วาบิซาบิ (Wabi-Sabi 侘寂) ปรัชญาจากประเทศญี่ปุ่นที่แผ่กระจายไปทั่วโลก ปรัชญาวาบิซาบิว่าด้วยเรื่องของทุกสิ่งอย่างบนโลกใบนี้ที่แม้ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ยังคงมีความงดงามในตัวของมันเอง ภาพที่เรามักเห็นในการอธิบายเกี่ยวกับวาบิซาบิ มักเป็นภาพกาน้ำชาดินเผาที่มีรอยร้าว หรือริ้วรอยความเหี่ยวย่นบนใบหน้าหญิงชราที่สะท้อนความสวยงามของชีวิตตามกาลเวลา และสัจธรรมของโลก

แนวคิดวาบิซาบิสามารถช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิต และช่วยให้คุณเห็นความงดงามของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้มากกว่าเคย

ความหมายของวาบิซาบิ

วาบิ (侘) นั้นหมายถึงความโดดเดี่ยว เศร้าสร้อย ห่างไกล และสงบเงียบ ส่วนซาบิ (寂) หมายถึงความงามและร่องรอยที่เกิดขึ้นตามเวลา ซึ่งทั้งสองคำนี้สามารถแปลได้หลายความหมาย แต่ในภาพรวมคือความรู้สึกของความเรียบง่าย และความสวยงามที่เกิดขึ้นตามวัฏจักร เช่น อายุขัย การเสื่อมของสิ่งของ วัสดุ

แก้วที่พื้นผิวขรุขระ ไม่เรียบเนียน – Freepik

วาบิ ซาบิ: ไม่จีรัง เศร้าโศก และว่างเปล่า

วาบิซาบิเป็นปรัชญาที่มีแนวคิดมาจากศาสนาเซน ซึ่งเป็นนิกายของพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น แต่ก็มีรากเดียวกับคำสอนของพุทธแบบไทยที่เรียกว่า ‘ไตรลักษณ์’ ที่ประกอบด้วย อนิจจังหรือความไม่เที่ยง ทุกขังหรือความทุกข์ และอนัตตาหรือความว่างเปล่า

วาบิซาบิชี้ให้เห็นแง่มุมของสิ่งต่าง ๆ บนโลกว่าไม่มีสิ่งใดอยู่ไปตลอด และสุดท้ายจะกลับสู่ความว่างเปล่าเสมอเมื่อเวลาผ่านไป เพื่อให้ผู้คนปรับทัศนคติต่อความเว้าแหว่ง ตำหนิ ร่องรอยของแผลเป็นเพื่อโอบรับความไม่สมบูรณ์แบบ ตั้งแต่รอยบิ่นบนแก้วกาแฟ ก้อนหินที่มีตะไคร่ขึ้นเขียว หลังคาบ้านที่เก่าไปตามเวลา รอยแผลเป็นที่เตือนใจ หรือความไม่สมหวังในชีวิต

วาบิซาบิกับการใช้ชีวิต

หลักคิดเรื่องความสวยงามของความไม่สมบูรณ์แบบจากวาบิซาบิเป็นสิ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการใช้ชีวิตได้หลายด้าน ซึ่งอาจช่วยให้คุณเห็นความสวยงามของชีวิต และสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ที่ช่วยให้คุณมีความสุขมากขึ้น เช่น

การปล่อยวางเมื่อถึงเวลา

ความสมบูรณ์แบบในทุกเรื่องอาจเป็นสิ่งที่เพอร์เฟกชันนิสต์ใฝ่ฝัน และรู้สึกว่าความสมบูรณ์แบบนั้นเป็นไม้บรรทัดของชีวิต แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีสิ่งไหนสมบูรณ์แบบได้เสมอไป การเผชิญกับความผิดหวัง และเรื่องราวที่ไม่คาดคิดนั้นเกิดขึ้นกับชีวิตได้เสมอ และหากยังคงยึดถือยึดมั่นกับความสมบูรณ์แบบ สุขภาพจิต และความสุขในการทำสิ่งต่าง ๆ อาจถูกบั่นทอนลงทุกที

โดยการใช้ชีวิตแบบวาบิซาบิไม่ได้หมายความว่าจะต้องปล่อยวางทุกสิ่ง แต่เป็นการปล่อยวางเมื่อถึงเวลาที่ควรต้องปล่อยเพื่อหยุดความเครียด ความวิตกกังวล และความทุกข์

การยอมรับตัวเอง

แม้มนุษย์ล้วนเกิดมาพร้อมกับความเว้าแหว่งในชีวิต รอยแผลในใจ กับความเหี่ยวย่นที่เพิ่มขึ้นตามกาลเวลา และรู้ตัวอยู่เสมอว่าตัวเองไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่เรายังคงไขว่คว้าความสมบูรณ์แบบ ยิ่งในยุคสมัยที่ภาพลักษณ์ และความสมบูรณ์พร้อมนั้นเป็นบรรทัดฐานที่คนในสังคมส่วนใหญ่เห็นชอบ การไขว่คว้าหาสิ่งที่อาจสร้างความทุกข์ให้กับตัวเราเอง เพราะคนหนึ่งคนไม่สามารถสมบูรณ์แบบได้ในทุกด้าน

ในขณะเดียวกัน หากเราย้อนหันมามองสองมือสองเท้าของตัวเองที่ฝ่าฟัน และยังมีชีวิตอยู่ได้ในทุกวันนี้ แม้จะผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มามากมาย การยอมรับความผิดพลาด และความไม่สมบูรณ์แบบนั้นอาจช่วยให้เราก้าวข้ามความทุกข์ที่เผชิญอยู่ และทำให้เรารู้ถึงคุณค่าในตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้ การทำความเข้าใจวาบิซาบิอาจช่วยให้เราถ่อมตัว และยอมรับกับธรรมชาติของเวลาที่ไม่สามารถย้อนกลับ และปล่อยวางได้มากขึ้น

การมองโลกตามความเป็นจริง

บางครั้งความสวยงาม และความสมบูรณ์แบบนั้นเป็นเพียงภาพมายาของสังคม การมองโลกด้วยมุมมองแบบวาบิซาบิจะช่วยให้คุณเห็นเนื้อแท้ของคน และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเข้าใจความเป็นไปของโลกใบนี้ ช่วยให้คุณสามารถประเมินสถานการณ์ และปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงไปตรงมา และอาจช่วยให้เรารับผลกระทบทางอารมณ์จากสิ่งนั้น ๆ น้อยลงด้วย

วาบิซาบิกับงานศิลป์

แนวคิด และความรู้สึกแบบวาบิซาบิถูกนำไปตีความ และสร้างสรรค์ออกมาเป็นส่วนหนึ่งศาสตร์และศิลป์แขนงต่าง ๆ มากมาย อย่างการเลี้ยงบอนไซ การชงชา การจัดดอกไม้ และภาพวาด แต่งานศิลป์ใต้แนวคิดแบบวาบิซาบิไม่ได้จำกัดอยู่แค่สิ่งที่ดูญี่ปุ่นเสมอไป

ทุกวันนี้ คนให้ความสนใจกับเสื้อผ้ามือสอง สินค้าวินเทจ เฟอร์นิเจอร์เก่า โดยอาจมองข้ามเรื่องมูลค่า และให้ความสำคัญกับความสวยงามที่เกิดขึ้นผ่านกาลเวลา

วาบิซาบิจึงไม่ใช้หลักคิดที่ให้คนปล่อยวางทุกสิ่งอย่าง แต่เป็นการยอมรับธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเพื่อให้เราได้เห็นมุมมองความสวยงามที่เกิดขึ้นจากความไม่จีรังนั่นเอง

ที่มา 1, 2

ภาพปก kristinebonnici

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส