ผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำ (Low-Fat Product) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบ 3 กรัม/หน่วยบริโภค หรือน้อยกว่านั้น

หลักเกณฑ์ในการกล่าวอ้างทางโภชนาการบนฉลากอาหาร, กระทรวงสาธารณสุข

ตามความเชื่อของคนส่วนใหญ่ ‘ไขมัน’ ดูจะเป็นตัวร้ายของหลายปัญหา ทั้งสุขภาพและรูปร่าง ซึ่งทำให้เราได้เห็น ‘ผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำ’ อยู่เต็มท้องตลาดเพื่อเป็นตัวเลือกสำหรับคนที่อยากมีสุขภาพดี แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีอาจความจริงบางอย่างซ่อนอยู่ อีกทั้งการบริโภคโดยขาดความเข้าใจอาจให้ผลลัพธ์ที่สวนทางกัน

ก่อนที่จะเข้าข้อเท็จจริงของผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำ มาทำความเข้าใจไขมันกันก่อน ไขมันเป็นสารที่จำเป็นต่อร่างกาย ช่วยให้พลังงานและจำเป็นต้องการดูดซึมวิตามินบางชนิดด้วย ไขมันจึงไม่ใช่ตัวร้ายอย่างที่คิด เราควรได้รับไขมันในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 45-75 กรัมต่อวัน (เทียบจากพลังงานโดยเฉลี่ยต่อวัน 2,000 Kcal) ลองไปพลิกกล่องนมหรือถุงขนมที่บ้านดูได้ว่าที่กินเข้าไปมันเท่าไหร่กัน

เอาล่ะ มาเริ่มกันเลย!

ผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำ ต่ำแค่ไหน?

‘ผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำ’ เราพบคำนี้ได้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์ แต่ที่พบบ่อยที่สุดก็มักจะเป็นพวกนมและโยเกิร์ต ก็ตามที่ได้บอกไปว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีปริมาณไขมัน 3 กรัม/หน่วยบริโภคหรือน้อยกว่า หากลองเอาไปเทียบจะอยู่ที่ 4-6 เปอร์เซ็นต์ของไขมันที่ต้องการต่อวัน ซึ่งค่อนข้างน้อยเลยทีเดียว

เลือกกินผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำแล้วดียังไง?

ข้างบนเราได้บอกไปแล้วว่าไขมันจำเป็นแค่ไหนและได้รับเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม ซึ่งการบริโภคผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำช่วยให้เราควบคุมปริมาณไขมันต่อวันได้ดีขึ้น เพราะเดิมทีอาหารที่กินเข้าไปส่วนใหญ่ก็มีไขมันเป็นส่วนประกอบอยู่ไม่น้อย ถ้านึกไม่ออก ลองนึกถึงภาพไข่เจียวน้ำมันเยิ้มที่ร้านอาหารตามสั่งดู

ซึ่งการควบคุมปริมาณไขมันอย่างเหมาะสมส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น ลดน้ำหนัก ลดความเสี่ยงของสารพัดโรคที่ปัจจัยมาจากน้ำหนักตัวและไขมันในเลือดสูง ใครที่อยากหุ่นดีการคุมปริมาณไขมันควบคู่ไปกับการออกกำลังกายก็ช่วยให้เห็นกล้ามเนื้อชัดเจนขึ้นด้วย

แล้วอะไรที่ควรระวังเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำ

จากที่เล่ามาผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ก็ดูไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่จริง ๆ แล้วมีหลายเรื่องที่ควรระวังและสังเกตให้ดีก่อนที่จะหันมาเลือกกินผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำเพื่อดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง มีอะไรบ้าง มาดูกัน

ความหวานที่เพิ่มขึ้นแทนไขมันที่หายไป

หากใครเคยลองกินโยเกิร์ตไขมันต่ำอาจรู้สึกว่ารสชาติไม่ได้ต่างจากแบบปกติสักเท่าไหร่ นั่นอาจเป็นเพราะว่าโยเกิร์ตที่คุณกินเข้าไปเติมรสชาติเพื่อทดแทนความนุ่มนวลและสัมผัสของไขมันที่หายไป หรือจะเป็นพวกเนยถั่ว น้ำสลัด หรือพวกซีเรียลไขมันต่ำก็มีการเติมรสชาติเพิ่มด้วยเช่นกัน

ผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำบางแบรนด์ในตลาดมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่าผลิตภัณฑ์สูตรปกติเพื่อให้ผู้บริโภคยังคงอร่อยกับรสชาติที่คล้ายเดิมได้อยู่แทนที่จะเลิกกินไปเลยเพราะต้องการลดไขมัน

คุณจึงควรสังเกตปริมาณของสารอาหารอื่นบนฉลากด้วย โดยเฉพาะน้ำตาล เพราะต่อให้คุณควบคุมไขมันดีแค่ไหน แต่ได้รับน้ำตาลเกินกว่าที่ร่างกายต้องการอยู่เป็นประจำ สิ่งที่ได้ก็แทบไม่ต่างจากการกินไขมันอยู่ดี

สนใจเรื่องหน่วยบริโภคกันหน่อย

หน่วยบริโภค (Serving Size) เป็นสิ่งใกล้ตัวที่คนมองข้าม มันเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราสามารถควบคุมปริมาณการกินได้สะดวกขึ้น โดยหน่วยบริโภคจะบอกว่าเราควรแบ่งกินกี่ครั้ง ตารางโภชนาการบนฉลากก็เป็นสารอาหารต่อ 1 หน่วยบริโภคเท่านั้น แต่มือใหม่สายสุขภาพอาจพลาดในส่วนนี้ไป

เช่น โยเกิร์ตไขมันต่ำมีไขมัน 3 กรัม/หน่วยบริโภค ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ถ้าคุณเลือกซื้อโยเกิร์ตกระปุกใหญ่ไซซ์จัมโบ้ที่มีตั้งแต่ 3-5 หน่วย การอ่านฉลากโภชนาการด้านหลังโดยขาดความเข้าใจอาจทำให้คุณเข้าใจว่าโยเกิร์ตทั้งกระปุกใหญ่ให้ไขมันแค่ 3 กรัม ซึ่งการกินทีละครึ่งกระปุกหรือกินทีเดียวหมดอาจให้ผลลัพธ์ตรงกันข้ามกับที่คุณต้องการ

เลือกไขมันดี ไม่ใช่ Fat Free

นอกจากผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำแล้ว ตามท้องตลาดยังมี Fat-Free Product หรือผลิตภัณฑ์ปราศจากไขมันด้วย แต่การขึ้นป้ายว่าปราศจากไขมันอาจเป็นเพียงคำโฆษณาเท่านั้น เพราะผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ยังมีไขมันอยู่ แต่น้อยกว่า 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค โดยเป็นไปตามเกณฑ์การโฆษณา แม้ไม่ส่งผลต่อสุขภาพ แต่เราเอามาบอกไว้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจมีอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ซ่อนอยู่

เราทำความเข้าใจกันไปแล้วว่าไขมันมีประโยชน์ แทนที่จะตัดไขมันออกไป เราขอแนะนำให้คุณเลือกกินอาหารไขมันดี อย่างน้ำมันมะกอก อะโวคาโด อัลมอนด์ ถั่วเปลือกแข็งแบบต่าง ๆ และปลาทะเลอย่างแซลมอนที่คนชื่นชอบไว้ในมื้ออาหารด้วย เพราะมีประโยชน์และจำเป็นต่อสุขภาพในหลายด้าน

สรุปง่าย ๆ คือคุณควรจะดูสารอาหารในอาหารที่คุณกิน และหน่วยบริโภคของผลิตภัณฑ์นั้นว่าควรกินมากน้อยแค่ไหน การรู้ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณเลือก ‘ผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำ’ ได้ดีขึ้น ซึ่งคุณสามารถเอาคอนเซปต์เหล่านี้ไปใช้กับอาหารและผลิตภัณฑ์อื่นได้ด้วย

หัวใจหลักของเรื่องนี้คือการทำความเข้าใจเบื้องหลังของคำโฆษณาบนฉลากให้มากขึ้นเพื่อให้การดูแลสุขภาพดี แต่นอกจากเรื่องอาหารแล้ว การออกกำลังกาย การพักผ่อนก็สำคัญต่อการมีสุขภาพดีด้วยเช่นกัน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส