‘อาการสะอึก’ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนจนกลายเป็นเรื่องปกติ โดยส่วนมากจะเป็นและหายไปเอง หรือบางคนก็อาจมีเทคนิคช่วยให้อาการสะอึกหายไป เช่น การดื่มน้ำมาก ๆ หรือการกลั้นหายใจเพียงครู่หนึ่ง เป็นต้น แต่สำหรับคนที่ชื่นชอบดื่มแอลกอฮอล์อาจจะเกิดความสงสัยกับตัวเองว่า ทำไมเวลาที่ดื่มแอลกอฮอล์ ถึงมีอาการสะอึกได้ง่ายกว่าปกติ และสาเหตุที่แท้จริงของอาการสะอึกมาจากอะไรกันแน่ เรามาหาคำตอบกัน
อาการสะอึกเกิดจากอะไร
‘อาการสะอึก’ เกิดจากการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร ส่งผลให้กะบังลมหดตัวกะทันหัน ทำให้กล้ามเนื้อหน้าอกและหน้าท้องสั่น ร่างกายเกิดการหายใจอย่างรวดเร็ว แต่อากาศจะถูกกักโดยเส้นเสียงที่ปิดลงจากการหดตัวของกล้ามเนื้อกล่องเสียง สิ่งนี้ทำให้เกิดเสียงของอากาศที่ถูกขับออกจากปอดของคุณเป็นเสียง “อึก” หรือการสะอึกนั่นเอง โดยปกติแล้วอาการสะอึกจะหายได้เองในเวลาไม่กี่นาที
อาการสะอึก อาจเป็นผลมาจากอาหารมื้อใหญ่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มอัดลม และความตื่นเต้นกะทันหัน ในบางกรณีการสะอึกอาจเป็นสัญญาณของโรคประจำตัวได้ด้วย
ปัจจัยกระตุ้นอาการสะอึก
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าอาการสะอึกเกิดจากการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร ดังนั้น พฤติกรรมการกิน หรือการใช้ชีวิตประจำวันก็มีปัจจัยในการตระตุ้นให้เกิดการสะอึกได้ เช่น
- ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- ดื่มน้ำอัดลม
- สูบบุหรี่หนัก
- รับประทานอาหารรวดเร็วและมากจนเกินไป
- กลืนอากาศมากเกินไป ซึ่งเกิดได้กับคนที่สูบบุหรี่ เคี้ยวหมากฝรั่ง เป็นต้น
- สาเหตุด้านอารมณ์ ตื่นเต้น หรืออยู่ในอาการหวาดกลัว
อาการสะอึกส่วนใหญ่จะเกิดได้ง่ายหากร่างกายของเรามีแก๊สอยู่ในกระเพาะอาหารเยอะ และการกินหรือดื่มเครื่องดื่มบางชนิดก็มีส่วนทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาการ หรืออาการท้องอืดนั่นเอง ที่เห็นได้ชัดและเชื่อว่าหลายคนเคยประสบพบเจอกับตัวเอง นั่นคือการสะอึกหลังจากดื่มแอลกอฮอล์
อาการสะอึกหลังดื่มแอลกอฮอล์
อาหารและเครื่องดื่มอาจเป็นสิ่งเร้าที่ช่วยทำให้เกิดอาการสะอึก ซึ่งแอลกอฮอล์เองก็เป็นเครื่องดื่มที่ช่วยกระตุ้นอาการสะอึกมากขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้มีการศึกษาออกมามากนักแต่จากประสบการณ์ของหลาย ๆ คนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจะรู้ดีว่าหลังดื่มแอลกอฮอล์มักมีอาการสะอึกตามมา ขณะเดียวกันการดื่มระหว่างปาร์ตี้อาจทำให้เกิดการท้องอืดได้ง่าย เนื่องจากแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ หรือน้ำอัดลมชนิดต่าง ๆ มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการท้องอีด และกระเพาะอาหารที่ขยายออกจะกดกะบังลมของคุณ และนำไปสู่การสะอึกนั่นเอง
แอลกอฮอล์มีส่วนทำให้ระบบย่อยอาหารระคายเคือง และแม้ว่าจะยังไม่มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องออกมายืนยันว่าแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการสะอึกได้ง่าย แต่ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดโรคมะเร็งทางเดินอาหาร แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับการสะอึกแต่ก็แสดงให้เห็นว่าการดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดสิ่งไม่พึงประสงค์กับบริเวณช่องท้องของคุณ ซึ่งแก๊สที่เกิดขึ้นในช่องท้องจะส่งผลให้เกิดอาการสะอึกได้
วิธีหลีกเลี่ยงและรักษาอาการสะอึก
หลายคนเคยพบเจอกับอาการสะอึกบ่อยครั้ง และพยายามหาวิธีการรักษาที่หลากหลายมีทั้งได้ผลบ้างและไม่ได้ผลบ้าง เพราะอาการสะอึกแท้จริงแล้วจะสามารถหายได้เองโดยใช้เวลาไม่นาน แต่หากใครอยากรักษาอาการสะอึกก็สามารถใช้วิธีเหล่านี้ได้
- เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม
- หายใจเข้าพร้อมกับกลั้นหายใจสัก 10 วินาที จากนั้นดื่มน้ำตาม
- จิบน้ำทีละนิด
- ทำให้ตกใจ หรือหากิจกรรมเบี่ยงเบนความสนใจอาการสะอึก
- กลืนน้ำตาลประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ
อย่างไรก็ตาม หากอาการสะอึกเกิดขึ้นนานกว่า 48 ชั่วโมง อาจเป็นสัญญาณการเกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคกระเพาะลำไส้อุดตัน เยื่อบุช่องท้องอักเสบ หรือโรคปอดอักเสบ เป็นต้น ดังนั้นให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
ที่มา greatist, healthline
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส