค คือมีจุดหักมุมบ้าง มีอะไรมาให้เซอร์ไพรส์บ้างตามประสา แม้มันจะไม่ได้ยอดเยี่ยมกระเทียมดองจนต้องยกขึ้นหิ้ง แต่การที่เกมให้ความสำคัญกับเรื่องราวของครอบครัวตัวเอกมากกว่าสงครามระหว่างสปาร์ตาและเอเทนก็ช่วยทำให้เนื้อเรื่องลุ่มลึกมากขึ้น นอกจากนี้จุดที่แฟนหน้าใหม่น่าจะชอบก็คือเนื้อเรื่องของ Odyssey ค่อนข้างเป็นเอกเทศน์จาก Assassin’s Creed ภาคอื่น ๆ ทั้งหมด แถมยังแทบไม่พูดถึงเรื่องราวไซไฟในโลกอนาคตระหว่างฝ่ายมือสังหารและเทมปลาร์เลยซักนิด

ออกไปเจอผู้คนหน้าใหม่ เช่น นักปราชญ์กวนทีนนามว่า Sokrates

ในทันทีที่คุณได้พา Kassandra หรือ Alexios ออกจากเกาะแรกเมื่อไหร่ คุณจะได้รู้ซึ้งกับตัวว่าแผนที่ในเกมนี้มันใหญ่ผิดคาดขนาดไหน เพราะนอกจากขนาดของแผนที่ในเกมที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ซีรี่ส์นี้เคยทำออกมาแล้ว กิจกรรมที่มีให้ทำยังมีจำนวนมากมายมหาศาลไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นภารกิจหลักตามเนื้อเรื่อง ภารกิจเสริมที่มาพร้อมกับเรื่องราวสั้น ๆ ที่น่าสนใจ จุดปีนชมวิวเพื่อเปิดตำแหน่ง Fast travel ถ้ำสมบัติและซากเรืออับปางให้ดำน้ำหาของ นักล่าค่าหัวที่เกมสุ่มมาให้คุณประมือเรื่อย ๆ ภารกิจอีเว้นท์จำกัดเวลา และอื่น ๆ อีกล้านแปดที่สาธยายเป็นชั่วโมงก็ไม่หมด ซึ่งกิจกรรมที่เยอะยิ่งกว่าเมืองไทยประกันชีวิตเหล่านี้จะถาโถมเข้ามาใส่คุณไม่ยั้งจนอาจทำให้เมาหมัดได้

สู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น

ความเยอะในจุดนี้อาจทำให้เกมเมอร์ที่ไม่ใช่สาย open-world หรือไม่เคยเล่น Assassin’s Creed มาก่อนยืนงง ๆ เหวอ ๆ เพราะไม่รู้จะเริ่มตรงไหนก่อนดี อย่างไรก็ดี หากคุณได้ลองงมไปซักสองสามชั่วโมงจนเริ่มจับจังหวะของเกมได้ คุณจะพบว่ามันไม่แย่อย่างที่คิด เพราะแทบทุกกิจกรรมบนแผนที่จะส่งผลกลับมาสู่ตัวละครของคุณไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คุณอาจจะได้รางวัลเป็น xp ตอนนั้นเลย ได้เห็นตัวละครที่เราไปทำอะไรให้ย้อนกลับมาให้เห็นหน้า หรือบางครั้งมันอาจส่งผลกระทบกับเนื้อเรื่องหลักโดยตรงก็เป็นได้

This is Sparta!

เป็นเกมยุคกรีกทั้งทีจะไม่มีฉากจาก “300“ ได้ไง

แน่นอนว่าเกิดเป็นสปาร์ตันในยุคกรีกโบราณทั้งที จะหลีกหนีการประดาบประลองหอกไปได้เยี่ยงไร โดยระบบการต่อสู้ในภาคนี้ยังคงอิงจากภาค Origins ที่เปลี่ยนจากการเน้นกดโจมตีสลับกับฟันสวนใน Assassin’s Creed ภาคก่อนหน้ามาเป็นการกดคอมโบฟันหนัก ฟันเบา หลบหลีก และปัดป้องให้ต่อเนื่องเหมือนในเกมแอ็คชั่น นอกจากนี้ผู้เล่นยังสามารถเลือกใช้อาวุธได้หลากหลายและยังมีท่าไม้ตายให้เลือกสรรเหมือนในเกมสวมบทบาท (RPG) ซึ่งในจุดนี้ Odyssey ได้ยกระดับตัวเองให้เป็นเกมแนวสวมบทบาทที่ฮาร์ดคอร์ยิ่งกว่าภาค Origins เสียอีก เรียกได้ว่าระบบฟาร์มเลเวล ฟาร์มของ ตีบวก มากันให้ครบ โดยการโจมตีแต่ละครั้งก็จะมีเลขดาเมจขึ้นให้เห็นและศัตรูทุกตัวจะมีระดับเลเวลแสดงให้เห็นอยู่บนหัว เมื่อใดที่คุณทำภารกิจสำเร็จหรือกำราบศัตรูได้คุณก็จะได้รางวัลค่าประสบการณ์ เงิน และแร่ธาตุในเกม ค่าประสบการณ์จะเอาไว้ใช้เพื่อการอัพเลเวลแล้วนำแต้มไปซื้อท่าไม้ตายสายนักธนู (Hunter) นักรบ (Warrior) หรือมือสังหาร (Assassin) ซึ่งจะช่วยกำหนดแนวทางการเล่นของคุณได้ ส่วนเงินก็เอาไว้ใช้ซื้อเกราะซื้ออาวุธมาใช้ และแร่ธาตุก็เอาไว้ตีบวกของบนตัวคุณให้ดีขึ้นอีกนั่นเอง

เมื่อเจอศัตรูมากกว่าหนึ่งตัว ความมั่วนิ่มก็บังเกิด

ต้องยอมรับว่าความลุ่มลึกและความหลากหลายที่เพิ่มเข้ามานั้นทำให้การประดาบกับศัตรูในเกมสนุกตื่นเต้นขึ้นมาก และยังทำให้ผู้เล่นคันไม้คันมืออยากเข้าไปจัดหนักกับนักล่าค่าหัวเลเวลสูง ๆเพื่อปล้นข้าวของมันมาใช้อยู่เป็นนิจ แต่ระบบต่อสู้ของ Odyssey ก็ยังไม่สนุกขั้นสุดเหมือนเกมแอ็คชั่นเต็มตัวอย่าง God of War หรือ Spider-man อยู่ดี เพราะยังมีจุดเก้ ๆ กัง ๆ เวลาที่เราสู้กับศัตรูมากกว่าหนึ่งตัวขึ้นไป เพราะพวกมันมักจะแห่เข้ามาล้อมหน้าล้อมหลังและรุมตีนพร้อมกันจนคุณออกคอมโบอะไรไม่ได้เลย ซ้ำร้ายท่าปัดป้องการโจมตีก็ไม่ช่วยอะไรหากคุณโดนศัตรูจิ้มจากด้านหลัง

ฉากการต่อสู้ที่ควรจะดูเท่แบบในหนังเรื่อง 300 จึงต้องกลายเป็นการ์ตูน Tom & Jerry ที่คุณวิ่งหนีหัวซุกหัวซุน หันกลับมาจิ้มศัตรูฉึกสองฉึก แล้วก็วิ่งหนีต่อจนกว่าศัตรูจะหมดกลุ่ม เจอแบบนี้มันทำให้ตัวเอกดูกระจอกพิกล นอกจากนี้เอฟเฟ็คการเฉือนเนื้อเถือหนังศัตรูก็ยังดูเบาไปนิด ขาดความสะใจที่ทำให้ทุกการโจมตีดูมีน้ำหนักและรุนแรงถึงตายแบบขวานของ Kratos เรื่องพวกนี้อาจจะฟังดูเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่อันที่จริงมันมีผลต่อความสนุกของเกมไม่ใช่เล่นเลยนะ

ป้าบเข้าให้!

อีกจุดหนึ่งที่น่าประหลาดสำหรับเกมซึ่งมีชื่อขึ้นต้นว่า “มือสังหาร” กลับเป็นระบบการลอบสังหารในเกมภาคนี้ที่ทำ ออกมาได้เก้ ๆ กัง ๆ ซะอย่างนั้น เนื่องจากระบบการระบุตำแหน่งและติดตามทัศนวิสัยของศัตรูช่างไม่เอื้ออำนวยให้ผู้เล่นลอบเร้นเข้าไปหาเป้าหมายได้ง่าย ๆ เลย แถมการจะจิ้มหลังเป้าหมายให้ดับในทีเดียวได้ยังต้องพึ่งพาการอั้พเลเวล ไอเท็ม และการซื้อท่าพิเศษอีกพอสมควร ราวกับว่าเกมไม่ค่อยสนับสนุนให้ผู้เล่นสวมบทเป็นมือสังหารอย่างไรอย่างนั้น

โลกกรีกทั้งใบในมือคุณ

วันนี้ขี่ม้าไปก่อเรื่องอะไรดีน้าาา

จุดที่น่าทึ่งมาก ๆ อีกเรื่องหนึ่งใน Odyssey ก็คือการออกแบบฉากและภารกิจแทบทั้งหมดในเกมได้รับการออกแบบให้ผู้เล่นสามารถเลือกแนวทางการรับมือได้ตามแต่ใจต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการลอบเร้นเข้าไปขโมยของในค่ายโดยไม่ให้ใครเห็น การลอบเก็บศัตรูทีละตัวอย่างเงียบเชียบ หรือจะแกว่งดาบเข้าไปบู๊กับศัตรูตั้งแต่แรกเลยก็เชิญ

จุดนี้ให้ลองนึกถึงภารกิจตี Outpost ในเกม Far Cry แค่เปลี่ยนมาใช้ธนูกับดาบแทนปืนกลนั่นแล ซึ่งภารกิจที่เปิดกว้างและให้ความรู้สึกว่าคุณเป็นมือสังหารตัวจริงเสียงจริงมากที่สุดก็เห็นจะเป็นภารกิจล่าหัวสมาชิกลัทธิ Cult of Cosmos ที่คุณจะได้เจอช่วงกลางเกม โดยคุณจำเป็นต้องทำการบ้าน ออกสำรวจหาข้อมูล และพยายามเดาอย่างมีหลักการเพื่อเผยโฉมหน้าของเป้าหมายให้ได้ก่อน หลังจากหาตัวพบแล้วก็ต้องมากางแผนกันอีกว่าจะเข้าไปจิ้มหมอนี่ยังไงให้สะดวกโยธินที่สุด เพราะบางคนก็เลเวลสูงลิบแถมยังบู๊เก่งอีก บางคนก็ซุ่มอยู่หลังยามเป็นกองทัพ และบางคนก็ล่องเรืออยู่ท่ามกลางเรือบริวารเท่านั้น การให้ผู้เล่นได้คิดวิเคราะห์แล้วเลือกทางที่จะลุยเองตั้งแต่ต้นจนจบแบบนี้มันมอบทั้งความท้าทาย ความสนุกตื่นเต้น และมันยังทำให้ชัยชนะช่างหอมหวานยิ่งกว่าด่านไหน ๆ

แต่ถ้าก่อเรื่องมากไปก็จะโดนนักล่าค่าหัวไล่ตื้บนะจ๊ะ

นอกจากภารกิจที่เปิดกว้าง ระบบสังคมใน Odyssey ยังโต้ตอบกับการกระทำของผู้เล่นให้เห็นกันชัด ๆ หากคุณแอบจิ๊กข้าวของของตัวละคร NPC ในเกมบ่อย ๆ หรือไปอาละวาดใส่ทหารยามเมืองเอาสะใจ ผู้คนในละแวกนั้นก็จะเริ่มด่าทอคุณ วิ่งหนีคุณ หรือบางครั้งพวกเขาจะวิ่งไปหยิบอาวุธมาสู้กับคุณเลยทีเดียว ซึ่งหากคุณอาละวาดมากไปคุณก็จะโดนติดประกาศค่าหัว อันจะส่งผลให้บรรดานักล่าค่าหัวหลายแบบ หลากบุคลิก ที่เป็นเหมือนมินิบอสออกมาไล่กระทืบคุณด้วย

ผู้เล่นยังสามารถเข้าร่วมศึกระหว่างทัพ Spartan หรือ Athenian และบ่อนทำลายอิทธิพลของอีกชนชาติหนึ่งบนเกาะแต่ละแห่งได้ด้วย คุณอาจจะวิ่งไล่เสียบทหารชาติที่คุณไม่ชอบขี้หน้า ปล้นสะดม หรือตามเก็บผู้บัญชาการประจำป้อม ไปเรื่อย ๆ จนกว่าอิทธิพลของชาตินั้นจะลดลงจนต่ำถึงขีดสุด จากนั้นค่อยเปิดศึกใหญ่เพื่อขับไล่ฝ่ายปรปักษ์ให้สิ้น ซึ่งหากคุณช่วยรบจนชนะ คุณก็จะได้เห็นทหารจากทัพที่คว้าชัยมาได้เข้ามายึดครองเกาะแห่งนั้นแทน ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้เองที่ทำให้คุณรู้สึกว่าการกระทำของตัวเองส่งผลกระทบต่อโลกกรีกยุคโบราณจริง ๆ

ยุทธนาวีสไตล์ชนแหลกตามประสาสปาร์ตัน

ส่วนเกมเมอร์ผู้ใดที่เป็นแฟนสมรภูมิราชนาวีจากภาค Black Flag และ Rogue ก็น่าจะถูกใจกับระบบการต่อสู้ทางเรือที่กลับมาอย่างเต็มรูปแบบใน Odyssey แม้อาวุธบนเรือจะไม่ได้ทันสมัยอย่างภาค Black Flag แต่ก็มียุทโธปกรณ์ให้เลือกใช้ได้หลากหลาย ทั้งธนู หลาว และธนูไฟ ซึ่งศึกทางน้ำในยุคนี้ค่อนข้างเปลี่ยนอารมณ์จากเรือโจรสลัดยุคดินปืน มันเน้นการเข้าประชิดและใช้เรือดับเครื่องชนเป็นหลัก

นอกจากนี้ผู้เล่นยังสามารถเกณฑ์คนขึ้นเรือแล้วแต่งตั้งให้เป็นต้นหนเพื่อเพิ่มความสามารถพิเศษให้กับเรือได้ อย่างไรก็ตามการควบคุมเรือในยุทธศึกโบราณนั้นค่อนข้างยุ่งยากกว่าเรือโจรสลัดใน Black Flag พอสมควร เพราะวิธีการกดปาหลาวและใช้ไฟนั้นเรียกได้ว่างงไม่ใช่เล่น ซ้ำร้ายมันยังไม่มันส์สะใจเท่ากับการใช้ปืนใหญ่ดินดำอีกด้วย

ใหญ่ไปเป็นภัยแก่ตัว

เมืองใหญ่ขนาดนี้ก็ต้องมีบั๊กตามซอกหลืบกันบ้าง

มาถึงจุดนี้คงไม่ต้องบอกกันอีกรอบแล้วว่าเกมภาค Odyssey มันใหญ่ยักษ์คับฟ้าขนาดไหน (เพราะพูดมาจนปากเปียกปากแฉะประมาณ 25 รอบได้) ซึ่งความใหญ่เกินงามของมันนี่แหละที่ทำให้เกมเมอร์ “เล่นจนเหนื่อย” เหนื่อยกับการวิ่งข้ามฉากเป็น 10 นาที เหนื่อยกับการจัดชุดเกราะและอาวุธใหม่ทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง เหนื่อยกับการเก็บเลเวลเพื่อให้เก่งพอไปฟาดกับศัตรูในฉากได้ แถมจะเล่นแต่ละทีก็ต้องนั่งแช่ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อยหากต้องการให้เนื้อเรื่องเดิน หากเป็นสายตอดวันละครึ่งชม. นี่รับประกันว่าไม่มีอะไรกระเตื้องแน่นวล

ซ้ำร้ายกิจกรรมที่มีมากมายเหลือคณานับก็ซ้ำกันเยอะแยะ และระบบเซฟเกมอัตโนมัติของเกมก็ไม่ได้เอื้อเฟื้อให้ผู้เล่นเท่าไหร่ หลายครั้งที่การสู้กับบอสยาก ๆ แทบตายจนชนะแบบเส้นยาแดงผ่าแปด แต่ดันถูกลูกระจ๊อกมันฟันตายหลังจากนั้นแป๊บนึงทำให้ต้องมาสู้ใหม่ทั้งหมดแต่แรก เจอแบบนี้มันยิ่งเหนื่อยนะเหวย ดังนั่นเราขอแนะนำให้คุณกด Quick Save บ่อย ๆ ไม่งั้นได้มีเขวี้ยงจอยกันแน่

สิ่งที่น่ากลัวกว่าลัทธิ Cult of Cosmos ก็คือการโหลดเกมนี่แหละ

สำหรับพระเอกชื่อดังประจำเกมยี่ห้อ Ubisoft นามว่า “บั๊ก” ก็ยังโผล่หน้ามาให้เห็นบ้างนาน ๆ ครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้มันไม่ได้แผลงฤทธิ์หนักขนาดทำให้เกมเจ๊งเล่นไม่ได้ แค่ทำให้ NC บางตัวนั่งเข้าไปในกำแพงบ้าง ศพศัตรูเด้งไปเด้งมาบ้าง ตัวละคร NPC ร่างหายไปกับสายลมบ้างก็เท่านั้น จุดนี้ต้องขอชมเชยทีมพัฒนาว่าเก็บงานได้ดีสำหรับเกมสเกลบิ๊กเบิ้มขนาดนี้

แต่จุดที่น่าหน่ายใจที่สุดคือระยะเวลาในการโหลดเกมที่ค่อนข้างนานจนน่าหลับ (อย่างน้อยก็ในเครื่อง PS4 Pro) แถมเกมยังโหลดบ่อย สังเกตการณ์ผ่านนกอินทรีย์เสร็จก็โหลด เปิดเมนูแผนที่ขึ้นมาดูก็โหลด ที่สำคัญคือโหลดนานทุกครั้งที่ม่องเท่ง และคุณต้องตายบ่อยจนเบื่อแน่ ๆ ในช่วงต้นเกม นอกจากนี้ก็มีเกมค้างสองสามวินาทีบ้างในบางจุดเพราะโหลดไม่ทัน

ไม่น่าเชื่อว่าทะเลและระลอกคลื่นในกรีกโบราณจะสวยจับใจขนาดนี้

ส่วนงานภาพกราฟิกใน Odyssey ก็เรียกได้ว่าสวยดีแต่ไม่สวยสุด ความสวยงามของภาพมาจากงานออกแบบและการเล่นสีเป็นหลัก โดยเฉพาะภาพของน้ำทะเลและระลอกคลื่นกระทบชายฝั่งที่น่าทึ่งมาก สวยงามเหมือนทะเลจริงยิ่งกว่าหาดบางแสนซะอีก แต่ตัวกราฟิกเอนจิ้นนั้นค่อนข้างธรรมดาเนื่องจากรายละเอียดเท็กซ์เจอร์ที่จืดจางในหลาย ๆ จุด การแสดงออกทางสีหน้าหน้าท่าทางของตัวละครก็ยังดูแข็ง ๆ อนิเมชั่นก็ดูขัด ๆ ไม่ค่อยเนียน บางคนก็ทำท่าทางโอเวอร์แอ็คติ้งซะยังกับในละครน้ำเน่า ยิ่งเป็นฉากจีบ ๆ รัก ๆ ใคร่ ๆ นี่ไม่ต้องพูดถึง แข็งเป็นหินมากกกก จนดูน่าขนลุกเลยเจ้าข้าเอ๋ย

บทสรุปแห่ง Odyssey

โลกในเกมที่มีชีวิตชีวา และ AI ที่ชอบตีกันเองในยามว่าง…

Assassin’s Creed Odyssey มุ่งมั่นที่จะเป็นเกมที่ใหญ่ที่สุดโดยไม่มีการประนีประนอมถ่อมตัวใด ๆ อาจเป็นเพราะ Ubisoft วางแผนจะใช้เกมภาคนี้ต่ออีกหนึ่งปีด้วยการเพิ่มภาคเสริมเข้ามาเรื่อย ๆ ซึ่งความยิ่งใหญ่เกินตัวที่ว่านี้ก็ต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่างแบบช่วยไม่ได้ ดั่งมหากาพย์สุดอลังการที่ต้องมีช่วงยาวยืดน่าเบื่อปนอยู่บ้าง ดั่งบุฟเฟ่ต์ชั้นเลิศที่กินมากไปก็เริ่มไม่อร่อย และดั่งทริปเที่ยวตารางแน่นเอี้ยดที่ทำให้ความสนุกเริ่มกลายเป็นความเหนื่อย แม้กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็ยังมอบประสบการณ์น่าประทับใจที่ควรค่าแก่การได้ลิ้มลองสักครั้ง หากคุณเป็นแฟน Assassin’s Creed ภาค Origins หรือกำลังมองหาเกมแอ็คชั่นผจญภัยใหญ่ ๆ ไว้นั่งเล่นยาว ๆ Odyssey ก็เป็นตัวเลือกที่คุณไม่ควรพลาดนะขอรับ

*ต้องขอขอบคุณทีมงาน Ubisoft ที่ช่วยสนับสนุนโค้ดเกมสำหรับการรีวิวบนแพลตฟอร์ม Playstation 4 มา ณ ที่นี้ด้วยครับ