IF กินอะไรได้บ้าง ? ห้ามกินอะไรหรือไม่ ? ทำแล้วจะเป็นโรคกระเพาะไหม ? และมีเทคนิคให้ทำสำเร็จอย่างไร ? และเสี่ยงโรคหัวใจจริงหรือเปล่า ? ไปตามหาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญกันครับ
การทำ IF (Intermittent Fasting) เป็นวิธีการลดน้ำหนักและปรับสมดุลร่างกายที่ได้รับความนิยม โดยใช้วิธีการจำกัดเวลาการกินอาหาร (Feeding/Eating) สลับกับช่วงเวลาอดอาหาร (Fasting) ซึ่งมีหลายรูปแบบให้เลือก เช่น
- แบบ Lean Gains หรือเรียกอีกอย่างว่าสูตร 16/8 คือ อดอาหาร 16 ชั่วโมง กินอาหาร 8 ชั่วโมง เป็นสูตรที่แนะนำสำหรับผู้ที่เริ่มทำ IF และเป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะทำได้ง่าย ทำได้ต่อเนื่อง ไม่กระทบการใช้ชีวิตประจำวันมากจนเกินไป เช่น กินอาหารเวลา 10.00 – 18.00 น. แต่หลังเวลา 18.00 น. จะเป็นช่วงอดอาหาร โดยมีสูตรอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน เช่น อดอาหาร 18 ชั่วโมง กิน 6 ชั่วโมง และอดอาหาร 20 ชั่วโมง กิน 4 ชั่วโมง เป็นต้น
- แบบ Alternate Day Fasting (ADF) เป็นการอดอาหารแบบวันเว้นวัน จัดว่าเป็นวิธีค่อนข้างหักโหม เพราะต้องอดอาหาร 1 วัน กินอาหาร 1 วัน แล้วกลับมาอดอีก 1 วัน สลับกันไป
- แบบ Eat-Stop-Eat คือ การอดอาหาร 24 ชั่วโมง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น อดอาหารในวันเสาร์ของทุกสัปดาห์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง และกินปกติในวันที่เหลือ วิธีนี้เหมาะกับคนชินกับ IF แล้ว สูตรนี้จะคล้ายกับสูตร 5:2 คือ กินปกติ 5 วัน และอด 2 วัน
ทำสูตร 16/8 เสี่ยงโรคหัวใจถึง 91 เปอร์เซ็นต์ ?
แม้ช่วงก่อนหน้านี้แวดวงคนทำ IF อาจสะเทือนจากการเผยแพร่ผลการวิจัยที่ช็อกวงการว่า คนทำ IF แบบ 16/8 เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจถึง 91 เปอร์เซ็นต์ แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว พบว่า ยังสรุปไม่ได้ชัดเจนว่าการทำ IF เพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ
โดย รศ. ดร. พญ.ฉันทชา สิทธิจรูญ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้อธิบายว่า “การศึกษาวิจัยดังกล่าวยังมีข้อจำกัด เนื่องจากอาศัยข้อมูลจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับเวลาการกินอาหารของพวกเขาเท่านั้น และเป็นการสำรวจจากความทรงจำ โดยการเชื่อมโยงของ 2 ฐานข้อมูลตั้งแต่ปี 2003-2018 ทั้งที่ IF เพิ่งเป็นที่รู้จักกันไม่เกิน 10 ปีนี้เท่านั้น ดังนั้น การสรุปว่าทำ IF เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจ 91 เปอร์เซ็นต์นั้น อาจจะเป็นการสรุปที่เกินจริง และยังต้องศึกษาต่อเนื่องต่อไป”
เทคนิคการทำ IF ให้เห็นผล
“จะทำสูตรไหนก็ได้ที่เหมาะกับเรา และทำได้เป็นระยะเวลา ยาวนาน อย่าอด อย่าทำอะไรที่ทรมานเกินไป เพราะเราจะทนไม่ได้จนตบะแตก และจะกินเยอะกว่าเดิม”
สำหรับการอดอาหารแบบ IF ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีนั้น พญ.ฉันทชา ได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้
- เลือกสูตรที่เหมาะกับวิถีชีวิตของตัวเอง:
เช่น สำหรับวิถีชีวิตคนทำงานในเวลาปกติทั่วไปที่ใช้สูตร 16/8 ให้เริ่มกินตั้งแต่เช้า คือไม่เกิน 8.00 น. กินให้อิ่ม ให้มีสารอาหารเพียงพอ โดยจะกินขนม หรือน้ำหวานก็ได้ ขอให้กินแล้วมีความสุข และเริ่มอดอาหารตั้งแต่ 16.00 น. เป็นต้นไป
“คนทั่วไปมักทำ IF ไม่ค่อยถูกต้อง คือ มักอดเช้าไปกินเย็น แต่ร่างกายของเราจะตอบสนองต่ออินซูลินสูงสุดในตอนเช้า รวมทั้งมีงานวิจัยว่า การอดเช้าแต่ไปกินตอนเย็นนั้นจะส่งผลเสียกับร่างกาย ดังนั้น จึงไม่ควรอดอาหารในช่วงเช้า อยากกินอะไรกินได้เลยให้จบในเช้า” พญ.ฉันทชา กล่าว
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่:
แม้จะไม่มีงานวิจัยยืนยันชัดเจนว่า การอดอาหารแบบ IF นั้น จะทำให้เป็นโรคกระเพาะได้ แต่ในช่วงเวลาที่กินอาหารนั้น ขอให้กินให้ครบ 5 หมู่ ให้ได้รับสารอาหารเพียงพอ ไม่รู้สึกอด โหย หรือเครียดเกินไป โดยเลือกกินอาหารที่มีสารอาหารดีและอิ่มท้องนาน เน้นโปรตีน ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป น้ำตาล ไขมันอิ่มตัว
- ดื่มน้ำเปล่าในช่วงเวลาอดอาหาร:
น้ำเปล่ามีประโยชน์ต่อร่างกายมาก ๆ เพราะนอกจากจะช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายแล้ว ยังกระตุ้นให้เกิดการสลายไขมันมากขึ้น และดึงพลังงานมาใช้มากขึ้น รวมทั้งช่วยขับของเสียต่าง ๆ ออกจากร่างกายด้วย
สำหรับคนที่เบื่อน้ำเปล่า ก็สามารถดื่มชา กาแฟดำ หรือน้ำซุปได้ แต่ขอให้ไม่มีน้ำตาล และงดเว้นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในช่วงอดอาหาร เพราะจะกระตุ้นให้เกิดความหิวและอยากน้ำตาลได้
- จัดการวันโกง (Cheat Day):
“IF ได้ผลเพราะเราไปกินอาหารในระยะเวลาที่จำกัด ทำให้แคลอรีน้อยลง”
หากกินอาหารที่มีแคลอรีสูงเกินไปในวันโกง (แบบ Eat-Stop-Eat) จากที่เราพยายามอดมาตลอด 6 วันก็ไม่มีประโยชน์ แม้จะอดอาหารแต่ไม่สามารถลดน้ำหนักลงได้เลย
หลักการสำคัญของการกินในวันโกง คือ ให้กินอาหารในระดับแคลอรีที่ปกติ ในเวลาที่ไม่ปกติ เช่น ปกติกินถึงแค่ 18.00 น. แต่ในวันโกงอาจกินไปถึง 21.00 น. เลยก็ได้ แต่ไม่ใช่การกินแคลอรีจนเกินจากปกติ
- ฟังเสียงร่างกาย:
การทำ IF จะได้ผลหรือไม่นั้น ต้องหมั่นสังเกตหรือฟังเสียงร่างกายตนเอง ดูผลตรวจสุขภาพ ณ ขณะนั้นเป็นหลัก เช่น ลดน้ำหนักได้จริงไหม ระดับความดัน ไขมันในเลือด หรือระดับน้ำตาลลดลงหรือไม่
อีกสิ่งสำคัญคือ การหมั่นชั่งน้ำหนักในตอนเช้า เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตนเองว่า กินอาหารแบบไหนแล้วน้ำหนักลด หรือกินอะไรที่ส่งผลให้ค่าไขมันในเลือดพุ่ง เพราะแต่ละคนต่างมีการตอบสนองต่ออาหารที่แตกต่างกันไป
นอกจากนี้ การทำ IF เพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เราหุ่นดีได้ ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ควรจะพิจารณาด้วย ไม่ว่าจะเป็น ชนิดของอาหารที่กิน ปริมาณอาหารที่กิน วินัยและความต่อเนื่องของการทำรวมไปถึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน โดยการเข้านอนไม่เกิน 22.00 น. เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองได้ดีขึ้น และควรออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อด้วยนะครับ
ข้อควรระวังในการทำ IF
- อย่าฝืนตัวเองจนเกิดการ Binge Eating หรือการกลับมากินเพราะอัดอั้น
- ในช่วงแรกอาจเกิดอาการหิว โดยร่างกายอาจต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ในการปรับตัว
- สำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคกระเพาะ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- หากไม่ต้องการให้กล้ามลดลง ควรกินอาหารประเภทโปรตีนในปริมาณที่เยอะควบคู่ไปด้วย
- IF ไม่เหมาะกับการทำเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ
สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักแบบ IF แต่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือมียาโรคประจำตัวที่รับประทานอยู่นั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการทำ IF เพื่อปรับรูปแบบให้เหมาะสม และเพื่อความปลอดภัยก่อนนะครับ
ท้ายที่สุด หากยังไม่มั่นใจว่าจะเริ่มการอดอาหารเป็นช่วงเวลายาวนานได้ หรือบางคนที่มีครอบครัวและมักต้องกินอาหารร่วมกับครอบครัวในมื้อเย็น อาจใช้วิธีเริ่มจากการลองทำสิ่งที่เรียกว่า Restricted Time Eating หรือการกำหนดเวลาการกินอาหารในแต่ละมื้อหรือการกินให้เป็นเวลาก่อน เพราะสิ่งนี้อาจเพียงพอแล้วสำหรับการมีสุขภาพดี และยังสามารถรักษาสมดุลความสัมพันธ์ในครอบครัวไว้ได้ด้วยครับ