หากคุณเป็นขาประจำเน็ตฟลิกซ์ คุณอาจเคยเห็น Trigger Warning หรือการแจ้งเตือนบริเวณด้านซ้ายบนของจอก่อนเริ่มวิดีโอ อย่างช่วงก่อนหน้าจะมีคำเตือนนี้ก่อนเริ่มอนิเมชัน ‘Cyberpunk: Edgerunners’ หรือในช่วงครึ่งหลังของ ‘Stranger thing’ ซีซั่นล่าสุดของก็มีคำเตือนนี้อยู่ด้วย
โดยคำเตือนนี้มีอยู่ว่า
Some scenes have a strobing effect that may affect photosensitive viewers.
‘บางฉากในภาพยนตร์หรือซีรีส์มีเอฟเฟกต์ที่มีแสงจ้าที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ชมที่มีภาวะไวต่อแสงได้’
คุณเคยสงสัยไหมว่าคำเตือนนี้หมายถึงอะไร? หากอ่านเป็นไทยแล้วอาจรู้สึกงงยิ่งกว่าเดิม เอฟเฟกต์ที่มีแสงวูบวาบคืออะไร? ภาวะไวต่อแสงเป็นแบบไหน? แล้วทำไมต้องเตือนก่อนดูหนัง? HfH (Hack for Health) และบทความนี้มีคำตอบ
Photosentive คืออะไร?
Photo ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงรูปภาพ เพราะความหมายดั้งเดิมของคำนี้คือ ‘แสง’ ส่วน Sensitivity ก็หมายถึงภาวะที่ร่างกายไวต่ออะไรบางอย่างหรือถูกกระตุ้นได้ง่าย
Photosentive หรือ Photosensitivity เลยหมายถึงภาวะไวต่อแสง โดยปกติแล้วคำนี้ใช้เรียกเมื่อร่างกายไม่ว่าจะส่วนใดก็ตามมีอาการไวต่อแสง อย่างผิวไวต่อแสงที่อาจมาจากโรคหรือการใช้ยา บางคนอาจจะดวงตาไวต่อแสง ทำให้มองแสงจ้าไม่ได้ ซึ่งร่างกายของคนที่มีภาวะนี้ต่างจากคนทั่วไปที่ร่างกายมีความทนทานต่อแสงมากกว่า
ทำไมต้องเตือนก่อนดูหนัง?
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1997 มีเด็กชาวญี่ปุ่นเกือบ 700 คนถูกหามส่งโรงพยาบาลด้วยอาการตาพร่า เวียนหัว หมดสติ ชัก และตาบอดชั่วคราวภายในไม่กี่นาทีหลังจากที่ดูโปเกมอนจบ ใช่แล้ว คุณอ่านไม่ผิดหรอก โปเกมอนการ์ตูนแสนน่ารักในความทรงจำของหลายคนนั่นแหละ
เพราะฉากในโปเกมอนตอนนั้นมีภาพของสีที่กะพริบไปมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งกระตุ้นให้เด็กที่มีภาวะไวต่อแสงซ่อนอยู่เกิดอาการชัก แน่นอนว่าเรื่องนี้กลายเป็นข่าวดังและโปเกมอนตอนนั้นก็ถูกห้ามฉาย
สาเหตุที่เด็ก ๆ เกิดอาการผิดปกติเป็นผลมาจาก Photosensitive Epilepsy หรือโรคลมชักที่เกิดจากภาวะไวต่อแสง พบได้ในสัดส่วนราว 1:4,000 คน สมองและระบบประสาทของเด็กที่มีโรคนี้มีความผิดปกติอยู่ก่อนแล้ว การเห็นแสงที่กะพริบไปมาอาจกระตุ้นให้เกิดอาการได้ เพราะคลื่นของแสงที่ปรากฏนั้นมีความถี่ที่เฉพาะต่างจากแสงทั่วไป
นั่นก็หมายความว่าในขณะที่คนส่วนใหญ่สามารถดูหนังที่มีภาพสวย ๆ เอฟเฟกต์อลังการสุดตระการตา แต่คนที่มีภาวะนี้อาจไม่สนุกด้วยสักเท่าไหร่ นี่จึงเป็นเหตุผลและที่มาว่าทำไมต้องมีคำเตือนนี้ก่อนเริ่มหนังและซีรีส์
แสงวิบวับวูบวาบที่ว่านี้ไม่ได้ส่งผลต่อคนที่มีอาการ Photosensitive Epilepsy เท่านั้น บางคนที่มีอาการไมเกรน แสงในรูปแบบนี้ก็อาจเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการไมเกรนของคุณกำเริบได้เช่นเดียวกัน
แม้ว่าคุณจะไม่ได้มีภาวะไวต่อแสง แต่การเห็นแสงหรือเอฟเฟกต์เหล่านี้นาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดตา ปวดหัว หรือแสบตา การปรับแสงหน้าจอและการใช้เวลาในการดูอย่างเหมาะสมนั้นช่วยคุณได้
แสงหรือเอฟเฟกต์แบบไหนที่ส่งผลต่อคนที่ไวต่อแสงได้บ้าง?
นอกจาก Strobing effect แล้ว คุณอาจพบคำว่า Flashing light และ Strobing light ด้วย ซึ่งการเห็นแสงหรือเอฟเฟกต์ในลักษณะนี้ก็อาจทำให้เกิดอาการได้ มาดูตัวอย่างกัน
- แสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูป
- แสงที่ออกมาจากปลายกระบอกปืนในฉากยิงต่อสู้
- แสงสะท้อนระยิบระยับบนผิวน้ำหรือแสงอาทิตย์ที่ลอดผ่านใบไม้ของต้นไม้ใหญ่
- เอฟเฟกต์จากการต่อสู้กันในหนังแฟนตาซี
- แสงวิบวับแบบดิสโก้ อย่างฉากในผับที่มีไฟหลากหลายสีสลับไปมา
- การ Transition หรือเปลี่ยนภาพด้วยวิธีกะพริบ
- ภาพที่ตัดไปมาระหว่างสีต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว
คำเตือนสำหรับคนที่มีภาวะไวต่อแสงไม่ได้มีแค่ในเน็ตฟลิกซ์เท่านั้น ในช่วงหลัง ๆ คนเริ่มใส่ใจถึงความปลอดภัยของผู้ใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสตรีมมิงแพลตฟอร์มอื่น เกม มิวสิกวิดีโอ รวมไปถึงโชว์ต่าง ๆ ด้วย คุณจึงควรอ่านคำเตือนเหล่านี้ทุกครั้ง โดยเฉพาะในตอนต้นของหนังหรือซีรีส์แต่ละตอน
การเลี่ยงการดูหนังหรือซีรีส์เหล่านี้เป็นวิธีป้องกันที่ดีสุด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะบางคนอดดูหนังดี ๆ หรือเล่นเกมสนุก ๆ เพียงเพราะมีภาวะนี้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส