โรคที่กรมควบคุมโรคมักเตือนให้ระวังในช่วงหน้าร้อน นอกจากอาการฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดดแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นกลุ่มโรคทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอาหารเป็นพิษ และอาการท้องเสีย
แล้วเคยสังเกตกันบ้างไหมว่า เมื่อเรามีอาการอาหารเป็นพิษหรือเจอใครท้องเสียทีไร ประโยคแรกที่มักถูกถาม (หรือไปถามเขา) ก็คือ “เมื่อกี้ไปกินอะไรมา ?” และอาหารจานล่าสุดก็มักจะตกเป็นผู้ต้องสงสัยอย่างไม่ต้องสงสัย
จริง ๆ แล้ว อาหารจานล่าสุดที่เรากินเข้าไปคือตัวการจริง ๆ หรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ เราจะมีวิธีการตรวจสอบว่า คือเมนูไหนกันแน่ได้อย่างไร ไปหาคำตอบกันกับบทความนี้
อาหารเป็นพิษ อาจไม่ใช่เพราะจานสุดท้ายเสมอไป
จากสถิติของโรงพยาบาลสมิติเวช เปิดเผยว่า “ปี 2566 ที่ผ่านมา มีคนไทยมีอาการอาหารเป็นพิษถึง 70,010 คน โดยเฉพาะในหน้าร้อนที่เป็นฤดูโปรดของเหล่าเชื้อโรค”
ก่อนจะโยนความผิดให้กับอาหารมื้อล่าสุด ลองนับนิ้วกันดูก่อนว่า อาการท้องเสียที่เกิดขึ้นนั้นห่างจากอาหารจานสุดท้ายที่เรากินไปจำนวนกี่ชั่วโมง หากคำตอบที่ได้ น้อยกว่า 6 ชั่วโมง แสดงว่ามื้อนั้นอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง
โดย ดร.ทรอย (Dr.Troy Madsen) แพทย์ประจำห้องฉุกเฉินของมหาวิทยาลัย Utah Health ได้อธิบายไว้ว่า อาการท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ จะเริ่มมีอาการหลังผ่านไปแล้ว 6 ชั่วโมง แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจแสดงอาการก่อน 6 ชั่วโมง หรือผ่านไปเป็นวัน ๆ แล้วก็ได้เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับชนิดเชื้อที่ปะปนมาในอาหาร
เยียวยาตัวเองด้วยการถ่ายให้หมด หรือรีบไปหาหมอ ?
อาการท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ ถือเป็นกลไกหนึ่งในการขับของเสียหรือขับพิษออกจากร่างกาย คล้าย ๆ การดีท็อกซ์ คือ เมื่อร่างกายได้รับพิษ หรือได้รับเชื้อโรค ร่างกายก็จะต้องขับสิ่งเหล่านั้นออกให้หมด และอาการท้องเสียจะค่อย ๆ บรรเทาลง
แต่หากยังท้องเสียต่อเนื่องเกิน 2 วัน หรือถ่ายเกินวันละ 4 ครั้ง หรือมีเลือดปน มีไข้สูง อาเจียนหนัก กินอะไรไปก็ออกหมด ดร.ทรอย (รวมทั้งคุณหมอทุกคน) แนะนำว่า ควรไปหาหมอให้เร็วที่สุด เนื่องจากหากร่างกายสูญเสียน้ำซึ่งประกอบไปด้วยเกลือแร่ที่จำเป็นในการทำงานของร่างกายอย่างรุนแรง อาจจะเสี่ยงภาวะช็อก หรืออันตรายถึงชีวิตได้
ท้องเสีย ไม่ควรกินยาหยุดถ่าย
หากใครที่เคยมีความเข้าใจว่า เวลาท้องเสีย ควรกินยาหยุดถ่าย จะได้หายไว ๆ นั้น ควรรีบปรับความเข้าใจเสียใจใหม่ เนื่องจากอาการดังกล่าวคือการดีท็อกซ์ หรือการขับเอาของไม่ดีออกจากร่างกายนั่นเอง
ที่สำคัญคืออย่าลืมสังเกตตนเองว่า ระหว่างนี้มีอาการแทรกซ้อนอย่างอื่นหรือไม่ หากไม่มีก็แค่จิบน้ำตาลเกลือแร่ หรือโออาร์เอส (Oral Rehydration Salts: ORS ) เพื่อชดเชยอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ที่สูญเสียไปก็พอ และอาจจะหาอะไรรองท้องเบา ๆ ย่อยง่าย และปรุงสดใหม่ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม หรืออาหารที่มีการปรุงรสน้อยที่สุด หลีกเลี่ยงอาหารประเภทของทอด อาหารรสจัด รวมไปถึงผักผลไม้ และประเภทนม จนกว่าจะหายดี
และจิบ “น้ำตาลเกลือแร่” (ซึ่งเป็นคนละชนิดกับน้ำเกลือแร่สำหรับคนออกกำลังกาย) เรื่อย ๆ อย่างน้อยวันละ 1-2 หน่วยบริโภค ห้ามดื่มรวดเดียว เพราะอาจทำให้ลำไส้แปรปรวนและท้องเสียมากกว่าเดิมได้
“น้ำตาลเกลือแร่” ไม่ใช่ “น้ำเกลือแร่” สำหรับคนออกกำลังกาย
เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิต ผู้ที่ท้องเสียและมีสัญญาณของการขาดน้ำอย่างรุนแรง จำเป็นต้องได้รับสารน้ำผ่านทางหลอดเลือดดำ (ให้น้ำเกลือ) แต่หากอาการท้องเสียไม่รุนแรง การดื่ม “น้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย” หรือโออาร์เอส ก็มักจะเพียงพอสำหรับชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป ซึ่งการเลือกชนิดของน้ำเกลือแร่ที่เหมาะสม รวมทั้งวิธีการผสมและดื่มที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญซึ่งทุกคนควรรู้
ผงน้ำตาลเกลือแร่ “โออาร์เอส” หรือ ORS (Oral Rehydration Salts) จัดเป็นยาสามัญประจำบ้านและมีจำหน่ายทั่วไปที่ร้านขายยาและร้านสะดวกซื้อ โดยโออาร์เอสที่ร้านสะดวกซื้ออาจถูกวางอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกับผงเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย ทำให้ผู้ใช้ยาเกิดความสับสนและเข้าใจว่าสามารถใช้แทนกันได้ แต่แท้จริงแล้วผงเกลือแร่ทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกัน เนื่องจากผงเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกายมักมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่าโออาร์เอส และอาจทำให้ผู้ที่ท้องเสียถ่ายเหลวมากกว่าเดิมก็เป็นได้ ดังนั้น ผู้ที่ท้องเสียจึงควรดื่มน้ำเกลือแร่ที่ผสมจากโออาร์เอสเท่านั้น
โดยผสมโออาร์เอสกับน้ำดื่มตามสัดส่วนและวิธีการที่ระบุไว้ข้างซอง ซึ่งน้ำที่นำมาใช้ผสมนั้นต้องมั่นใจว่าเป็นน้ำดื่มที่สะอาดและมั่นใจได้ว่าไม่มีเชื้อโรคอื่นที่อาจปนเปื้อน จนทำให้อาการท้องเสียแย่ลง หากไม่สามารถหาน้ำดื่มสะอาดได้ อาจต้มน้ำและรอให้เย็นลงจนดื่มได้ก่อน จึงค่อยผสมกับโออาร์เอส และห้ามผสมโออาร์เอสกับเครื่องดื่มใด ๆ นอกจากน้ำเปล่า
น้ำตาลทราย + เกลือ ผสมน้ำ ใช้แทนโออาร์เอส ?
ในกรณีที่ไม่สามารถจัดหาโออาร์เอสได้ ทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำไว้ว่า อาจใช้วิธีผสมน้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสียเองโดยเติม “น้ำตาลทราย 6 ช้อนชาและเกลือครึ่งช้อนชา” ในน้ำดื่มสะอาด 1 ลิตร (1,000 ซีซี) อย่างไรก็ตาม ปริมาณของเกลือแร่ที่ได้ก็จะไม่เหมือนกับที่ผสมจากโออาร์เอส สูตรนี้จึงเหมาะสำหรับใช้แทนโออาร์เอสในกรณีจำเป็นเท่านั้น
นอกจากนี้ การดื่มน้ำอัดลมเติมเกลือ เช่น สูตรสุดฮิตอย่างสไปรท์ใส่เกลือนั้น มีความคล้ายคลึงกับน้ำเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกายมากกว่าโออาร์เอส จึงไม่แนะนำสำหรับผู้ที่ท้องเสียเช่นกัน
แล้วอาการ “กินปุ๊บ ออกปั๊บ” ผิดปกติไหม ?
สำหรับคนที่มักถูกเพื่อน ๆ แซวว่าเป็นคน “ลำไส้ตรง” กินอะไรไปไม่นานก็ต้องไปเข้าห้องน้ำนั้น (โดยไม่ได้มีอาการท้องเสีย) จริง ๆ แล้ว เป็นกลไกการทำงานตามปกติของร่างกายที่เราเรียกกันว่า “Gastrocolic Reflex” เหมือนการเคลียร์ของเก่า เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับของใหม่ ซึ่งใคร ๆ ก็เป็นได้ แต่จะช้า-เร็วต่างกันไปเท่านั้นเอง
และหากไม่อยากขับถ่ายหลังมื้ออาหารทุกมื้อ สามารถปรับพฤติกรรมด้วยการออกกำลังกายให้มากขึ้น ช่วยกระตุ้นให้ระบบการย่อยอาหาร ระบบเผาผลาญ ทำงานได้เป็นระบบเข้าที่เข้าทาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้คุณขับถ่ายอย่างเป็นเวลานั่นเองครับ