‘หาว’ เป็นปฏิกริยาและพฤติกรรมที่เราทำอยู่ทุกวัน แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมคนเราถึงต้องหาว ซึ่งถ้าถามแบบนี้ หลายคนคงตอบว่า ‘ง่วงไง เลยหาว’ แต่นั่นแหละ ทำไมเวลาง่วงแล้วต้องหาวด้วย

ข้อมูลในปัจจุบันพบว่าในระหว่างที่เราหาว ฮอร์โมนที่ชื่อคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ความว่าคุณกำลังเครียด เพราะฮอร์โมนจะชนิดนี้มีหน้าที่กระตุ้นการเต้นของหัวใจและการทำงานของสมองเพื่อให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัวมากขึ้นในเวลาที่รู้สึกง่วง แต่ในทางความรู้สึกต่อให้หาวไปแล้วก็ยังรู้สึกง่วงอยู่ดี

แล้วหากจะบอกว่าเราหาว เพราะสมองอยากกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะว่ายังมีการหาวยังมีหน้าที่ลับที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนด้วย

หน้าที่ลับ ๆ เกี่ยวกับการหาว

การหาวไม่ได้หมายความว่าคุณง่วงเสมอไป เพราะมีอีกหลายปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้คุณหาวได้ เช่น

  • ภาวะที่ร่างกายมีออกซิเจนในเลือดต่ำหรือมีคาร์บอนไดออกไซด์สูงไป หากลองสังเกตเวลาที่เราหาว เราจะหายใจเข้าผ่านทางปากในช่วงแรก และหายใจทางปากด้วยการพ่นลมออกมาเพื่อขับคาร์บอนไดออกไซด์มา
  • การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายในและภายนอกร่างกายที่สูงขึ้น ซึ่งการหาวจะช่วยลดอุณหภูมิภายในร่างกาย โดยเฉพาะที่สมองผ่านความเย็นของลมที่เข้าสู่ทางเดินหายใจ
  • การรักษาการทำงานของอวัยวะ เวลาที่เราหาวไม่ได้มีปากเท่านั้นที่อ้าออก แต่อวัยวะภายในอย่างปอดหรือกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ จะยืดและคลายตัว โดยเชื่อกันว่าเป็นกลไกที่เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้อวัยวะทำงานได้เป็นปกติและรู้กระปรี้กระเปร่าขึ้น
  • การรักษาระดับความดันในหู อย่างเวลาที่เราหูอื้อขณะขึ้นเขา ขึ้นลิฟต์ไปยังตึกสูง หรือขณะที่เครื่องบิน Take Off การหาวจะช่วยยืดเยื่อแก้วหูเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากความดันในหู

ในปัจจุบันยังคงมีการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับการหาวของมนุษย์อย่างต่อเนื่องเพื่อดูว่าจริง ๆ แล้วการหาวมีประโยชน์ต่อร่างกายในด้านอื่นอีกรึเปล่า

ที่มา1, ที่มา2, ที่มา3

ภาพปก