กินปลาซะ จะได้ฉลาดขึ้น! ประโยคต่อว่าแกมแนะนำที่คนไทยไม่ว่าจะรุ่นไหนก็น่าจะเคยได้ยินกัน แต่คุณเคยสงสัยไหมว่าความเชื่อที่ว่า “กินปลาแล้วฉลาดขึ้น” มาจากไหน แล้วการกินปลาช่วยให้เราฉลาดขึ้นได้จริง ๆ รึเปล่า
ความเชื่อเรื่องการกินปลาจะช่วยฉลาด ไม่ได้มีแค่ในไทยเท่านั้น ต่างประเทศก็มีเหมือนกัน แต่จะใช้กันในเชิงแนะนำว่าการกินปลาจะช่วยให้ฉลาดขึ้นมากกว่าการต่อว่าแบบที่คนไทยทำ ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนยังไม่เจอหลักฐานแน่ชัดว่าความเชื่อนี้เกิดขึ้นในไทยได้อย่างไร แต่ที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดน่าจะมาจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศที่ศึกษาประโยชน์ของปลาต่อสุขภาพ ที่ถูกพัฒนามาเป็นประโยคที่ว่า กินปลาซะ จะได้ฉลาดขึ้น!
ในบทความนี้ Hack for Health จะพาคุณไปไขความลับเรื่องที่ว่าการกินไปช่วยให้เราฉลาดได้จริงไหม?
การกินปลาช่วยให้เราฉลาดได้จริงไหม?
ผลลัพธ์ของการศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2017 พบว่าการกินปลาที่มากขึ้นเกี่ยวข้องกับการรับรู้ที่ดีขึ้นของเด็ก โดยทีมวิจัยได้เก็บข้อมูลคุณภาพการนอนหลับในเด็กชาวจีนอายุ 9–11 ปี จำนวน 541 คนและวัดคะแนนไอคิว (Intelligence quotient) เมื่อเด็กอายุ 12 ปี
พฤติกรรมการกินปลาของเด็กแบ่งออกได้ 3 แบบด้วยกัน 1) กินปลาอย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์
2) กินปลา 2–3 ครั้ง/เดือน และ 3) กินปลาน้อยกว่า 2 ครั้ง/เดือน ผลจากการวัดค่าไอคิวหลายแบบ ตั้งแต่ผลรวมไอคิว (Total IQ) ไอคิวด้านการกระทำ (Performance IQ) และไอคิวด้านการพูด (Verbal IQ) พบว่าค่าไอคิวที่ได้ลดหลั่นกันไปความถี่ในการกินปลา
ปัจจัยที่นักวิจัยคาดว่าเกี่ยวข้องคือคุณภาพการนอนหลับ กลุ่มเด็กที่กินปลาเป็นประจำมีปัญหาการนอนหลับที่น้อยกว่า โดยภายหลังได้สรุปว่าการกินปลาสัมพันธ์กับการนอนหลับที่ดีขึ้นและอาจส่งผลต่อการพัฒนาต่อการเรียนรู้ของเด็กในระยะยาว
แต่การศึกษาชิ้นนี้ยังมีรอยรั่วอยู่ในหลายจุด เพราะเป็นการศึกษาระยะยาว ทีมวิจัยเลยไม่สามารถรู้ได้เลยว่าปัจจัยอื่นในชีวิตประจำวันของเด็กนอกเหนือจากการกินปลาส่งผลต่อความฉลาดหรือการนอนหลับของเด็กแค่ไหน รวมถึงความถี่ในการกินปลาก็เป็นการสอบถามแบบปากเปล่าเลยอาจสรุปไม่ได้แน่ชัดนัก แต่ถึงอย่างนั้นก็พอจะมีความเป็นไปได้ที่ความเชื่อเรื่องการกินปลานั้นส่งผลต่อความฉลาดจริง ๆ
ทำไมการกินปลาถึงมีประโยชน์ต่อสมองและความฉลาด?
หากอิงจากการศึกษาที่ได้เล่าไป ดูเหมือนว่าสารอาหารบางอย่างในปลานั้นมีส่วนช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนหลับ และการนอนหลับที่ดีก็มีส่วนช่วยในการพัฒนาสมองและสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ดีขึ้นได้ ซึ่งสารอาหารนั้นคือ กรดไขมันโอเมกา 3 (Omega 3 fatty acid) ที่เป็นไขมันดี
ข้อมูลจำนวนหนึ่งชี้ว่าการได้รับโอเมกา 3 เป็นประจำช่วยลดปัญหาการนอนไม่พอในระยะยาวได้ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายและสมอง นอกจากนี้ กรดโอเมกา 3 จากปลายังจำเป็นต่อการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์และในเด็กจนถึงช่วงวัยรุ่น โดยกรดไขมันโอเมกา 3 จะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก พาเอาออกซิเจนและสารอาหารจำเป็นไปยังเซลล์สมองและเซลล์อื่น ๆ ทั่วร่างกาย ทั้งยังมีประโยชน์ในด้านอื่นด้วย
แล้วไม่ใช่แค่นั้น การขาดโอเมกา 3 จะทำให้เซลล์สมองและการทำงานสมองเสื่อมได้เร็วขึ้น การกินปลาที่มีกรดไขมันโอเมกา 3 เป็นประจำจึงช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาทางด้านสมอง กระบวนการคิด และความจำในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุได้
กรดไขมันโอเมกาแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ กลุ่มที่มาจากพืช คือ เอแอลเอ (ALA: Alpha-linolenic Acid) และกลุ่มที่มาจากปลาทะเลและสัตว์ทะเลที่ย่อยออกมาอีก 2 ชนิด ดีเอชเอ (DHA: Docosahexaenoic Acid) และ อีพีเอ (EPA: Eicosapentaenoic Acid) ซึ่งประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับความฉลาดและสมองจะมาจากกรดไขมันโอเมกา 3 ที่มาจากปลาทะเลและสัตว์ทะเลเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ ปลายังมีวิตามินบี 12 ที่หากได้รับอย่างเพียงพอจะช่วยเสริมการทำงานของสมองและระบบประสาท และยังมีข้อมูลว่าวิตามินบี 12 อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมได้ด้วยหากได้รับเป็นประจำ
ปลาชนิดไหนที่กินแล้วดีต่อสมอง?
การศึกษาที่ได้ยกตัวอย่างไปไม่ได้ระบุชนิดของปลาเด็ก ๆ กิน แต่ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากปลาที่มีโอเมกา 3 เป็นส่วนประกอบ ซึ่งปลาทะเลเป็นกลุ่มที่มีกรดไขมันโอเมกา 3 สูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาเทราต์ (Trout) ปลาทูน่า ปลาซาดีน ปลาจะละเม็ด และปลาแมคเคอเรล
ในส่วนของปลาน้ำจืด อย่างปลาดุก ปลาช่อน และปลาสวายก็มีโอเมกา 3 ด้วยเช่นเดียวกัน แต่อาจมีในปริมาณที่ต่ำกว่าปลาทะเลน้ำลึก
สรุปว่าการกินปลาช่วยให้ฉลาด?
แม้ว่าข้อมูลในปัจจุบันจะไม่ได้มีการยืนยันว่าการกินปลาช่วยเพิ่มความฉลาดได้อย่างแน่ชัด รวมถึงกลไกหรือปัจจัยที่แท้จริงที่ทำให้คนเราฉลาดขึ้น แต่จากข้อมูลและการศึกษาในภาพรวมแล้ว ดูเหมือนว่าการกินปลาที่มีกรดไขมันโอเมกา 3 และสารอาหารที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ เป็นประจำ อย่างน้อย 1–2 ครั้ง/สัปดาห์น่าจะมีส่วนช่วยให้สมองและกระบวนการคิดของเราทำงานได้ดีขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
แต่นอกจากการกินปลา อาหารที่มีประโยชน์ และการพักผ่อนแล้ว ความฉลาดยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย อย่างพันธุกรรม การเรียน สภาพแวดล้อม และการฝึกฝน ดังนั้น การบอกว่ากินปลาแล้วจะฉลาดขึ้นอาจไม่ใช่คำตอบของการพัฒนาความฉลาดเสียทีเดียว และการกินปลามากเกินไป โดยเฉพาะปลาทะเลก็มีความเสี่ยงของการได้รับสารปรอทด้วย
ที่มา: Nature, Harvard.edu, WebMD, Nestle
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส