ใครเคยได้ยินคำว่า ‘กินข้าวเสร็จแล้วอย่าเพิ่งรีบดื่มน้ำตาม’ หรือ ‘ห้ามกินข้าวคำ-น้ำคำ’ บ้าง ส่วนใหญ่คนมักมีความเข้าใจว่า การดื่มน้ำหลังกินข้าวเสร็จทันทีหรือกินข้าวคำ-น้ำคำ จะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนัก เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย เนื่องจากน้ำที่ดื่มเข้าไปทำให้น้ำย่อยเจือจาง และย่อยอาหารได้ไม่ดี วันนี้เราจะมาไขข้อเท็จจริงเรื่องนี้กัน
หน้าที่ของระบบย่อยอาหาร
ระบบย่อยอาหารมีหน้าที่ในการย่อยอาหารโมเลกุลใหญ่ที่เรารับประทานเข้าไป และเปลี่ยนอาหารเหล่านั้นให้กลายเป็นสารสำคัญเพื่อให้ร่างกายดูดซึมไปใช้เป็นพลังงาน มีเรี่ยวแรงในการดำเนินชีวิตประจำวัน
อวัยวะในระบบย่อยอาหาร ได้แก่ ปาก คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ตับอ่อน ตับ ถุงน้ำดี ลำไส้ใหญ่ ลำไส้ตรง และทวารหนัก โดยอวัยวะเหล่านี้จะทำงานร่วมกัน
‘กินข้าวคำ-น้ำคำ’ ระบบย่อยอาหารทำงานหนัก ?
มีความเชื่อที่บอกว่า กินข้าวคำ-น้ำคำ และกินน้ำหลังอาหารทันทีจะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี เนื่องจากน้ำที่ดื่มลงไปจะทำให้ค่า PH ของน้ำย่อยเจือจาง ความคิดนี้ถือเป็นความเข้าใจผิด!
ข้อมูลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ระบุว่า การดื่มน้ำหลังอาหารไม่มีผลต่อค่า PH ของน้ำย่อย ขณะเดียวกันอวัยวะภายในก็จะคอยผลิตน้ำย่อยออกมาเพื่อทำหน้าที่ย่อยหรือบดอาหารให้ได้สารที่จำเป็นต่อการหล่อเลี้ยงร่างกายอย่างเพียงพอ หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัด ๆ ก็เหมือนคนที่รับประทานก๋วยเตี๋ยวน้ำ ซึ่งระบบย่อยอาหารก็สามารถทำงานได้เป็นปกติ ซ้ำการดื่มน้ำยังมีส่วนช่วยให้กระบวนการย่อยอาหารง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำระหว่างรับประทานอาหาร หรือกินข้าวคำ-น้ำคำ จะทำให้รู้สึกอิ่มเร็ว และกลับมาหิวอย่างรวดเร็วเช่นกัน ดังนั้น การดื่มน้ำช่วงระหว่างรับประทานอาหารไม่กระทบต่อระบบย่อยอาหาร แต่จะทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่มไว และไม่ได้รับอาหารที่เป็นพลังงานจำเป็นต่อร่างกายอย่างเพียงพอ
ประโยชน์ของการดื่มน้ำ
การดื่มน้ำไม่ได้ช่วยแค่ดับกระหาย แต่ยังช่วยให้ระบบขับถ่ายดี ไม่เป็นโรคท้องผูก เพราะหากดื่มน้ำไม่เพียงพอ ลำไส้ใหญ่จะดึงน้ำจากอุจจาระ ทำให้อุจาระแห้งแข็ง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขับถ่ายได้ยากตลอดจนระบบขับถ่ายมีปัญหา
อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำถือเป็นเรื่องสำคัญ ใน 1 วันควรดื่มน้ำให้ได้ 1-2 ลิตร เพราะน้ำไม่เพียงแต่มีส่วนช่วยเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหารอาหารเท่านั้น แต่ยังช่วยเรื่องระบบเผาผลาญ, ช่วยให้ผิวพรรณผ่องใส, ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด, ขับแบคทีเรียจากกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
พอรู้แบบนี้แล้ว ใครที่เคยเข้าใจผิดตอนนี้คุณก็สามารถดื่มน้ำระหว่างรับประทานอาหารได้อย่างไร้กังวล และควรดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวัน อาจจะเริ่มตั้งแต่การซื้อกระบอกน้ำดื่มขนาด 1-2 ลิตร ตั้งไว้ที่โต๊ะทำงานเพื่อคอยเตือนให้ตัวเองจิบน้ำเรื่อย ๆ หรืออาจจะพึ่งเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันที่มีฟังก์ชันหรือแอปพลิเคชันช่วยเตือนเมื่อถึงเวลาที่คุณควรดื่มน้ำ แล้วคุณจะรู้ว่าการดื่มน้ำมีประโยชน์กว่าที่คิด
ที่มา healthshots
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส