ทุกคนเคยเป็นกันไหม ? มีความกังวล คิดมากเกี่ยวกับอนาคต จนทำให้ชีวิตในปัจจุบันไม่มีความสุข เพราะรู้สึกเหมือนตกอยู่ในภาวะหวาดกลัวตลอดเวลา
ความกังวลประเภทนี้เราเรียกว่า Anticipatory Anxiety เอาละ ลองมาสำรวจกันดีกว่าว่า คุณมีความกังวลต่ออนาคตมากน้อยขนาดไหน กับการตอบคำถามว่า “คุณมีความกังวลเหล่านี้เป็นประจำหรือไม่?”
- มีความรู้สึกวิตกหรือหวาดกลัวเป็นประจำ
- รู้สึกเครียดหรือตกใจง่าย
- มักกระวนกระวายใจหรือหงุดหงิด
- คาดการณ์ถึงสิ่งที่เลวร้ายที่สุดก่อนเสมอ ๆ
- หัวใจเต้นแรงและมักหายใจถี่
- ปวดหัวอ่อนเพลีย และนอนไม่หลับ
- เหงื่อออก ตัวสั่น และกล้ามเนื้อกระตุก
- ปวดท้อง ปัสสาวะบ่อย หรือท้องเสีย
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด Anticipatory Anxiety เช่น
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรควิตกกังวล
- มีปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่น ๆ
- มีความเครียดในระดับสูง
- เคยประสบกับเหตุการณ์ที่เลวร้ายมาในอดีต
- มีการใช้ยาเสพติด หรือติดแอลกอฮอล์
วิธีจัดการ Anticipatory Anxiety ด้วยตัวเอง
- เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดการบริโภคคาเฟอีนและน้ำตาล
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดความวิตกกังวลได้
- การนอนหลับ สำหรับผู้ที่มีความวิตกกังวลมักนอนหลับยาก ดังนั้นคุณจึงควรพยายามนอนเวลาเดิมทุกคืน และตื่นเวลาเดิมทุกเช้า เพื่อกำหนดนาฬิกาการนอนให้กับร่างกาย
การอดนอนหรือนอนน้อย จะยิ่งทำให้อาการความวิตกกังวลแย่ลง ขอแนะนำให้คุณฝึกหายใจหรือทำสมาธิ ซึ่งอาจทำให้คุณนอนหลับได้ง่ายขึ้น แต่ ! สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ “เรื้อรัง” ควรไปพบคุณหมอ เพราะการทำสมาธิอาจไม่ได้ผลอีกต่อไป
สุดท้าย เราอยากให้คุณค้นหาว่า “สาเหตุ” ของความวิตกกังวลนั้นเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่ และให้เริ่มแก้จากจุดนั้น ซึ่งก็จะช่วยคลายความวิตกกังวลไปได้มาก หรือถ้าพยายามแก้ไขด้วยตัวเองแล้วก็ยังไม่ได้ผล การเข้ารับการบำบัดกับคุณหมอจิตแพทย์ก็ยังคงเป็นทางออกที่ดีอยู่เสมอ