คุณเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่ ?
- รู้สึกวิตกกังวล หงุดหงิด หรืออารมณ์แปรปรวนหลังจากใช้โซเชียลมีเดีย
- เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นบนโซเชียลมีเดีย
- รู้สึกสูญเสียเวลาและความเป็นส่วนตัว
- นอนหลับยาก
- ละเลยงานหรือการเรียน
- หมกมุ่นอยู่กับโซเชียลมีเดีย
- มีปัญหาด้านร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดตา หรือเหนื่อยล้า
นี่คือสัญญาณเตือนว่า ถึงเวลาที่คุณต้องทำ Social Detox หรือล้างพิษโซเชียลมีเดียแล้ว !
Social Detox ไม่ต้องหักดิบ
“โลกออนไลน์ไม่ใช่โลกแห่งความจริง อย่าหลงเชื่อทุกสิ่งที่เห็นบนโซเชียลมีเดีย”
Social Detox (โซเชียลดีท็อกซ์) หรือ Social Detoxification คือ การบำบัดการเสพติดเทคโนโลยีหรือสื่อสังคมออนไลน์ ด้วยการตัดและลดบทบาทการใช้โซเชียลมีเดียให้น้อยลง ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์สุขภาพที่คนยุคใหม่ในโลกดิจิทัลควรรู้ เพื่อใช้ในการบำบัดตนเอง จากการได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจจากโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นการได้รับความคิดเห็นหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ดี การถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ไปจนถึงพฤติกรรมการเสพสื่อทั่วไปมากจนเกินไป
โดยมีคำแนะนำจาก Amber Murphy ในเว็บไซต์ Declutter The Mind ว่า เราไม่จำเป็นต้องหักดิบด้วยการเลิกใช้โซเชียลมีเดีย หรือเลิกเล่นสื่อสังคมออนไลน์ในทันที เพียงแค่ทำการล้างพิษการใช้โซเชียลมีเดีย (Social Detox) เพื่อลดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารก็อาจเพียงพอแล้ว
6 เทคนิคล้างพิษ ปรับสุขภาพจิตให้สมดุล
บทความนี้มี 6 เทคนิคดี ๆ ในการทำ Social Detox แนะนำโดย อ.ดร.นพ.ชาวิท ตันวีระชัยสกุล จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อลดการรับข้อมูลข่าวสาร ล้างสารพิษจากสื่อสังคมออนไลน์ และฟื้นฟูสภาพจิตใจ ที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ดังนี้
1. ปิดแจ้งเตือนในช่วงพัก
เนื่องจากสมองจะเกิดการตอบสนองต่อเสียงและการสั่นแจ้งเตือน ทําให้ร่างกายต้องคอยตรวจเช็กการแจ้งเตือนของโทรศัพท์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งอาจกระตุ้นความกังวลและเพิ่มความกลัวการอยู่คนเดียว ดังนั้น การปิดแจ้งเตือนต่าง ๆ จากโซเชียลมีเดียในช่วงพัก รวมไปถึงเวลานอน จึงจะช่วยให้ร่างกายและสมองได้รับการพักผ่อนอย่างแท้จริง
2. กำหนดเวลาใช้งานโทรศัพท์
กำหนดเวลาการใช้โทรศัพท์และสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น พักการใช้งานทุก 30 นาที หรือกำหนดการใช้งานครั้งละ 5-10 นาที
3. ทํา Social Detox ทุกวันหยุด
วันหยุดถือเป็นช่วงเวลาพักผ่อนที่เหมาะกับการใช้ชีวิตโดยปราศจากอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ หรือใช้ให้น้อยที่สุด เพื่อให้ร่างกายและสมองได้ผ่อนคลาย
4. ซึมซับบรรยากาศแบบออฟไลน์
ลองปิดโทรศัพท์มือถือ ลองใช้ชีวิตแบบออฟไลน์ โดยการไม่ลงภาพหรือสถานะในสื่อสังคมออนไลน์ และทํากิจกรรมนอกหน้าจอ เช่น การอ่านหนังสือ ท่องเที่ยว สนทนากับเพื่อน ใช้เวลาร่วมกับญาติหรือครอบครัว เพื่อให้เราได้รับประสบการณ์นอกสื่อสังคมออนไลน์อย่างเต็มที่
5. จัดการเนื้อหาของข้อมูลที่ได้รับ
เช่น การเลือกรับข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ลดการติดตามผู้มีอิทธิพลบนสื่อสังคมออนไลน์ (Influencer) ที่ไม่ได้ประโยชน์ และเลือกติดตามเฉพาะคนที่ทำให้เรารู้สึกดีและมีความสุข
6. งดเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน
เพราะแสงไฟจากหน้าจออุปกรณ์ หรือโทรศัพท์แบบสมาร์ตโฟนจะกระตุ้นให้สมองทํางานมากขึ้น และลดการทํางานของสารเมลาโทนินที่ช่วยในการนอนหลับ ทําให้นอนหลับได้ยากขึ้น
นอกจาก 6 เทคนิคดี ๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีคำแนะนำอื่น ๆ ที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น
- การลบแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียออกจากโทรศัพท์มือถือ เพื่อหยุดการเชื่อมต่อโดยสมบูรณ์ แต่วิธีนี้อาจเป็นการหักดิบมากเกินไป
- การฝึกสมาธิ เพื่อช่วยให้ใจสงบและผ่อนคลาย
- การบอกกล่าวกับผู้คนรอบตัว เพื่อให้ทุกคนช่วยเป็นกำลังใจ หรือมีส่วนร่วมในการทำ Social Detox
แต่หากทำ Social Detox แล้ว ยังมีความรู้สึกว่า ตนเองได้รับผลกระทบจากการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียอยู่ เช่น รู้สึกเครียด เศร้า หรือหดหู่ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรรีบปรึกษานักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์
ขอให้ทุกคนใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีสติ และลอง Social Detox เพื่อปรับสมดุลในชีวิตและดูแลสุขภาพจิตของคุณดูนะครับ
แหล่งอ้างอิง :
- โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
Image by Freepik