Dragonball คือมังงะอนิเมะ ยุค 80-90 เป็นผลงานของ Akira Toriyama ที่เรียกได้ว่าเด็กๆ ยุค 90s คงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะพูดตามตรงดราก้อนบอลเป็นการ์ตูนที่เปิดโลกให้เด็กอย่างผมในยุคนั้น ได้รู้จักกับหนังสือการ์ตูน และมันเป็นหนังสือการ์ตูนเล่มแรกในชีวิต ที่ผมเก็บเงินซื้อด้วยตัวเอง ส่วนตัวแล้วผมมีความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ผมโตกับมันมาตั้งแต่ยังเด็ก และมันเป็นสุดยอดการ์ตูนอมตะในดวงใจของผมไปแล้วครับ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา Dragonball มี Video Game ออกมาเยอะมาก ตั้งแต่ยุค Famicom ยันยุคปัจจุบัน โดยส่วนมากก็จะเป็นแนว Fighting เสียส่วนใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วรู้ไหมครับว่าเกมดราก้อนบอลนั้นในยุคแรก ๆ ส่วนมากจะเป็นเกมแนว RPG กันทั้งนั้น เพราะด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีของเครื่อง Famicom เอง และเด็กยุค 90s อย่างผมก็จะโตมากับเกมที่อยู่ในเครื่อง Super Famicom , PS2, Gameboy เป็นหลัก
โดยถ้าหากพูดถึงเกมดราก้อนบอลที่ฮิตสุด ๆ และหลาย ๆ คนคงรู้จักกันดี ก็น่าจะเป็นซีรีส์ชุด Budokai Tenkaichi ในเครื่อง PS2 ที่ถึงทุกวันนี้ก็ยังมีคนเล่นมันอยู่ หรือจะเป็นเกมในยุคใหม่ ๆ อย่าง FighterZ ที่ผมยกให้มันเป็นเกมดราก้อนบอลที่ดีที่สุดไปแล้ว แต่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้ว่านอกจากยุค PS2 ซึ่งเป็นยุคที่บูมสุด ๆ ของดราก้อนบอลแล้ว ในเครื่องพกพาอย่าง Gameboy Advance ก็มีสุดยอดเกมดราก้อนบอลเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นภาค Advanced Adventure ที่ใช้ระบบ Side-Scrolling Platform โดยเล่าเรื่องของซุนโกคูในตอนเด็กจนถึงช่วงต่อสู้กับจอมมารพิคโกโร่ และเกมต่อสู้อย่างภาค Supersonic Warriors ที่เป็นเกมต่อสู้ที่ยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับเครื่องพกพาในยุคนั้น และแน่นอนกับเกมชุด The Legacy of Goku และ Buu’s Fury เกมดราก้อนบอลแบบ Topdown RPG ที่กลายร่างมาเป็น Dragonball Z: Kakarot ที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ครับ
Dragonball Z: Kakarot เป็นเกมแนว Openworld Action RPG ที่ใช้ระบบต่อสู้คล้าย ๆ กับภาค Budokai Tenkaichi ผสมกับภาค Xenoverse โดยเป็นผลงานของ CyberConnect2 ซึ่งเป็นทีมที่เรียกได้ว่าทำเกม Naruto มาแทบจะทั้งชีวิต กับชุด Ultimate Ninja Storm ทุกภาค จึงการันตีได้เลยว่า DBZ: Kakarot นั้นจะต้องออกมาเป็นงานละเอียดอย่างแน่นอน หลังจากที่ผมเล่นมาเกือบ 50 ชั่วโมง ผมบอกได้ว่าเลยว่าทีมงาน “ค่อนข้างจะทำได้ดีในระดับนึง” ครับ
Story
Dragonball Z: Kakarot จะเล่าเรื่องแบ่งเป็น 4 ส่วนใหญ่ ๆ นั้นก็คือภาค Saiyan Saga, Frieza Saga, Android Saga, และ Majin Buu Saga หรือมันก็คือทั้งหมดของภาค Z นั้นล่ะครับ ซึ่งมันก็คงเป็นครั้งที่เท่าไรแล้วไม่รู้ สำหรับเนื้อเรื่องเดิม ๆ ในเกมดราก้อนบอล จะมีก็ภาค Xenoverse ที่มันแปลกแหวกแนวไปบ้างเล็กน้อย แต่ก็เพราะว่ามันเป็นดราก้อนบอลนั้นล่ะครับที่มันเป็นอมตะไปแล้ว ต่อให้เอามาเล่าสักกี่ครั้ง ก็คงยังไม่เบื่อ แต่อย่างไรก็ตามผมบอกเลยว่าใน DBZ: Kakarot นั้นทำได้ยอดเยี่ยมที่สุดในด้านการเล่าเรื่องจริง ๆ
ในช่วงแรกของภาค Saiyan Saga นั้น ตัวเกมเปิดมาได้ยอดเยี่ยม มีการเล่าเรื่องถึงซุนโกคู และซุนโกฮัง ที่ต้องต่อสู้กับชาวไซย่าไปพร้อม ๆ กับศัตรูเก่าอย่างพิคโกโร่ โดยไม่ว่าจะเป็นทั้ง Dialogue และ Voice Acting เองที่ทำออกมาได้ยอดเยี่ยมทั้งคู่ และอย่างที่หลาย ๆ คนรู้กันว่าในเกมนี้ มีซับไตเติ้ลภาษาไทยอย่างเต็มตัวด้วย และผมขอบอกเลยว่าทีมงานแปลได้มาดีมากครับ ตลอดทั้งเกม มันทำให้ผมกลับไปรู้สึกเหมือนตอนเด็ก ๆ อีกครั้ง ผมได้ลองเอาหนังสือการ์ตูนดราก้อนบอลมาเปิดดูบทพูด ควบคู่กับในเกมไปด้วย แล้วก็เห็นเลยว่ามันแทบจะเหมือนกันเป๊ะเลย
แต่อย่างไรก็ตาม พอตัวเกมดำเนินเรื่องมาถึงช่วง Android Saga มันจะมีอยู่บางช่วงที่ผมรู้สึกว่าการเล่าเรื่องมันแปลก ๆ ไปหน่อย เหมือนกับทีมงานรีบทำให้มันเสร็จ ๆ ไป แต่นั่นก็เป็นแค่เพียงความรู้สึกครับ แต่พอมาถึงช่วง Majin Buu Saga เท่านั้นล่ะครับ เห็นได้ชัดเลยว่าทีมงานนั้นรีบเผางานช่วงนี้เกินไปหน่อย มีหลายฉากมาก ๆ ที่ถูกตัดออกไป ตั้งแต่ช่วง Other World, World Tournament ที่ทีมงานตัดทิ้งไปเลย ทั้ง ๆ ที่มันควรจะเป็นช่วงเวลาที่ขยายโลกภายในเกมให้มากกว่าเดิมแล้วแท้ ๆ
รวมไปถึงฉากอื่น ๆ ที่ทีมงานตัดสินใจเล่าเรื่องผ่าน Cutscreen แทน ทั้ง ๆ ที่ผมรู้สึกว่ามันไม่น่าจะทำแบบนั้น และน่าจะให้ผู้เล่นสัมผัสกับมันเองมากกว่า เช่นในช่วงศึกชิงเจ้ายุทธภพ ของภาคจอมมารบู ที่ทีมงานตัดส่วนนั้นออกไป ทำให้ผมอดได้เห็นฉากฮา ๆ หลายๆฉากในนั้น รวมไปถึงอดเห็นฉาก ไมตี้สมาร์ต VS หมายเลข 18 ด้วย และก็ยังมีอีกหลาย ๆ ฉากที่ถูกตัดไปเช่นกันครับ อย่างเช่นในช่วงที่โกคูกับเบจิต้าเข้าไปในตัวจอมมารบูเองก็เช่นกัน
ตรงนี้ผมเองก็มองว่าทีมงานอาจจะยกเอาเนื้อหาจากภาคต้นฉบับที่อยู่ในหนังสือการ์ตูนมาทำ แทนที่จะเอาเนื้อหาในภาค Z ที่ฉายไปในปี 1990 มาทำ แต่ถึงแบบนั้นก็เถอะ ในเควสต์เสริม หรือแม้กระทั่งในเควสต์หลัก เราจะได้เห็นเนื้อหาตลก ๆ ฮ่า ๆ เข้ามาอยู่ตลอด เช่นการหัดขับรถของพิคโกโร่และโกคู หรือเควสต์ตามหาเท็นชินฮังให้กับสาวรันจิ โดยเนื้อหาในเควสต์เสริมทั้งหมดนั้น ทำออกมาได้ค่อนข้างดีครับ ทำให้เราได้เข้าถึงโลกและตัวละครของดราก้อนบอลได้มากขึ้น
นอกจากนี้เองแล้วหลังจากช่วงจบเกมไป ตัวเกมก็ยังมีเควสต์เสริมอื่น ๆ ให้ทำอีกเช่นกัน รวมไปถึงผู้เล่นสามารถใช้ Time Machine ย้อนกลับไปทำเควสต์เสริมอื่น ๆ ที่เราพลาดมาในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ด้วยครับ นอกจากนี้แล้วตัวเกมก็ยังมีแผนที่จะออก DLC เนื้อเรื่องเสริมอีก 3 ชุด โดยใน 2 ชุดนั้นจะเป็นเนื้อเรื่องแบบ Original ที่ผมเองก็ตั้งหน้าตั้งตารอเลยว่ามันจะเป็นแบบไหน และอีก 1 ชุด ที่จะเป็นเนื้อเรื่องใหม่ ซึ่งผมขอเดาว่า มันน่าจะเป็นเนื้อเรื่องช่วงภาค Super ครับ
Gameplay
ผมว่าถ้าจะให้เอาเกมดราก้อนบอลทุกภาคมาวางเรียกกัน แล้วให้แฟน ๆ แต่ละคนมาชี้นิ้วเลือกเกมภาคที่มีระบบต่อสู้หรือระบบการเล่นดีที่สุด ผมคงนึกภาพไม่ออกว่าเสียงจะแตกกันขนาดไหน อย่างเช่นตัวผมเอง ที่อวยภาค FighterZ สุด ๆ แต่เพื่อนผมกลับชอบภาค Xenoverse มากกว่าแถมยังไม่ชอบภาค FighterZ เลย หรือแฟน ๆ บางคนชอบภาค Budokai Tenkaichi มาก ๆ แต่ไม่ชอบภาค Budokai 3 เลยสักนิด และนี่ยังไม่นับเรื่องแนวเกม ที่มีแทบจะทุกแนวไปแล้ว
แต่อย่างที่ผมบอกไปครับว่า DBZ: Kakarot นั้นมันเป็นเกมแนว Action RPG เพราะฉะนั้นระบบการเล่นหลัก ๆ ของเกมก็คือการ Grinding เลเวลตัวละครเพื่อไปฝึกวิชา หรืออัปสกิลเพิ่ม การหาวัตถุดิบในการทำอาหาร หรือการสร้างยานพาหนะและอัปเกรด การออกตามหาไอเท็มแปลก ๆ การฟาร์มเงินเพื่อซื้อไอเท็มที่เอามาช่วยในการต่อสู้ การออกสำรวจแผนที่ต่างๆภายในเกม และการทำเควสต์ย่อยเสริมพิเศษ หรือแม้กระทั่งการออกตามหา “ลูกแก้วมังกร” เพื่อขอพรสิ่งที่เราต้องการได้
ฟังดูมันก็เป็นเกม RPG เกมนึงนั้นล่ะครับ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เกม RPG ทุก ๆ เกมมี และมันจะเป็นตัววัดเลยว่าคุณเหมาะกับเกมนี้ไหม นั้นก็คือ “ระบบต่อสู้” ครับ
ระบบต่อสู้ของเกมนี้ จะคล้าย ๆ กับภาค Xenoverse ผสมกับ Budokai Tenkaichi ครับ และผมขอย้ำอีกครั้งว่า “มันแค่คล้าย ๆ” นะครับ ทั้งการบังคับหรือการเล่นเอง หากเราดูจากตัวอย่าง หรือเล่นไปแค่ช่วงแรก ๆ ก็คงคิดว่ามันไม่ต่างอะไรมาก แต่พอเล่นไปสักพัก เราจะรู้เลยครับว่าระบบต่อสู้ของ DBZ: Kakarot นั้นมัน “กลวง” มากเลยครับ การต่อสู้ของเกมนี้ไม่มีความซับซ้อนสักเท่าไรเลย เพียงแค่รัว ๆ ปุ่มโจมตีพร้อมกับการกดป้องกัน หรือออกมาชาร์จพลังยิงท่าไม้ตายรัว ๆ ก็เอาชนะได้ อย่างเช่น Bigbang Attack ของเบจิต้า ที่โคตรโกง และกลายเป็นตัวละครที่เก่งกว่าโกคูเสียอีก
โดยผมได้เอาไปเปรียบกับเกม Arena Fighting แนว ๆ เดียวกันอย่าง Budokai Tenkaichi และ Xenoverse หรือแม้กระทั่งเกมชุด Naruto Shippuden ที่เป็นผลงานจากทีมเดียวกัน ก็ยังทำได้กว่าทั้งหมดทุกด้าน แต่อย่างไรก็ตามหากเราจะพูดว่า “ก็ DBZ: Kakarot มันเป็นเกม RPG ระบบต่อสู้ก็แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น” แต่น่าเสียดายที่ผมต้องบอกครับว่า ในส่วนของระบบ RPG เกมนี้เอง ก็มีความ “กลวง” อยู่มากเช่นกัน
DBZ: Kakarot นั้นได้โปรโมตตัวเองว่าเป็นเกม RPG แต่มันกลับสอบตกในทุกด้านของความเป็นเกม RPG ที่สมบูรณ์แบบไป แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันแย่ไปเสียทั้งหมด สิ่งเดียวที่ทำออกมาได้ดี ก็มีแค่โลกภายในเกม ที่กว้างใหญ่มาก ๆ เรียกได้ว่าแทบจะยกเอาโลกของดราก้อนบอลเข้ามายัดใส่ไว้ในเกมนี้เลย แถมยังมีการออกแบบเมืองต่าง ๆ ฉาก ต่างๆ ออกมาได้สวยงามเหมือนในการ์ตูนอีกด้วย
แต่ถ้ามามองดูถึงระบบอื่น ๆ ใน DBZ: Kakarot นั้นทำระบบ Progression ตัวละครมาได้เรียบง่ายมาก ๆ ไม่มีความซับซ้อนอะไร ในเกมนี้หลังจากเราต่อสู้เสร็จ เราจะได้ค่าประสบการณ์ และ เหรียญ Z ซึ่งแน่นอนว่าค่าประสบการณ์นั้นเอาไปใช้อัปเลเวลตัวละครซึ่งมันก็จะปลดล็อกสกิลใหม่ ๆ ให้เราได้ใช้เจ้าเหรียญ Z มาปลดล็อกหรืออัปเกรดครับ โดยนอกจากการต่อสู้แล้ว เหรียญ Z สามารถหาได้จากการบินเก็บในแผนที่ หรือการขอพรจากเทพเจ้ามังกรเอาก็ได้ โดยรวมแล้วผมไม่มีปัญหากับ Progression เลย แต่ผมกลับมีปัญหากับความหลากหลายของตัวละครมากกว่า
ในเกมนี้ ทุกตัวละครมันมีความสามารถที่เหมือน ๆ กัน (ยกเว้นก็แต่ Bigbang Attack ของเบจิต้าที่โกง มาก ๆ) และมันทำให้ความหลากหลายในการเล่นลดน้อยลงไปครับ อย่างเช่นทั้งโกคูและโกฮัง ที่มีความสามารถคล้าย ๆ กัน ใช้ท่าได้เหมือน ๆ จะมีก็แค่ พิคโกโร่ ที่ดูจะมีท้าไม้ตายแตกต่างไป ตามมาด้วยทรังค์ที่มีท่าสวย ๆ เท่ ๆ ให้ใช้ แต่เอาเข้าจริงความสามารถมันก็ไม่ต่างอะไรกันมากนัก แถมชุดสกิลติดตัวของทุกตัวละครก็เหมือน ๆ กันหมดเลยอีกด้วย อย่างไรก็ตาม Bigbang Attack ของเบจิต้า ก็คือ The Best เลยล่ะครับ
นอกจากนี้ระบบอื่น ๆ ก็จะมีอย่างเช่นการทำอาหารที่จะช่วยเพิ่มค่าสถานะให้ผู้เล่น อย่างเช่นเพิ่มค่า Ki 10% เพิ่มพลังชีวิต 20% อะไรพวกนี้ โดยจะมีระยะเวลาอยู่ประมาณ 2-3 นาที หรือระบบ Community Board ที่จะช่วยให้ผู้เล่นมีความสามารถที่สูงขึ้นในด้านต่าง ๆ ผ่านการผูกมิตรกับตัวละครอื่น ๆ ในรูปแบบของ Soul Emblem โดยผู้เล่นจะต้องเข้าไปทำเควสต์เสริมกับตัวละครบางตัว หรือบ้างก็จะได้เนื้อเรื่องหลักอยู่แล้ว และเมื่อทำสำเร็จ เราก็จะได้ Soul Emblem มา โดยเราสามารถนำเอามันไปใส่ไว้ตามประเภทของ Community Board ต่าง ๆ ที่จะช่วยทั้งในเรื่องการต่อสู้ หรือเพิ่มการได้ค่าประสบการณ์ต่อสู้เพิ่มขึ้น เป็นต้นครับ
Graphics
ขอชื่นชมทีมงานเลยครับว่า พวกเขาสามารถสร้างโลกของดราก้อนบอลออกมาได้ดีมาก ๆ เลยทีเดียว ตัวเกมนั้นยกเอาโลกทั้งใบของดราก้อนบอลมาใส่ไว้ พร้อมกับกราฟิกที่สวยงามสมกับเป็นเกมยุคใหม่ จัดเต็มทุกรายละเอียด แถมยังออกแบบโลกภายในเกมได้เหมือนกับในภาพที่เราเห็นในหนังสือการ์ตูน หรืออนิเมะทางทีวีเลยทีเดียวครับ ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลวงทางตะวันตก ที่ตั้งของบริษัท Capsule Corporation บ้านของบลูม่า หรือเมืองซาตานซิตี้ ที่มีทั้งโรงเรียนมัธยมปลาย Orange ของโกฮัง และเราก็ยังสามารถเข้าไปทำกิจกรรมในโรงเรียนได้ด้วย หรือจะเป็นสถานที่สำคัญอย่างวิหารพระเจ้า หอคอยคาริน และอื่น ๆ อีกมากมายรอให้แฟน ๆ เข้าไปสำรวจกันล่ะ
และแน่นอนโลกที่กว้างใหญ่มันคงไม่เพียงพอ ถ้าหากมันเป็นเพียงโลกที่ว่างเปล่าก็คงน่าเบื่อแย่ ตรงจุดนี้เองทีมงานได้พยายามทำให้ทุก ๆ ส่วนของแผนที่มีชีวิตชีวาอยู่ตลอดครับ ถ้าหากเราบินไปรอบ ๆ เมือง เราก็จะพบกับประชาชนที่ต่างก็กำลังทำหน้าที่ของตัวเองกันอยู่ หรือจะเป็นพวกสัตว์ป่ารอให้เราเข้าไปล่า หรือแม้กระทั่งไดโนเสาร์ที่เราก็สามารถจัดการมันมาเป็นมื้อเย็นของเราได้ และถ้าหากใครไม่ชอบบิน เรายังสามารถขับรถกินลมชมวิวไปรอบ ๆ เมืองได้อีกด้วย !
Dragonball Z: Kakarot นั้นสอบผ่านในเรื่องของกราฟิกครับ ตัวเกมได้ใช้ Unreal Engine 4 ในการสร้างโลกในเกมขึ้นมา และแน่นอนว่าถ้าเป็นไอ่เจ้า Engine ตัวนี้เมื่อไร ปัญหาของ Performance ก็จะโผล่ขึ้นมาทันที ก่อนอื่นต้องบอกก่อนครับว่ามันมีหลายเกมอยู่เหมือนกัน ที่ใช้ UE4 แล้วไม่มีปัญหาในเรื่อง Performance สักเท่าไร แต่มันก็มีอีกหลายเกมมาก ๆ เช่นกัน ที่มีปัญหากับ Performance และมีเยอะกว่าเกมที่ไม่มีปัญหาอีกด้วย
สำหรับเกมนี้เองก็มีปัญหาในเรื่อง Performance เช่นเดียวกับเกมยุคหลัง ๆ ของ Bandai ที่ต่างมาใช้ UE4 กันหมด โดยตัวเกมที่ผมใช้รีวิวในครั้งนี้เป็นเวอร์ชัน PC ครับ สเปกที่ผมใช้ก็เป็น Ryzen 5 1600, RAM 16GB, GTX 1070Ti ตัวเกมไม่ค่อยมี Graphics Option อะไรให้ปรับมากนัก แถมยังไม่รองรับภาพ 4K อีกด้วย (ทั้ง ๆ ที่เวอร์ชัน Xbox One X รองรับ) แน่นอนว่าผมสามารถเล่นใน 60 Frame Rate ได้ แต่มันก็มีอยู่หลายช่วงเลยทีเดียว ที่ Frame Rate ตกมาเหลือ 30-40 ในจังหวะที่มีการโหลดฉากเยอะ ๆ ครับ
แต่เรื่องที่น่าผิดหวังที่สุด ก็น่าจะเป็นชาว Console ล่ะครับ เพราะ Frame Rate ของเกมนี้ถูกล็อกไว้ที่ 30FPS แถมยังเป็น 30FPS ที่ไม่เสถียรอีกด้วย มีอาการเฟรมตกอยู่ตลอดเวลา โดยข้อมูลนี้มาจากทั้งเครื่อง PS4 รุ่นธรรมดาเอง และเครื่องรุ่น Pro ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังไม่รวมเรื่องการโหลดฉากที่โหลดบ่อยมาก ๆ โหลดบ่อยจนชนิดที่ว่าน่าลำคาญกันสุด ๆ แต่สำหรับผมที่เล่นในเวอร์ชัน PC ก็สบายหน่อย แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม Unreal Engine 4 นั้นมันสร้างปัญหาเยอะจริง ๆ หากตัวเกมไม่ได้รับการขัดเกลาที่ดีพอ ก็จะมีปัญหาแบบนี้ให้เราเห็นกันอยู่ตลอดล่ะครับ
โดยรวมแล้วองค์ประกอบทั้งหมดที่ Dragonball Z: Kakarot ใส่เข้ามานั้น มันก็ทำให้กลายเป็นเกม RPG สเกลใหญ่ ๆ เกมหนึ่งได้เลย แต่อย่างที่ผมบอกไปในตอนแรกครับว่า ระบบส่วนมากก็ยังกลวง ๆ อยู่ หรือก็คือทุกสิ่งทุกอย่างมันยังถูกขัดเกลามาไม่ดีครับ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นเกมที่ไม่ดีนะ เพราะตลอด 50 ชั่วโมงที่ผมเล่นมา ผมสนุกกับมันมาก ๆ ผมแทบจะอวยในทุกส่วนของตัวเกม เพราะตัวผมก็เป็นแฟนดราก้อนบอลจัดคนนึง แต่ถ้าเรามามองในแง่ของ Video Game ก็ต้องพูดตามตรงว่า DBZ: Kakarot นั้นยังไม่ Perfect และต้องมีการขัดเกลาให้มากขึ้นกว่านี้ครับ
สุดท้ายนี้ก็ต้องบอกเลยครับว่า Bigbang Attack ของเบจิต้า นั้นสุดยอดจริง ๆ ครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส