หมดเคราะห์ในกระเป๋าตังค์กันไปอีกปีหนึ่งแล้วล่ะนะครับ (ฮ่า ๆ) สำหรับบรรดาเกมที่ออกภายในปี 2019 ที่ผ่านมา มันส์บ้าง ขนผวาบ้าง ตื่นเต้นบ้าง หรือเพลินกับความแทคติคัลบ้างปะปนกันไป พวกเราไทยเกมเมอร์เล่นเกมแห่งปีกันไปพอสมควรแล้ว เลยอยากที่จะมอบรางวัลพิเศษให้กับเกมต่าง ๆ เสียหน่อยในนาม Thai Gamers Awards 2019 ตามไปดูกันดีกว่าครับ ว่าจะมีเกมในหมวดหมู่สาขาไหนได้รางวัลกันบ้าง
เกมแห่งปี “Sekiro Shadow Die Twice”
Sekiro Shadow Die Twice คือเกมที่แทบทุกคนที่เคยได้เล่น ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า มันคือ 1 ในเกมแอกชันสไตล์ Dark Souls ที่ทำออกมาได้ดีที่สุด ทั้งภาพบรรยากาศที่สวยงามในยุคซามูไร เนื้อเรื่องที่เข้มข้น ระบบการต่อสู้สุดมันส์ และการฉีกกฎการเล่นเกมสไตล์นี้แบบเดิม ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปัดป้องอาวุธศัตรูเพื่อทำให้อีกฝั่งเสียหลักแล้วจัดการในครั้งเดียว หรือระบบ Die Twice ที่สามารถฟื้นคืนชีวิต ณ จุดนั้นได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการผ่านจุดนั้น ๆ และยังแลกมากับระบบที่ยิ่งเราตายบ่อยเท่าไหร่ เหล่า NPC ก็จะยิ่งทรมานจากโรคมากขึ้นเท่านั้น ผลักดันให้เราไม่ตายสุ่มสี่สุ่มห้าอีกด้วย ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ไม่แปลกใจที่เกมนี้จะกลายเป็น 1 ใน Game of the Year ประจำปีนี้
ควรถูกกล่าวถึง “Death Stranding”
มันพูดยากนะว่า Death Stranding เป็นเกมที่ดีแบบสุดลิ่มทิ่มประตู เพราะเอาจริงเกมอื่นที่เล่นสนุกกว่ามันก็มี แล้วแต่จริตความชอบของเกมเมอร์แต่ละคน แต่ก็เช่นกันคนที่เล่นเกมนี้คงไม่มีใครปฏิเสธหรอกว่าเกมนี้มันเทพและถีบวงการเกมขึ้นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งความเทพของมันอาจไม่ตรงกับความสนุกของหลายคน แต่มันคือการใส่ดีเทลรายละเอียดที่ลงลึกขั้นสุดในด้านการเล่น และท้าทายผู้เล่นด้วยปริศนาและเนื้อเรื่อง รวมถึงขนบของเกมที่ไม่เหมือนใครอันเป็นจุดแข็งอย่างแท้จริง ใครจะคิดว่าการส่งของที่เป็นภารกิจสุดน่าเบื่อในเกมต่าง ๆ จะถูกยกค่าขึ้นระดับนี้ เกมนี้มันมีทั้งความขบถ เอาแต่ใจ เรียกร้องการปรับตัวจากฝั่งผู้เล่นมาก แต่ก็เหลือเชื่อนะที่เกมเล่นตัวขนาดนี้แต่เกมเมอร์มากมายก็ยอมให้กับมัน แน่ล่ะมันเป็นเกมที่มีแรงถีบผู้เล่นทั่วไปให้ออกห่างอยู่ระดับหนึ่ง ไม่ได้เหมาะกับทุกคน แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเข้าใจมันทั้งหมดเพื่อชอบมันหรอก แค่ใช้ประสบการณ์เกมเมอร์ของเราไปสัมผัส ก็จะรู้ได้ว่าเกมนี้มันมีพลังบางอย่างต่ออนาคตวงการเกมขนาดไหน
เกมภาพสวยที่สุดแห่งปี “Metro Exodus”
2019 เป็นอีกหนึ่งปีที่เกมเมอร์อย่างเราได้เสพย์อาหารตาสวย ๆ จากเกมกราฟิกอลังการจนอิ่มไม่ว่าจะมาในแนวอนาคตแบบ Gears 5 แนวอวกาศแบบ Jedi Fallen Order หรือจะสวยแนวธรรมชาติปนความแปลก ๆ แนว ๆ แบบ Death Stranding แต่คงไม่มีเกมไหนที่มีความภาพสวยสมบูรณ์พร้อม ทั้งยังอัดแน่นด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเต็มกระบุงเท่ากับ Metro Exodus ที่นำเสนอความวิจิตาด้วยฉากหลังโลกหลังหายนะถิ่นหมีขาวที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร อยากลุยในอุโมงค์มืดๆ ทึมก็ยังมีให้ อยากเดินเล่นในฉากทะเลทรายกว้างสุดลูกหูลูกตาเปลี่ยนบรรยากาศก็มี หรือถ้าเบื่อฉากบ้านเมืองพังๆ กับหิมะขาวโพลน จะไปเดินชิลในฉากป่าไม้เขียวชอุ่ม ยิงสัตว์กลายพันธุ์ไปพลางสูดอากาศบริสุทธิ์ไปพลางก็ได้เช่นเดียวกัน
ที่สำคัญคือทีมพัฒนาเขาอัดของร้อนเข้ามาอย่างบ้าคลั่ง ซึ่งทีเด็ดอยู่ที่เทคโนโลยี Ray Tracing แบบจัดหนักจัดเต็มที่ยกระดับการแสดงผลภาพแสงเงาในวงการเกมจนแทบไม่ต่างจากหนังอนิเมชั่นแล้ว ทิศทางและความหนาแน่นของเงาทั้งหลายในเกมนี้ดูราวกับหลุดออกมาจากภาพถ่าย แสงประกายไฟจากปากกระบอกปืนก็สาดสะท้อนกับชุดเกราะกันของพระเอกและฉากอย่างสมจริง เรียกได้ว่าปฏิวัติเอฟเฟกต์แสงสีบนเกมพีซีแบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนเลยทีเดียว คือถ้าการ์ดจอจะละลายคาเครื่องก็คุ้มล่ะนะ
ควรค่าแก่การกล่าวถึง “Control”
Control เป็นหนึ่งในเกมที่มีกราฟิกสวยที่สุดของปี 2019 เพราะได้ถูกพัฒนาโดยเอนจิน Northlight ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่ใช้พัฒนา Quantum Break ที่รองรับเทคโนโลยีใหม่อย่าง Ray Tracing ช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับแสงและเงาสะท้อน และเทคโนโลยี DLSS ช่วยลดรอยหยัก รวมถึงมีระบบฟิสิกส์ที่ทำให้สามารถทำลายวัตถุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ , เก้าอี้ , กระจก และกำแพงได้อย่างสมจริง
เกมเนื้อเรื่องโดนใจแห่งปี “Death Stranding”
ถึงเสียงตอบรับจะค่อนข้างแตก คนชอบก็รักสุดใจ คนเกลียดก็เหยียบจมดินกันไปเลย แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเฮียโคจิมะของเราได้สร้างมิติใหม่ของการเล่าเรื่องที่ทั้งชวนงงแต่สุดจะน่าสนใจในเวลาเดียวกันอีกครั้ง กับ Death Stranding ที่ลำพังเกมเพลย์โดด ๆ เหมือนจะถูกค่อนแขวะไม่น้อยจากหลายๆเสียงว่าเป็นเกมเดินส่งของบ้างละ เป็นเกม Kerry Simulator จบมาแล้วไปเป็นพนักงานส่งของได้บ้างล่ะ แต่สิ่งที่ทำให้ลูปการเล่นที่ดูซ้ำซากและน่าเบื่อหน่ายนี้พิเศษนั้นก็คือเนื้อเรื่องและการเล่าเรื่องของเกมนี่เอง ที่นอกจากตัวเนื้อหาเองที่ก็เต็มไปความน่าพิศวง ชวนให้ค้นหาเบื้องลึกเบื้องหลังของโลกอันล่มสลายนี้อยู่แล้ว ยังส่องประกายจากการเล่าเรื่องผ่านเกมเพลย์และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เหล่าผู้ก่อการร้ายและภูติผี BTs ที่คอยขัดขวางการเดินทาง
ตลอดจนเหล่าผู้รอดชีวิตที่ให้ความร่วมมือบ้างไม่ให้ความร่วมมือบ้างด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป สิ่งต่างๆเหล่านี้ถักทอพันเกี่ยวระบบการเล่นกับโลกของเกมเข้าด้วยกัน เราจะรู้สึกได้ถึงความสำคัญของภารกิจส่งของแต่ละครั้งที่เราได้รับ เข้าใจน้ำหนักที่แท้จริงของพัสดุที่เราแบกอยู่บนหลัง ก่อนที่บทสรุปของเรื่องราวจะพาให้เราได้ย้อนกลับมามองความหมายมที่แท้จริงของการผจญภัยของเราอีกครั้ง ซึ่ง Death Stranding อาจไม่ใช่สุดยอดเกมอย่างที่หลายคนคาดหวัง แต่เชื่อว่าเรื่องราวการเดินทางเพื่อเชื่อมต่อโลกให้เป็นหนึ่งอีกครั้งนี้จะต้องอยู่ในใจของหลายๆคนและสร้างอิทธิพลต่อวงการออกแบบเกมต่อไปไม่มากก็น้อยแน่นอน
ควรค่าแก่การกล่าวถึง: “A Plague Tale: Innocence”
นี่คือเกมที่ตีความประวัติศาสตร์โลกช่วงสำคัญที่เกิดกาฬมรณะ (Plague) จนประชาชนล้มตายไปกว่าร้อยล้านชีวิต โดยมองในแง่เรื่องเล่าที่เสริมเติมแต่งจากรอยแหว่งโหว่ในประวัติศาสตร์ (Tale) ผ่านสายตาของเหล่าเด็กน้อยอย่างเอมิลี่ และ ฮิวโก้น้องชายของเธอ (Innocence) ที่ต้องเจอโลกอันโหดเหี้ยมของความงมงาย ความกลัว ด้านมืดของผู้ใหญ่ ที่ล้วนผลักดันให้ทำทารุณกรรมต่อผู้อื่นอย่างไม่ลังเล แค่การแต่งเนื้อเรื่องอิงประวัติศาสตร์แบบใส่ดีเทลเรื่องจริงผสมเรื่องแต่งไว้มากมายทั้งในบทสนทนาของตัวละคร และในงานออกแบบฉากต่าง ๆ ที่ใช้เพียงภาษาภาพเล่าก็มีดีพอให้เราต้องหยุดสนใจแล้ว บางทีกิมมิกในฉากต่าง ๆ ก็ส่งแรงกระเพื่อมให้เราแรงพอ ๆ กับเนื้อเรื่องหลัก และแม้เนื้อเรื่องช่วงหลังจะมีแปร่งลงบ้าง แต่ตลอดระยะทางการล้มลุกคลุกคลานและสูญเสียมากมายของตัวละครหลักเพื่อช่วยน้องชายผู้ไร้เดียงสา มันก็มีหลายอย่างที่เปลี่ยนมวลความรู้สึกในตัวเราไปพร้อมตัวละคร เป็นคัมมิ่งออฟเอจแบบโหด ๆ ที่ได้เรียนรู้ผ่านเนื้อเรื่องของเกมอีกครั้งครั้งหนึ่งล่ะนะ
เกมเพลย์ยอดเยี่ยมแห่งปี: “Sekiro: Shadows Die Twice”
นี่คือเกมแนวแอ็กชัน ผจญภัย สุดโหดหินจาก From Software ที่มีระบบการต่อสู้รวดเร็วและท้าทาย พร้อมนำเสนอแฟคเตอร์การเล่นที่พลิกโฉมเกมแนว Dark Soul ไปโดยปริยาย โดยการที่เลือดหรือพลังชีวิตจะไม่ใช่ปัจจัยหลักเพียงอย่างเดียวในการกำหนดผลแพ้ชนะ หากแต่เป็นระบบปัดป้อง การคุมเชิงการต่อสู้ที่ดุเดือด หนักแน่น และพร้อมจสร้างความได้เปรียบหรือเสียเปรียบตั้งแต่ต้นจบจบการปะทะเพลงดาบ, ระดับความยากของเกมที่แม้อาจจะดูบ้าดีเดือดที่สุดที่เคยพบเจอมาในเกมแนวนี้ แต่เช่นเดิม ประสบการณ์และฝีมือจากการตายซ้ำตายซ้อนของเรา จะปรับเปลี่ยนให้ผู้เล่น กลายเป็นนินจาผู้เกรียงไกรชำนาญการต่อสู้ ทั้งหมดนี่กล่าวมา คือความสนุกที่เกมเมอร์สายฮาร์ดคอร์คู่ควร!
ควรค่าแก่การกล่าวถึง “Devil May Cry V”
เรียกได้ว่าน่าจะเป็นเกมที่ขับเคี่ยวคู่ Sekiro สำหรับการเป็นเกมแอคชั่นแห่งปี 2019 หลังจากที่หายไปนานกว่า 10 ปีและถูกรีบู๊ต (reboot) จนแฟนๆล้มเลิกความหวังที่เกมจะมีภาคต่อกันไปแล้วด้วยซ้ำ โดยการกลับมาครั้งนี้ นอกจากดันเต้ (Dante) และเนโร (Nero) สองนักล่าปีศาจของเราจะพกคอมโบและอาวุธอุปกรณ์ใหม่ๆมาให้เราได้สาดคอมโบใส่เหล่าปีศาจไม่ให้ตกถึงพื้นจนตายกันอย่างเคยแล้ว ยังมีตัวละครใหม่อย่างวี (V) ที่มาพร้อมสไตล์การต่อสู้แบบใหม่ด้วยการควบคุมปีศาจคู่กายของเขาออกไปฟัดกับศัตรูอีกด้วย แม้ตัวเกมโดยรวมจะไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่มาก ทั้งการดำเนินเนื้อเรื่องแบบมิชชั่นจบเป็นด่านๆ ระบบอัพเกรดที่เป็นการปลดล็อคท่าโจมตีต่างๆ ไปจนถึงเนื้อเรื่องที่ไม่ยาวมากและไม่ได้โดดเด่นเป็นพิเศษ แต่ด้วยความนุ่มลึกของระบบต่อสู้ที่ผ่านการเจียระไนมาอย่างละเอียดลออ ผ่านร้อนผ่านหนาวลองผิดลองถูกกันมาถึง 5 ภาค ทำให้สีสันของการกดคอมโบในเกมนี้เต็มไปด้วยลูกเล่นและความท้าทายใหม่ๆให้ค้นหาอยู่เสมอ
เกมดูดเวลาชีวิตแห่งปี “Final Fantasy XIV: Shadowbringer”
ภาคเสริมชุดที่ 3 ของ Final Fantasy XIV ที่ใครก็ตามเป็นแฟนไฟนอลแฟนตาซี เนื่องจากว่า FFXIV นั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่เกมออนไลน์ธรรมดา แต่มันคือไฟนอลแฟนตาซีภาคหลัก ที่เล่าเรื่องถึง “นักรบแห่งแสง” ตามต้นฉบับของซีรี่ส์ FF แต่มีการดัดแปลงให้เข้ากับโลกของตัวเอง และได้นำเอาองค์ประกอบของไฟนอลแฟนตาซีทุกภาค มารวมไว้ด้วยกัน หรือจะพูดกันง่ายๆ มันก็คือสวนสนุกของแฟน ๆ ไฟนอลแฟนตาซี
โดย “Shadowbringer” นั้น จะพูดถึงนักรบแห่งความมึด (หรือตัวผู้เล่นเอง) ที่ต้องเข้าไปในโลกที่ถูกแสงสว่างกลืนกิน ช่วยนำพาความมึดมาสู่โลกแห่งนี้ โดยผู้เล่นจะได้เข้าไปผจญภัยในโลกใหม่ทั้งใบ แผนที่ใหม่ ดันเจี้ยนใหม่ และแน่นอนสุดยอด Raid Boss ใหม่ “Eden” จาก FF8 พร้อมกับ 2 อาชีพใหม่ Dancer และ Gunblade ที่สาวก FF8 เป็นต้องกรี้ด นอกจากนี้เองตัวเกมก็ยังมี Content เสริมอื่นๆอีกมากมายที่ Update อยู่ตลอดทั้งปี โดยล่าสุดก็เป็นการ Collaboration กับ Nier Automata ที่ผมบอกว่าได้ใจแฟนๆ ของทั้งสองเกมนี้ไปเต็มๆ
ควรค่าแก่การกล่าวถึง “Pokemon Sword/Shield”
Pokemon Sword and Shield เป็นเกมที่มีอะไรให้ทำค่อนข้างเยอะ เนื้อเรื่องก็ดีที่เพลิน ๆ การท้าสู้กับเทรนเนอร์คนอื่น ๆ การสะสมบรรดาโปเกม่อนให้ครบ ไปจนถึงระบบใหม่ที่ภาคนี้นำเสนออย่างการต่อสู้กับ Raid Boss และแน่นอนเมื่อพูดถึงโปเกม่อน คงหนีไม่พ้นการปั่นจักรยานฟักไข่หาตัวดี ๆ การฝึกฝนโปเกมอนให้เก่ง และอื่น ๆ การทำทีมเพื่อไปสู้กับคนอื่นก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่ดูดเวลาเป็นจำนวนมาก (กกกกกกกก) เราจะต้องหาจุดอ่อนของเราว่าทีมขาดอะไร ได้เทคนิคใหม่ ๆที่เห็นคู่ต่อสู้ใช้ และควรปรับทีมใหม่ยังไง การปรับทีมก็อาจต้องไปตีบอสหรือฟักไข่เพื่อเอาท่าที่ต้องการ เรียนท่าหรือฝึกค่าต่างๆแล้วกลับไปท้าสู้ใหม่ วนเวียนไป กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เช้าซะแล้ว
สุดคาดหวัง สุดท้ายล้ม: Ghost Recon Breakpoint
ถึงแม้ว่าเกมจะยังคงรูปแบบการเล่นแบบเดิมเอาไว้ แต่การที่ทีมงานนำเอาองค์ประกอบของเกม RPG ที่มันไม่เหมาะสมกับเกมแนว tactical Shooter ใส่เข้าไปแบบไม่คิดถึงผลที่จะตามมา อีกทั้งตัวเกมนั้นแทบจะไม่ได้มีการพัฒนาขึ้นจากภาคที่แล้วสักเท่าไร และการใส่ Microtransaction เข้ามาอย่างน่าเกลียด พร้อมกับคอนเทนต์ภายในเกมที่ไม่น่าสนใจ พร้อมกับบัคอีกมากมาย ที่ผู้เล่นต่างกันปวดหัว โดยสิ่งที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุด ก็คือการที่ตัวเกมนั้น “ไม่มี AI เพื่อนร่วมทีม” โดยมันจะเป็นการเน้นเล่น Online ซึ่งผิดคอนเซ็ปต์ของ Ghost Recon ไปทันที หากเรามองย้อนไปยังภาค Wildland แน่นอนว่าแนวเกมมันก็เปลี่ยนไปมาก แต่อย่างไรก็ตามมันก็ยังคงความเป็น Ghost Recon เอาไว้อยู่มากเช่นกัน ผลออกมาก็ทำให้ Ghost Recon Breakpoint เป็นเกมที่น่าผิดหวังเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของตัวเกมเอง และความเป็นซีรี่ส์ Ghost Recon
อีกหนึ่งความผิดหวังที่ควรกล่าวถึง “Google Stadia”
การชมภาพยนตร์แบบ Streaming กำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน และน่าจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับอนาคต แต่การเล่นเกมผ่าน Streaming ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อ Google เปิดตัวบริการเล่นเกมแบบ Streaming ที่ไม่ต้องทำการติดตั้งตัวเกม ขอเพียงแค่เรามี Internet ก็สามารถเข้าถึงได้ มี Stadia Controller จ่ายเงินซื้อเกมที่เขาขายเท่านั้น เชื่อมต่อ Chromecast ข้อมูลต่างๆ จะถูกส่งมาจาก Cloud พร้อมกับการแสดงภาพที่ 4K กลายเป็นเรื่องฮือฮาขึ้นมาทันที มันจะเล่นได้จริงๆ หรอ! จะลื่นหรือไง? แล้วเกมที่มีขนาดเนื้อที่ใหญ่ๆ จำเป็นอย่างไร? มีคำถามแบบนี้เกิดขึ้นมากมาย
แต่เมื่อ Google Stadia ทำการเปิดให้บริการ กลายเป็นว่าพวกเขาบริการเล่นเกมแบบ Streaming มีจำนวนเกมที่น้อยเกินไป เปิดตัวเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2019 มีเกมให้เล่นเพียงแค่ 22 เกม แม้จะมีเกมชื่อดังมาให้เล่นก็ตาม Assassin’s Creed Odyssey, Destiny 2, Rise of the Tomb Raider และอีกมากมาย แต่เกมเหล่านี้เป็นเกมที่ออกวางจำหน่ายมาหลายปีแล้ว ไม่ได้ใหม่อะไร, การเล่นเกมยังไม่ลื่นไหลอย่างที่ควรจะเป็น มีอาการแลคบ้างนิดหน่อย, ฟีเจอร์ก็ยังใช้งานไม่ได้ และก็ยังไม่รองรับอุปกรณ์บางอย่าง ทำให้การเปิดตัวของ Google Stadia อาจจะไม่สวยหรูเท่าไรนัก
แม้ Google Stadia อาจจะเปิดตัวไม่สวยอย่างที่โฆษณาไว้ แต่เชื่อว่าในอนาคตบริการเล่นเกมแบบ Streaming ตัวนี้ เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ไม่ต้องการเครื่องเกม Console หรือ PC เครื่องแรงๆ ขอเพียงแค่มี Internet ก็สามารถเล่นเกมระดับ AAA ได้แล้ว คงต้องให้เวลากับ Google Stadia อีกสักหน่อย เชื่อว่ามันจะเป็นอีกทางเลือกสำหรับคนเล่นเกมแน่นอน
เกมกากแห่งปี: Left Alive
ซีรีส์ Front Mission อาจจะตายไปแล้วอย่างสมศักศรีดิ์พร้อมเหลือทิ้งไว้เพียงความทรงจำที่แฟน ๆ พึงระลึกไว้เสมอ แต่แนวคิดที่จะนำหนึ่งในสุดยอดซีรีส์เกมหุ่นยนต์กลับมาในรูปแบบ Spin-off ผ่านผลงานเกมที่ชื่อ Left Alive มันคือการตอกฝาโรงให้กับเกมนี้โดยสมบูรณ์ ไล่ตั้งแต่การลดสเเกลของเนื้อเรื่องลงให้ตามติดแค่เรื่องราวบนสนามรบมากกว่าการชิงไหวชิงพริบของความขัดแย้งระหว่างประเทศสมมุติ เกมการเมืองยิ่งไม่ต้องพูดถึง เมื่อแกนเนื้อเรื่องเบาหวิว ก็ไร้ที่ยึดเกาะชั้นเชิงการบอกเล่าเรื่องราว, ระบบการเล่นแบบลอบเร้นที่ไร้ซึ่งความท้าทายและแฟคเตอร์ (กฎของการเกิดเงื่อนไข) ไร้ซึ่งความเข้าใจในเกมแนวนี้ และแม้ในบางช่วงบางตอนของเกม เราจะได้กระโดดเข้าคอกพิตของหุ่นรบสัญลักษณ์ของซีรีส์ตลอดมาอย่าง Wanzer แต่มันก็กลับเป็นการบังคับที่คละหลวม ล่องลอยไร้น้ำหนักหรือความรู้สึกดุดันทรงพลัง นี่ยังไม่นับความฉลาดของ AI ศัตรูและบัคที่บานตะไทอีกนะ
ทั้งหมดที่กล่าวมา อย่าหาว่าเราใจร้ายเลย เพราะเราใช้สิทธิวิจารณ์ผ่านมุมมองของแฟนซีรีส์ Front Mission เกมแนว Tactical role-playing ที่ลุ่มลึกละเอียดละอ่อน ต้องมาถูกปิดตำนานที่กู่ไม่กลับด้วยภาคแยกแนวแอกชันที่หวังจะเพิ่มฐานแฟนคลัยหน้าใหม่ ที่ก็ไม่น่าเชื่ออีกว่าผู้ให้กำเนิดมันขึ้นมาอย่าง Sqaure Enix จะเป็นคนพัฒนาเองกับมือ (พิโรธธธธธ!)
ควรถูกด่าด้วยอีกเกม “Anthem”
Anthem น่าจะเป็นอีกเกมที่ EA คาดหวังไว้ว่าจะต้องออกมาดี เพราะพวกเขาลงแรงกับเกมนี้ไว้มากพอสมควร หลังจากผิดหวังกับ Mass Effect: Andromeda ทำให้ BioWare ทีมพัฒนาที่ดูแลเกมนี้ต่างนำข้อผิดพลาดมาแก้ไขกับ Anthem
โดยหน้าฉากที่ดูสวยหรู อลังกาล จัดเต็มด้านเนื้อเรื่อง Anthem น่าจะกู้หน้าให้กับ EA ได้ แต่แล้วเกมไมได้เป็นอย่างนั้น Anthem กลายเป็นเกมที่น่าผิดหวังอีกครั้ง ตัวเกมมีปัญหาพอสมควร การออกแบบ Mission ทำได้น่าเบื่อ ตัวเกมไม่มีความสนุกเมื่อเล่นคนเดียว และบัคที่ดูจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเกม แม้ BioWare จะทำการแก้ไข ยิ่งทำดูเหมือนจะยิ่งทำให้เกมนั้นแย่ลงไปทุกที แก้ปัญหาเก่า ปัญหาใหม่ก็ตามมา จนผู้เล่นส่ายหน้าหนี จนมีข่าวลือว่า BioWare เตรียมยกเครื่องใหม่อีกครั้ง อย่างน้อยพวกเขาก็แสดงถึงความตั้งใจที่อยากทำให้ Anthem เป็นเกมที่ดีอย่างที่มันควรจะเป็น
ดราม่าวงการเกมประจำปี 2019 คนที่ดูแคสต์เกมผ่านยูทูบ/สตรีมมิ่ง มีสิทธิ์วิจารณ์เกมมั้ย?
เป็นปัญหาที่ดูเหมือนจะสร้างวิวาทะในโลกโซเชียลขึ้นมากมาย ระหว่างเกมเมอร์ที่ซื้อเกมมาเล่นจริง ๆ แล้วชอบไม่ชอบเกมซึ่งพวกนี้ไม่ค่อยมีปัญหาหรอกเพราะต่างคนต่างรสนิยมอยู่แล้ว แต่ปัญหามักมาจากอีกพวกหนึ่งคือนักวิจารณ์อิสระ ที่ใช้การดูนักแคสเล่นให้ดูแล้วออกมาด่าเกมเสียยับ ซึ่งไปกระแทกใจคนที่เขาซื้อเกมมาเล่นและชอบตัวเกมนั่นล่ะ ตัวอย่างง่าย ๆ ก็เกมที่เสียงแตกกระจายอย่าง Death Stranding นี่ล่ะ ก็ต้องยอมรับนะว่าเป็นเกมที่ละเอียดและชวนเบื่อเหมือนกันบางช่วง ซึ่งไอ้คนไม่ได้เล่นไม่ได้ต้องคิดแก้ปัญหาต่าง ๆ ในเกมจะไม่ได้ฟีลเสน่ห์ของการเล่นไป แต่อาจจะรู้เรื่องเนื้อหาการเล่าเรื่องเท่า ๆ กันได้ มันก็ต้องแยกส่วนในการวิจารณ์ล่ะนะ แต่ปัญหามักมาจากภาษาชวนทะเลาะ และการตัดสินเหมารวมเกมจากส่วนที่เราไม่ชอบมากที่สุดนั่นล่ะ
ดราม่านี้แตกประเด็นไปได้ไกลหลายแง่มุมมาก ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลในแบบถูกทั้งคู่และผิดทั้งคู่ได้เช่นกัน นี่จึงเป็นดราม่าที่น่าสนใจในเชิงคอนเซ็ปต์การวิจารณ์สิ่งต่าง ๆ นอกจากเกมเหมือนกัน ซึ่งถ้าไม่ยึดติดอารมณ์กับภาษาชวนทะเลาะในโลกอินเทอร์เน็ตนะเราจะได้ประโยชน์จากดราม่านี้เยอะอยู่เหมือนกันนะ ว่าขอบเขตการวิจารณ์หรือตัดสินบางอย่างในชีวิตของเราควรมีกรอบจำกัดแค่ไหนที่เรียกว่าสร้างสรรค์
อีกดราม่าวงการเกมที่น่ากล่าวถึงด้วย “Epic Game Store Exclusive”
การมาของ Fortnite พร้อมกับเกม MOBA อย่าง Paragon ทำให้ Epic Game Launcher กลายเป็นที่รู้จักของนักเล่นเกมทั่ว ๆ ไปในทันที เพราะว่าการที่คุณจะเล่นเกมพวกนี้ได้นั้น จำเป็นต้องโหลดเจ้า Epic Game Launcher มาก่อน ซึ่งมันก็ฟังดูเป็นเรื่องปกติสำหรับเกมในยุคนี้ที่จะมี Launcher เป็นของตัวเอง เพราะเกมค่ายใหญ่ๆส่วนมากก็จะทำแบบนี้กันทั้งนั้น
แต่ Epic Game ก็ไม่หยุดอยู่แค่นี้ เพราะพวกเขาขยายความเป็นเพียงแค่ Launcher ธรรมดา ๆ ตัวหนึ่ง ให้กลายเป็นร้านค้าเกมดิจิตอล พร้อมกับเป็นชื่อเป็น Epic Game Store โดยในเดือนธันวาคม 2018 Epic Games ได้ออกมาประกาศว่าจะเป็นคู่แข่งกับ Steam อย่างเป็นทางการ โดยจะรับส่วนแบ่งจากการขายเกมเพียงแค่ 12% เท่านั้น แตกต่างจาก Steam ที่ใช้ส่วนแบ่งสูงถึง 30%
แต่เรื่องที่เป็นปัญหาและถูกพูดถึงมากที่สุด ก็คือเรื่องความปลอดภัยของ Epic Game Store เองที่ช่วงนั้นมีข่าวหลุดออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสอดส่องผู้ใช้ Steam หรือความปลอดภัยด้าน Account ระบบสมาชิกต่าง ๆ หรือจะเป็นเรื่องตัวโปรแกรม Epic Game Store เอง ที่ไม่มีคุณภาพมากพอจะมาสู้กับ Steam ได้ หนักสุดคือในตอนแรกยังไม่มีระบบ Cloud Save (แต่ตอนนี้มีแล้วนะ)
แต่ปัญหาก็คือการที่ Epic Game Store เองนั้นได้ใช้เงินก้อนโตจ่ายให้กับเหล่าผู้พัตนาหรือผู้จัดจำหน่ายให้ขายเกมบนเฉพาะ Platfrom ของตัวเอง มันคือสิ่งที่เกมเมอร์รับไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่คงไม่มีใครอยากจะใช้โปรแกรมที่ไม่ดีพร้อม และพวกเขาก็เลือกที่จะไม่ชื้อเกมนั้น ๆ ไปเสีย
แล้วทำไมเราต้องเกลียด Epic Game Store ?? คำตอบของคำถามนี้ คงบอกได้แค่ว่า เกมเมอร์นั้นยึดติดกับ Steam มากเกินไป” ตัวโปรแกรม Epic Game Store ในตอนนี้ ว่าตรง ๆ คือ สู้ Steam ไม่ได้เลยสักนิด แต่อย่างไรก็ตาม Epic Game Store นั้นยังต้องพัตนาอยู่อีกมาก และถ้าหากต้องการจะสู้กับ Steam แบบ Fair Game กันจริงๆ ก็ต้องเลิกผูกขาดการค้าทางตลาด โดยจ่ายเงินในผู้พัตนาหรือผู้จัดจำหน่ายมาวางขายเกมแบบ Exclusive บนร้านค้าของตัวเอง และใช้เงินตรงส่วนนั้น ไปพัตนาโปรแกรมให้ดีขึ้น เพียงเท่านี้ผมว่าจะทั้งเกมเมอร์หรือนักพัตนาทุกคนก็น่าจะ Happy กันครับ