ทฤษฎีวิวัฒนาการมนุษย์กระแสหลักที่เราเชื่อกันปัจจุบันคือ มนุษย์โฮโมเซเปียนส์ ซึ่งก็คือเราในทุกวันนี้ วิวัฒนาการมาจากต้นตระกูลที่เป็นลิง ส่งผ่านสู่มนุษย์วานร โดยมนุษย์และกอริลลามีดีเอ็นเอที่ใกล้เคียงกันถึง 98 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว แม้เราจะไม่ได้วิวัฒนาการมาจากกอริลลาโดยตรงก็ตาม นั่นทำให้เราและสัตว์ตระกูลวานรมีความคล้ายกันในหลายด้าน

การศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์กที่เมืองบัฟฟาโล (University at Buffalo) พบยีนสืบพันธุ์ในกอริลลาที่ทำให้กอริลลาตัวผู้นั้นมีอวัยวะเพศที่สั้น และมีสเปิร์มคุณภาพต่ำ โดยกอริลลาตัวผู้นั้นมีความยาวอวัยวะเพศเฉลี่ยเพียง 3 เซนติเมตร หรือ 1.1 นิ้ว สิ่งที่น่าสนใจคือ ในทางการแพทย์ก็พบยีนแบบเดียวกันในผู้ชายที่มีปัญหาเรื่องการมีลูกยาก

ยีนที่ว่านี้คือ HMGA2 ซึ่งเป็นยีนกลายพันธุ์ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของกอริลลาตัวผู้ ส่งผลให้กอริลลามีอวัยวะเพศที่เล็ก และยังส่งผลต่อคุณภาพสเปิร์ม ทั้งในด้านความแข็งแรง จำนวน อัตราการว่าย รวมไปถึงรูปร่างของสเปิร์มที่ส่งผลต่อการปฏิสนธิ

การพบยีนกอริลลาในผู้ชายที่มีลูกยาก

ภาวะมีลูกยาก (Infertility) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย และส่งผลต่อคู่รักทั่วโลก โดยมาได้จากทั้งฝั่งผู้ชายและผู้หญิง ในฝั่งผู้ชายสาเหตุก็ไม่ใช่แค่ยีนที่ส่งต่อมาจากบรรพบุรุษวานรของเรา ซึ่งยังไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัด แต่ที่แพทย์พบในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น มักจะเริ่มพบช่วง 50 ปีขึ้นไป การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด โรคเบาหวาน โรคเรื้อรัง และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

แต่ก็จะมีอีกส่วนหนึ่งที่หาสาเหตุไม่ได้ เลยมีความเป็นไปได้ว่ายีนที่เราสืบทอดต่อกันมาอาจเกี่ยวข้อง และมีส่วนสำคัญด้วยเหมือนกัน ซึ่งยีนอาจมีผลต่อภาวะมีลูกยากถึง 30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

นักวิจัยได้ศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมของผู้ชายที่มีภาวะมีลูกยากจำนวน 2,100 คน โดยพบว่าผู้ชายในกลุ่มนั้นมียีนกลายพันธุ์แบบเดียวกับที่กอริลลามีถึง 109 ยีน ซึ่งส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถผลิตสเปิร์มได้มีประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น

สืบพันธุ์ สู่ สูญพันธุ์?

หากใครชื่นชอบทฤษฎีวิวัฒนาการ หรือชีววิทยาก็อาจจะรู้สึกสงสัยว่าทำไมกอริลลาถึงมียีนกลายพันธุ์ที่ส่งผลต่อการสืบพันธุ์ เพราะเป้าประสงค์หลักของสิ่งมีชีวิตทั่วทั้งโลกคือ การสืบเผ่าพันธุ์ของตัวเองต่อไป แต่แทนที่ยีนเหล่านี้จะแข็งแกร่งขึ้น กลับอ่อนแอลง

ในธรรมชาติของการสืบพันธุ์ ตัวผู้จะใช้ 2 อย่างในการจับคู่คือ ลักษณะทางด้านร่างกาย และคุณภาพของสเปิร์ม สัตว์หลายชนิดใช้ทั้ง 2 อย่าง แต่กอริลลาใช้ลักษณะทางด้านร่างกายเพียงอย่างเดียว โดยกอริลลาที่มีความแข็งแกร่ง หรือมีร่างกายที่ดึงดูดตัวเมีย สามารถเลือกที่จะสืบพันธุ์กับตัวเมียได้หลายตัว จนผูกขาดการสืบพันธุ์ในฝูง

นั่นส่งผลให้ยีนของกอริลลาตัวผู้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางด้านร่างกายมากกว่าการพัฒนาสเปิร์ม กอริลลาเหล่านั้นมีตัวที่ใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น หรือมีลักษณะของหนุ่มป็อปในหมู่สาว ๆ มากขึ้น แต่กลับด้อยพัฒนาในด้านการสืบพันธุ์ และยีนเหล่านั้นก็ตกทอดมาถึงปัจจุบัน

โดยการค้นพบครั้งนี้อาจเป็นแนวทางให้นักวิทยาศาสตร์ค้นคว้าหาวิธีการรักษาภาวะมีลูกยากในผู้ชายที่มาจากพันธุกรรม อย่างการแก้ไขดีเอ็นเอ หรือการใช้ยาเพื่อปิดการทำงานของดีเอ็นเอเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในเรื่องนี้ยังจำเป็นต้องได้รับการศึกษาในแง่มุมอื่นอีกมากเพื่อยืนยัน และสร้างความเข้าใจถึงกลไกด้านพันธุกรรมที่เกิดขึ้น