ท่ามกลางความโกลาหลของการเมืองโลก การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2024 จึงถูกจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะจะถือเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจชี้ชะตากรรมของสมรภูมิต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งผลสุดท้าย โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ก็เป็นผู้คว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้

ซึ่งการหวนคืนสู่ทำเนียบขาวของเขาครั้งนี้เป็นที่น่าจับตา เพราะในวาระที่แล้ว หลายคนจะมองว่าเขาบ้า หัวรุนแรง และมักตัดสินใจทำอะไรในสิ่งที่ทุกคนไม่คาดคิด ดังนั้นวันนี้ เราจะพามาทำความรู้จักเส้นทางชีวิตของทรัมป์ ว่าจากนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ทำไมจึงได้กลายมาเป็นผู้ที่มีส่วนกำหนดชะตากรรมของโลกใบนี้ได้

โดนัลด์ จอห์น ทรัมป์ เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 1946 ที่ย่านควีนส์ รัฐนิวยอร์ก เป็นบุตรคนที่ 4 จากพี่น้อง 5 คน ในครอบครัวนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยที่บิดาของเขา เฟรดเดอริก คริสต์ ทรัมป์ ก่อร่างสร้างตัวจากการสร้างบ้านและอะพาร์ตเมนต์หลายหลังในย่านควีนส์และย่านบรุกลิน โดยเฉพาะในช่วงปลายทศวรรษ 1940 ด้วยเงินกู้จากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ณ เวลานั้น ซึ่งเป็นผลพวงจากนโยบายส่งเสริมการสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูก เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1930

แม้จะเกิดในครอบครัวนักธุรกิจ แต่ชีวิตวัยเด็กของทรัมป์ไม่ได้สวยงามนัก พ่อของเขามีนิสัยโหดร้าย มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ และปลูกฝังทรัมป์ด้วยคําสอนว่า “โลกใบนี้มีคนอยู่สองประเภทเท่านั้น คือผู้ชนะไม่ก็ผู้แพ้” เมื่ออายุได้ 13 ปี พ่อแม่ของเขาก็ตัดสินใจส่งทรัมป์เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนทหารนิวยอร์ก (New York Military Academy) เพื่อปลูกฝังระเบียบวินัย ซึ่งแซนดี้ แมคอินทอช อดีตเพื่อนร่วมชั้นโรงเรียนทหารของทรัมป์ ได้เล่าถึงบรรยากาศของโรงเรียนว่า “เราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมถูกรังแก เมื่อไม่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง” ขณะเดียวกัน มาร์ค ฟิชเชอร์ ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของทรัมป์ ชื่อ “Trump Revealed” เล่าว่าทรัมป์เคยตะคอกใส่เพื่อนร่วมชั้น ผลักพวกเขาไปรอบ ๆ และใช้ชีวิตในหอพักด้วยกำปั้น

สถานที่แห่งนี้จึงเป็นหัวเชื้อสำคัญ ที่บ่มเพาะความเป็นผู้นำให้แก่ทรัมป์ ท่ามกลางสภาพบังคับด้วยความรุนแรง เมื่อถึงปี 1964 เขาย้ายไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮม ก่อนจะไปศึกษาเรื่องการเงินและการค้า ที่ Wharton School of Finance and Commerce มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ซึ่งเขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ที่นั่นในปี 1968

จากนั้นเขาได้เริ่มก้าวเข้าสู่องค์การอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการรับช่วงต่อกิจการจากพ่อของเขาในปี 1971 โดยเริ่มจากบริหารการให้เช่าที่อยู่อาศัยในรัฐนิวยอร์ก โอไฮโอ และเวอร์จิเนีย เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “The Trump Organization” ซึ่งระหว่างนั้นได้เกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นในปี 1973 กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ฟ้องร้องบริษัทของทรัมป์ว่ามีพฤติกรรมเลือกปฏิบัติ เพราะกีดกันไม่ให้ชาวแอฟริกันอเมริกันเช่าอาศัย ซึ่งทรัมป์ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่สุดท้ายคดีนี้ก็จบลงใน 2 ปี โดยที่เขาพ้นข้อกล่าวหา

ทรัมป์ได้ปักหลักธุรกิจในเขตแมนฮัตตัน และเริ่มขยายธุรกิจออกไปยังมลรัฐต่าง ๆ โดยลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักอาศัย โรงแรมหรู รีสอร์ต กาสิโน อาคารพาณิชย์ และสนามกอล์ฟ รวมถึงธุรกิจย่อยอีกหลายประเภท เช่น ก่อสร้าง สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ บริการสินเชื่อ อาหารและเครื่องดื่ม การท่องเที่ยว สายการบิน รวมถึงเวทีประกวดนางงาม

ระหว่างการเป็นนักธุรกิจของทรัมป์ เขาสร้างชื่อเสียงและภาพจําต่อสาธารณะชน ด้วยการขยายบทบาทของตัวเองเข้าไปในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงต่าง ๆ ทั้งเป็นพิธีกรในรายการทีวี “The Apprentice“ ช่วงปี 2004-2005 ซึ่งเขาจะให้ผู้เข้าแข่งขันมาช่วงชิงสัญญาจ้างจากบริษัทในเครือของเขา และเขาได้สร้างประโยคที่เป็นภาพจําคือ ”You’re fired“ หรือคุณถูกไล่ออกแล้ว นอกจากนี้ เขายังปรากฏตัวในภาพยนตร์และซีรีส์โทรทัศน์อีกหลายเรื่อง อาทิ Home Alone 2: Lost in New York, Zoolander, Sex and the city ซึ่งการที่ทรัมป์เข้าไปอยู่ในสื่อบันเทิงต่าง ๆ ส่งผลให้เขากลายเป็นที่รู้จัก และเป็นนักธุรกิจเซเลบริตีที่มีชื่อเสียงในอเมริกา

ทรัมป์เริ่มสนใจเข้าสู่เส้นทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปี 1987 แม้เขาจะเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การเมืองเป็นชีวิตที่โหดร้ายมาก และบอกว่าคนที่มีความสามารถสูงสุดจะเลือกโลกธุรกิจแทน เขาเริ่มหยั่งเชิงด้วยการเสนอชื่อตัวเองชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยในปี 2000 ทรัมป์เข้าร่วมการแข่งขันร่วมกับพรรคปฏิรูป (Reform Party) จากนั้นในปี 2012 ได้เข้าร่วมอีกครั้งภายใต้สังกัดพรรครีพับลิกัน (Republican Party) จนกระทั่งในการเลือกตั้งปี 2016 ทรัมป์ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ภายใต้สังกัดพรรครีพับลิกัน โดยใช้สโลแกนหาเสียง “Make America Great Again” ก่อนจะเฉือนชนะฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งจากพรรคเดโมเครต (Democratic Party) จนได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45

ตลอดการดำรงแหน่งประธานาธิบดีในช่วงปี 2017-2021 ทรัมป์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายเรื่อง ภายใต้แนวนโยบายเน้นผลประโยชน์ของชาติสหรัฐฯ เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก การถอนตัวจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการโรคระบาดโควิด-19 ที่ไม่มีประสิทธิภาพ การสั่งสังหารนายพลคาเซม โซไลมานี ผู้บัญชาการกองทัพพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องชาวอเมริกันในอิรัก อีกทั้งการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม รวมถึงพฤติกรรมและวาทะหลายอย่างที่สร้างความเกลียดชัง

เมื่อหมดวาระดำรงตำแหน่ง ทรัมป์ได้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง แต่ก็พ่ายแพ้ให้กับโจ ไบเดน คู่แข่งจากพรรคเดโมเครต อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ไม่เคยประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ เขากล่าวหาว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นมีการโกงเกิดขึ้นผ่านการโหวตทางไปรษณีย์ โดยเฉพาะในมลรัฐจอร์เจียที่เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรครีพับลิกันมาตลอด และปฏิเสธที่จะส่งมอบอำนาจให้กับไบเดน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์มวลชนบุกรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 6 มกราคม 2021 เพื่อขัดขวางการรับรองผลชัยชนะของไบเดน ซึ่งทรัมป์ถูกมองว่ามีส่วนในการยุยงปลุกปั่นมวลชนจนนำมาสู่เหตุการณ์นี้ พฤติกรรมของเขาถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการทำลายความเป็นประชาธิปไตยของอเมริกา และยังนำมาสู่การดำเนินคดีในภายหลัง พร้อมอีกหลายคดีมากมาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทรัมป์ได้รับการเลือกตั้งให้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง เฉือนชนะกมลา แฮร์ริสไปแบบขาดลอย ทั้งคะแนน Electoral vote และ Popular vote นอกจากนี้ พรรครีพับลิกันยังได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามากกว่าพรรคเดโมเครต จึงถือได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นความพ่ายแพ้ของพรรคเดโมเครตอย่างสิ้นเชิง จนหลายคนอาจเกิดคำถามว่า ทำไมทรัมป์ถึงได้รับเลือกกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ทั้งที่มีเรื่องอื้อฉาวและเสียงวิจารณ์ในหลายเรื่อง

ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า สังคมอเมริกันกำลังเผชิญกับความแตกแยกมากที่สุดยุคหนึ่ง หรือหากพูดแบบง่าย ๆ คือการแบ่งขั้วระหว่างแนวคิดเสรีนิยม ที่ส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตย ความเท่าเทียมในสังคม สร้างพันธมิตรระหว่างประเทศ เพื่อรักษาบทบาทของอเมริกาในฐานะสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย ตรงข้ามกับแนวคิดอนุรักษ์นิยม ที่เน้นผลประโยชน์ของชาวอเมริกันเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงการต่อต้านกลุ่มผู้อพยพ ทั้งที่เป็นตลาดแรงงานสำคัญที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งในปัจจุบัน แนวคิดทั้ง 2 มีลักษณะที่ออกไปในทางสุดโต่งทั้งคู่

ท่ามกลางความแตกแยกทางการเมือง คนอเมริกันจำนวนมากยังต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น การว่างงาน ความไม่มั่นคงทางรายได้ ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองเหล่านี้ที่กระทบต่อวิถีชีวิตคนอเมริกัน คือสิ่งที่สั่นคลอนแนวคิดแบบเสรีนิยม เพราะเป็นช่องว่างให้นักการเมืองขวาจัดแบบทรัมป์ ที่มีมุมมองคนขาวเป็นใหญ่ และถูกมองว่าเป็นคนเลือกปฏิบัติกลุ่มชนชาติฮิสแปนิก โทษคนอื่นว่าเป็นผู้ก่อปัญหา หรือพูดง่าย ๆ คือ การเมืองทีหลัง ปากท้องต้องมาก่อน เห็นได้จากการหาเสียงของทรัมป์ในช่วงเลือกตั้ง ที่โยนความผิดไปยังแรงงานอพยพ ว่าเป็นสาเหตุของปัญหาดังกล่าว เพราะมาแย่งงานชาวอเมริกันทำ และเป็นต้นตอการก่ออาชญากรรม จนนำไปสู่นโยบายที่จะจัดการผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายเด็ดขาด การหาเสียงของทรัมป์จึงกลายเป็นที่จูงใจของชาวอเมริกันหลายคน จึงไม่แปลกที่เขาจะคว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้

ดังนั้น การหวนคืนสู่ทำเนียบขาวของทรัมป์ครั้งนี้ ฝั่งหนึ่งก็มองว่าเป็นการเสื่อมถอยของประชาธิปไตยในสหรัฐฯ ทั้งด้วยการเมืองแบบขวาสุดโต่งที่เอาชนะการเมืองแบบเสรีนิยม รวมถึงพฤติกรรมของทรัมป์ที่อื้อฉาวจนสั่นคลอนระบอบประชาธิปไตยในประเทศ แต่ก็ยังได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นว่า วันนี้ชาวเมริกันเลือกปากท้องดี มากกว่าการเมืองที่ดี

นอกจากนี้ เรายังต้องจับตาต่อไปว่า การเมืองโลกภายใต้สหรัฐฯ ในนํ้ามือของทรัมป์ ผู้ประกาศท่าทีอันก้าวร้าวต่อจีนในช่วงหาเสียงจะเป็นอย่างไร ทั้งการขู่ขึ้นภาษี 60% หรือขู่ทำสงครามหากบุกเกาะไต้หวัน รวมถึงสัญญาที่เขาให้ไว้ว่า จะยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ด้วยการยกเลิกการสนับสนุนงบประมาณและยุทธปัจจัยให้กับยูเครน เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง จะเกิดความเปลี่ยนแปลงในเกมการเมืองระหว่างประเทศขึ้นในหลายภูมิภาคอย่างแน่นอน แต่หากท่านอ่านมาถึงตรงนี้ ก็คงเข้าใจว่าสิ่งที่ทรัมป์ได้พูด อาจไม่ใช่สิ่งที่เลื่อนลอยเสมอไป เพราะเส้นทางชีวิตของเขา ไม่เคยมีคำว่าผู้แพ้ เพราะเขามักต้องเป็น “ผู้ชนะ” เสมอ