คุณเริ่มขี้ลืมแล้วหรือเปล่า ?
คนในครอบครัวคุณเคยเผลอหลงลืมเอาของสำคัญ เช่น กุญแจรถ โทรศัพท์มือถือ ไว้ในตู้เย็นหรือไม่ ?
ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างสมบูรณ์ไปเมื่อปี 2565 จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรสูงอายุภายในประเทศ ซึ่งมาพร้อมกับปัญหาสุขภาพต่าง ๆ และหนึ่งในนั้น คือ “ภาวะสมองเสื่อม” ซึ่งโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมที่พบได้มากที่สุด และพบได้ทั่วโลกเลยทีเดียว
แต่รู้หรือไม่ว่า หากเรารู้จักสังเกต “สัญญาณเตือน” ก่อนเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมทั้งของตนเอง หรือบุคคลในครอบครัวได้ตั้งแต่มีอาการระยะเริ่มแรก การปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมโดยเร็วที่สุด อาจช่วยแก้ไขสาเหตุหรือชะลอการดำเนินโรคของภาวะสมองเสื่อมได้
มารู้จักกับ “ภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย” หรือ MCI (Mild Cognitive Impairment) ที่เริ่มพบได้บ่อยตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไปกันครับ
สมองแค่บกพร่อง แต่ยังไม่ถึงขั้นเสื่อม
ภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (Mild Cognitive Impairment) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เอ็มซีไอ (MCI) เป็นสัญญาณเตือนหรือสัญญาณเริ่มต้นที่อยู่ระหว่างภาวะความสามารถของสมองถดถอยปกติตามวัย (Normal Aging) กับ ภาวะสมองเสื่อม (Dementia)
กล่าวคือ MCI จะเริ่มมีปัญหาของการรู้คิดที่มากกว่าคนในช่วงวัยเดียวกัน แต่ยังไม่ถึงกับกระทบการใช้ชีวิตประจำวันหรือการเข้าสังคมเหมือนผู้ป่วยสมองเสื่อม เป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และเป็นความเสี่ยงหนึ่งในการเป็นสมองเสื่อมในอนาคตได้
ภาวะนี้ พบได้ประมาณ 16-20 เปอร์เซ็นต์ ของผู้สูงอายุไทยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยภาวะ MCI ที่อาจกลายเป็นผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถพบได้ในผู้ที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน
สัญญาณเตือนของผู้ที่มีภาวะ MCI นั้น จะมีการทำงานของสมองที่บกพร่องลงอย่างน้อย 1 ด้าน จาก 6 ด้าน ดังนี้
- ปัญหาด้านการใส่ใจ ตั้งใจ: มีสมาธิจดจ่อน้อยลง ส่งผลให้เผลอลืมกิจกรรมที่ต้องการจะทำ หรือกำลังทำอยู่ เช่น ต้มน้ำเอาไว้บนเตาแล้วลืม วางกุญแจไว้แล้วหาไม่เจอ เป็นต้น
- ปัญหาในการวางแผนและตัดสินใจ: ความไวในการใช้ความคิดลดลง การตัดสินใจช้าลง รวมถึง การคิดแก้ปัญหาที่ซับซ้อนต่าง ๆ ทำได้ยากขึ้น เป็นต้น
- ปัญหาด้านความจำระยะสั้น: ความจำแย่ลง โดยเฉพาะความจำระยะสั้น เช่น เมื่อมีญาติมาเยี่ยมที่บ้าน วันต่อมาจำไม่ได้ว่ามีคนมาเยี่ยม หรือมีการพูดคุยกับใคร เรื่องอะไร เป็นต้น
- ปัญหาเรื่องการใช้ภาษา เช่น เลือกใช้คำไม่ถูก พูดไม่รู้เรื่อง หรือฟังไม่เข้าใจ เป็นต้น
- ปัญหาด้านการรับรู้และใช้งานสิ่งรอบตัว: สูญเสียการจดจำทิศทาง ทำให้หลงทาง หรือสูญเสียทักษะในการทำงาน เช่น ไม่สามารถใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่เคยใช้ได้ เป็นต้น
- ปัญหาการรู้คิดด้านสังคม: มีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น แสดงอาการที่ไม่เหมาะสมออกมาในสังคม มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นน้อยลง ไม่สนใจที่จะเข้าสังคมกับเพื่อนฝูง หรือมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า และมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย เป็นต้น
โดยสัญญาณเตือนของภาวะ MCI เหล่านี้ ในช่วงแรก อาจดูไม่แตกต่างจากอาการที่พบในผู้สูงอายุปกติทั่วไป แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป จะสังเกตได้ว่า หากเป็นผู้สูงอายุปกติ อาการดังกล่าวจะยังค่อนข้างคงที่ ส่วนผู้ที่มีภาวะ MCI อาการอาจแย่ลง
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะ MCI ยังคงมีสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันต่าง ๆ ได้ ในขณะที่ผู้ที่เข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมนั้น อาการต่าง ๆ จะรุนแรงมากขึ้นส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน จนผู้ป่วยอาจไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งการวินิจฉัยภาวะ MCI และภาวะสมองเสื่อมนั้น จำเป็นต้องได้รับการตรวจทางการแพทย์
ประกอบไปด้วยการเจาะเลือดตรวจ เช่น ตรวจการทำงานของไต ตับ ตรวจการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ ตรวจระดับวิตามินบางชนิด และอาจตรวจดูภาพสมองด้วยคอมพิวเตอร์ เช่น การตรวจสมองด้วยซีทีสแกน (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) และใช้การทดสอบทางจิตวิทยาคลินิกโดยผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วย
ตรวจได้ก่อน ป้องกันสมองเสื่อม
“หากรู้ทันและรักษาก่อน จะสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ถึง 14 – 55 เปอร์เซ็นต์”
หลังจากการประเมินของแพทย์ หากมีภาวะ MCI จริง จะให้การดูแล ดังนี้
- ควบคุมปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง ที่อาจส่งผลให้การทำงานของสมองถดถอยลง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง รวมถึงการงดสูบบุหรี่
- รักษาอาการซึมเศร้า หากประเมินว่ามีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย
- เลี่ยงการใช้ยาชนิดที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะยาที่มีผลต่อความจำ
- แก้ไขปัญหาเรื่องการมองเห็น การได้ยิน และการอุดกลั้นทางเดินหายใจขณะหลับ เพราะอาจมีผลต่อการรู้คิด
แนวทางการรักษาผู้ที่มีภาวะ MCI ที่สำคัญที่สุด คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วย มีข้อมูลว่า การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้อาการดีขึ้น และช่วยลดโอกาสการดำเนินโรคเป็นโรคสมองเสื่อมในอนาคตได้
โดยแนะนำให้เคลื่อนไหวร่างกายให้เหมาะสมกับช่วงอายุและสภาพร่างกาย เช่น เดิน เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิคเบา ๆ ครั้งละ 20-30 นาที อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ ยังแนะนำให้มีการฝึกใช้สมองเรื่อย ๆ เช่น หางานอดิเรกทำ เล่นเกมส์ฝึกสมอง หรือเข้าสังคม เป็นต้น
การป้องกันและดูแล MCI ก่อนสมองเสื่อม
วิธีการในการป้องกัน หรือลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะ MCI ที่อาจนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมมีหลากหลายวิธีด้วยกัน เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การฝึกสมอง ด้วยวิธีการต่าง ๆ การเข้าสังคมในผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมอง ในด้านโภชนาการ
เนื่องจากผู้สูงอายุอาจมีอาการเบื่ออาหาร หรือกินอาหารได้น้อยลง จึงทำให้เกิดการขาดสารอาหารซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้เกิดภาวะ MCI ดังนั้น การได้รับโภชนาการที่เหมาะสมและเพียงพอจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันการเกิดภาวะ MCI ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยที่พบว่า การบริโภคอาหารประเภทเมดิเตอร์เรเนียน ที่มีน้ำมันมะกอก พืชวงศ์ถั่ว ผัก ผลไม้ และปลา เป็นส่วนประกอบ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะ MCI ได้ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการวิจัยคิดค้นอาหารทางการแพทย์ ที่มีกลุ่มสารอาหารซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างการทำงานของจุดเชื่อมต่อประสาท และการวิจัยเกี่ยวกับยาต่าง ๆ ที่อาจนำมาใช้ในการรักษาอาการในภาวะ MCI ได้
เพราะ “สมอง” เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของร่างกาย ดังนั้น เราจึงควรดูแลและให้ความสำคัญ เพื่อคงประสิทธิภาพการทำงานของสมองให้อยู่ได้นานที่สุด