การนอนหลับให้เพียงพอเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้กันอยู่แล้วสามารถช่วยรักษาการทำงานของร่างกาย และส่งผลดีต่อสุขภาพ ในทางตรงกันข้ามแน่นอนว่าการอดนอน นอนน้อย นอนไม่พอก็ส่งผลเสียต่อร่างกาย และสุขภาพได้เช่นเดียวกัน แต่ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตต (อังกฤษ: Pennsylvania State University) พบข้อมูลว่ารูปแบบของการนอนหลับแต่ละแบบอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวที่แตกต่างกันออกไป
การศึกษาชิ้นนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากผู้ใหญ่ชาวอเมริกันราว 3,700 คน โดยให้พวกเขารายงานพฤติกรรมหรือนิสัยการนอนหลับของตัวเอง ปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่พวกเขาพบเจอ รวมถึงข้อมูลอื่น อย่างระยะเวลาการนอน ช่วงเวลาการนอน ความพึงพอใจในการนอน ความรู้สึกง่วง หรือตื่นตัวในตอนกลางวัน การเก็บข้อมูลชุดนี้ทำใน 2 ช่วงเวลาซึ่งห่างกัน 10 ปี
โดยหลังจากการรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลทีมวิจัยได้แบ่งรูปแบบการนอนออกเป็น 4 รูปแบบด้วยกัน
- คนที่สุขภาพการนอนดี นอนได้เป็นปกติ
- คนที่นอนหลับยาวในช่วงวันหยุด ซึ่งอาจการนอนในช่วงวันทำงานที่ผิดปกติ อย่างการนอนไม่พอ
- คนที่นอนไม่หลับ หรือมีสุขภาพการนอนที่ไม่ดี เช่น นอนหลับยาก นอนติดต่อกันได้ไม่นาน รวมถึงรู้สึกเหนื่อยหรือง่วงนอนอย่างมากในตอนกลางวัน
- คนที่นอนหลับตอนกลางคืนได้ปกติ แต่มักงีบหลับตอนกลางวันอยู่เป็นประจำ
นักวิจัยพบว่า 2 กลุ่มหลัง ซึ่งได้แก่คนที่มีโรคนอนไม่หลับ และกลุ่มคนที่มักงีบหลับตอนกลางวันเป็นประจำเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงของโรคเรื้อรังสูงกว่ากลุ่มอื่น ตั้งแต่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจและหลอดเลือด ไปจนถึงโรคทางอารมณ์ อย่างโรคซึมเศร้า จากพฤติกรรมการนอนในลักษณะดังกล่าวกว่า 10 ปี
การงีบหลับตอนกลางวันอันตราย?
สำหรับข้อมูลทางการแพทย์ชิ้นอื่นยืนยันแล้วว่าคนที่มีโรคนอนไม่หลับติดต่อกันเป็นเวลานานนั้นเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพหลายโรค แต่ผู้อ่านหลายคนคงสงสัยว่าทำไมคนที่สามารถนอนหลับตอนกลางคืนได้ปกติ และมีพฤติกรรมงีบหลับตอนกลางวันถึงกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงไปด้วย ทั้งที่ก็นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
ซึ่งไม่ใช่แค่การศึกษานี้เท่านั้นที่พบ การศึกษาชิ้นก่อนหน้าก็พบด้วยเช่นกันว่าการงีบหลับบ่อยสัมพันธ์กับการเกิดโรคเรื้อรัง ข้อมูลชุดหนึ่งพบว่าคนที่งีบหลับเป็นประจำ หรือแม้แต่งีบหลับบ้างบางครั้งมีความเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บางการศึกษาก็ให้ผลที่ขัดแย้งว่าการงีบหลับอาจลดความเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตสูงได้
นอกจากนี้ การรู้สึกง่วงตอนกลางวันอย่างมากอาจสะท้อนถึงปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น การนอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะขากระตุกขณะนอนหลับ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มคาเฟอีน และผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
อย่างไรก็ตาม การศึกษาอีกส่วนหนึ่งพบว่าการนอนงีบหลับตอนกลางวันอย่างเหมาะสมระหว่าง 10 ถึง 20 นาทีช่วยรีเฟรชสมองจากความง่วง อารมณ์ และความเหนื่อยล้าได้ การศึกษาบางชิ้นยังพบด้วยว่าการนอนกลางวันส่งผลดีต่อความจำ และประสิทธิภาพการทำงานของสมอง
กลับมาที่งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตตที่พบว่ารูปแบบการนอนส่งผลต่อการเกิดโรคเรื้อรังในระยะยาว โดยผู้นำงานวิจัยชี้ว่าเป็นเรื่องยากที่ผู้คนจะเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมการนอนให้เหมาะสม และไม่ทราบถึงผลกระทบจากพฤติกรรมการนอนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญมากต่อการดูแลสุขภาพ แต่นั่นก็อาจเป็นผลมาจากข้อจำกัดทางสังคมและเศรษฐกิจที่ส่งผลให้บางคนนอนมาก และนอนน้อยเกินไป อย่างไรก็ตาม อาจเริ่มจากการออกกำลังกาย การงดเล่นสมาร์ตโฟนก่อนนอน และงดคาเฟอีนในช่วงบ่าย
สำหรับผู้อ่านที่ได้อ่านมาถึงตรงนี้ คงได้ทราบแล้วว่ารูปแบบการนอนที่คุณนอนอยู่ในทุกวันส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร หากเข้าข่ายกลุ่มคนที่นอนไม่หลับ หรือชอบงีบตอนกลางวันอาจถึงเวลาแล้วที่ต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนรูปแบบการนอน เพราะปัจจัยเหล่านี้ส่งผลในระยะยาว
ดังนั้น การเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันนี้อาจช่วยลดความที่ของโรคเรื้อรังในอนาคตได้ และหากคุณพบปัญหาในการนอนหลับเกิน 1 สัปดาห์ การนอนหลับ หรือความง่วงส่งผลต่อการใช้ชีวิต และการทำงาน แนะนำว่าควรไปพบแพทย์
ที่มา
- ScienceDaily, Researchers identify distinct sleep types and their impact on long-term health, 12 มี.ค. 2024
- Medical News Today, Frequent napping may be a sign of higher risks of stroke, high blood pressure, 27 ก.ค. 2023
- Sleep Foundation, Managing Excessive Daytime Sleepiness, 16 ม.ค. 2024
- Mayo Clinic, Napping: Do’s and don’ts for healthy adults, 9 พ.ย. 2022
ภาพหน้าปก: ภาพยนตร์ Eternal Sunshine of the Spotless Mind