ทุกเทศกาลและวันหยุดยาว อย่างช่วงปีใหม่และสงกรานต์ การเฉลิมฉลองด้วยอาหารและการตั้งวงสังสรรค์ดูจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคนไทย และไม่ใช่แค่คืนเดียวเท่านั้น หลายคนอาจฉลองด้วยต่อเนื่องกันหลายคืน Hack for Health เลยอยากพาคุณไปรู้จักกับ Holiday Heart Syndrome หรือ โรคหัวใจในวันหยุด ที่อาจถามหาเมื่อคุณปาร์ตี้มากเกินไป

Holiday Heart Syndrome คืออะไร?

Holiday Heart Syndrome เป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) หรือเรียกง่าย ๆ ว่าภาวะ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิดหนึ่งก็ได้ แต่ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Holiday Heart Syndrome ก็เพราะว่าในช่วงหยุดยาวและหลังหยุดยาว คนมักมาโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดนี้กันบ่อยขึ้น แม้เดิมทีจะพบได้ตลอดปีอยู่แล้วก็ตาม

ปัจจัยก็มักมาจากการที่ผู้คนเฉลิมฉลองด้วยการกินดื่มในปริมาณที่มากกว่าปกติ เพราะเป็นช่วงเทศกาล โดยเฉพาะอาหารที่รสเค็มจัดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บวกกับบางคนได้มาเจอครอบครัวหรือเพื่อนที่มีเรื่องราวให้คุยกันมากมาย ทำให้พักผ่อนน้อยก็อาจเสี่ยงต่อภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้ง่ายขึ้น เพราะหัวใจทำงานหนักขึ้น พูดง่าย ๆ ก็คือคนที่นอนน้อย ปาร์ตี้หนักก็อาจเจออาการของภาวะนี้ได้ เช่น

  • ไม่สดชื่น ไม่มีแรง
  • รู้สึกแน่นหรือเจ็บหน้าอก
  • เวียนหัว หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม
  • หัวใจเต้นรัวและเร็วกว่าปกติ
  • หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย แม้อยู่เฉย ๆ ก็ตาม

อาการ Holiday Heart Syndrome มักไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง แต่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว หากใครมีอาการติดต่อกันนานหรือดูรุนแรงกว่าปกติ แนะนำว่าไปหาหมอดีที่สุด

แม้จะเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ แต่ก็ไม่ได้ความว่าคุณต้องเป็นโรคหัวใจ เพียงแต่คนที่มีโรคประจำตัว อย่างโรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเบาหวาน รวมถึงคนสูงอายุ คนที่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำมักเสี่ยงต่อภาวะนี้มากกว่าคนทั่วไป

ฉลองอย่างไรให้ไม่เสี่ยง Holiday Heart Syndrome

ช่วงเทศกาลทั้งทีแต่จะให้มานั่งดื่มน้ำเปล่ากินอาหารเฮลตี้ก็ดูไม่ใช่เรื่องเท่าไหร่ Hack for Health ได้เตรียมเคล็ดลับง่าย ๆ ในการกินดื่มในช่วงเฉลิมฉลองให้ไม่เสี่ยงต่อ Holiday Heart Syndrome มาให้ได้ลองนำไปใช้กัน

1. ดื่มอย่างมีลิมิต

หากคุณรู้ว่าหยุดยาวนี้คุณต้องปาร์ตี้แทบทุกวันก็อย่าเพิ่งไปสุดตั้งแต่คืนแรก ควรดื่มแต่พอดีแล้วเฉลี่ยไปวันอื่นบ้าง แต่ทางที่ดีในช่วงหยุดยาวคุณก็ควรหาเวลาพักผ่อนหรือไปทำกิจกรรมอื่นแทนการดื่มบ้าง และที่สำคัญหากดื่มแล้วก็ควรเลี่ยงการขับขี่เพื่อลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุ

2. กินแต่พอดี

เข้าใจว่าเป็นช่วงเทศกาล อาหารบนโต๊ะก็มีให้กินเต็มไปหมด หากเป็นมื้อฉลองมื้อใหญ่เพียงมื้อเดียว การกินเยอะก็ไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงอะไร แต่หากต้องกินมื้อใหญ่ตลอดช่วงหยุดยาว แนะนำว่ากินแต่พอดี เพราะอาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารบางประเภทมากปกติ โดยเฉพาะโซเดียมและไขมันที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ

3. พักผ่อนบ้าง

ช่วงหยุดยาวเป็นช่วงเวลาที่หลายคนใฝ่ฝันหาเพื่อที่จะได้ใช้เวลาไปกับสิ่งที่ชอบ แต่การหักโหมกับสิ่งที่ชอบมากเกินไปจนพักผ่อนน้อยและนอนดึกติดต่อกันอาจทำให้เกิดความง่วงและความเหนื่อยล้าสะสม ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานหลังวันหยุด ทั้งยังเสี่ยงต่อ Holiday Heart Syndrome ด้วย 

อ่านจบแล้วก็อย่าลืมเอาวิธีเหล่านี้ไปลองใช้กัน คอนเซ็ปต์ง่าย ๆ ก็คือการฉลองหยุดยาวแบบรู้ลิมิต เพียงเท่านี้คุณก็ไม่ต้องเสี่ยง Holiday Heart Syndrome พร้อมกลับมาลุยงานต่อยาว ๆ แล้ว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส