ธูป เครื่องมือสื่อสารทางจิตวิญญาณและความเชื่อที่ฝังอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยและชาวเอเชียมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะพิธีไหน ๆ ไทย จีน หรือแขก ธูปก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แม้ในยุคที่คนหันมาศรัทธาวิทยาศาสตร์มากขึ้น ธูปก็ยังคงอยู่ในวิถีชีวิต แต่คุณรู้รึเปล่าว่า ควันของเครื่องมือสื่อสารชนิดนี้ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพกว่าที่คิด

ในบทความนี้ เราจะพาคุณมารู้จักผลกระทบจากควันธูปที่มากกว่าความรู้สึกแสบตาและฉุนจมูกเวลาไปวัดหรือศาลเจ้ามาให้ได้อ่านกัน

ควันธูปกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่น่ากังวลของโลกในปัจจุบัน คือ ปัญหาโลกร้อน ที่สร้างให้เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศ และหากในสเกลที่เล็กลงมาที่พบเห็นในเมืองใหญ่ คงจะหนีไม่พ้น PM2.5 ที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและระบบอื่นของร่างกาย

ควันธูปเป็นมลพิษที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น คุณเคยสงสัยไหมว่าภายใน 1 ปี คุณจุดธูปไปกี่ดอก ประเพณีไทยมีกี่เทศกาล วันสำคัญทางความเชื่อมีกี่วัน แต่ละวันเราไหว้อะไรบ้าง ไหว้กี่ครั้ง ครั้งละกี่ดอก ซึ่งยังไม่รวมการสักการบูชาในวันทั่วไปหรือการเผากระดาษเงินกระดาษในช่วงวันตรุษจีน หากลองนึกภาพตามในแต่ละปีคนไทยอาจสร้างมลพิษทางอากาศปริมาณไม่น้อยเลยทีเดียว

การจุดธูปเพื่อพิธีกรรมทางความเชื่อที่ทำให้เกิดมลพิษจึงเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่คนไทยควรกังวลและหาทางออกร่วมกัน เพื่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ควันธูป เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งและปัญหาสุขภาพ

ข้อมูลงานวิจัยหลายชิ้น ทั้งในและต่างประเทศยืนยันว่า การยืนอยู่ท่ามกลางควันธูปแห่งความศรัทธา เราได้สูดดมสารก่อมะเร็งหลายชนิด ทั้งเบนซีน (Benzene) พีเอเอช (PAHs) บิวทาไดอีน และโลหะหนัก (ตะกั่ว โครเมียม นิกเกิล แมงกานีส) ที่จะเข้าไปโจมตีเซลล์ภายในร่างกาย เมื่อได้รับนานวันเข้าอาจทำให้เซลล์พัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ไม่ต่างจากการสูดดมควันบุหรี่

เคยมีการศึกษาที่วัดระดับสารก่อมะเร็งในคนที่ทำงานอยู่ภายในและภายนอกวัดในจังหวัดอยุธยา สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา ซึ่งพบว่ากลุ่มที่ทำงานอยู่ในวัดมีปริมาณสารก่อมะเร็งในร่างกายสูงกว่าคนทั่วไป และอากาศภายในวัดก็มีความเข้มข้นของสารก่อมะเร็งสูงกว่าภายนอกด้วย

ควันจากการเผาไหม้ของธูปยังทำให้เกิดก๊าซพิษอีกหลายชนิด การสัมผัสและสูดดมจะทำให้เกิดอาการไอ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก แสบตา น้ำตาไหลตามมาได้

และอีกผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากควันธูปที่ได้พูดถึงไปก่อนหน้าคือ PM2.5 ที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนลดลง ส่งผลต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและยาวต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบไหลเวียนเลือดและหัวใจ

สรุปได้ว่าควันธูปสามารถเพิ่มความเสี่ยงของสุขภาพได้ไม่ต่างจากควันบุหรี่ ทั้งปัญหาสุขภาพทั่วไป และโรคมะเร็ง ซึ่งไม่ใช่แค่มะเร็งปอดเท่านั้น เพราะสารพิษและโลหะหนักในควันธูปสามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้ต่างชนิดกัน

อย่างไรก็ตาม การจุดธูปไหว้พระบ้างตามโอกาสไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นมะเร็ง แต่หากคุณไหว้พระบ่อยหรือสูดดมควันธูปเป็นประจำ คุณอาจมีความเสี่ยงมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นธูปไร้ควันก็ตาม ทั้งนี้โรคมะเร็งก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย อย่างพันธุกรรมและไลฟ์สไตล์ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

ลดปัญหาสุขภาพจากควันธูปด้วยการฉลากเลือก

ความเชื่อและวัฒนธรรมยังคงเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องสืบสานกันต่อไป การที่จะห้ามจุดธูปก็คงทำไม่ได้ ซึ่งเราได้รวมวิธีที่จะช่วยให้คุณจุดธูปอย่างปลอดภัยและสบายใจมากขึ้น

1. เลือกธูปก้านสั้นและหมดเผาไหม้เร็วเพื่อลดการเกิดควันให้ได้มากที่สุด หรือจะเลือกเป็นธูปรักษ์โลกที่มีก้านสั้นพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหา PM2.5 โดยเฉพาะ

2. เลือกจุดธูปในที่โล่งแจ้งแทนการจุดในบ้าน เพื่อลดการสูดดมควันธูป ข้อมูลจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์พบว่าการจุดธูปเพียง 3 ดอกในห้องที่อากาศไม่ถ่ายเทมีปริมาณสารพิษในอากาศเทียบเท่าควันเสียรถยนต์ในช่วงที่รถหนาแน่น

3. เลือกที่จะเลี่ยง หากคุณเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากควันธูปรุนแรงกว่าคนทั่วไป เช่น เด็กเล็ก คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคปอด และโรคหัวใจ

4. เลือกที่จะสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ต้องเผชิญควันธูปและมลพิษ

วัฒนธรรมและความเชื่อเป็นเรื่องสำคัญ แต่สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำคัญกว่า เราจึงควรหันมาใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมด้วยการปรับรูปแบบการจุดธูปหรือพิธีกรรมทางความเชื่อที่ก่อให้มลพิษในรูปแบบอื่นให้เหมาะสมกับโลกยุคใหม่มากขึ้นเพื่อความยั่งยืนของโลกใบนี้

ที่มา1, ที่มา2, ที่มา3, ที่มา4

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส