“จากการศึกษาของธนาคารโลก พบว่า แรงงานไทยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ เสี่ยงต่อการถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ”

ทุกวันนี้เทคโนโลยีต่างก็รุดหน้าและก้าวไกล หลายอาชีพเริ่มถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เราทุกคนต่างต้องแข่งขันและไขว่คว้าหาโอกาสที่ดีกว่า ด้วยการพัฒนาทั้งความฉลาดทางด้านปัญญาและอารมณ์ หรือที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีในชื่อของ IQ และ EQ แต่จริง ๆ แล้ว ยังมีอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญและจำเป็นมาก ๆ ในโลกดิจิทัล นั่นคือทักษะความฉลาดทางดิจิทัล หรือ DQ

ทักษะ DQ นี้เองที่จะพาเราไปสู่โอกาสใหม่ ๆ และหน้าที่การงานที่ดีขึ้น ถามว่าตอนนี้คุณรู้จักทักษะดังกล่าวดีพอแล้วหรือยัง ? ถ้ายังไม่ดี หรือมีไม่พอ หรือบางคนอาจยังไม่รู้จักว่า DQ คืออะไร และจำเป็นต่อชีวิตเรามากมายแค่ไหน วันนี้เรามาเริ่มทำความรู้จักไปด้วยกัน

จากการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า แรงงานไทยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ เสี่ยงต่อการถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ สาเหตุหลักมาจาก

  • การขาดแคลนทักษะดิจิทัล: แรงงานไทยจำนวนมากยังไม่มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในยุคดิจิทัล เช่น การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การวิเคราะห์ข้อมูล การสื่อสารออนไลน์
  • การเปลี่ยนแปลงของตลาด: เทคโนโลยีใหม่ ๆ แทรกแซงธุรกิจและตลาดแรงงาน ส่งผลให้บางอาชีพหายไป เกิดอาชีพใหม่ ๆ ขึ้นมา

แล้วเราจะเอาตัวรอดอย่างไร ? DQ คือ คำตอบ !

ทักษะความฉลาดทางดิจิทัล หรือ DQ (Digital Intelligence Quotient)

Digital Intelligence Quotient คือกลุ่มความสามารถทางสังคม อารมณ์ และการรับรู้ ที่จะทำให้คนคนหนึ่งสามารถเผชิญหน้ากับความท้าทายของชีวิตดิจิทัล และสามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตดิจิทัลได้ โดยความฉลาดทางดิจิทัล หรือ DQ นี้ จะครอบคลุมทั้งความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และค่านิยม ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในฐานะสมาชิกของโลกออนไลน์ พูดง่าย ๆ DQ ก็คือ ทักษะการใช้สื่อและการเข้าสังคมในโลกออนไลน์นั่นเอง

เดิมที DQ มี 8 ด้าน

DQ Institute ซึ่งเป็นสถาบันที่มีการพัฒนามาตรฐานระดับสากลเกี่ยวกับการให้ความรู้ด้านความฉลาดทางดิจิทัล ได้กำหนดทักษะด้านดิจิทัลที่จำเป็นไว้ 8 ทักษะ ได้แก่

  1. ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง (Digital Citizen Identity) 
  2. ทักษะการคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี (Critical Thinking)
  3. ทักษะในการรักษาความปลอดภัยของตนเองในโลกไซเบอร์ (Cybersecurity Management)
  4. ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว (Privacy Management) 
  5. ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ (Screen Time Management)
  6. ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานมีการทิ้งไว้บนโลกออนไลน์ (Digital Footprints)
  7. ทักษะการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม (Digital Empathy)

DQ 5 ด้าน ที่เหมาะสมกับคนไทย

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ได้ปรับกรอบทักษะความฉลาดทางดิจิทัล หรือ DQ จาก 8 ด้าน ให้สอดคล้องกับพฤติกรรม วัฒนธรรม และสถานการณ์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของคนไทย เหลือเพียง 5 ด้าน ดังนี้

1. ด้านอัตลักษณ์ดิจิทัล (Digital Identity)

ความรู้และความเข้าใจในการบริหารจัดการอัตลักษณ์ทางดิจิทัลที่ดีของตัวเอง เช่น การสร้างภาพลักษณ์ออนไลน์ของตัวเองในแง่บวก (Identity) และจัดการสิทธิ์ (Rights) ไปจนถึงความเป็นส่วนตัว (Privacy) และรู้จักปกป้องข้อมูลส่วนตัวและอัตลักษณ์ทางดิจิทัลของตน ซึ่งคำว่า “อัตลักษณ์ดิจิทัล” ก็คือ สิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวเรา ลักษณะเฉพาะบุคคลของเรา และภาพลักษณ์ที่แสดงออกให้ผู้อื่นรับรู้ จากข้อมูลที่ใส่หรือโพสต์ลงบนโลกดิจิทัล โดยหากใครพบเห็น ก็จะสามารถจดจำ และใช้ระบุตัวตนของเราได้

ผลกระทบของการขาด DQ ด้าน Digital Identity หรือด้านอัตลักษณ์ดิจิทัลนี้มีมากมาย เช่น ถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกหลอกลวงหรือกลั่นแกล้งจากมิจฉาชีพหรือผู้ไม่หวังดี เป็นต้น

2. ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม (Digital Use)

ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น โดยคำนึงถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบ

จากผลสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยในปี 2566 โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) พบว่า คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 89.5 เปอร์เซ็นต์ และใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 25 นาทีต่อวัน แม้พฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ จะส่งผลบวกมากมายต่อคนไทย แต่ความเพลิดเพลินจากการใช้เทคโนโลยีที่มากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย จิตใจ และชีวิตประจำวันได้เช่นกัน

ตัวอย่างผลกระทบของการขาด DQ ด้าน Digital Use หรือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม ได้แก่ การเสพติดเทคโนโลยี การใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด การละเลยหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัว รวมไปถึงอาจก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพ เช่น ปวดตา ปวดหัว นอนไม่หลับ ปัญหาด้านสังคม เช่น การขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และปัญหาด้านการเงิน เช่น การใช้จ่ายที่มากเกินไป

3. ด้านการจัดการความปลอดภัยในโลกดิจิทัล (Digital Security)

ความสามารถในการปกป้องตนเองจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่น มัลแวร์ ฟิชชิง แฮกเกอร์ มิจฉาชีพ หรือสแกมเมอร์ต่าง ๆ

ตัวอย่างผลกระทบของการขาด DQ ด้าน Digital Security หรือการจัดการความปลอดภัยในโลกดิจิทัล ได้แก่ ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล เสียเงิน อุปกรณ์ดิจิทัลเสียหาย โดยความเสี่ยงภัยทางไซเบอร์ส่วนบุคคลนั้น สามารถเกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ จัดกลุ่มได้เป็นสองส่วน

คือ การล่วงละเมิดทางไซเบอร์ (Cyber Abuse) และการคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Threat) ซึ่งรูปแบบภัยคุกคามทางไซเบอร์ส่วนบุคคลที่หลายคนคุ้นเคย เช่น ลวงให้กรอกข้อมูล (Phishing Scams) หลอกให้ดีใจ (Lottery or Prize Scam) หลอกให้รัก (Romance Scam) หลอกให้ลงทุน (Investment Scam) เป็นต้น

ดังนั้น เราจึงควรตั้งค่าความเป็นส่วนตัวบนอุปกรณ์ที่ใช้ให้อยู่ในระดับที่เราต้องการ และระมัดระวังการเปิดช่อง เผยแพร่ หรือแชร์ข้อมูลส่วนตัว ซึ่งอาจจะกลายเป็นเชื้อไฟตั้งต้นให้กับคนก่อการล่วงละเมิด ในขณะเดียวกันตัวเราเองก็อาจกลายเป็นผู้ที่ล่วงละเมิดผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว โดยวิธีพื้นฐานที่จะป้องกันไม่ให้หลงพลาดพลั้ง คือควรมี “ความเข้าอกเข้าใจในโลกดิจิทัล” หรือ Digital Empathy อยู่เสมอ

ในขณะเดียวกัน ก็ต้องรู้จักการบริหารและจัดการความเสี่ยงจากการใช้เทคโนโลยีในองค์กรอย่างรอบคอบ เช่น ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจากการโจมตีทางไซเบอร์ การรั่วไหล หรือการสูญหายของข้อมูลลับ และข้อมูลส่วนบุคคล การขาดความมั่นคงและความพร้อมในการใช้งานของระบบ IT เป็นต้น 

4. ด้านการสื่อสารดิจิทัล (Digital Communication)

ความสามารถในการสื่อสารผ่านช่องทางดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะด้านดิจิทัลอันดับ 1 ที่บรรดานายจ้างต้องการ

ควรระลึกอยู่เสมอว่า “ในโลกอินเทอร์เน็ตไม่มีปุ่ม delete” ทุกข้อความไม่เคยหายไป ทุกครั้งที่เราสื่อสารผ่านทางดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความ แสดงความคิดเห็น แชร์รูปภาพ หรือวิดีโอ ล้วนทิ้งร่องรอยข้อมูลของเราไว้บนโลกออนไลน์ ร่องรอยเหล่านี้เรียกว่า Digital Footprint หรือ “ร่องรอยดิจิทัล” ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยว่า สิ่งที่เราโพสต์ไปนั้นจะกลับมาส่งผลกระทบต่อตัวเราเมื่อไหร่ และในรูปแบบใดบ้าง

ตัวอย่างผลกระทบของการขาด DQ ด้าน Digital Communication หรือการสื่อสารดิจิทัล เช่น สื่อสารผิดใจ เสียเพื่อน เสียงาน เสียโอกาสทางธุรกิจ ถูกมองในแง่ลบ เป็นต้น

ซึ่งจากการสำรวจทางออนไลน์ของ CareerBuilder โดย The Harris Poll ระหว่างวันที่ 4 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม 2018 โดยมีกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนผู้จัดการการจ้างงานและผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลมากกว่า 1,000 ราย จากอุตสาหกรรมและขนาดบริษัทในภาคเอกชน พบว่า มีพนักงานกว่า 34 เปอร์เซ็นต์ถูกไล่ออกจากการใช้โซเชียลมีเดียไม่เหมาะสม

5. ด้านการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy)

ความสามารถในการวิเคราะห์ ประเมิน และตรวจสอบข้อมูลบนโลกดิจิทัลได้อย่างมีวิจารณญาณ

ในปัจจุบันเนื้อหาข้อมูลข่าวสารเพิ่มขึ้นและไหลผ่านอย่างรวดเร็ว อันเกิดจากสื่อที่มีมากขึ้น รวมถึง สื่อออนไลน์ที่ง่ายต่อการบริโภค และการส่งต่อ ดังนั้น “ความรู้เท่าทันดิจิทัล” จึงเป็นทักษะที่จำเป็นในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลดิจิทัลให้ตรงกับความต้องการ เข้าใจ ประเมินค่า และใช้สื่อเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

Claire Wardle จาก First Draft ซึ่งเป็นองค์กรทำงานต่อต้านข่าวลวงและข้อมูลเท็จเพื่อสร้างความไว้วางใจและความจริงในยุคดิจิทัล ระบุว่า การที่จะเข้าใจระบบนิเวศของการส่งต่อหรือแชร์ข้อมูลข่าวสารผิด ๆ ออกไปนั้น ควรจะต้องทำความเข้าใจกับประเภทของข่าวสารข้อมูลเท็จ แรงจูงใจของคนทำและการแพร่กระจายของเนื้อหาเสียก่อน

ตัวอย่างผลกระทบของการขาด DQ ด้าน Digital Literacy หรือการรู้เท่าทันดิจิทัล ได้แก่ ถูกหลอกลวงด้วยข่าวปลอม ตัดสินใจผิดพลาด เสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งเราได้พบเห็นข่าวมากมายที่เกิดจากการแบ่งปันหรือการแชร์เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมและสร้างความเสียหายต่อบุคคลอื่น

การพัฒนาทักษะความฉลาดด้านดิจิทัล

เพราะ “ทักษะ” เป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาได้ เราจึงควรฝึกฝนและพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เพื่อให้ใช้เทคโนโลยีเป็นและไม่ตกเป็นเหยื่อของโลกดิจิทัล มีหลายวิธีในการพัฒนาทักษะดิจิทัล เช่น

  • เข้าร่วมอบรมและสัมมนา: มีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่าง ๆ จัดอบรมและสัมมนาเกี่ยวกับทักษะดิจิทัลอยู่เสมอ
  • เรียนรู้ด้วยตนเอง: มีแหล่งเรียนรู้ทักษะดิจิทัลออนไลน์มากมาย เช่น เว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ต่าง ๆ หรือ YouTube เป็นต้น
  • ฝึกฝนทักษะ: ฝึกฝนทักษะดิจิทัลอยู่เสมอ เช่น ลองใช้โปรแกรมใหม่ ๆ ฝึกเขียนโปรแกรม วิเคราะห์ข้อมูล

เพราะการจะอยู่รอดในโลกดิจิทัลนั้น นอกจากจะต้องมี IQ และ EQ แล้ว เราทุกคนยังต้องมี DQ หรือทักษะความฉลาดทางดิจิทัลด้วย เพราะ DQ นี้จะเป็นเกราะป้องกันตัวเราในโลกดิจิทัลได้ ดังที่ Bill Gates พ่อมดแห่งวงการ IT ของโลกได้กล่าวไว้ว่า “เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือ สิ่งสำคัญคือเราต้องใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่า”