“Digital Fatigue” หรือ “ความเหนื่อยล้าทางดิจิทัล” เป็นสภาวะความอ่อนล้าหรือเหนื่อยหน่ายทางจิตใจจากการใช้ดิจิทัลมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นจากการใช้คอมพิวเตอร์ การประชุมออนไลน์ การเปิดหลายแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต

ก่อนไปทำความรู้จักกับเทรนด์ของโรคในอนาคตที่ระบาดไวกว่าที่ทุกคนคิดในชีวิตของคนดิจิทัลอย่าง Digital Fatigue นี้ ​เรามาเช็กกันหน่อยดีกว่าครับ ว่าทุกวันนี้คุณมีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่ ?

  • ตาแห้ง ตาล้า ระคายเคืองตา หรือ เจ็บตา ​
  • สายตามีความไวต่อแสงมากขึ้น​
  • ปวดหัวหรือไมเกรน​
  • ไม่มีสมาธิ ฟุ้งซ่าน วิตกกังวล​
  • รู้สึกเซื่องซึม สิ้นหวัง ซ้ำซากจำเจ​
  • รู้สึกหงุดหงิดฉุนเฉียว​
  • ปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ หลัง​
  • นอนหลับยาก​
  • พลังงานต่ำ หรือหมดพลังงาน​
  • ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง​
  • รู้สึกเหนื่อยล้าไม่จบไม่สิ้นจากการประชุมและกิจกรรมเสมือนจริง
  • ขาดแรงจูงใจ หมดไฟในการทำงาน (Burnout​)

อาการเหล่านี้คือสัญญาณเตือนของภาวะ Digital Fatigue หากเช็กแล้วพบว่าคุณมีอาการดังกล่าวเกินกว่า 5-6 ข้อ แสดงว่า คุณมีความเสี่ยงที่จะเป็น Digital Fatigue แล้วครับ

ไม่เคลื่อนไหว แต่ทำไมเหนื่อย ?

“Digital Fatigue” หรือ “ความเหนื่อยล้าทางดิจิทัล” เป็นสภาวะความอ่อนล้าหรือเหนื่อยหน่ายทางจิตใจจากการใช้ดิจิทัลมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นจากการใช้คอมพิวเตอร์ การประชุมออนไลน์ การเปิดหลายแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต เปิดหน้าจอหลายจอ หรือทำงานหลายโปรแกรมพร้อมกันเป็นระยะเวลานาน ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการพักผ่อนหรือเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวัน ซึ่งความอ่อนล้าดังกล่าวทำให้เราหมดพลังงาน เกิดความคิดฟุ้งซ่าน และอาจทำลายสุขภาพร่างกายได้​

ความเหนื่อยล้าดังกล่าวไม่ได้มีสาเหตุจากการนั่งทำงานผ่านจอนาน ๆ เท่านั้น บางคนเกิดภาวะ Digital Fatigues จากการการเสพติดเนื้อหาบนโซเชียลมีเดีย เกมออนไลน์ สื่อบันเทิงต่าง ๆ จนไม่สามารถจัดการเวลาหรือควบคุมตัวเองได้ก็มี

ลองคิดเล่น ๆ ว่า ทุกวันนี้ตื่นมาเราก็ต้องใช้ชีวิตออนไลน์ทั้งวัน ทั้งทำงาน ประชุมผ่านคอมพิวเตอร์ รวมถึงการเข้าไปหาความบันเทิงผ่าน YouTube หรือ Netflix ผ่าน iPad หรือไถฟีดต่าง ๆ ผ่านโทรศัพท์ในมือตลอดเวลา ไหนจะ LINE งานที่เด้งข้อความแทบทั้งวัน จึงไม่แปลกที่จิตใจและร่างกายของเราจะเกิดความเหนื่อยล้าทางดิจิทัลได้ จริงไหมครับ ?

6 เหตุแห่งความเหนื่อยล้า

แสงสีฟ้าที่ทำร้ายดวงตา

“แสงสีฟ้า” หรือสีน้ำเงินธรรมชาติเป็นหนึ่งในแสงที่มีอยู่ในแสงแดด ซึ่งถึงแม้ว่าแสงดังกล่าวจะมีประโยชน์ แต่ก็มีอันตรายเช่นกันเมื่อดวงตาเราเปิดรับแสงมากเกินไป โดยเฉพาะแสงสีฟ้าที่ถูกปล่อยจากจอของเหล่าอุปกรณ์ดิจิทัลนั้น สามารถทำลายเซลล์ผิวกระจกตาและเยื่อบุตาได้ บวกกับการสั่นกระพริบของหน้าจอ ก็ส่งผลให้กล้ามเนื้อลูกตาทำงานหนักขึ้น จนเกิดอาการปวดตาได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ผลการศึกษาของ Harvard Health ยังพบว่า ความยาวของคลื่นสีฟ้าจะกระตุ้นให้สมองเกิดความสนใจ ซึ่งจะมีผลดีในตอนกลางวัน แต่ขณะเดียวกันก็ได้ส่งผลกระทบต่อเราในเวลากลางคืน นั่นคือ ทำให้นอนไม่ค่อยหลับ จนสามารถส่งผลต่อสภาวะด้านอารมณ์ได้เลยนะครับ

ท่านั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม

เพราะร่างกายมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้นั่งทำงานทั้งวัน แต่จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยพบว่า Gen Y ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยกว่าวันละ 8 ชั่วโมง (และแน่นอนว่า GEN Z ใช้เวลาอยู่กับจอมากกว่า GEN Y) ดังนั้น หากเรานั่งทำงานหรืออยู่กับหน้าจอทั้งวัน โดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ออกกำลังกาย หรือชอบเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนนอน ย่อมต้องส่งผลต่อสุขภาพทางกาย เช่น ปวดตา ปวดคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ ปวดหลัง อย่างแน่นอน

แรงกดดันจากการทำงานหรือการเรียนที่สูงขึ้น

การประชุมงานหรือประชุมทำการบ้านออนไลน์อย่างยาวนาน ทำให้ขาดการสื่อสารทางสังคมแบบเห็นหน้าเห็นตา (face-to-face) ส่งผลให้เกิดความเครียดและความกดดันได้ง่ายกว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน หรือปรึกษาครูอาจารย์ หรือปรึกษาเพื่อนแบบตัวต่อตัว

Fear of Missing Out (FOMO)

ความกลัวที่จะพลาดบางสิ่งบางอย่าง หรือกลัวตกข่าว เป็นพฤติกรรมพื้นฐานของผู้ที่เสพติดการรับข่าวสารจากโซเชียลมีเดียตลอดเวลา ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุแห่งความเครียดและความเหนื่อยล้าได้เช่นเดียวกัน

รู้สึกต้องทำงานตลอดเวลา (Always-on mindset)

กลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายสุขภาพจิตของคนทำงานมากที่สุด เมื่อเส้นแบ่งเวลาทำงานและชีวิตส่วนตัวไม่ชัดเจน ทำให้รู้สึกว่าระยะเวลาทำงานเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน จนเกิดแรงกดดันที่มากขึ้นและรู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้น

การถูกรบกวนทางดิจิทัล

มีสถิติจาก Gartner บอกว่า พนักงานที่ทำงานทางไกล (Work from Home) จะประสบปัญหาการถูกรบกวนทางดิจิทัลมากกว่าพนักงานที่ทำงานแบบออฟไลน์ถึง 2.54 เท่า โดยเฉพาะการแจ้งเตือนจากข้อความ อีเมล หรือโซเชียลมีเดีย ที่จะเด้งตลอดเวลา ทำให้สูญเสียสมาธิจดจ่อในการทำงานได้

การจัดการภาวะเหนื่อยล้าทางดิจิทัล

  1. ควบคุมระยะเวลาการใช้หน้าจอหรืออุปกรณ์ดิจิทัล (Screen Time Management): โดยการใช้ Screen Time App. ตั้งเวลาเตือนทุก ๆ 1 ชั่วโมง เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถและทำอย่างอื่น รวมทั้ง ตั้งค่าความสว่างหน้าจอให้พอดี 
  2. บริหารดวงตาด้วยสูตร 20-20-20: คือ หยุดพักจากการจ้องจอทุก ๆ 20 นาที มองสิ่งที่อยู่ห่างออกไป 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที เพื่อพักสายตา
  3. จัดท่านั่งและวางตำแหน่งจอภาพให้เหมาะสม: นั่งตัวตรง พยายามหลีกเลี่ยงท่านั่งที่ต้องก้มคอและโก่งหลัง โดยวางจอภาพอยู่ในระดับสายตา
  4. หลีกเลี่ยงการไล่ดูฟีดของโซเชียลมีเดียก่อนนอน และไม่มองหาโทรศัพท์มือถือทันทีที่ตื่นนอน
  5. กำหนดเวลาทำงานให้ชัดเจน: เมื่อเส้นแบ่งระหว่างบ้านกับที่ทำงานไม่ชัดเจน มันง่ายมากที่เราจะทำงานจนเกิดเวลาทำงานจริง ฉะนั้น ควรรู้ตัวเสมอว่าเวลาไหนควรปิดอุปกรณ์ดิจิทัลแล้วทำอย่างอื่น
  6. Social Detox หรือลดการใช้หน้าจอหลังเลิกงาน: ออกไปเดินเล่น ออกกำลังกาย ฟังเพลง อ่านหนังสือ ทำอาหาร ฯลฯ เพราะทุกครั้งที่อยู่ห่างจากหน้าจอจะเป็นช่วงเวลาที่ดีเสมอ

หรือใช้สูตรง่าย ๆ ว่า “พักหน้าจอ กินอาหารที่ดี สูดอากาศบริสุทธิ์ ผ่อนคลาย ออกกำลังกาย และสนับสนุนซึ่งกันและกัน” เป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนทำได้กับตัวเองรวมไปถึงแนะนำคนอื่น เพื่อเอาชนะกับ Digital Fatigue หรือภาวะเหนื่อยล้าจากโลกดิจิทัลให้ได้นะครับ