PrEP (เพร็พ) และ PEP (เป๊ป) เป็นยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ซึ่งเป็นเชื้อที่มักติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาให้หายขาด และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาสามารถพัฒนาไปเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือที่รู้จักกันชื่อโรคเอดส์นั่นเอง

ยา PrEP และ PEP เข้ามามีบทบาทสำคัญและมีการใช้แพร่หลายมากขึ้นในโลกยุคปัจจุบันที่เปิดกว้างเรื่องเพศ ซึ่งยาทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่สามารถใช้ร่วมกับถุงยางอนามัยเพื่อลดความเสี่ยงของการได้รับเชื้อเอชไอวี การรู้จักกับยาต้านเอชไอวีทั้งสองชนิดนี้จะทำให้ชีวิตเซ็กซ์ของคุณสนุกและปลอดภัยมากขึ้น

PrEP ตัวช่วยของคนรักสนุก

ปัจจุบันเราเห็นความสัมพันธ์ที่เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งความสัมพันธ์แบบเปิด (Open Relationship) แบบ One Night Stand (ONS) และ Friend With Benefits (FWB) ซึ่งหากคุณเป็นคนรักสนุก PrEP เป็นทางเลือกที่คุณควรลองศึกษาดู

PrEP ย่อมาจาก Pre-Exposure Prophylaxis เป็นยาป้องกันไวรัสเอชไอวีที่ใช้เพื่อเตรียมตัวก่อนสัมผัสเชื้อ โดยจะต้องกินยา 1 เม็ด/วันเป็นประจำทุกวันและไม่ใช่ยาที่กินเพื่อป้องกันก่อนมีเพศสัมพันธ์ทันที ให้นึกภาพเวลาผู้หญิงที่กินยาคุมต่อเนื่องกันเพื่อคุมกำเนิด PrEP ก็มีวิธีใช้ที่คล้ายกัน แต่ต้องกินต่อเนื่องทุกวัน และเมื่อคุณรับ PrEP แล้ว แพทย์จะนัดมาตรวจเลือดทุก 3 เดือนเพื่อดูประสิทธิภาพยา

โดย PrEP เหมาะกับคนที่ความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวีสูงกว่าคนไป เช่น

  • คนมีไลฟ์สไตล์เสี่ยง เช่น อยู่ในความสัมพันธ์แบบเปิด ONS เป็นประจำ มี FWB หลาย ๆ คน หรือชื่นชอบการมีเพศสัมพันธ์แบบหลายคน
  • ชายรักชาย
  • คนที่มีคู่นอนหรือคนรักมีเชื้อเอชไอวี
  • เซ็กซ์เวิร์กเกอร์
  • คนที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ผ่านมา
  • คนที่ใช้สารเสพติดด้วยวิธีการฉีด

การใช้ PrEP ต่อเนื่องเป็นประจำทุกวันช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราแนะนำให้คุณใช้ร่วมกับถุงยางอนามัยด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน และ PrEP ไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อชนิดอื่นได้

ในช่วงแรก การใช้ PrEP มักทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่างอาการปวดท้อง เวียนหัว คลื่นไส้ และอาเจียนซึ่งจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง แต่คุณก็ควรหมั่นสังเกตผลข้างเคียงอื่น ๆ อยู่เสมอ และถ้าอาการรุนแรง แนะนำว่าให้ไปพบแพทย์

PEP ตัวช่วยฉุกเฉินของคนที่เพิ่งเสี่ยงเอชไอวี

หากคุณไม่ได้เป็นคนรักสนุก แต่ก็มีความเสี่ยงในการรับเชื้อบ้างบางโอกาส ควรรู้จักกับ PEP ไว้ เพราะอาจช่วยให้คุณรอดพ้นจากเอชไอวีได้

PEP หรือ Post-Exposure Prophylaxis เป็นยาที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกรณีที่คุณเพิ่งได้รับเชื้อหรือคาดว่าได้รับเชื้อ ซึ่งจะต้องมารับยานี้ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีความเสี่ยงและต้องใช้ยาต่อเนื่องกัน 28 วันและกลับมาตรวจหาเชื้อซ้ำ

ยา PEP มักใช้ในเคสต่อไปนี้

  • เมื่อคุณมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย หรือสวมแล้ว แต่ถุงยางอนามัยฉีกขาด
  • คนที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนอื่นเพื่อเสพสารเสพติด
  • คนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • บุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อเอชไอวี

ยา PEP ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ราว 80 เปอร์เซ็นต์ หากมีความเสี่ยง ควรรีบมารับยาให้เร็วที่สุดเพื่อประสิทธิภาพในการป้องกัน และเช่นเดียวกับ PrEP ยา PEP ไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นได้

ในช่วงแรกของการใช้ PEP คุณอาจพบอาการท้องเสีย ปวดหัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และอาเจียน ซึ่งเป็นผลข้างเคียงทั่วไปและมักดีขึ้นหลังใช้ยาไปสักระยะ

จะรับ PrEP และ PEP ได้อย่างไร และรับได้ที่ไหน?

สำหรับ PrEP คุณต้องงดมีเพศสัมพันธ์ 2 สัปดาห์ก่อนพบแพทย์ โดยแพทย์จะตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี รวมทั้งตรวจค่าตับและค่าไตเพื่อประเมินผลข้างเคียงจากการใช้ยา

ส่วน PEP คุณสามารถเข้าไปสถานพยาบาลเพื่อขอรับได้ทันที โดยแพทย์จะประเมินความเสี่ยง ให้ตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีและเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ตรวจค่าตับและค่าไตด้วยเช่นกัน

ทั้ง PrEP และ PEP สามารถเข้ารับได้ฟรีที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง รวมถึงหน่วยบริการภาคประชาสังคม อย่างคลินิกหรือศูนย์สุขภาพบางแห่งด้วย (บางแห่งอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม)

การติดเชื้อเอชไอวีไม่มีทางในการรักษา การดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ว่าใครก็ควรใส่ใจ PrEP และ PEP เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยคุณได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองด้วยว่าจะมีวินัยและรับผิดชอบสุขภาพของตัวเองและคนอื่นมากแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน การติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้น่ากลัวอย่างในอดีต ผู้ป่วยที่รักษาอย่างต่อเนื่องสามารถมีสุขภาพที่แข็งแรงและใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนไม่มีเชื้อ ทั้งความเสี่ยงในการแพร่เชื้อก็ต่ำมาก

ที่มา1, ที่มา2, ที่มา3

ภาพปก

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส