ทุกคนคงเคยได้ยินความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องตากระตุกที่ว่า ‘ขวาร้ายซ้ายดี’  คือ ตากระตุกข้างซ้าย เป็นลางบอกว่าจะมีเรื่องราวดี ๆ เกิดขึ้น แต่หากตากระตุกข้างขวา จะเป็นลางบอกเหตุไม่ดี หรือบางคนอาจจะมีความเชื่อที่สลับกันเป็นขวาดีซ้ายร้าย แต่คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าแท้จริงแล้วอาการตากระตุกเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ และเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ 

อาการตากระตุก

อาการตากระตุก เป็นอาการที่กล้ามเนื้อบริเวณรอบ ๆ ดวงตาขยับอย่างรวดเร็ว สามารถเกิดขึ้นได้บริเวณเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง แต่ส่วนมากจะเกิดได้ง่ายบริเวณเปลือกตาบน โดยจะกระตุกทีละข้าง ซึ่งปกติแล้วอาการเหล่านี้สามารถหายได้เอง และไม่เป็นอันตรายอะไร นอกเสียจากว่าคุณเริ่มรู้สึกตากระตุกจนลืมตาได้ลำบาก และรู้สึกรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทบต่อการใช้ชีวิต ก็อาจต้องเฝ้าระวังอาการเหล่านี้มากขึ้น 

ตากระตุกเกิดจากสาเหตุอะไร

อาการตากระตุก สามารถเกิดได้กับทุกคน และหายในเวลาอันรวดเร็ว แต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกในเวลาใกล้เคียงกัน โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น 

  • นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ 
  • อาการตาแห้ง ตาล้า หรือเกิดการระคายเคืองที่ดวงตา 
  • ความเครียดสะสม 
  • โรคภูมิแพ้ 
  • เจอแสงแดดจ้าเป็นเวลานาน 
  • ดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนมากเกินไป 
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด

สาเหตุที่เรายกตัวอย่างมา เป็นเพียงสาเหตุที่เกิดขึ้นและส่งผลออกมาในอาการที่ไม่รุนแรง แต่ขณะเดียวกันบางคนกลับมีอาการตากระตุกเป็นเวลาหลายวัน และอาการรุนแรงเสียจนกระทบกับการใช้ชีวิตนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนโรคอื่น ๆ ได้

สัญญาณเตือนโรคทางประสาทและสมอง

แม้ว่าอาการตากระตุกจะดูเหมือนเป็นอาการเล็ก ๆ ที่คุณคิดว่าไม่เป็นอันตรายอะไร แต่อย่างที่บอกไปว่าหากมีอาการเกิดขึ้นนาน และมีอาการอื่นร่วมด้วย นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคเกี่ยวกับประสาทและสมอง เช่น 

  • โรคอัมพาตใบหน้า
  • โรคกล้ามเนื้อใบหน้าบิดเกร็ง
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  • โรคกล้ามเนื้อบิดเกร็ง
  • โรคคอบิดเกร็ง
  • โรคกล้ามเนื้อช่องปากหรือขากรรไกรบิดเกร็ง
  • โรคทูเร็ตต์

อาการแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์

หากคุณมีอาการตากระตุกนานร่วม 2 สัปดาห์ หรือเกิดอาการอื่นร่วมด้วย เช่น กระตุกบริเวณอื่นร่วมด้วย, อาการตาพร่ามัว, ลืมตาไม่ขึ้น, ตาบวมแดง, และมีน้ำไหลออกจากตา นี่เป็นสัญญาณบ่งชี้ที่คุณควรปรึกษาแพทย์ทันที เพราะการปล่อยอาการเหล่านี้ไว้นานวันอาจส่งผลให้โครงสร้างดวงตาของคุณเสียหาย หรืออาจส่งผลให้อาการแย่ลง โดยแพทย์ก็จะทำการตรวจหาสาเหตุด้วยวิธี CT สแกน หรือ MRI ขณะเดียวกันคุณอาจจะต้องพบกับจักษุแพทย์ หรือนักประสาทวิทยาเพื่อตรวจรักษาต่อไป

หลีกเลี่ยง / รักษา อาการตากระตุก

อาการตากระตุก โดยปกติแล้วจะหายได้เอง แต่หากคุณมีอาการตากระตุกติดต่อกันหลายวันให้ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ได้แก่

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
  • หยอดน้ำตาเทียมหรือยาหยอดตาบรรเทาอาการตาแห้ง
  • ประคบน้ำอุ่นเมื่อมีอาการตากระตุก
  • หลีกเลี่ยงภาวะเครียด

หากลองปรับพฤติกรรมตามที่แนะนำไปแล้วแต่อาการตากระตุกของคุณยังไม่หาย คุณควรต้องปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป โดยแพทย์อาจรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะ, ผ่าตัด, ฉีดโบท็อกซ์ หรือหากคุณมีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดโรคทางประสาทและสมองแพทย์ก็จะได้รักษาโรคนั้น ๆ ได้อย่างทันท่วงที 

ดังนั้น อาการตากระตุกไม่ใช่เรื่องของโชคลางอย่างที่หลายคนเคยได้ยินมา แต่หมายถึงความผิดปกติของร่างกาย และอาจนำมาซึ่งสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพอื่น ๆ หากคุณมีอาการเพียงระยะสั้น ๆ ก็ไม่ได้น่าเป็นห่วงอะไร แต่หากมีอาการนานหรือรุนแรงมากกว่านั้นก็ให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

ที่มา healthline , hopkinsmedicine

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส