เคยใช้ยาจากพืชกันไหม? หากพูดถึงยาจากพืช คำที่ผุดขึ้นมาในหัวคนไทยก็คือคำว่า ‘สมุนไพร’ เป็นอย่างแรก แม้ว่าคนไทยเราจะใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรคมาตั้งแต่อดีตและยานี้ก็มีที่มาที่ไป มาจากธรรมชาติ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนอาจยังมีความรู้สึกว่า ‘สมุนไพร’ มีความเสี่ยงจากผลข้างเคียงต่างๆ ไม่ค่อยได้ผลมากนัก มีประสิทธิภาพต่ำ ออกฤทธิ์ช้า และไม่ได้มาตรฐานสากล
เราจะพาไปรู้จักกับ ‘หญ้ายา’ ที่จะมาช่วยให้ความเข้าใจในการใช้ยาจากพืช มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น
‘หญ้ายา’ คำใหม่เฉพาะภาษาไทย
หากพูดถึงคำว่า ‘หญ้ายา’ คนไทยส่วนใหญ่จะไม่คุ้นกับคำนี้เท่าไหร่นัก เพราะหญ้ายาเป็นคำที่ถูกแปลมาจากภาษาต่างประเทศ ในประเทศไทยเองยังไม่เคยมีการพูดถึงคำคำนี้มาก่อน
คำว่า ‘หญ้ายา’ มีที่มาจากคำว่า ‘เย่าเฉา’ (藥草 — Yàocǎo) ในภาษาจีน ที่แปลว่าหญ้าที่มีฤทธิ์ทางยา ซึ่งหากลองไปค้นหาคำที่มีความหมายว่าพืชที่มีสรรพคุณทางยาในภาษาอังกฤษ เราก็อาจจะพบคำว่า ‘Medicinal Grass’
เดิมทีในภาษาไทยเราไม่มีคำที่ใช้เรียก พืชที่มีสรรพคุณทางยา ที่จะนำมาสกัดเฉพาะสารออกฤทธิ์เท่านั้นออกมาทำเป็นยาโดยเฉพาะ แต่จะเรียกพืชทุกชนิดที่นำมาบริโภคแล้วบำบัดรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆโดยรวมว่าสมุนไพร ที่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Herbs
จริง ๆ แล้ว คำว่าสมุนไพรที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่เด็ก ไม่ได้หมายถึงแค่พืชเท่านั้น แต่รวมถึงแร่ธาตุในธรรมชาติ และจากชิ้นส่วนของสัตว์ด้วย อย่างการกินดีหมีบำรุงกำลังหรือกินเขากวางอ่อนเพื่อลดไข้ หากจะเรียกพืชที่มีสรรพคุณทางยา การใช้คำว่า ‘หญ้ายา’ จะให้ความหมายที่ตรงมากกว่าใช้คำว่าสมุนไพร หรือถ้าใครเป็นมังสวิรัติก็อาจช่วยให้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ง่ายขึ้นด้วย
นอกจากนี้ หญ้ายาคือการนำพืชที่อยู่ในกลุ่มสรรพยาไปเข้ากระบวนการสกัดเพื่อเอาเฉพาะส่วนเป็นสารสกัดออกฤทธิ์มาทำเป็นยาสมัยใหม่ โดยมีรากฐานมาจากตำรับยาโบราณที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี โดยใช้องค์ความรู้สมัยใหม่เข้าไปใช้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การระบุชนิดของพืชที่ใช้เป็นในตำรา การหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพืชนั้น ๆ เทคนิคการปลูก การศึกษาวิจัย และการนำพืชไปสกัดสารที่มีฤทธิ์ในรักษาโรคออกมาให้ได้มากที่สุดเพื่อนำไปทำยาจากพืชที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเทียบเท่าหรือสูงกว่ายาจากการสังเคราะห์สารเคมี
หญ้ายา สรรพยาในป่าน่านของไทย สู่ยามาตรฐานสากล
หากอ่านความหมายและที่มาของคำว่าหญ้ายาในหัวข้อก่อนหน้า ทุกคนคงจะพอรู้แล้วว่าหญ้ายา ก็คือยาสมัยใหม่ ที่มีที่มาจากพืชพันธุ์ต่างๆที่ขึ้นอยู่ในป่าจังหวัดน่าน ในประเทศไทย ด้วยการนำวิทยาการสมัยใหม่ ทั้งเทคโนโลยีการเกษตร วิทยาศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และอีกหลายศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมาใช้ ซึ่งช่วยเพิ่มทั้งคุณค่า และมูลค่าตั้งแต่ตัวพืชไปจนถึงผลิตภัณฑ์จากพืชเหล่านั้น
ป่าต้นน้ำน่าน เป็นป่าสงวนที่มีความสมบูรณ์มาก และมีขนาดพื้นที่ที่ใหญ่มากด้วย เป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ทั้งดิน น้ำ และสภาพอากาศ ดำรงคงอยู่มานานมากกว่า 700 ปี จึงเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วย ‘สรรพยา’ ที่เหมาะสมที่สุดในการเป็นแหล่งต้นกำเนิดของ ‘หญ้ายา’
นอกจากนี้ จังหวัดน่านยังมีตำรับยาโบราณที่จารึกไว้ในสมุดใบลาน ซึ่งระบุถึงการใช้พืชมาทำยาของคนในอดีต และเป็นข้อมูลตั้งต้นเรื่องการนำพืชที่ถูกพูดถึงในบันทึกมาสืบค้นและพิสูจน์ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน
ปี 2564 มูลค่าทางการตลาดของยาจากพืชทั่วโลกสูงถึง 151,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 5.4 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จากเทรนด์สุขภาพของคนที่หันมาสนใจผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพที่มาจากธรรมชาติมากขึ้น
โดยประเทศไทยเองมีการปลูกพืชที่มีสรรพคุณทางยาที่มีคุณภาพเป็นจำนวนมากและหลากหลายชนิด ด้วยข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้เล่าไป แต่ยาจากพืชของไทยจำนวนไม่น้อยเป็นการผลิตของคนในชุมชนด้วยวิธีแบบดั้งเดิม ไม่มีการควบคุมการผลิต ทั้งการตรวจวัดปริมาณตัวยาที่แน่นอนและสารปนเปื้อน ซึ่งทำให้ผู้บริโภคขาดความมั่นใจในการใช้
ขณะที่ตลาดโลกต้องการผลิตภัณฑ์สุขภาพจากพืชที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐาน ซึ่งในแง่ของทรัพยากรด้านวัตถุดิบประเทศไทยค่อนข้างพร้อม แต่ขาดการเพิ่มมูลค่าอย่างจริงจัง โดยการจะให้ชาวบ้านหรือเกษตรกรเองมาดูเรื่องเทคโนโลยีการผลิตหรือกระบวนการสกัดยาก็คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
หญ้ายา จึงน่าจะเป็นทางออกสำคัญในการเพิ่มศักยภาพ คุณค่า และมูลค่าของสรรพยาที่ได้จากพืช ในป่าต้นน้ำน่าน ของประเทศไทย ด้วยการใช้กระบวนการ และเทคโนโลยีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่รูปแบบการปลูก ไปจนถึงการสกัด และผลิตออกมาเป็นยา เพื่อให้ยาไทยแบบเดิม ๆ กลายเป็นนวัตกรรมด้านสุขภาพที่ตลาดโลกต้องการ
ต่อจากนี้ คนไทยจึงอาจจะได้ยินคำว่า ‘หญ้ายา’ กันบ่อยขึ้น ในฐานะของการนำพืช ที่เป็นสรรพยาจากป่าต้นน้ำน่าน ผนวกกับภูมิปัญญาต่างๆที่สั่งสมและได้รับการบันทึกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อประโยชน์ในการสืบทอดองค์ความรู้ที่ไม่อยากให้สูญหายไปตามกาลเวลา มาต่อยอดด้วยวิธีการทางเภสัชศาสตร์สมัยใหม่ และสามารถพิสูจน์ถึงผล ถึงคุณภาพว่ามีประสิทธิภาพที่ดีจริงจากนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่
หญ้ายา จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย ที่มีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน เป็นเรื่องราวของการที่มนุษย์อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติแบบพึ่งพาอาศัยกัน โดยการรวบรวมเอาภูมิปัญญาดั้งเดิมมาประสานกับวิทยาการสมัยใหม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อการใช้ มีประสิทธิภาพที่สูง วัดผลได้จริง และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ยา ที่ได้จาก หญ้ายา จึงจะเป็นยาสมัยใหม่ที่มีมาตรฐานระดับสากล เป็นนวัตกรรมสุขภาพของไทยที่สามารถแบ่งปันไปให้กับคนทั้งโลกได้ใช้ร่วมกัน
ที่มา www.yaya.co.th