มาแยกกันก่อน “ความขี้เกียจ” หรือ Low Motivation คือภาวะที่เรามีแรงจูงใจต่ำ จนทำให้ร่างกายไม่อยากทำอะไรเลย
ส่วน “โรคสะสมของ” หรือ Hoarding Disorder จัดเป็นอาการทางจิตเวชชนิดหนึ่ง เก็บของทุกชิ้น ทุกสิ่ง แถมเก็บไว้แบบสุม ๆ รวมกันไม่ทิ้งอะไรเลย ไม่ใช่ว่าขี้เกียจจนไม่ทิ้ง แต่ “ตั้งใจ” ที่จะเก็บเลยแหละ
ผู้ที่ป่วยเป็น “โรคสะสมของ” จะต้องเข้ารับการบำบัด เพราะมักจะเก็บของจนเป็นปัญหา และส่วนใหญ่จะทำให้เกิดกองภูเขาขยะขึ้นมา เป็นที่อยู่ของสัตว์ที่ก่อให้เกิดโรคอย่างหนูหรือแมลงสาบ บางรายที่เป็นหนักอาจสะสมขยะ เศษอาหาร ส่งกลิ่นเน่าเหม็นรบกวนเพื่อนบ้านด้วย
สาเหตุของการเกิดโรคสะสมของ
คาดว่าเกิดจากพันธุกรรม หรือความบกพร่องทางสมอง ของที่มักจะเลือกเก็บ เช่น เสื้อผ้า, ขวดน้ำ, ถุงพลาสติก เป็นต้น จริง ๆ แล้วอาการของโรคนี้มักจะเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นเลยครับ แต่จะชัดเจนมากในช่วงวัย 30 ปีขึ้นไป เพราะของจะถูกเก็บไว้เยอะมากจนเห็นได้ชัด
และอาการของ “โรคสะสมของ” นี้อาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการทางจิตอื่นๆ ด้วย เช่น โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล หรือโรคกลัวการเข้าสังคม
แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการทานยาร่วมกับการบำบัดพฤติกรรมและความคิด และค่อย ๆ แนะนำให้ผู้ป่วยตัดใจทิ้งของที่ไม่จำเป็นไปทีละนิด
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคสะสมของสิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาก็คือ “ความเข้าใจจากคนรอบข้าง” ที่จะต้องคอยอธิบายด้วยเหตุและผล
เรื่องที่เราทำได้ง่าย ๆ อาจจะเป็นเรื่องยากมาก สำหรับใครหลาย ๆ คน ดังนั้นการมีความเข้าใจ จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรักษาเยียวยาจิตใจของผู้ป่วยให้กลับมามีสุขภาพใจที่แข็งแรงดังเดิมได้ครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ