คุณรู้ไหมว่าในลำไส้ของคุณมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่นับล้าน ๆ ตัว และมีหลายชนิดมาก ๆ สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ถูกเรียกว่าจุลินทรีย์ในลำไส้ หรือ Gut Microbiome ซึ่งถ้าตัวที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เราจะคุ้นหูกับคำว่าโพรไบโอติกส์ โดยเจ้าจิ๋วเหล่านี้ไม่ได้แค่ช่วยเรื่องการย่อยอาหารและการขับถ่าย แต่ความหลากหลายและจำนวนของจุลินทรีย์ในลำไส้บางชนิดอาจส่งผลต่อน้ำหนักตัวของคุณทั้งในทางตรง และทางอ้อม

บทความนี้จะพาคุณมาดูหน้าที่ และกลไกของจุลินทรีย์ในลำไส้ที่อาจเป็นตัวการที่ทำให้คุณลดน้ำหนักไม่ได้สักที

จุลินทรีย์ในลำไส้กับความหิว-อิ่ม

มนุษย์เรามีกลไกในการควบคุมความหิว และความอิ่มด้วยการหลั่งฮอร์โมน เกรลิน (Ghrelin) คือ ฮอร์โมนแห่งความหิวที่หลั่งออกมาจากกระเพาะอาหาร และเลปติน (Leptin) คือฮอร์โมนแห่งความอิ่มที่หลั่งออกมาจากเซลล์ไขมัน

ซึ่งข้อมูลงานวิจัยพบว่าหากสมดุลของจุลินทรีย์ภายในลำไส้ของเราไม่สมดุล การหลั่งฮอร์โมนหิวและอิ่มจะเพี้ยนไป คุณอาจจะรู้สึกหิวบ่อยขึ้น อยากอาหารบ่อยขึ้น ทั้ง ๆ ที่เพิ่งกินข้าวไปไม่นาน ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้คุณอิ่มช้าลงด้วย

นอกจากนี้ จุลินทรีย์ในลำไส้ยังสัมพันธ์กับความรู้สึกพึงพอใจของอาหารที่กินเข้าไปด้วย แม้ว่าบางทีที่คุณกินอิ่มแล้ว แต่ในเชิงความรู้สึกยังรู้สึกว่ายังไม่สะใจ หนำใจ หรือพอใจจากการกินอาหารเหล่านั้น สุดท้ายแล้วก็นำไปสู่การกินอาหารปริมาณมาก และถี่เกินความจำเป็น จนทำให้คุณอ้วน หรือลดน้ำหนักไม่สำเร็จ

จุลินทรีย์ในลำไส้กับการเผาผลาญ และการสะสมไขมัน

การกินอาหารแคลอรีต่ำกว่าที่ร่างกายต้องการเป็นสูตรสำเร็จของการลดน้ำหนักที่ใช้กันทั่วโลก แต่ถ้าคุณคุมแคลอรี กินอาหารแคลต่ำ แบบเดียวกับเพื่อนของคุณ ใช้ชีวิตเหมือนกัน แต่คุณกลับน้ำหนักไม่ลด อาจเป็นไปได้ว่าคุณอาจขาดจุลินทรีย์ในลำไส้บางอย่างไป

จากข้อมูลการศึกษาบางชิ้นพบว่าร่างกายแต่ละคนตอบสนองต่ออาหารอย่างเดียวกันแตกต่างกันไป ทั้งในแง่ของพลังงาน และการดูดซึมสารอาหาร ตัวอย่างเช่น แอปเปิล 1 ผล ร่างกายของนาย A อาจได้รับพลังงานราว 50 กิโลแคลอรี พร้อมกับดึงวิตามินและสารอาหารไปใช้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ แต่นาย B อาจได้รับพลังงาน 90 กิโลแคลอรี พร้อมกับดึงวิตามินและสารอาหารไปใช้เพียง 50 เปอร์เซ็นต์

แม้คุณกินอาหารแคลอรีต่ำก็เป็นไปได้ว่าคุณอาจดูดซึมพลังงานจากอาหารได้มากกว่า แต่เผาผลาญได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับคนอื่น ซึ่งอาจจะใช้เกณฑ์การวัดแคลอรี และการเผาผลาญต่างจากคนอื่น หรือถ้าคุณกินอะไรสักอย่างมากเกินไปเพียงเล็กน้อยร่างกายอาจได้รับพลังงานจนล้น เลยต้องเอาไปเก็บเป็นไขมันสะสม และทำให้คุณน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อคุณกินอาหารแปรรูปที่ใช้เวลาดูดซึมไม่นาน

จุลินทรีย์ในลำไส้กับอาหารที่คุณชอบ

ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนต้องมีอาหารที่ตัวเองชอบ หากถามว่าทำไมถึงชอบ คุณอาจจะบอกว่ามันอร่อยและถูกปาก แต่ในความเป็นจริงเชิงชีววิทยาคุณอาจไม่ได้ชอบอาหารชนิดนั้น แต่จุลินทรีย์ในลำไส้บางชนิดที่อยู่ในตัวคุณชอบต่างหาก แม้ว่าจุลินทรีย์จะมีขนาดเล็ก แต่มันบงการความรู้สึกคุณได้

ลำไส้เป็นอวัยวะที่มีเซลล์ประสาทมากเป็นอันดับสอง รองจากสมอง จนได้ชื่อว่าเป็นสมองที่ 2 ของร่างกาย ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึกจำนวนไม่น้อยผลิตขึ้นภายในลำไส้ และจุลินทรีย์ในลำไส้ก็มีผลด้วยเหมือนกัน

แต่ข้อมูลนี้ก็มี 2 ด้าน ในด้านหนึ่งจุลินทรีย์เหล่านั้นพยายามให้คุณรู้สึกอยากอาหารบางประเภทเพราะว่าร่างกายของเราอาจกำลังขาดสารอาหารบางชนิดอยู่

อีกด้านคือ จุลินทรีย์บางชนิดที่เคยได้รับสารอาหารบางอย่างเป็นเวลานาน ๆ อย่างโปรตีน คาร์บ และไขมัน อาจทำให้พวกมันมีจำนวนเพิ่มขึ้น และสามารถส่งสัญญาณเป็นความอยากอาหาร

เวลาที่ประสาทสัมผัสการมองเห็นและการได้กลิ่นไปเจอกับหมูกรอบ เบเกอรี น้ำหวาน และช็อกโกแลต ยิ่งทำให้จุลินทรีย์กลุ่มหลังเติบโต เสียงเรียกร้องหรือความอยากอาหารบางประเภทจะยิ่งรุนแรงขึ้นจนคุณทนไม่ไหว

รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะเสพติดอาหารของสมองด้วย ในขณะเดียวกัน หากคุณสามารถงดหรือคุมปริมาณการกินอาหารเหล่านั้นได้ จะช่วยให้ลดความอยากต่ออาหารชนิดนั้น ๆ ได้ดีขึ้นนั่นเอง

จากข้อมูลทั้งหมดนี้น่าจะพอบอกคุณได้ถึงความสำคัญของจุลินทรีย์ภายในลำไส้ของเรา ไม่ใช่แค่กับการลดน้ำหนัก หรือความอ้วน ความผอม แต่รวมถึงสุขภาพโดยรวมและรูปแบบการใช้ชีวิตด้วย

วิธีไหนที่จะให้จุลินทรีย์ในลำไส้สมดุลมากขึ้น?

ภาวะขาดสมดุลของจุลินทรีย์ภายในลำไส้เป็นเวลานานส่งผลเสียทั้งในด้านน้ำหนักตัว ระบบเผาผลาญ รวมถึงระบบอื่น ๆ อย่างอารมณ์ ภูมิคุ้มกัน การขับถ่าย และการอักเสบของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับโรคเรื้อรังหลายชนิด

การทวงคืนสมดุลของจุลินทรีย์ภายในลำไส้เป็นวิธีการดูแลสุขภาพที่สำคัญไม่ต่างจากการออกกำลังกาย การนอนหลับ หรือการกินอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งวิธีทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับจุลินทรีย์ในลำไส้ทั้งนั้นเลย

  • กินอาหารให้หลากหลาย เน้นผักผลไม้ เพราะใยอาหารหรือไฟเบอร์เป็นอาหารของจุลินทรีย์ในลำไส้ ยิ่งได้รับในปริมาณที่เหมาะสม จุลินทรีย์ที่ดีจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยผักผลไม้แต่ละชนิดมีใยอาหารที่ต่างกันสำหรับจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ การกินหลายชนิดจึงช่วยเสริมการทำงานของจุลินทรีย์ในลำไส้ได้อย่างทั่วถึง
  • กินอาหารโพรไบโอติกส์ อย่างโยเกิร์ต คอมบูชา นัตโตะ กิมจิ และเทมเป้ อาหารเหล่านี้มีจุลินทรีย์ที่ดีอยู่ ข้อมูลทางการแพทย์พบว่ายิ่งมีจุลินทรีย์ดีในลำไส้หลากหลายชนิดมากเท่าไหร่ จะยิ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ เพราะเจ้าจิ๋วเหล่านี้ต้องทำงานร่วมกัน
  • กินน้ำตาลให้น้อยลง เพื่อลดจำนวนของจุลินทรีย์ที่ทำให้อยากอาหาร และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดการอักเสบ นอกจากนี้ การกินน้ำตาลยังทำให้จุลินทรีย์ดีบางชนิดอ่อนแอด้วย
  • นอนให้พอ และมีคุณภาพ การอดนอนส่งผลให้จุลินทรีย์ในลำไส้อ่อนแอและตายลง นั่นหมายถึงระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงด้วย การพักผ่อนให้เพียงพอจึงเป็นทางออกง่าย ๆ ที่คุณสามารถทำได้ทุกวัน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอช่วยรักษาการทำงานของลำไส้ และช่วยเรื่องการลดน้ำหนักได้
  • เลี่ยงสารเคมี อย่างแอลกอฮอล์ บุหรี่ สารเสพติด และมลพิษ
  • ใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็น เพราะยาฆ่าเชื้อสามารถทำลายจุลินทรีย์ได้ด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชิ้นใหม่ ๆ ยังคงศึกษาเรื่องราวของจุลินทรีย์ในลำไส้กับระบบร่างกายเพิ่มเติม ซึ่งเชื่อได้ว่ายังมีข้อมูลอีกมากมายที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับเจ้าจุลินทรีย์ตัวจิ๋วภายในลำไส้ของเรา