ผักเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่หลายคนอาจเคยได้ยินกันมาบ้างว่ามีผักบางชนิดที่ไม่ควรกินดิบ เพราะอาจส่งเสียต่อสุขภาพได้ ซึ่งข้อมูลนี้เป็นเรื่องจริง ผักที่ Hack for Health จะมาเล่าในบทความนี้ บอกเลยว่าใกล้ตัวคุณมาก ๆ
ผัก 4 ชนิดที่คุณไม่ควรกินดิบ
มาดูกันว่าจะมีผักชนิดไหนบ้าง แล้วทำไมถึงไม่ควรกินดิบ ถ้ากินแล้วจะเกิดอะไรขึ้น
1. กะหล่ำปลีดิบ
กะหล่ำปลี น่าจะเป็นหนึ่งในผักที่หลายคนรู้มาบ้างแล้วว่าไม่ควรกินดิบ สาเหตุก็เพราะว่ากะหล่ำปลีมีกรดออกซาลิก (Oxalic acid) ซึ่งสามารถไปจับกับแคลเซียมและธาตุเหล็กที่อยู่ในทางเดินอาหารและไต แม้ว่าร่างกายของคุณสามารถกำจัดกรดชนิดนี้ผ่านการขับถ่าย แต่ถ้าคุณกินมากไป ร่างกายอาจขับออกไม่ทันจนเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในไตได้
นอกจากกะหล่ำปลีแล้ว ผักอีกหลายชนิดก็มีกรดออกซาเลตด้วยเช่นกัน อย่างกะหล่ำดอก ผักโขม คะน้า ผักกาด บร็อคโคลี เคล และผักน้ำ
2. ถั่วงอกดิบ
ถั่วงอกดิบเป็นผักเคียงที่พบได้ในหลายเมนู ทั้งก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ผัดไทย และหอยทอด ซึ่งถั่วงอกเป็นอาหารที่มีสารอาหารที่จำเป็นหลายชนิด แต่การกินถั่วงอกดิบอาจทำให้คุณได้รับสารปนเปื้อนต่อไปนี้ได้
- สารไฟเตท (Phytate) ที่ลดการดูดซึมแร่ธาตุ อย่างแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก สังกะสี หรือแมกนีเซียม แม้จะเป็นสารอาหารจำเป็น แต่ในคนทั่วไปการได้รับไฟเตทอาจไม่ได้ส่งผลเสียเท่าไหร่ แค่ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารน้อยลง แต่ในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ สารไฟเตทอาจทำให้ทารกในครรภ์ขาดสารอาหารและส่งผลต่อพัฒนาการได้
- เชื้อแบคทีเรีย: เชื้ออีโคไล (E. Coli) และเชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียท้องร่วง คลื่นไส้อาเจียน และอาหารเป็นพิษ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่มาจากดินที่เพาะปลูก การเก็บรักษา และการขนส่ง
- สารฟอกขาว: ถั่วงอกดิบที่อวบอิ่มและขาวน่ากินอาจไม่ได้หมายความว่าถั่วงอกนั้นสดเสมอไป แต่อาจเต็มไปด้วยสารฟอกขาว ซึ่งการกินถั่วงอกดิบมาก ๆ อาจทำให้สารฟอกขาวตกค้างในร่างกาย ส่งผลให้ทางเดินอาหารระคายเคืองและอาจกระตุ้นอาการของคนที่เป็นหอบให้รุนแรงขึ้นได้
3. ถั่วฝักยาวดิบ
สัมผัสความกรอบของถั่วฝักยาวอาจเป็นสิ่งที่ยากจะปฏิเสธ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับผักชนิดนี้คือมียาฆ่าแมลงปนเปื้อนสูงมาก การได้รับยาฆ่าแมลงอาจทำให้เกิดภาวะเป็นพิษ ปวดท้อง ตะคริวที่ท้อง คลื่นไส้อาเจียน และเวียนศีรษะ หากได้รับสะสมปริมาณมากอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
4. หน่อไม้ดิบ
แม้ว่าปัจจุบัน คนส่วนใหญ่จะเลิกกินหน่อไม้ดิบแล้ว แต่เมื่อหลายปีก่อนมีข่าวการกินหน่อไม้ดิบแล้วเสียชีวิตมาอยู่เรื่อย ๆ สาเหตุก็เพราะว่าหน่อไม้ดิบมีสารไซยาไนด์ (Cyanide) บางคนอาจคุ้นหูกับชื่อสารชนิดนี้ เพราะเป็นสารที่ภาพยนตร์สายลับหรือการ์ตูนนักสืบเด็กที่ไม่ยอมโตสักทีนำมาใช้เป็นเครื่องมือสังหาร
หากได้รับมากเกินไปไซยาไนด์จะไปจับกับสารในเม็ดเลือดแดงแทนทีออกซิเจน ส่งผลให้ปวดหัว หายใจลำบาก มึนงง หน้ามืด หมดสติ และเสียชีวิตได้ รวมถึงหน่อไม้ปี๊บหรือหน่อไม้ดองตามตลาดด้วยที่ควรนำมาต้มซ้ำ
ซึ่งการนำไปปรุงผ่านความร้อน ไม่ว่าจะต้มผัดแกงทอดจะช่วยลดปริมาณสารพิษและเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ สำหรับหน่อไม้ คุณจำเป็นต้องนำไปต้มอย่างน้อย 10 นาทีเพื่อลดสารไซยาไนด์ แต่ก่อนนำไปปรุง วัตถุดิบทุกชนิดควรนำไปล้างน้ำให้สะอาดหลาย ๆ น้ำเพื่อล้างเศษดินและปริมาณเชื้อโรค ทั้งแบคทีเรีย เชื้อรา และพยาธิ เพียงเท่านี้ คุณก็จะได้กินผักที่มีประโยชน์และปลอดภัยได้มากขึ้นแล้ว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส