เป้าหมายสำหรับคู่รักหลังแต่งงาน นอกจากจะอยากเก็บเงินเพื่อสร้างครอบครัวแล้ว หลายคู่ยังตั้งเป้าหมายว่าจะมีลูกด้วยกัน 1 – 2 คน ตามแต่กำลังของแต่ละครอบครัว และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘ภาวะมีบุตรยาก’ อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคู่สามีภรรยาที่ต้องการมีลูกด้วยกัน วันนี้เราจะพาสาว ๆ มาเช็กสัญญาณเตือนของร่างกายที่อาจบ่งบอกว่าคุณกำลังเสี่ยงมีลูกยาก!

ภาวะมีบุตรยากคืออะไร

ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) คือ ภาวะที่สามีภรรยามีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ และปราศจากการคุมกำเนิดเป็นเวลายาวนานกว่า 1 ปี โดยตั้งใจให้เกิดการตั้งครรภ์แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งภาวะมีบุตรยากสามารถเกิดได้กับทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย หรืออาจจะเกิดขึ้นกับทั้ง 2 ฝ่าย โดยปัจจุบันมีวิธีการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากมายที่ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้

สัญญาณเตือนภาวะมีบุตรยากในผู้หญิง

1. ประจำเดือนมาไม่ปกติ

รอบเดือนปกติของผู้หญิงโดยเฉลี่ย คือ 28 วัน หรือหักลบ 2-3 วันยังถือเป็นเรื่องปกติ แต่พบว่าผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น ประจำเดือนขาดหายไปยาวนานกว่า 35 วัน หรือประจำเดือนรอบถัดไปมาไวภายใน 21 วัน หรือคนที่ประจำเดือนขาดหาย สิ่งนี้อาจจะเกี่ยวกับปัญหาด้านฮอร์โมน รังไข่ทำงานผิดปกติ ทำให้ไม่มีการตกไข่และเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก ดังนั้น ปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาทันที

2. ประจำเดือนมามากหรือปวดท้องมากผิดปกติ

โดยปกติแล้วผู้หญิงจะรู้สึกปวดท้องในช่วงระหว่างมีประจำเดือน ซึ่งอาการจะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่หากพบว่าอาการปวดนั้นรุนแรงเสียจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน อาจเป็นสัญญาณของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หมายถึง ภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญภายนอกโพรงมดลูก และทำให้เกิดอาการปวดบริเวณท้องน้อยที่รุนแรง ส่งผลให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ยาก

3. ประจำเดือนไม่มาหลายเดือน

โดยทั่วไปผู้หญิงอาจพบปัญหาประจำเดือนขาดหายไป 1-2 เดือน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การออกกำลังกายหนัก ความเครียด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ประจำเดือนขาดได้ แต่หากคุณพบว่าประจำเดือนขาดไปนานหลายเดือน จำเป็นจะต้องตรวจฮอร์โมนภาวะเจริญพันธุ์ หรือภาวะการมีบุตรยากของตนเอง

4. ฮอร์โมนแปรปรวน

ปัญหาความผันผวนของฮอร์โมนอาจเป็นสัญญาณบอกภาวะมีบุตรยากในผู้หญิง หากคุณสังเกตว่าตนเองมีปัญหาผิว ความต้องการทางเพศลดลง มีขนขึ้นบริเวณใบหน้า ผมร่วง และน้ำหนักเพิ่มขึ้น คุณอาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจภาวะมีบุตรยากต่อไป

5. รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์

ความรู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์อาจเกิดขึ้นได้หลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งนี้ ให้คุณลองสังเกตตนเองว่าปัจจัยที่ทำให้คุณรู้สึกเจ็บเกิดจากอะไร หากพยายามหาหนทางแก้แล้วแต่ยังไม่ดีขึ้นนั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคุณกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องฮอร์โมน โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และภาวะอื่น ๆ ที่อาจนำไปสู่ภาวะการมีบุตรยาก

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอีกมากมายที่ส่งผลให้ผู้หญิงเสี่ยงต่อการมีบุตรยาก เช่น เคยมีประวัติผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน มีประวัติการแท้งบุตร และเคยมีประวัติการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์

หากคุณกำลังสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก การไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาขึ้นอยู่กับช่วงอายุของคุณ ดังนี้

  • หากคุณมีอายุไม่เกิน 35 ปี แพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้คุณพยายามตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติอย่างน้อย 1 ปี ก่อนที่จะทำการทดสอบหรือการรักษาในขั้นถัดไป
  • หากคุณอายุระหว่าง 35 – 40 ปี และพยายามตั้งครรภ์มานานเกิน 6 เดือน ให้คุณปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาต่อไป
  • หากคุณอายุมากกว่า 40 ปี แพทย์อาจแนะนำให้คุณตรวจหรือรักษาภาวะมีบุตรยากทันที 

ทั้งนี้ แพทย์จะประเมินวิธีการรักษาแตกต่างกันไป เช่น การรักษาโดยการให้ยา หรือทางเลือกอื่น ๆ ที่ช่วยเรื่องการตั้งครรภ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว IVF (In Vitro Fertilization) เป็นการเอาเซลล์ไข่และอสุจิมาปฏิสนธิกันนอกร่างกายเพื่อให้ได้ตัวอ่อน จากนั้นจึงย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก หรือการทำเด็กหลอดแก้ว ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) ที่นิยมทำต่อเมื่อใช้วิธี IVF ไม่สำเร็จ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีขั้นตอนการรักษาทางการแพทย์อีกมากมายที่ช่วยให้คุณสามารถมีลูกได้ตามที่ตั้งใจไว้ อย่างไรก็ตาม แม้คุณไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าอยากมีลูก แต่พบว่าตนเองมีอาการของภาวะมีบุตรยากตามที่เราระบุไว้ ก็ไม่ควรปล่อยอาการเหล่านี้ไว้นานเพราะไม่เพียงแต่ทำให้คุณตั้งครรภ์ยาก แต่อาจจะเป็นสัญญาณปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาด้วย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส