ด้วยวัฒนธรรมอาหารไทยที่จัดจ้านและครบรส ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยมักติดใจรสชาติใดรสชาติหนึ่งในอาหาร ซึ่งเชื่อว่าการติดกินเค็มต้องเป็นนิสัยของใครหลายคนโดยไม่รู้ตัว สังเกตจากเวลาไปร้านอาหารตามสั่งก็จะมีพริกน้ำปลาหรือน้ำปลาพริกวางไว้บนโต๊ะ จะกินอะไรก็ต้องมีน้ำจิ้มด้วยเสมอ

ตามที่เรารู้มาตลอดการกินเค็มสามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคไต ภาวะความดันโลหิตสูง และโรคทางการอีกหลายโรค แต่การศึกษาในปี 2022 พบว่าการกินเค็มอาจส่งผลต่อความเครียดได้

ยิ่งกินเค็ม ยิ่งเครียด?

โซเดียมเป็นสารอาหารที่มาพร้อมกับความเค็ม ซึ่งโซเดียมเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ร่างกายต้องการ การได้รับในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยรักษาการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ และรักษาสมดุลของน้ำและแร่ธาตุในร่างกาย

แต่แน่นอนว่าการกินโซเดียมมากหรือน้อยเกินไปย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพ ถ้าร่างกายขาดโซเดียม กล้ามเนื้อก็อาจเป็นตะคริว อ่อนล้า และไม่มีแรงได้เหมือนเวลาที่ท้องเสีย หรือถ้าได้รับโซเดียมมากไปก็อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคไต ภาวะความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพจากความเค็มที่คนรู้จักกันดี แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าการกินเค็มอาจส่งผลต่อภาวะความเครียดด้วย

การศึกษาจาก University of Edinburgh พบว่าสมองของหนูทดลองที่กินเค็มติดต่อกันผลิตสารที่เกี่ยวข้องกับความเครียดออกมามากขึ้น ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่าการกินเค็มไม่ได้แค่ส่งผลเสียต่อร่างกายเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับอารมณ์อย่างความเครียดได้ด้วย อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ทำให้หนูทดลอง เราเลยต้องรอดูกันต่อไปว่าผลกระทบจากการกินเค็มต่อสมองของมนุษย์จะให้ผลแบบเดียวกันรึเปล่า

กินเค็มแค่ไหนถึงจะไม่มากเกิน?

การงดการกินเค็มไปเลยคงจะไม่ใช่เรื่องดี ทั้งในเรื่องของสุขภาพและการใช้ชีวิต ซึ่งจริง ๆ ทุกคนสามารถอร่อยกับอาหารได้ทุกประเภททุกรสชาติถ้าไม่ได้มีข้อจำกัดด้านสุขภาพ กรมอนามัยแนะนำว่าคนทั่วไปไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน แต่มาบอกแบบนี้คงจะไม่เห็นภาพ เราขอยกตัวอย่างปริมาณโซเดียมในอาหารมาให้ทุกคนได้ดูกัน

  • สุกี้น้ำ 1 ชาม โซเดียม 1,560 มิลลิกรัม
  • บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง (55 กรัม) โซเดียม 1,280 มิลลิกรัม
  • ส้มตำ 1 จาน โซเดียม 1,006 มิลลิกรัม
  • ข้าวหมูกรอบ 1 จาน โซเดียม    700  มิลลิกรัม
  • มันฝรั่งแผ่นอบกรอบ (46 กรัม) โซเดียม    105 มิลลิกรัม
  • น้ำผลไม้ 1 กล่อง (180 มิลลิลิตร) โซเดียม      40 มิลลิกรัม

*ปริมาณโซเดียมเป็นเพียงค่าเฉลี่ยของปริมาณโซเดียมในอาหารจากการสำรวจเท่านั้น

จะเห็นได้ว่าแค่สุกี้น้ำชามเดียวก็ใช้โควตาโซเดียมต่อวันของเราไปเกินครึ่งแล้ว ซึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันจริง ๆ เราเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้ยากมาก ยังไม่รวมถึงรสชาติความนัวของผงชูรสที่จัดว่าเป็นโซเดียมประเภทหนึ่งด้วย นอกจากนี้ เรายังต้องเจอกับโซเดียมแฝงในอาหารแปรรูป อย่างไส้กรอก แฮม หรือเบคอน โดยกระบวนการแปรรูปเนื้อสัตว์มาเป็นอาหารเหล่านี้ใช้โซเดียมเยอะมาก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่มีสูตรสำเร็จในการจัดการกับโซเดียมในอาหาร สิ่งที่ทำได้ก็คือเลี่ยงการกินอาหารแปรรูป ลดความถี่ของอาหารรสจัดลง เลือกเครื่องปรุงโซเดียมต่ำ ทำอาหารกินเองจะได้คุมปริมาณโซเดียมได้ง่าย และอ่านฉลากโภชนาการให้มากขึ้น ส่วนเรื่องของผลกระทบจากการกินเค็ม ทั้งเรื่องของร่างกายและความเครียด หากเริ่มรู้สึกเจ็บป่วยแล้วอาการไม่ดีขึ้น การไปหาหมอก็เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและช่วยให้สบายใจได้มากที่สุด

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส