PM 2.5 ปัญหาเก่าที่เอามาเล่าได้เรื่อย ๆ เพราะยังคงส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยในหลายพื้นที่และไม่ใช่แค่ในเมืองใหญ่เท่านั้น หากคุณลองเปิดแอปพลิเคชันเช็กคุณภาพอากาศ คุณจะพบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของไทยมีค่าฝุ่น PM 2.5 และมลพิษในอากาศอยู่ที่ระดับปานกลาง (สีเหลือง) จนถึงระดับสูง (สีส้ม) พบเห็นคุณภาพอากาศในระดับดี (สีเขียว) ได้น้อยมาก อีกทั้งบางช่วงเวลาค่าฝุ่นสามารถดีดขึ้นไปเป็นระดับสูงมาก (สีแดง) ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้น
ผลกระทบด้านสุขภาพของ PM 2.5 จึงเป็นภัยเงียบที่น่ากังวล เพราะสามารถนำไปสู่ตั้งแต่อาการผิดปกติทั่วไป ไปจนถึงโรคร้ายแรง และข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกชี้ว่าการสัมผัสกับ PM 2.5 ไม่ว่าจะระดับใดก็ส่งผลต่อสุขภาพได้ ซึ่งบทความนี้จะมารีแคปผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM2.5 และวิธีป้องกันให้คุณได้อ่านกันอีกครั้ง
PM 2.5 = ฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผม มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ลอยอยู่ในอากาศได้นาน อาจมีสารพิษเกาะมาด้วย ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้น
กรมอนามัย, กระทรวงสาธารณสุข
ผลกระทบสุขภาพจาก PM 2.5
เมื่อคุณสูดดมฝุ่นละอองขนาดเล็กชนิดนี้เข้าไป มฤตยูตัวจิ๋วจะเข้าสู่ปอดและซึมเข้าสู่กระแสเลือดกระจายไปทั่วร่างกาย ทุก ๆ เซลล์ที่เลือดสูบฉีดเพื่อนำสารอาหารและออกซิเจนเข้าไปส่ง PM2.5 จะเข้าไปด้วย นั่นหมายถึงทุกอวัยวะของร่างกายได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองนี้ จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ผลกระทบระยะสั้นจาก PM 2.5 เช่น
- ไอ จาม แสบจมูก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก
- ผิวหนังระคายเคือง เกิดผื่นคัน
- ดวงตาระคายเคือง แสบตา ตาแดง
- ปวดศีรษะ คลื่นไส้
ผลกระทบระยะยาวจาก PM 2.5 เช่น
- โรคหัวใจและหลอดเลือด: หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะความดันโลหิตสูง หัวใจวาย ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ และเสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมากขึ้น
- โรคระบบทางเดินหายใจ: โรคหืดหอบและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- ปัญหาสุขภาพของทารกในครรภ์: เพิ่มความเสี่ยงของการแท้งและคลอดก่อนกำหนด ส่งผลต่อพัฒนาการด้านร่างกายและสมองของทารก น้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ และภาวะผิดปกติในช่วงแรกเกิด
- โรคอื่น ๆ: โรคมะเร็งปอด โรคเบาหวาน และความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น
ผลกระทบระยะสั้นอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้เล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง แต่ที่น่ากลัวคือผลกระทบระยะยาว เพราะเรายังคงต้องใช้ชีวิตต่อไปท่ามกลางหายนะด้านมลพิษที่ทำให้อายุเราสั้นลงเรื่อย ๆ แต่ผู้คนกลับให้ความสนใจน้อยลง ต่อให้บางคนไม่ถึงขั้นเป็นโรค แต่การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เสื่อมลงเร็วกว่าที่ควรจะเป็น
ถ้าหากคุณเป็นคนกลุ่มเสี่ยง อย่างเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ คนที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคปอดและโรคหัวใจ รวมถึงคนที่ทำงานกลางแจ้ง คุณยิ่งมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญกับโรคร้ายในช่วงต่อไปของชีวิตมากยิ่งขึ้น
วิธีดูแลตัวเองจากผลกระทบของ PM2.5
ในระหว่างที่ผู้คนเลือกกินผักออร์แกนิก เพราะกลัวเป็นมะเร็งจากสารเคมี ออกกำลังกายมากขึ้นเพื่อความแข็งแรง แต่กลับละเลยมลพิษทางอากาศที่สูดดมอยู่ทุกวัน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้คนควรหันมาให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้มากขึ้น ซึ่งเราได้รวบรวมมาให้คุณแล้ว
- เช็กคุณภาพอากาศทุกวัน ไม่ว่าจะจากแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ (IQAir และ Air4Thai)
- เลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่ค่าฝุ่นสีเหลืองหรืออยู่ในระดับปานกลางขึ้นไป
- สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกไปข้างนอก
- ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดควันอย่างการจุดธูป การเผาใบไม้ การเผากระดาษเงินกระดาษทอง การกินปิ้งย่าง
- สังเกตอาการอยู่เสมอ หากพบอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เสียงหายใจหวีดแหลม หรืออาการที่ดูรุนแรง ควรไปพบแพทย์
Hack for Health อยากชวนคุณให้หันมาใส่ใจถึงปัญหาสุขภาพจาก PM 2.5 มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงของโรคร้ายที่จะเกิดในอนาคตและเพื่อสุขภาพที่ดี
แอปพลิเคชัน AirVisual ดาวน์โหลดได้ที่ App Store และ Google Play Store
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส