สำหรับใครที่กำลังมีอาการเหล่านี้ กินเท่าไหร่ก็ไม่พอ ไม่หิวแต่ยังอยากกินอยู่ บางทีไม่อยากกินแต่กลับห้ามตนเองไม่ได้ พอกินเสร็จก็กลับมานั่งเครียด ละอายใจกับพฤติกรรมกินเยอะของตนเอง รู้หรือไม่ว่าอาการเหล่านี้อาจบ่งบอกว่าคุณกำลังเป็น ‘โรคกินไม่หยุด’ อยู่ก็เป็นได้
โรคกินไม่หยุด
โรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder) คืออาการเกี่ยวกับโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ที่ผู้ป่วยรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมการกินของตนเองได้ แม้ไม่หิวหรือรู้สึกอิ่มแต่กลับยังกินต่อไปไม่หยุด ซ้ำยังกินในปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งโดยปกติแล้วทุกคนจะอยากกินเยอะ ๆ หรือมีพฤติกรรมเหล่านี้นาน ๆ ครั้งต่อเมื่ออยู่งานเลี้ยงสังสรรค์ โอกาสพิเศษต่าง ๆ ในขณะที่คนที่ป่วยเป็นโรคกินไม่หยุด จะมีพฤติกรรมควบคุมการกินของตนเองไม่ได้มากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และเป็นมานานกว่า 3 เดือน
โดยโรคกินไม่หยุดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยที่ผู้ป่วยเองอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตนเองกำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่
อาการของโรคกินไม่หยุด
แม้ว่าอาการกินไม่หยุด จะส่งผลให้ผู้ที่ป่วยโรคนี้มีน้ำหนักตัวที่มากกว่าเกณฑ์ แต่ขณะเดียวกันผู้ที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งอาการของโรคก็จะสัมพันธ์กับภาวะอารมณ์ของผู้ป่วยด้วย
- กินอาหารในปริมาณมากกว่าปกติ
- ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการกินของตนเองได้
- กินอาหารอย่างรวดเร็ว
- ชอบกินข้าวคนเดียว หรือแอบกินไม่ให้คนอื่นเห็น
- รู้สึกเบื่อหน่าย เครียด ละอายใจ กับพฤติกรรมการกินของตนเอง
สาเหตุของการเกิดโรค
สำหรับสาเหตุของโรคกินไม่หยุด ยังไม่มีการระบุที่แน่ชัดว่ามาจากสาเหตุอะไร โดยปัจจัยที่อาจสนับสนุนให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น
- ผู้ที่เครียดกับการลดน้ำหนัก ไม่มั่นใจในรูปร่างของตนเอง และเคยผ่านการลดน้ำหนักด้วยการอดอาหารมาในเวลานาน ซึ่งเมื่อกลับมากินปกติแล้วจะรู้สึกอยากกินมากขึ้นกว่าเดิม จนไม่สามารถควบคุมการกินของตนเองได้
- บางกรณีอาจเกิดกับบุคคลที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคที่เกี่ยวกับการกินผิดปกติ
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับอาการป่วยทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคเครียด เป็นต้น
ปัญหาสุขภาพที่ตามมา
ผู้ที่เป็นโรคกินไม่หยุดมายาวนาน จะมีปัญหาเกี่ยวกับภาวะทางจิตโดยไม่รู้ตัว เพราะคุณอาจรู้สึกกังวล ซึมเศร้า และไม่อยากพบเจอผู้คนเนื่องจากอับอายกับพฤติกรรมการกินเยอะของตนเอง นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย เช่น
- โรคอ้วน
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- ระดับคอลเลสเตอรอลสูง
- โรคปวดข้อ
- โรคหัวใจ
- โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ
วิธีป้องกันและรักษา
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า โรคกินไม่หยุด มักจะมาควบคู่กับผู้ที่มีอาการป่วยเกี่ยวกับภาวะทางจิตร่วมด้วย ดังนั้น แนวทางการรักษาของแพทย์ก็จะดูว่าสาเหตุโรคกินไม่หยุดของคุณมาจากโรคอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ และให้ยารักษาของโรคนั้น ๆ
ในขณะที่บางคนอาจจะเกิดจากภาวะเครียด กดดัน เรื่องการลดน้ำหนักของตนเองในอดีต แพทย์ก็จะใช้วิธีรักษาด้านจิตบำบัด โดยผู้ป่วยจะต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรมการกินของตนเองทีละนิด อย่างไรก็ตาม หากคนรอบข้างหรือคนที่คุณรักกำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่ ความเข้าใจถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด อย่าต่อว่าหรือใช้ถ้อยคำที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผิดหวังในตนเอง แต่ให้แนะนำโดยการพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างตรงจุดจึงจะเป็นผลดีที่สุด
ที่มา mayoclinic, womenshealth
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส